จบการศึกษา

ความหมายแฝงและประวัติศาสตร์ของคำที่เกี่ยวข้องกับพิธีจบการศึกษา

ตลอดเดือนตุลาคมนี้ ภายในรั้วมหาวิทยาลัยต่างเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งการแสดงความยินดีกับความสำเร็จของบัณฑิต นี่คือจุดเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิต และเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะเปลี่ยนชีวิตของใครหลายๆ คน เนื่องในโอกาสจบการศึกษา บทความนี้จึงขอหยิบยกคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการรับปริญญา เพื่อบอกเล่าถึงที่มาของคำ ซึ่งมีวิวัฒนาการจากประวัติศาสตร์ รวมถึงความหมายแฝงอื่นๆ

 

Graduation การสำเร็จการศึกษาตามระดับชั้น

        คำนี้ประกอบจากคำว่า graduate แปลว่าจบการศึกษา และใส่ suffix -tion เพื่อให้กลายเป็นคำนาม คำว่า graduate มาจากภาษาละติน graduatus แปลว่าเลื่อนขั้น ซึ่งผันจากคำว่า gradus ที่แปลว่าลำดับขั้น (step, degree) ดังนั้น หากแปลจากรากศัพท์ gradus ก็จะหมายถึงสำเร็จการศึกษาระดับชั้นต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก นอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกา ยังใช้คำว่า graduate ในระดับชั้นมัธยมปลายหรือไฮสกูลด้วย

        คำว่า gradus ยังเป็นรากศัพท์ของคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระดับชั้นต่างๆ เช่น

        grade คำคุ้นเคยของเหล่านิสิตนักศึกษา เพราะหมายถึงตัวอักษรที่บอกระดับความรู้ว่าผู้เรียนมีความรอบรู้แค่ไหนในวิชานั้นๆ ถ้าเก่งเทพก็เอา A ไป แต่ถ้าเรียนไม่ได้เรื่องเลยก็อาจหนีไม่พ้น F

        gradual, gradually อีกหนึ่งคำที่ใช้บ่อยในการสอบ IELTS สำหรับอธิบายการเปลี่ยนแปลงแบบช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป เสมือนค่อยๆ ไต่ทีละขั้น

        gradient แปลว่าความชัน เช่น ความชันของถนนเวลาขึ้นหรือลงเขา รวมถึงในคณิตศาสตร์หมายถึงความชันของกราฟและฟังก์ชัน สำหรับบอกอัตราเปลี่ยนแปลงของค่าต่างๆ 

 

จบการศึกษา
Russ Campbell / Harvard Business School (HBS)

 

Commencement เพราะการรับปริญญาคือจุดเริ่มต้นของชีวิตจริง

        คำที่ใช้แทนคำว่า graduation ได้คือ commencement ซึ่งหลายคนคงรู้มาบ้างแล้วว่า commence แปลว่า เริ่มต้น แต่การใช้คำนี้ในงานรับปริญญา กลับหมายถึงจุดสิ้นสุดของการเป็นนิสิตนักศึกษา

        ในปัจจุบันคนมักจะตีความนัยยะ commencement ว่า เมื่อเราสำเร็จการศึกษาและรับปริญญาแล้ว นั่นหมายถึงชีวิตจริงกำลังจะเริ่มต้นขึ้น คือชีวิตแห่งการทำงานและสร้างเนื้อสร้างตัว หลังจากสั่งสมความรู้มาตลอดตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย

        แต่หากย้อนกลับไปยังสมัยยุคกลางแล้ว นักศึกษาจะเป็นเพียงลูกมือหรือเด็กฝึก (apprentice) ของอาจารย์ในการฝึกวิชาความรู้ต่างๆ ดังนั้น เมื่อนักศึกษาเหล่านี้สำเร็จการศึกษา จึงใช้คำว่า commencement เพื่อระบุว่านับแต่วันนี้คุณจะกลายเป็นอาจารย์ (master) นับเป็นจุดเปลี่ยนสถานะทางสังคม จากเด็กฝึกสู่ผู้ให้ความรู้แก่ศิษย์รุ่นต่อๆ ไปในอนาคต คำว่า master จึงกลายเป็นความหมายของมหาบัณฑิต หรือผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท

 

จบการศึกษา
ภาพ: Kumar Sriskandan/Alamy / Cambridge University

 

Bachelor ไม่ได้แปลว่าปริญญาตรีเท่านั้น

        เรามักจะแปล bachelor กันว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือบัณฑิต แต่คำนี้ยังมีอีกความหมายคือชายโสดที่ยังไม่แต่งงาน ดูความหมายแล้วไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันเท่าไหร่ ดังนั้น เราต้องย้อนอดีตอีกเช่นกัน

        ความหมายดั้งเดิมของ bachelor ในยุคกลางคืออัศวินหนุ่มที่ยังมียศต่ำ ทำหน้าที่รับใช้เจ้านายในระบบศักดินา (feudal) เมื่อเวลาผ่านไปความหมายค่อยๆ เปลี่ยน กลายเป็นผู้ชายที่ยังมีสถานะต่ำ เช่น สมาชิกระดับล่างในกิลด์ (สมาคมพ่อค้า) นักบวชใหม่ หรือนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ทำให้เราเรียกปริญญาในระดับต่ำสุดว่า bachelor’s degree ซึ่งก็คือปริญญาตรี

        ในศตวรรษที่ 19 ชายหนุ่มไฮโซผู้เพียบพร้อมทั้งสถานะทางสังคมและฐานะการเงิน เมื่อถึงวัยหาคู่ครองเพื่อแต่งงาน แต่ยังไม่ได้แต่งงานนั้น ก็จะถูกเรียกว่า bachelor ซึ่งในภาษาเก่าเราอาจจะได้เห็นการใช้ bachelor ในความหมายว่าโสด อย่างไรก็ตามเนื่องจากคำนี้ใช้กับชายโสดเท่านั้น และไม่มีคำสำหรับหญิงโสด ปัจจุบันจึงมีการเปลี่ยนมาใช้คำว่า single แทน เพื่อบ่งบอกสถานะโสดแบบไม่ระบุเพศ

 

เมื่อ ‘จบการศึกษา’ ยังใช้กับวงการไอดอลได้ด้วย

        ก่อนที่จะถามว่าทำไมวงการไอดอลเลือกใช้คำนี้ ก็ต้องอธิบายคำว่า ‘จบการศึกษา’ ในภาษาญี่ปุ่นก่อน นั่นคือคำว่า 卒業 (sotsugyō) หมายถึงจบการศึกษาในระดับชั้นต่างๆ ซึ่งในวงการการศึกษา คำนี้ถือเป็นคำทั่วไปและใช้ได้เหมือนกับคำว่า graduation ในภาษาอังกฤษ เพียงแต่ที่ญี่ปุ่นยังใช้คำว่านี้กับวงการไอดอลด้วย

        วัฒนธรรมไอดอลของญี่ปุ่นยังมีความแตกต่างจากไทยบางส่วนคือ เด็กสาวที่เข้าวงไอดอลส่วนมากที่มีอายุตั้งแต่อายุ 13-15 ปี ต้องลาออกจากโรงเรียนตามระบบปกติเพื่อทุ่มเทชีวิตให้กับวงการไอดอล ดังนั้นแล้ววงไอดอลที่สังกัดก็เปรียบเสมือนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของพวกเขา ที่จะต้องเรียนรู้การเต้น การร้องเพลง การสร้างความสุขแก่แฟนคลับ เพื่อที่จะเจิดจรัสในวงการบันเทิงต่อไป

        ดังนั้น เมื่อตัดสินใจที่จะยุติบทบาทในฐานะไอดอลแล้ว ภาษาญี่ปุ่นจึงใช้คำว่า 卒業 เพื่อสื่อความหมายว่าพวกเขากำลังจะออกจากวงอันเป็นเหมือนโรงเรียนคอยฝึกทักษะต่างๆ ก่อนที่พวกเธอจะเดินตามความฝันของตัวเองในฐานะคนธรรมดาต่อไป ซึ่งวงที่ริเริ่มการใช้คำว่า 卒業 ก็คือ AKB48 วงพี่สาวของ BNK48 นี่เอง ก่อนที่คำนี้จะแพร่หลายไปยังวงไอดอลอื่นๆ ในที่สุด

        ขณะที่ในวัฒนธรรมไทย ค่านิยมคนไทยยังคงต้องการให้ลูกหลานเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย มากกว่าออกจากระบบการศึกษาเพื่อเป็นไอดอลเต็มตัว ดังนั้น เราจะเห็นไอดอลในวงต่างๆ ต้องคอยออกอีเวนต์โชว์ตามที่ต่างๆ ด้วย และเรียนไปด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากมากหากจะต้องดูแลทั้งสองส่วนให้ดี แต่ก็มีไอดอลหลายคนที่สามารถทำได้ เช่น

        เฌอปราง BNK48 สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาติ เอกเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2

 

จบการศึกษา
ภาพ: www.facebook.com/bnk48official.cherprang

 

        แก้ว BNK48 สำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับ 1

 

จบการศึกษา
ภาพ: www.facebook.com/bnk48official.kaew/

 

        ออม CGM48 อดีตเมมเบอร์ BNK48 สำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิทยาการประกันภัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1

        แฟนนี่ SiamDream สำเร็จการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาสื่อสารมวลชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับ 2

 

ภาพ: แฟนนี่ SiamDream จากกล้องผู้เขียน

 

        เมื่อวัฒนธรรมไอดอลของญี่ปุ่นแพร่หลายไปทั่วโลก ทำให้คำว่า 卒業 ที่แปลว่า graduation ถูกใช้ในความหมายการสิ้นสุดสถานะไอดอลไปด้วย ในภาษาไทยเองก็มักจะแปลตรงตัวว่า จบการศึกษา หรือเรียกว่า แกรด ที่ย่อมาจาก graduate

 

        จะเห็นได้ว่าที่มาที่ไปของคำศัพท์อันเกี่ยวเนื่องกับการรับปริญญาต่างมีที่มาจากบริบทในประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะวิวัฒนาการมาสู่ความหมายที่เราใช้ในปัจจุบัน ขณะที่ความหมายดั้งเดิมเสื่อมความนิยมและเลิกในที่สุด แต่ถ้าหากสืบรากแล้วก็จะรู้ที่มาของคำต่างๆ ได้

 


อ้างอิง: