Solstice

Solstice เมื่อตะวันหยุดเคลื่อนที่ กลางวันและกลางคืนจึงยาวไม่เท่ากัน

นานทีปีหนจะมีลมหนาวพัดผ่านเข้ามาปกคลุมทั่งกรุงเทพฯ แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ และไม่ได้หนาวมากเท่าไหร่ แต่ก็เพียงพอจะสร้างความรู้สึกตื่นเต้นให้ผู้คนในช่วงสิ้นปีได้เป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในเดือนธันวาคม ซึ่งเอียงไปทางทิศใต้ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับฤดูกาลอื่น ถ้าคุณออกไปยืนตากแดดตอนเที่ยงวันเงาใต้ขาของคุณจะชี้ขึ้นไปทิศเหนือและพาดยาวกว่าเดือนอื่นๆ นั่นหมายความว่า เรากำลังเข้าใกล้ Winter Solstice หรือวันเหมายัน ซึ่งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนลงต่ำหรือใต้ที่สุด ตรงกับวันที่ 21-22 ธันวาคม หรือบางคนอาจเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าตะวันอ้อมข้าว

Solstice
ภาพ: Blueshade / Wikimedia

ฤดูหนาวเกิดเพราะความเอนเอียง

        ทุกฤดูกาลหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตลอดปี ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิ, ฤดูร้อน, ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ช่วยกำหนดภูมิอากาศตามสถานที่ต่างๆ บนโลก ซึ่งมีผลต่อสิ่งมีชีวิตแต่ละท้องถิ่น แต่เคยสงสัยไหมว่าอะไรทำตัวกำหนดฤดูกาล คำตอบคือตำแหน่งของดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนไป กับแกนโลกที่เอียง 23.5 องศานั่นเอง

        การเอียงของแกนโล ทำให้มีช่วงที่โลกหันซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้เข้าหาดวงอาทิตย์ต่างกัน ซีกโลกด้านที่ได้รับแสงแดดเป็นฤดูร้อน ส่วนอีกซีกโลกที่อยู่ด้านตรงข้ามเป็นฤดูหนาว ในเดือนธันวาคมซึ่งเป็นช่วงที่โลกหันซีกโลกใต้เข้าดวงอาทิตย์ จึงเกิดเป็นฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ

        หากดูภาพประกอบ จะพบว่านอกจากซีกโลกเหนือจะมีพื้นที่รับแสงแดดน้อยมาก ทำให้ความเข้มของแสงที่ได้รับน้อยลง และพื้นที่ด้านกลางวันก็น้อยไปลงด้วย กลางวันในฤดูหนาวจึงแสนสั้นและกลางคืนก็ยิ่งยาวนาน คนที่อยู่ในทวีปยุโรปหรืออเมริกาจะสัมผัสได้ถึงความแตกต่างในเรื่องนี้ เพราะดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็วมาก

        เมื่อแสงแดดที่ได้รับจากดวงอาทิตย์น้อยลง อุณหภูมิก็ลดลงจนเกิดเป็นฤดูหนาวที่ทารุณ จะดำเนินชีวิตอะไรก็ลำบาก ปลูกพืชผักอะไรก็ไม่ขึ้น ทำให้ฝรั่งส่วนใหญ่ไม่ชอบฤดูหนาวเท่าไหร่ บางคนตีตั๋วบินมาพักผ่อนในประเทศไทยเพื่อหนีหนาว (ขณะที่คนไทยก็จะไปเล่นหิมะที่เมืองนอก เพราะที่ไทยร้อนตลอดปี)

Solstice จุดที่ดวงอาทิตย์ขึ้นไปเหนือสุด/ใต้สุด

        อย่างที่บอกไปว่าแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับระนาบโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้เส้นละติจูดที่ 23.5 องศาเหนือและใต้จะเป็นละติจูดสูงสุดที่ดวงอาทิตย์สามารถตั้งฉากกับโลกได้ โดยเส้นละติจูดดังกล่าวมีชื่อเรียกเฉพาะ คือ Tropic of Cancer สำหรับ 23.5 องศาเหนือ และ Tropic of Capricorn สำหรับ 23.5 องศาใต้

        ส่วนวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปตั้งฉากกับสองจุดนี้จะเรียกว่า Solstice ซึ่งหนึ่งปีจะมี 2 วัน คือวันที่ 21 มิถุนายน ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับ Tropic of Cancer เรียกว่า Summer Solstice หรือครีษมายันในซีกโลกเหนือ และวันที่ 21-22 ธันวาคม ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับ Tropic of Capricorn เรียกว่า Winter Solstice หรือเหมายันในซีกโลกเหนือ (สำหรับในซีกโลกใต้จะเรียกสลับกัน เนื่องจากฤดูกาลจะกลับกันจากซีกโลกเหนือ)

 

Solstice
ภาพ: WSBS

ที่มาของคำว่า solstice

        คำว่า solstice มีรากศัพท์จากภาษาละตินคือ sol แปลว่า ดวงอาทิตย์ และ sisto แปลว่า หยุดนิ่ง เพราะว่าในวันนี้ตำแหน่งของดวงอาทิตย์จะหยุดเคลื่อนที่และกลับทิศทาง หมายความว่าจากที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ลงใต้มาตลอด 6 เดือน ในวัน solstice จะหยุดและกลับทิศขึ้นเหนือ ซึ่งดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่แบบนี้อีก 6 เดือนจนกว่าจะถึง solstice ครั้งต่อไป

        สำหรับคำในภาษาไทยที่หมายถึง solstice ยืมจากภาษาสันสกฤตมาใช้คือ อยน (अयन) ภาษาไทยปรับรูปเป็น อายัน แปลว่าการมุ่งสู่ และสนธิคำนี้กับคำว่า คฺริษฺม (ฤดูร้อน) กลายเป็น คริษมายัน ในวันที่ 21 มิถุนายน (Summer solstice) และคำว่า หิม (ฤดูหนาว) กลายเป็น เหมายัน (อ่านว่า เห-มา-ยัน) ในวันที่ 22 ธันวาคม (Winter solstice)

ช่วงเวลากลางวันในวันเหมายัน

        เมื่อดวงอาทิตย์อยู่ใต้สุด ย่อมส่งผลต่อระยะเวลากลางวันของเมืองต่างๆ บนโลก ทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ว่าในวันเหมายัน หรือ Winter solstice จะมีเวลากลางวันนานกี่ชั่วโมง รวมถึงเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและตกด้วย

        ซีกโลกเหนือ: กรุงเทพฯ, ไทย (13°N) 11.19 ชั่วโมง / โตเกียว, ญี่ปุ่น (36°N) 9.44 ชั่วโมง / นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา (41°N) 9.15 ชั่วโมง / ลอนดอน, อังกฤษ (51°N) 7.50 ชั่วโมง / ออสโล, นอร์เวย์ (60°N) 5.54 ชั่วโมง

        ซีกโลกใต้: จาการ์ตา, อินโดนีเซีย (6°S) 12.29 ชั่วโมง / ริโอเดจาเนโร, บราซิล (23°S) 13.33 ชั่วโมง / ซิดนีย์, ออสเตรเลีย (34°S) 14.25 ชั่วโมง / ไครส์เชิร์ช, นิวซีแลนด์ (43°S) 15.26 ชั่วโมง

        ทวีปแอนตาร์กติกา (ต่ำกว่า 66.5°S) ดวงอาทิตย์อยู่บนฟ้าตลอดวัน เกิดเป็นพระอาทิตย์เที่ยงคืน

        จากข้อมูลจะพบว่าในซีกโลกเหนือยิ่งละติจูดสูงเท่าใด ระยะเวลากลางวันก็จะน้อยลงตามองศาของละติจูด และหากที่ตั้งนั้นอยู่เหนือเส้น Arctic Circle พระอาทิตย์ก็จะไม่ขึ้นเลยนานกว่าหนึ่งเดือน กลับกันในซีกโลกใต้ ที่ยิ่งละติจูดสูง กลางวันก็ยิ่งยาวขึ้น จนกลายเป็นพระอาทิตย์เที่ยงคืนในทวีปแอนตาร์กติกา เพราะเป็นซีกโลกที่ถูกแสงอาทิตย์ส่องมากกว่า อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์นี้จะสลับกันในอีก 6 เดือนถัดไป คือวันครีษมายัน หรือ 21 มิถุนายน ที่ซีกโลกเหนือจะมีกลางวันนานกว่า

        สำหรับประเทศละติจูดต่ำอย่างไทยนั้น ความต่างของเวลากลางวันในฤดูร้อนและฤดูหนาวจะไม่ต่างกันมากนัก เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนที่จะได้รับพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่าในเขตอบอุ่นและเขตหนาว ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนเกือบทั้งปี และหากจะพึ่งพาอากาศหนาวๆ ก็ต้องพึ่งลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากจีนที่ต้องมีกำลังแรงมาช่วยเท่านั้น ไม่งั้นก็เตรียมโดนแสงแดดแห้งๆ ในฤดูหนาวเผาอย่างไม่ปราณีแน่นอน

 

Solstice
ภาพ: Brian Brettschneider / Blogspot

ฤดูหนาว แต่โลกกลับโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด

        หลายคนยังมีความคิดว่า เพราะโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ทำให้เกิดเป็นฤดูกาลต่างๆ ซึ่งนั่นเป็นความเชื่อที่ผิด หากเปิดดูช่วงเวลาที่โลกอยู่ใกล้และไกลดวงอาทิตย์ที่สุดแล้ว จะพบว่าช่วงที่โลกโคจรใกล้ที่สุดที่ระยะ 147 ล้านกิโลเมตร ตรงกับวันที่ 3 มกราคม ซึ่งเป็นฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ ขณะที่ช่วงที่โคจรไกลที่สุดที่ระยะ 152 ล้านกิโลเมตร จะตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งเป็นฤดูร้อนแทน

        ดังนั้นแล้วจึงพิสูจน์ได้ว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดฤดูกาลบนโลกคือความเอียงของแกนโลกต่างหาก ทำให้แต่ละส่วนของโลกรับองศาแดดและความร้อนที่ไม่เท่ากัน และที่สำคัญคือซีกโลกเหนือและใต้ ฤดูกาลจะตรงข้ามกันเสมอ

 


แหล่งข้อมูล: