สำหรับชาวอเมริกัน ‘ไก่งวง’ ถือเป็นสัญลักษณ์ของวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่สี่ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และเป็นหนึ่งในอาหารจานหลักสำหรับการเฉลิมฉลองในเทศกาลนี้ด้วย ที่สำคัญ ไก่งวงในภาษาอังกฤษคือคำว่า Turkey สะกดตรงกับชื่อประเทศ ‘ตุรกี’ เป๊ะๆ นำมาซึ่งความสงสัยอีกว่าหรือไก่งวงจะมีที่มาจากประเทศตุรกี เพื่อไขข้อข้องใจ บทความนี้จะช่วยหาคำตอบให้
แต่ไหนแต่ไรมา ไก่งวงเป็นสัตว์ท้องถิ่นในทวีปอเมริกา
ไก่งวงเป็นสัตว์ปีกในสกุล Meleagris จัดเป็นนกที่บินไม่ได้เช่นเดียวกับไก่ นกยูง และนกกระจอกเทศ แต่ไก่งวงมีลักษณะเด่นบริเวณหัว เพราะเป็นผิวหนังย่นๆ ไม่มีขนขึ้น ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 สปีชีส์ คือ Meleagris gallopavo หรือสายพันธุ์ท้องถิ่นในทวีปอเมริกาเหนือและเม็กซิโก นิยมเลี้ยงเป็นอาหาร และ Meleagris ocellate เป็นสายพันธุ์ที่พบในคาบสมุทรยูกาตัน (Yucatán) ของเม็กซิโก เดี๋ยวนะ! ทั้งๆ ที่ไก่งวงเป็นสัตว์ดั้งเดิมในทวีปอเมริกา แต่ทำไมถึงเรียกว่า turkey ซึ่งบ่งบอกชัดเจนว่ามาจากตุรกีกันด้วยล่ะ
ยิ่งงงไปกันใหญ่ เพราะในภาษาอื่นๆ ต่างก็เรียกไก่งวงจากชื่อประเทศ
ก่อนที่จะตั้งคำถามว่าทำไมสัตว์ปีกที่มีพื้นเพเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาอย่างไก่งวง กลับมีชื่อเรียกเป็นประเทศตุรกี ผู้เขียนอยากชวนให้ผู้อ่านทุกคนลองเปิดพจนานุกรมดูชื่อเรียกไก่งวงในภาษาอื่นๆ เสียก่อน แล้วคุณจะรู้สึกประหลาดใจมากขึ้นไปอีก เพราะตัวอย่างภาษาเหล่านี้ก็เอาชื่อประเทศมาเรียกเป็นชื่อไก่งวงเหมือนกัน
ภาษาตุรกี hindi
ภาษาฮินดี पीरू (peru แปลว่า เปรู)
ภาษาโปรตุเกส peru (แปลว่า เปรู)
ภาษาฝรั่งเศส dinde (จากคำเต็ม coq d’Inde แปลว่า ไก่อินเดีย)
ภาษารัสเซีย индюк (indjúk แปลว่า อินเดีย)
ภาษาโปแลนด์ indyk (แปลว่า อินเดีย)
ภาษามาเลย์ ayam belanda (แปลว่า ไก่ฮอลแลนด์)
เห็นคล้ายๆ เลยคิดว่าใช่ สาเหตุที่เรียก turkey เพราะสับสนชนิดไก่
สำหรับสาเหตุที่ภาษาอังกฤษใช้ชื่อประเทศตุรกีมาเรียกไก่งวงนั้น คงต้องย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น เมื่อครั้งที่ชาวยุโรปได้ไปบุกเบิกแผ่นดินอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 16-17
หลังจากโคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกาในปี 1492 ศตวรรษถัดมาจึงเป็นช่วงแรกๆ ที่ชาวยุโรปเดินทางไปแสวงโชคยังดินแดนใหม่ เมื่อนักสำรวจเห็นไก่งวง ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับไก่ต๊อก (guineafowl) ที่พวกเขารู้จักอยู่ก่อนแล้ว จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเผลอคิดไปว่าเป็นไก่ชนิดเดียวกัน ซึ่งตุรกีในตอนนั้นยังปกครองโดยจักรวรรดิออตโตมัน ไก่ต๊อกส่วนใหญ่ต่างขนส่งมาจากเรือของพ่อค้าชาวตุรกี ในที่สุดจึงเรียกไก่ที่พบในดินแดนใหม่ว่า turkey ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ไก่ง่วงเป็นสัตว์ประจำถิ่นที่นี่ และไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับประเทศตุรกี
เหตุเกิดจากความเข้าใจผิดของโคลัมบัส ทำให้เรียกไก่งวงว่าอินเดีย
แล้วไก่งวงในภาษาตุรกีล่ะ เรียก turkey ด้วยไหม คำตอบคือไม่! แต่กลับเรียกว่า hindi รวมไปถึงภาษาฝรั่งเศสและภาษารัสเซียต่างก็เรียกว่าไก่งวงว่าอินเดียทั้งนั้น ซึ่งเรื่องนี้มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
อย่างที่เรารู้กันว่า คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบทวีปอเมริกาเป็นคนแรก แต่ความเข้าใจเรื่องเส้นทางเดินเรือของเขาในขณะนั้นคือการล่องเรือไปทางตะวันตกจนเจอประเทศอินเดียตามทฤษฎีโลกกลม เมื่อพวกเขาไปเจอไก่งวงในดินแดนใหม่ จึงคิดว่าเป็นไก่จากอินเดีย
แต่ความเชื่อของโคลัมบัสที่คิดว่าดินแดนนี้เป็นอินเดีย ถูกหักล้างลงโดย อเมริโก เวสปุชชี เขากล่าวว่า นั่นเป็นทวีปใหม่ที่ยังไม่มีคนยุโรปเดินทางไปสำรวจต่างหาก ซึ่งก็คือทวีปอเมริกาในปัจจุบัน
ส่วนภาษาโปรตุเกสเรียกไก่งวงว่า peru เพราะเป็นการเหมารวมว่าประเทศเปรูคือตัวแทนของทวีปอเมริกา ก่อนที่คำนี้จะถูกคนอินเดียยืมมาใช้ในภาษาฮินดี คือ पीरू (peru)
ภาษาไหนบ้างที่ไม่ใช้ชื่อประเทศเรียกไก่งวง
แม้ว่าในหลายภาษาจะเรียกไก่งวงเป็นชื่อประเทศต่างๆ แต่ก็ยังภาษาอื่นๆ อีกมากที่เรียกไก่งวงจากลักษณะภายนอก เช่น
ภาษาไทย เรียก ไก่งวง เพราะมีจะงอยลักษณะคล้ายงวงช้าง
ภาษาสเปน เรียก pavo แปลว่า นกยูง
ภาษาจีน เรียก 火鸡 (หั่วจี) แปลว่า ไก่ไฟ
ภาษาญี่ปุ่น เรียก 七面鳥 (ชิจิเมนโจ) และภาษาเกาหลี เรียก 칠면조 (ชิลมยอนโจ) ซึ่งทั้งสองภาษาแปลว่า นกเจ็ดหน้าเหมือนกัน
เทศกาลขอบคุณพระเจ้า มีเฉพาะในแผ่นดินอเมริกาเท่านั้น
ชื่อ Thanksgiving ให้ความรู้สึกว่าเป็นเทศกาลของชาวคริสต์ก็จริง แต่พื้นที่ที่ถือปฏิบัติประเพณีนี้คือทวีปอเมริกาเหนือ ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเท่านั้น โดยที่มาที่ไปมีความเกี่ยวข้องกับการสำรวจทวีปใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 16-17
ในอดีต ชาวอังกฤษที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายพิวริตันออกไปแสวงโชคที่โลกใหม่หรืออเมริกาในปี 1620 โดยบริเวณที่ชาวอังกฤษมาตั้งอาณานิคมในยุคแรกคือเมือพลิมัท รัฐแมสซาชูเซตส์ในปัจจุบัน
ช่วงเวลาที่ชาวอังกฤษมาแสวงโชคถึงโลกใหม่เป็นช่วงฤดูหนาวที่โหดร้าย บางคนทนหนาวไม่ได้จนตาย คนที่รอดก็ร่างกายอ่อนแอจากการเจ็บป่วย ในปีต่อมาพวกเขาได้ชาวพื้นเมือง (อินเดียนแดง) ช่วยสอนปลูกพืชผลและจับปลาในแม่น้ำ จนกระทั่งพวกเขาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1621 ชาวอังกฤษและชาวพื้นเมืองต่างร่วมกันเฉลิมฉลองกันยาวถึง 3 วัน ถือเป็นวันขอบคุณพระเจ้าครั้งแรกในโลก
จากเหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นประเพณีปฏิบัติเรื่อยมาในฤดูใบไม้ร่วงของทุกปีตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคม จนกระทั่งประกาศเอกราชและก่อตั้งสหรัฐอเมริกา แต่วันที่ฉลองยังมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ จนกระทั่งปี 1863 ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น กำหนดให้วันขอบคุณพระเจ้าเป็นวันหยุดราชการทั้งประเทศ ตรงกับวันพฤหัสบดีสุดท้ายของพฤศจิกายน ก่อนที่ปี 1941 ประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ จะปรับให้เป็นวันพฤหัสบดีที่สี่ของเดือนพฤศจิกายน และเป็นมาตรฐานมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับไก่งวงอันเป็นสัญลักษณ์ของวันขอบคุณพระเจ้า เดิมทีไม่ใช่เมนูที่เกิดขึ้นในวันขอบคุณพระเจ้าครั้งแรกของเมืองพลิมัท แต่ที่กลายเป็นเมนูอาหารหลักของวันนี้ก็ด้วยสาเหตุง่ายๆ คือเป็นสัตว์ที่มีมากในแถบนิวอิงแลนด์ (ตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา) และสมัยนั้นไม่นิยมฆ่าวัวหรือไก่เพื่อเป็นอาหาร แต่เลี้ยงเพื่อผลผลิตเช่นนมหรือไข่มากกว่า ขณะที่ไก่งวงตัวใหญ่ สามารถกินได้ทั้งครอบครัว จึงกลายเป็นอาหารที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลนี้
Black Friday เทศกาลลดล้างสต็อกส่งท้ายปี
พูดถึงวันขอบคุณพระเจ้าแล้ว จะไม่พูดถึง Black Friday ก็ไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นเทศกาลลดแลกแจกแถมชนิดล้างสต็อกในร้าน โดยตรงกับวันศุกร์ถัดจากวันขอบคุณพระเจ้า จุดประสงค์ของวันนี้คือการเคลียร์ร้านเพื่อรอรับสินค้าล็อตใหม่สำหรับขายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ตลอดหนึ่งเดือนถัดจากนี้
เทศกาลนี้ถือเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยสำหรับคนทั่วไปอย่างยิ่ง เพราะจากโปรโมชันของร้านค้าต่างๆ ตั้งแต่ตลาดนัด ยันเว็บไซต์ขายของออนไลน์ ทำโปรโมชันลดแลกแจกแถมหวังดึงลูกค้าสายช้อปทั้งหลาย และแน่นอนว่าตลอดวัน Black Friday เศรษฐกิจในอเมริกาจะมีเงินสะพัดอย่างมาก โดยจากข้อมูลในปี 2018 คนอเมริกันจับจ่ายใช้สอยกันมากกว่า 717 พันล้านดอลลาร์ฯ (21 ล้านล้านบาท) เลยทีเดียว
สำหรับคนไทย แม้ว่าเทศกาลนี้จะไม่ใช่ประเพณีปฏิบัติในประเทศไทย แต่คนบางกลุ่มก็ได้รับอานิสงส์นี้ไปด้วย เช่น เหล่าเกมเมอร์ที่รอวันเกมลดราคากระหน่ำในเว็บสตีมตลอดสัปดาห์ดังกล่าว หรือสายช้อปที่รอซื้อของราคาถูกในเว็บ Ebay หรือ Amazon นั่นเอง
แหล่งข้อมูล:
- https://slate.com/human-interest/2014/11/turkey-in-turkish-and-other-geographically-implausible-names-for-this-bird.html
- www.quora.com/Why-do-turkey-animal-and-Turkey-country-share-the-same-name
- www.britannica.com/story/why-do-we-eat-turkey-on-thanksgiving
- www.history.com/topics/thanksgiving/history-of-thanksgiving
- www.thebalance.com/what-is-black-friday-3305710