ติดค้างกันเรื่องการกักตุนอาหารว่าเราควรมีของอุปโภคบริโภคตุนไว้แค่ไหนในบ้าน เพราะในช่วงที่ไม่มีนโยบายอะไรชัดเจนจากรัฐบาลไทยว่าจะปิดเมืองไหม จะล็อกดาวน์ ไหม Social Distancing จะออกมาตรการมาให้เกิดขึ้นในระดับเข้ม กลาง
หรืออ่อน และจากที่เรามีประสบการณ์หน้ากากขาดตลาด อยู่ๆ ของที่หาได้ทั่วไปเป็นปกติอย่างแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย กลับเป็นของหายากหาเย็น คนไทยที่พอมีกำลังซื้อก็เริ่มวิตกว่าลูกฉันจะมีแพมเพิร์สพอใช้ไหม ทิชชูจะพอไหม รวมไปถึงน้ำดื่ม ข้าวสาร อาหารแห้งต่างๆ จะขาดแคลนไปด้วยหรือเปล่า ยิ่งไปดูรูปที่คนแชร์มาจากฝรั่งเศส อิตาลีว่าชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เกตโล่งโจ้งกันหมด เพราะคนแห่ไปกักตุนของกินของใช้ เราก็ยิ่งตระหนกว่า เฮ้ย เราต้องตุนไว้บ้าง ทีนี้พอคนออกไปซื้อของมาตุนก็ถ่ายรูปลงโซเชียลฯ คนอื่นก็รู้สึกว่า เฮ้ย ถ้าคนอื่นตุน เราไม่ตุน ถึงเวลาขาดแคลนเข้าจริงๆ เราจะกลายเป็นคนประมาท ไม่เตรียมพร้อม แล้วเดือดร้อนหรือเปล่า
สิ่งที่ตามมาคือมีคนตามออกไปตุน ตุนเสร็จ ถ่ายรูปลงโซเชียลฯ มีคนเห็นเพิ่มขึ้น ก็ออกไปตุนตาม ดังนั้น ภายในสองวัน สินค้าในซูเปอร์ฯ ก็เริ่มโล่ง คนก็ถ่ายรูปลงโซเชียลฯ อีก มีคนเห็นว่าชั้นวางของโล่ง ก็รีบพอกันออกไปตุนอีก – วนกันอยู่อย่างนี้ และท้ายที่สุดก็ไม่มีใครรู้หรอกว่า มันจะขาดหรือไม่ขาด เราต้องตุนหรือไม่ตุน แต่ทุกคน (ที่พอจะมีสตางค์ก็ต้องรู้สึกว่า ‘เหลือดีกว่าขาด’ เป็นธรรมดา)
ฉันเองก็คิดเหมือนว่า เอ๊ะ เราควรตุนไหม? แต่พอสำรวจเครื่องอุปโภคบริโภคของตนเองในฐานะผู้หญิงหนึ่งคนที่ใช้ชีวิตตามลำพังก็ต้องตกใจว่า เฮ้ย นี่เรามีนิสัยกักตุนของกินของใช้จนเป็นธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของอุปนิสัยสันดาน
เริ่มจากของกิน
มีข้าวสารหอมมะลิอินทรีย์ แพ็กละ 1 กก. อยู่ 30 แพ็ก, ข้าวสารเหนียวแพ็กละ 1 กก. 7 แพ็ก
น้ำปลา 15 ขวดใหญ่
น้ำตาลทราย 5 กก. น้ำตาลปี๊บ 6 กก.
เกลือ 4 กก.
ยังไม่นับเต้าเจี้ยว ซีอิ๊วขาว โชยุ มิริน สาเก ผงดาชิหลายกล่องหลายยี่ห้อ น้ำผึ้งจากทั่วฟ้าเมืองไทยและทั่วโลก น้ำส้มหมักชนิดต่างๆ ทั้งจากข้าว ดอกมะพร้าว และอื่นๆ ข้าวคั่ว พริกป่น พริกลาบ มะแขว่น พริกไทยหลายประเภท ก้อนแกงกะหรี่ ผงเครื่องเทศแกงกะหรี่จากอินเดีย ผงมาซาล่า ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลายสัญชาติ ทุกรส ทั้งน้ำและแห้ง ไข่เค็มที่ดองไว้ไม่เคยขาด แยมทั้งที่ซื้อและทำเองนับสิบกระปุก เนยไม่ต่ำกว่าห้าก้อน ผักกาดดอง กระเทียมดอง กิมจิ ผักดองจากญี่ปุ่น งาขี้ม้อนกวนน้ำอ้อยจากเชียงใหม่ น้ำพริกตาแดงห้ากระปุก
ของสดในตู้เย็นมีทั้งหมู เนื้อ ไก่ ปลากระพงหั่นชิ้น ปลาอินทรีย์ มีไข่อย่างน้อย 1 โหล และมีอาหารเหนือแช่แข็งที่แม่ทำส่งมาให้อย่างสม่ำเสมอเดือนละครั้งสองครั้ง ครั้งไม่ต่ำว่าสิบถุงในปริมาณ ถุงละ 500 กรัม
พ้นจากของในครัว หันมาดูของอุปโภค ฉันพบว่าตัวเองมีสต็อกตั้งแต่ฟองน้ำล้างจาน ผ้าขี้ริ้ว ผ้าเช็ดจาน น้ำยาล้างจาน สบู่ ยาสีฟัน แชมพู โฟมล้างหน้า แปรงสีฟัน ออยล์นานาชนิด เพียงพอที่จะมีใช้ไปอีกหกเดือนโดยไม่มีอะไรขาดตกบกพร่องเลย
เขียนมาทั้งหมดไม่ใช่เพื่อจะอวดว่า ฉันรวย ฉันของเยอะ แต่อยากจะบอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการใช้ชีวิตที่ฉันเรียกของฉันเองว่า ‘อยู่เป็น’ นั่นคือฉันชอบอยู่ในบ้านที่มีบรรยากาศคล้ายๆ ตลาดและร้านขายของชำหน่อยๆ อาจเป็นเพราะเติบโตมาในบ้านที่เป็นทั้งโรงสีข้าว เขียงหมู และร้านขายของชำ ฉันเคยชินกับการอยู่ในบ้านที่มีของทุกอย่างพร้อมให้กิน พร้อมให้ใช้ และรู้สึกอบอุ่นกับการได้ถูกห้อมล้อมไปด้วยสิ่งอุปโภค บริโภคที่ไม่มีอะไรหายหกตกหล่น ไม่ชอบความรู้สึกที่วันนี้จะทำแกงเนื้อ แล้วต้องวิ่งแจ้นออกจากบ้านไปซื้อเนื้อ ไปซื้อกะทิ สำหรับฉัน ถ้าวันนี้อยากทำแกงเนื้อ ก็สามารถทำได้เลย โดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งแห่งการทำแกงเนื้อด้วยการออกไปจ่ายตลาดเสียก่อน
ไม่เพียงเท่านั้นฉันมี ‘วาระ’ ซ่อนเร้นของตนเองที่จะพยายามอุดหนุนคนทำการเกษตร ‘ทางเลือก’ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น ข้าวสาร 30 กก. ที่มีอยู่ก็เนื่องจากมีเพื่อนที่ครอบครัวทำนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ยโสธร ซึ่งอุตส่าห์ทำข้าวอินทรีย์แล้วยังสีอย่างดี แพ็กสุญญากาศอย่างดีขาย ฉันคิดว่าถ้าเราพอจะมีกำลังซื้อก็อยากจะอุดหนุนผู้ผลิตแบบนี้ เขาจะได้มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังทุนทำของดีๆ มาขายเราต่อไป
เกลือ น้ำตาลอ้อย น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลจากต้นตาล รวมไปถึงน้ำปลาก็เช่นกัน เหตุที่มีอยู่มากมาย เพราะฉันมีแรงปรารถนาส่วนตัวที่อยากให้คนทำงานอาหารในฐานะที่เป็น ‘หัตถกรรม’ จรรโลงงานของเขาต่อไป เพราะฉันเชื่ออย่างซื่อๆ ว่าถ้าเราไม่อุดหนุน วันหนึ่งเขาก็ต้องอ่อนแอแพ้พ่ายต่อของที่ผลิตในโรงงานที่แน่นอน ได้มาตรฐานกว่า ต้นทุนถูกกว่า จัดจำหน่ายได้กว้างขวางกว่า แล้วน้ำตาล เกลือ น้ำปลา ที่ทำในชุมชน ครัวเรือน ก็จะไม่มีให้เราบริโภคอีกต่อไป ไม่ใช่แค่นั้น เราเองนี่แหละที่จะเดือดร้อน ไม่มีเกลือ น้ำตาล น้ำปลา ในรสชาติ กรรมวิธี และวัตถุดิบที่แตกต่างหลากหลาย
ความสุขอย่างหนึ่งของฉันคือนั่งทำความรู้จักรสชาติ สีสัน กลิ่นของน้ำตาล น้ำอ้อยจากที่ต่างๆ แล้วคิดว่า อะไรเหมาะสำหรับทำอาหารและขนมอะไร ผลก็คือทำให้มีของเหล่านี้อยู่ในบ้านจำนวนมาก
และด้วยวิธีคิดเดียวกัน ไม่ว่าฉันจะเดินทางไปที่ไหนในโลกก็จะเที่ยวไปซื้อ น้ำตาล เกลือ กระเทียม เครื่องเทศ ซีอิ๊ว สาหร่าย กุ้งแห้ง ฯลฯ จากที่ต่างๆ ขนกลับบ้าน บางทีซื้อแม้กระทั่งพริกแห้ง
ส่วนของอุปโภคที่มี ‘ตุน’ ไว้ในปริมาณมหาศาลนั้น เกิดจากการขี้เกียจไปห้างสรรพสินค้า และนิสัยลูกหลานเจ้าของร้านชำเก่า การมีสบู่ แชมพู ยาสีฟัน ฯลฯ อย่างหลากหลายไว้ในบ้านเป็นความสะดวก และทำให้เราเดินเข้า ‘ห้าง’ น้อยลง เพราะการไป ‘ห้าง’ สำหรับฉันมันยุ่งยาก เสียเวลา รถก็ติด จึงสต็อกสิ่งเหล่านี้ไว้ในปริมาณที่เพียงพอจะทำให้ต้องเข้าไปในห้างสักสามเดือนครั้ง
เก็บของขนาดนี้ ก็เต็มบ้านสิ?
อันนี้เป็นศิลปะแห่งการ ‘เก็บ’ ที่ต้องฝึกฝน สำหรับฉันมันเป็นทักษะเดียวกับการอ่านและเขียนหนังสือ
อันดับแรก เราต้องรู้ว่าเรามีอะไรบ้าง จากนั้น ต้องเริ่มจัดหมวดหมู่ข้าวของ เช่น หมวดหมู่เมล็ดข้าว ธัญพืช หมวดหมู่อาหารจำพวกเส้น เครื่องกระป๋อง เครื่องปรุง เครื่องเทศ ของแห้ง ของเหลว ของหมดอายุเร็ว ของที่ไม่วันหมดอายุ ของไหนเสี่ยงต่อมดและแมลง
จัดหมวดหมู่สิ่งของแล้ว วิเคราะห์ แยกแยะจากพฤติกรรมการกินและการทำอาหารของตนเอง ว่าอะไรใช้บ่อยมาก เรื่อยไปจนถึงสิ่งที่นานๆ ใช้ที อะไรที่ถ้าเก็บในที่ลับตาแล้วเสี่ยงต่อการถูกเก็บลืม อะไรอยู่ในที่ที่เอื้อมถึงยาก อะไรควรอยู่ใกล้มือ อะไรสามารถเก็บลงลัง กล่อง แล้วแพ็กแยก แปะฉลากกันลืม เช่น น้ำปลายี่สิบขวดก็สามารถแพ็กลงกล่อง เก็บไว้ใต้โต๊ะ ใต้ตั่ง ซ่อนตามมุมต่างๆของบ้านได้
ความสามารถที่ห้ามลอกเลียนแบบของฉันคือ ฉันไม่เคยลืมว่าตัวเองมีอะไร ถ้าไม่ใช่คนบ้าเก็บ บ้าจำแบบฉัน แนะนำให้มีสมุดจดลิสต์ สรรพสิ่งร้านชำในบ้านหรือห้องตัวเองเอาไว้ ว่าเก็บอะไรไว้ที่ไหนบ้าง เวลาซื้อเพิ่มจะได้รู้ว่า ควรซื้อไอเทมไหนที่ไม่ซ้ำกับของเดิม และเวลานำมาใช้จะได้ทยอยใช้จากเก่าไล่มาหาใหม่
ของอุปโภค เวชสำอาง ฉันใช้วิธีเดียวกันคือจัดหมวดหมู่ เรียงใส่กล่องที่เป็นกล่องกึ่งผ้ากึ่งกระดาษร้านไดโสะ เพราะมันยืดหยุ่น รองรับของได้มาก เวลาจัดเรียงกันก็ยืดได้หดได้ ประหยัดเนื้อที่สุดๆ
จัดทุกอย่างเสร็จ ก็ต้องหมั่นเช็ก หมั่นอัพเดต หมั่นขยับ สรรพสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเอาไปซ่อนไว้ในตู้อย่างเดียว บางอย่างสามารถนำมาวางมาเรียงเป็นของแต่งบ้านได้ด้วย เช่น น้ำอ้อยก้อนเล็กๆ สวยๆ ที่ซื้อจากตลาดบ้านๆ สามารถใส่ขวดโหล โชว์ได้ ว่างๆ หยิบมากัด แทะเล่น เป็นขนมได้ แกล้มกาแฟได้
จัดระเบียบบ้านได้ประหนึ่งร้านชำแบบนี้ ทำให้ไม่ต้องแพนิก วิ่งไปตุนมาม่า ปลากระป๋อง น้ำมันพืช
ไม่เพียงแต่ทำบ้านให้เป็นร้านชำ แต่ถ้าพอจะมีความฟุ่มเฟือยในชีวิต เราควรฟุ่มเฟือยกับการทำให้บ้านเป็นแหล่งรวมของวัตถุการทำอาหารและอาหารที่มีคุณค่า มีคุณภาพ มีวาระแห่งการกระจายรายได้
สำหรับฉันนี่คือความร่ำรวยของชีวิต