ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามตาย
ความเดิมจากตอนที่แล้ว ฉันคิดว่า วัฒนธรรมว่าด้วยความ ‘หว่อง’ ใน pop culture มีส่วนสร้างมายาคติว่าด้วยความไร้สุข หรือชีวิตอันไร้ความหมายของมนุษย์เงินเดือน และในบริบทของสังคมไทย ยุคหลังฟองสบู่แตกในปี 2540 ทำให้คนชั้นกลางที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ จำนวนมากทั้งที่ถูกเลย์ออฟ และทั้งที่ตัดสินใจลาออก พากันไปรกรากอยู่ในต่างจังหวัด ถ้ายังจำกันได้ จุดหมายปลายทางที่ฮอตฮิตที่สุดคือ เชียงใหม่ และเก๋กว่าเชียงใหม่คือ ปาย
ทศวรรษที่ 2540-2550 มีศิลปิน นักคิด นักเขียน นักธุรกิจที่ขายกิจการในกรุงเทพฯ และมนุษย์เงินเดือนจำนวนหนึ่งที่อิ่มตัวกับงานประจำของตนเอง (เพื่อนนักข่าว ช่างภาพ นักผลิตสารคดี ฯลฯ) ต่างพากันย้ายถิ่นฐานมาที่เชียงใหม่ ปาย และเชียงรายกันไม่น้อย โดยในห้วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เริ่มมีกระแสของการออกมาทำไร่ทำนา ทำสวน – การเป็นชาวนา ชาวสวน ถูกนำมาเล่าใหม่ กลายเป็นภาพคนชั้นกลาง กับบ้านสวยสมถะ ชีวิตเรียบง่ายและไร่นาสวนผสมของพวกเขา พร้อมทั้งเรื่องราวการตกผลึกกับชีวิตว่าด้วย… พอกันที ชีวิตในเมืองใหญ่ที่เต็มไปความเครียด และการไล่ล่าหาความมั่งคั่งทางการเงินอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
คงต้องบันทึกเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งการได้เกษียณตัวเองก่อนกำหนดแล้วย้ายไปอยู่เชียงใหม่ ปาย เชียงราย คือความฝันของมนุษย์เงินเดือนชนชั้นกลาง
แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การลาออก หรือเกษียณตัวเองไปอยู่ ‘ต่างจังหวัด’ และกระแสการเปิดร้านฮิปๆ ที่ปายของคนชั้นกลางนั้นก็มีอายุขัยของมัน คนที่อยู่รอด คือคนที่มี ‘เงิน’ มากพอจริงๆ เพราะการเปิดร้านฮิปๆ หรือการทำไร่นาสวนผสมนั้นไม่อาจยึดเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพได้ มันจะสวยงามและเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นเป็นเพียงเครื่องทำแก้เหงา ทำให้ได้ชื่อว่ามีอะไรทำ แล้วมีเงินรองรังไว้ในปริมาณมหาศาลต่างหากถึงจะอยู่ได้ และแม้แต่หลายคนที่มีเงินพอที่จะอยู่ได้ แต่ในทางการงานสร้างสรรค์นั้นค่อยๆ อับเฉา เงียบหาย ไปก่อนวัยอันควร ทั้งๆ ที่เคยมีชีวิตอย่างคึกคัก กระฉับกระเฉง เต็มไปด้วยไอเดียที่พลุ่งพล่าน เหมือนอยู่ๆ ก็กลายเป็นคนแก่ไปในชั่วข้ามคืน
ในที่สุดเทรนด์ว่าด้วยการออกจากงานประจำแล้วย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดก็ค่อยๆ เสื่อมคลายความนิยมไป
แต่ภาวะหลอกหลอนของมนุษย์เงินเดือนยังไม่สิ้นสุดแต่เพียงเท่านั้น เพราะทศวรรษที่ 2550-2560 เป็นเรื่องราวว่าด้วย ‘อายุน้อยร้อยล้าน’ สัมพันธ์กับอุตสาหกรรมและรูปแบบของทุนนิยมที่เปลี่ยนไป ภาวะขาลงของอุตสาหกรรมน้ำมัน รถยนต์ และภาคการผลิต ‘สิ่งของ’ ไปสู่ทุนเทคโนโลยีไอที หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ แชริงอีโคโนมี หรือยุคที่เขาเรียกว่า disruption
มาถึงตอนนี้ความมั่นคงทางใจของมนุษย์เงินเดือนก็ถูกสั่นคลอนอีกครั้งกับคำว่า startup บ้างอะไรบ้าง กับการนั่งดูใครไม่รู้โนเนมมาก หน้าตาก็ธรรมดามาก อยู่ๆ ก็กลายเป็น content creator อยู่ๆ ก็กลายเป็นยูทูเบอร์ ร่ำรวยขึ้นมาซะงั้น อย่าว่าแต่คนเลย หมาแมวยังกลายเป็นยูทูเบอร์มีรายได้หลักล้านไปหน้าตาเฉย หรืออย่างเชยที่สุดที่ต้องผุดเข้ามาในหัวของใครสักคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ก็คือ ทำอย่างไรจะมี passive income เพื่อจะเกษียณอายุตัวเองจากงานประจำได้เร็วขึ้น หรือทำอย่างไรจะไม่ต้องทำงานประจำ แต่มีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง และมีเวลาให้ตัวเองไปแสวงหา หรืออยู่กับอะไรที่เป็นแพสชันของตัวเองจริงๆ
ความฝันที่จะปลดปล่อยตัวเองออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนจึงมีสองขั้วในยุคนี้คือ
ขั้วที่หนึ่ง ฝันว่าตนเองสามารถร่ำรวยเป็นเศรษฐีได้ตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาวเฉกเช่น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จากโอกาสทางเศรษฐกิจแบบใหม่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไอที และอุตสาหกรรมสื่อใหม่
ขั้วที่สอง เฝ้าถามตัวเองว่า ฉันทำงานเก้าโมงถึงห้าโมงเย็นไปเพื่ออะไร บ้าน? รถ? แต่งงานกับใครสักคน? เลี้ยงลูก? แล้วก็ตายไป?
สำหรับขั้วที่สอง เทรนด์ของไลฟ์สไตล์ที่เข้าซัพพอร์ตความฝันนี้คือ เทรนด์มินิมอลิสต์ ชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องมีบ้าน ไม่ต้องมีรถ ผลักดันการสร้างเมืองให้เป็นเมืองแห่งการเดิน การหันหลังให้กับการสร้างสถาบันครอบครัวแบบบูมเมอร์ การหยุดสะสมสรรพสิ่งสมบัติพัสถานไม่ว่าจะถูกหรือแพง การใช้งานโคเวิร์กกิงสเปซที่ทำให้การมีบ้านหรืออพาร์ตเมนต์อันเพียบพร้อมไม่จำเป็นอีกต่อไป การทำงานเยอะๆ การทำงานประจำเพื่อจะมีบ้าน มีรถ มีครอบครัว มีลูก หรือที่อยู่อาศัยแบบ full function ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว เสื้อผ้า ข้าวของก็มีแต่พอจำเป็น ย้ำว่ามีเท่าที่ต้องใช้จริงๆ
ถ้าเราใช้ชีวิตมินิมอล – อีกนิดเดียวก็เป็นฤๅษีได้ – แบบนี้ได้จริงๆ ก็เป็นไปได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความมั่นคงจากงานประจำ สามารถลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ หรือแม้กระทั่งผันตัวไปเป็น digital nomad ครึ่งปีแรกทำงานอยู่ที่บาหลี ครึ่งปีหลังนั่งทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ มีแค่โน้ตบุ๊กกับจักรยานคันหนึ่ง อยู่ที่ไหนก็ได้ ทำงานจากไหนก็ได้ แถมยังสามารถมีไลฟ์สไตล์แบบทำงานครึ่งวัน ดำน้ำครึ่งวัน ปีนเขา หรือปลีกตัวไปเรียนรู้อะไรใหม่ วิถีชีวิตของผู้คน ฯลฯ
แล้วฝันนี้เป็นจริงได้หรือไม่?
ตรงนี้ฉันซึ่งใช้ชีวิตเป็นฟรีแลนซ์ตลอดชีวิต คิดว่าตนเองมีความชอบธรรมพอที่จะพูดเรื่องนี้ได้
ข้อที่ดีที่สุดของการเป็นฟรีแลนซ์คือ อิสระแห่งการเป็น ‘นาย’ ตัวเอง จัดตารางงานตัวเอง บริหารเวลาได้ยืดหยุ่น แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องทำ และทำยากมากคือ ทำอย่างไรให้มีงานเข้ามาให้ทำสม่ำเสมอจนมีเงินใช้ไม่ขาดมือ
บอกเลยว่าการเป็นฟรีแลนซ์ วันดีคืนดีถ้างานไม่เข้าติดต่อกันสามเดือน เราจะมีปัญหาการเงินทันที และถามว่าอะไรจะทำให้เรามีงานเข้าอย่างไม่ขาดสาย คำตอบสุดแสนเบสิกก็คือ การทำงานหนัก การมีวินัย ส่งงานตรงเวลา การเติมต้นทุนให้กับเนื้องานของเราอยู่เสมอ เช่น สำหรับการเป็นนักเขียนอย่างฉัน ก็เดินทาง การพบปะผู้คนที่หลากหลาย การได้เจอคนหลายวงการ การผจญภัยในอารมณ์ ความรู้สึก หรือแม้กระทั่งรสชาติของอาหาร การบริโภค ฯลฯ เหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ดังนั้น ไอ้ที่คิดว่าจะมีเวลา ‘ว่าง’ บ้างนั้น เอาเข้าจริงๆ ก็อาจจะไม่มี แถมจะเลือนรางไปเรื่อยๆ ว่าอันไหนคืองานอันไหนคือเวลาส่วนตัวที่แปลว่าพักผ่อน
การเป็นฟรีแลนซ์เรียกร้องการลงทุนจากตัวเราเองทั้งหมด ค่าน้ำค่าไฟ ค่าหมึกพรินเตอร์ ค่าอุปกรณ์ในการทำงาน เรื่อยไปจนถึงกระดาษ ปากกา การเรียนรู้ การศึกษา ไม่มีใครมาจ่ายเงินค่าเทรนนิง ฝึกอบรม หรืออะไรให้ ดังนั้น ทักษะการบริหารจัดการการเงินจะไม่ง่ายเท่ากับการรู้ว่าสิ้นเดือนจะมีเงินเข้าบัญชีมาเท่าไหร่ และการเป็นฟรีแลนซ์นั้นหมายความว่า ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย สัมพันธ์ผกผันกับอำนาจต่อรอง เช่น ถ้าเราอยากได้เงินจากงานชิ้นนี้ แม้ค่าตัวค่าแรงจะต่ำก็อาจต้องทำ เพราะถ้าเขาไม่จ้างเรา เขาก็ไปจ้างคนอื่นได้
ที่สำคัญ ฟรีแลนซ์ไม่มีสวัสดิการอะไรมารองรับ โชคดีที่ประเทศไทยมีสามสิบบาทรักษาทุกโรค แต่นอกเหนือจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นเงินเกษียณ การชดเชยรายได้ การเก็บออมในยามแก่เฒ่า การจ่ายค่าประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ฯลฯ เป็นเรื่องที่ฟรีแลนซ์ต้องรับผิดชอบด้วยตนเองทั้งหมด และสิ่งที่ต้องคิดให้หนัก และอาจเป็นเรื่องรบกวนจิตอยู่เนืองๆ (หากเราไม่ได้เกิดมาในครอบครัวเงินถุงเงินถัง) คือถ้าไม่มีงานจะอยู่ได้ไหม และอยู่อย่างไร?
สุดท้าย ชีวิตฟรีแลนซ์อิสรเสรีเหนือสิ่งอื่นใดก็ไม่มีจริง หันมาดูชีวิตดิจิตอลโนแมดหลายคนก็ล้มตาย สูญหาย ไปในห้องเช่ารูหนูที่บาหลี ที่เชียงใหม่ก็เยอะ เพราะงานและเงินมันไม่ได้มาหากันได้ง่ายขนาดนั้น พูดอย่างใจร้ายคือ คนที่เก่งพอจะทำอย่างนั้นได้จริงๆ มีไม่เยอะ
และสุดท้ายก็มีหนังที่สะท้อนภาวะพังทลายของการเป็นฟรีแลนซ์ออกมา นั่นคือ หนังอย่าง ฟรีแลนซ์.. ห้ามป่วย ห้ามตาย ห้ามรักหมอ ซึ่งช่วยดึงสติเราออกมาจากการโรแมนติไซซ์อาชีพฟรีแลนซ์ แล้วบอกว่า
การมีงานประจำทำคือลาภอันประเสริฐ
รู้อย่างนี้แล้ว ตอนหน้า อันเป็นตอนจบของซีรีส์นี้ เราจะได้มาหาวิธีเป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างมีความสุขกันได้เสียที
อ่านบทความ เป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างไรให้มีความสุข ตอนที่ 1 ได้ที่ https://adaybulletin.com/know-yuupen-salaryman-and-happiness-1/52766