การมีเงินเป็นลาภอันประเสริฐ

การมีเงินเป็นลาภอันประเสริฐ: คำ ผกา

ตั้งแต่เด็กๆที่บ้านของฉันสอนมาโดยตลอดว่า ‘ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าเงิน’ คำสอนของยายที่จำมาจนถึงทุกวันนี้คือ ‘สตางค์ตกใส่หวี หวีก็อ้า ตกใส่หญ้า หญ้าก็ตาย’ ซึ่งฟังแล้วก็เห็นภาพชัดเจนมากว่า อานุภาพของเงินรุนแรงแค่ไหน ส่วนแม่ก็สอนอยู่เป็นนิจศีลว่า ให้ตั้งใจเรียน เรียนสูงๆ เพื่อจะได้งานทำดีๆ และงานดีๆ นั้นก็จะนำมาซึ่งเงินดีๆ สิ่งที่ตามมาหลังจากมีเงินดีๆ ก็คือชีวิตดีๆ ในความหมายของแม่คือ ถ้ามีเงิน อยากไปไหนก็ได้ไป อยากกินอะไรก็ได้กิน อยากทำอะไรก็ได้ทำ ไม่ต้องพึ่งคนอื่น ไม่ต้องคอยง้อใคร เด็ดกว่านั้น ทั้งยายและแม่ของฉันเห็นตรงกันว่า ผู้หญิงเราถ้ามีเงินเสียแล้ว ผู้ชายไม่ต้องมีก็ได้ และจะดียิ่งๆ ขึ้นถ้าไม่มีผู้ชายเลย จะได้ไม่มีใครมาช่วยใช้เงิน!

        หืม ทำไมทั้งยายและแม่ของฉันถึงคิดว่าผู้ชายจะมาช่วยใช้เงิน ทำไมไม่คิดบ้างเลยว่าฉันอาจจะหาผู้ชายรวยๆ ที่มีเงินมาให้ฉันใช้โดยที่ฉันไม่ต้องหาเอง เรื่องนี้ฉันถามทั้งแม่และยายแล้ว คำตอบที่ได้คือทั้งสองนางสั่งให้ฉันไปส่องกระจก

        โอ๊ย! นี่คือพ่อแม่ ย่ายาย บุลลีลูกหลานหรือเปล่า อืม ตอนฉันเป็นเด็ก ฉันไม่คิดว่าพวกเขาบุลลีนะ ฉันแค่คิดว่า คนในบ้านฉันพูดจาตรงไปตรงมาดี และไม่หลอกตัวเอง เพราะเราทุกคนก็เห็นตรงกันว่า ผู้หญิงที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถหาผัวรวยๆ เลี้ยงได้ อย่างน้อยน่าต้องสวยระดับประกวดนางงามได้เหอะ แถมยายยังมีข้อมูลที่จำเพาะเจาะจงไปอีกว่า คนที่จะประกวดนางงามเนี่ย แผลเป็นสักนิดหนึ่ง สักรอยหนึ่งก็มีไม่ได้นะ

        โห… แล้วฉันซึ่งแข้งขาลายพร้อยไปด้วยรอยแผลแมลงสัตว์กัดต่อย หกล้ม จักรยานล้ม ขนาดนี้ก็ควรหันไปตั้งใจเรียน หางานดีๆ ทำ หาเงินได้เยอะๆ และดีที่สุดคืออย่ามีผัว แบบที่ยายและแม่สอนมันก็ถูกต้องทุกประการแล้ว

        ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่ได้รับการสั่งสอนมาจากที่บ้าน

 

        เมื่อโตขึ้นเข้าโรงเรียนและเริ่มอ่านหนังสื่อต่างๆ ด้วยตนเองก็พบว่า โลกภายนอกเขาพูดกันอีกเรื่องหนึ่งนั่นคือ เขาบอกว่า ‘เงินซื้อความสุขไม่ได้’ งานวรรณกรรมในยุคที่ฉันเติบโตมา (ยกเว้นวรรณกรรมเพื่อชีวิต) มักมีพล็อตเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวที่ร่ำรวย มีทรัพย์ศฤงคารมากมาย มีวัตถุสำหรับปรนเปรอชีวิตเหลือเฟือ แต่กลับไม่มีความสุข ครอบครัวไม่อบอุ่น พ่อแม่ไม่รักกัน ลูกเต้ามีปัญหาเพราะพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยเงินแทนที่จะเลี้ยงลูกด้วยความรัก ตรงกันข้าม ครอบครัวที่มีเงินน้อยกว่ากลับมีความสุขมากกว่า เพราะเขาไม่มีวัตถุและพลังแห่งการบริโภคอันใดมาหันเหความสนใจของพวกเขาออกจากสายสัมพันธ์ของครอบครัว

        บาง narrative ก็บอกว่า ลูกหลานของคนจนนั้นเนื่องจากชีวิตลำบาก จึงมีความมุมานะ อุตสาหะ รักเรียน เพราะกว่าจะได้เรียนมันยากลำบาก ส่วนลูกคนร่ำรวยมักจะเป็นเด็กถูกสปอยล์ เสียผู้เสียคน เพราะอะไรๆ มันก็ได้มาง่ายเหลือเกิน

        บาง narrative น่าสนใจกว่านั้นอีก นั่นคือพูดเรื่องความร่ำรวย การให้ค่ากับเงิน วัตถุ ว่าเป็นเสมือนการขายวิญญาณให้ปีศาจ ถ้าเรามีเงินมาก เราก็ต้องแลกมากับการที่เราต้องมีความสุขน้อยลง หรือการที่เราร่ำรวยขึ้นมากๆ มันอาจต้องแลกมาด้วยการสูญเสียอะไรบางอย่างที่มีค่าทางใจกับเรา เช่น เสียเพื่อนรัก เสียครอบครัว หนักที่สุดคือการสูญเสียความรัก สูญเสียความสามารถที่จะมองเห็นความงามบนโลกใบนี้

 

        มิใยที่ยายและแม่จะบอกว่าเงินมันสำคัญๆ แต่เมื่อเราเติบโตมากับ narrative ที่บอกว่าเงินคือบาป เงินคือสิ่งที่เราต้องเดิมพันกับจิตวิญญาณ ความรัก ความสุขของเราเสมอ ฉันก็ยอมรับว่าท้ายที่สุดมันก็ทำให้เรามี relationship กับเงินและความร่ำรวยอย่างแปลกๆ ไปจนถึงขั้นขัดแย้งกันเอง – และอาการนี้น่าจะเกิดกับคนชั้นกลางเช่นครอบครัวฉันนั่นแหละ เพราะคนที่เขารวยจริง รวยมากๆ เขาคงรู้ได้ด้วยตัวเขาเองว่าความร่ำรวย และการมีเงินมากๆ นั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร เป็นประสบการณ์ตรง ไม่ต้องจินตนาการ หรืออาศัยอ่านที่เขาเขียนๆ มาสอนเราว่า ‘เชื่อเราเฮอะ เงินเยอะไม่ได้ทำให้เราความสุขร้อกกกก’

        ที่บอกว่าเรามี relationship กับเงินอย่างแปลกๆ คือ ในขณะที่เราชอบเงินมาก อยากมีเงินเยอะๆ (เพราะเรารู้ว่าการไม่มีเงิน หรือมีเงินน้อยมันไม่สนุกอย่างไร) ในเวลาเดียวกัน เราก็มีความรู้สึกผิดที่จะบอกว่าเงินสำคัญที่สุดในชีวิต เพราะพูดออกไปปุ๊บ ก็มีอีกเสียงหนึ่งบอกว่า ระหว่างเงินกับชีวิตคนที่เรารักเธอเลือกอะไร ทันใดนั้นก็จะมีอีกเสียงหนึ่งเถียงกลับรัวๆ ว่า แต่เงินอาจจะซื้อชีวิตคนที่เรารักได้นะเว้ยยย พ่อแม่ป่วยก็ต้องมีเงินรักษานะ 

        ในขณะที่เราสับสนว่าเราควรจะเกลียดเงินหรือชอบเงิน ทุกครั้งที่เราอวยพรใครก็ตามในโอกาสใดก็ตาม นอกจากอวยพรให้สุขภาพดี แข็งแรง เราก็อดไม่ได้ที่จะอวยพรไปด้วยว่า ‘ขอให้ร่ำรวย’

        และในขณะที่เราอวยพรกันเป็น default mode ว่าขอให้ร่ำรวย เราก็ยังชอบอื้ออีง อินไปกับหนัง ละคร ภาพถ่าย ที่ชี้ให้เราเห็นว่า คนบางคนแม้เขาจะจนเงินแต่เขาไม่จนความรัก ไม่จนความเมตตา เช่น การแชร์ภาพหญิงขอทานโอบกอดหยอกเอินกับลูกน้อย หรือโฆษณาบริษัทประกันชีวิตที่ชี้ให้เห็นความงดงามทางใจของคนจน

        เงินจึงคล้ายๆ กับเซ็กซ์ เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อยากมี แต่ไม่ใช่สิ่งที่เอาไปป่าวประกาศอย่างโจ๋งครึ่มโดยไม่มีคุณค่าทางสังคมบางอย่างห่อหุ้มเอาไว้ให้พองาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณเป็นชนชั้นกลาง คุณอาจต้องการศิลปะในการกลบเกลื่อนความชอบเงินของเราในแบบต่างๆ เช่น พยายามบอกตัวเองว่าเราใช้เงินอย่างรู้ค่าของเงิน เราหาเงินมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานล้วนๆ ไม่เอาเปรียบใคร เราเจียดเงินไปช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเสมอ เราทำบุญอยู่บ่อยๆ หรือแม้กระทั่งการพร่ำพูดว่าเงินไม่ใช่คำตอบทุกอย่างของชีวิต และทุกขณะที่ปากขยับพูดแบบนี้ มือก็หาเงินเป็นระวิง แต่พูดแล้วมันไม่ค่อยรู้สึกผิดกับการหาเงินดี

ตกลงเราควรจะมอง ‘เงิน’ อย่างไรดี?

        ว่ากันว่ามีแต่คนที่เงินไม่เคย ‘ขาด’ มือเท่านั้นที่จะชอบพูดว่า ‘เงินไม่สำคัญเท่าความรักและความสุข’ และว่ากันว่าเราประเมิน ‘ความสุข’ ที่เกิดจาก ‘เงิน’ ต่ำกว่าที่มันเป็นจริง เช่น การที่เรามีเงินจ่ายค่าเช่าบ้านทุกเดือน หรือการที่เรามีเงินผ่อนค่างวดรถ ค่างวดบ้านทุกเดือน การที่เราอยากกินชานมไข่มุกแล้วเราก็ควักกระเป๋าซื้อชานมแก้วหนึ่งได้โดยไม่ลังเล หรือการที่เราเจ็บป่วยแล้วมีเงินซื้อยามากินมารักษา หรือเดินเข้าไปในโรงพยาบาลไหนก็ได้อย่างไม่ลังเลเพราะเรามีเงินจ่าย เหล่านี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า ‘ความร่ำรวย’ แต่เราไม่เคยรู้ว่านี่แหละ นี่คือเงินที่ทำให้เรามีความสุข เพราะชีวิตเราดำเนินไปอย่างราบรื่น ไร้ความกังวล

        เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า หรืออยากกินชานมไข่มุกสักแก้วโตๆ แล้วเรากินมันไม่ได้ เราจะรู้ทันทีว่า อ๋อ ตอนที่เรากินมันได้นั้น ชีวิตมันช่างมีความสุขแตกต่างจากตอนที่เรากินไม่ได้อย่างมหาศาล

        เงินอาจจะซื้อความสุขไม่ได้ แต่เงินช่วยปัดเป่าให้ความกังวลใดๆ ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตมนุษย์ปลาสนาการไปได้ และการมีชีวิตโดยปราศจากความกังวลว่าพรุ่งนี้จะมีบ้านอยู่หรือไม่ พรุ่งนี้จะมีอะไรกินหรือไม่ พรุ่งนี้จะมีเงินค่าขนมให้ลูกไปโรงเรียนหรือไม่ ถ้าป่วยแล้วจะมีเงินไปโรงพยาบาลหรือไม่ แค่นี้ก็เพียงพอที่จะเป็นลาภอันประเสริฐแล้ว

        สำหรับใครก็ตามที่ได้มีชีวิตโดยปราศจากความกังวลง่ายๆ เหล่านี้ ขอให้ตระหนักว่า คุณได้มีชีวิตที่ดีและมีความสุขแล้วพอสมควร และขอให้ตระหนักต่อไปว่าไม่ใช่อะไรอื่นเลยที่ปัดเป่าความกังวลเหล่านี้ไม่ให้มากล้ำกรายคุณนอกจาก ‘เงิน’

        และมีแต่คนที่ไม่ขาด ‘เงิน’ เท่านั้นถึงมีความฟุ่มเฟือยในชีวิตพอที่จะพูดว่า เงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต และมีแต่คนที่ไม่ขาด ‘เงิน’ เท่านั้นที่จะมีความฟุ่มเฟือยในชีวิตพอที่จะโรแมนติกกับความจนได้

 

        ในวันที่อายุใกล้จะห้าสิบ ฉันพบว่าสิ่งที่ยายและแม่สอนมันช่างจริงเสียนี่กระไร