ฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองแก่เลย จนกระทั่งวันหนึ่งที่แม้จะพยายามหักห้ามใจตัวเองไม่ให้พูดประโยคนี้ออกมาดังๆ แต่ท้ายที่สุดฉันก็พูดมันออกมาจนได้ นั่นคือฉันได้พูดว่า
“อยากให้โลกนี้กลับไปเหมือนเมื่อก่อนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต”
ไม่ถึงกับไม่มีอินเทอร์เน็ต ฉันคิดถึงในยุคที่เราใช้อินเทอร์เน็ตแค่สำหรับรับ-ส่งอีเมล กับเข้าเว็บไซต์ต่างๆ เพื่ออ่านบล็อกของคนที่เราเห็นว่าเขาเผยแพร่หรือเขียนเรื่องที่น่าสนใจ หรืออ่านพันทิปพอเพลินๆ และนี่คงเป็นความย้อนแย้งของคนเจเนอเรชัน X อย่างฉันที่เกิดมาก้ำกึ่งระหว่างยุคแอนะล็อกกับดิจิตอล
คนเจน X อย่างฉันเกิดมาในยุคทองของโทรทัศน์ เราดูและติดทั้งละครและรายการโทรทัศน์อย่างงอมแงม นอกจากโทรทัศน์ หนังสือ นวนิยาย และนิตยสารต่างๆ คือความบันเทิงอย่างหาที่สุดไม่ได้ ช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยมหาวิทยาลัยของฉัน วันหยุดที่โหยหา คือการที่เรามีนิตยสารเล่มโปรด นวนิยายของนักเขียนที่ชื่นชอบ ไปจนถึงหนังสือปกิณกะต่างๆ กองโตๆ อยู่ข้างเตียง แล้วเราก็พร้อมจะนอนเอกเขนกอ่าน อ่าน และอ่าน ตัวหนังสือเหล่านั้นอย่างหิวกระหาย พร้อมไปกับความกลัวว่า เราจะอ่านมันจบเร็วเกินไป
ในยุคนั้น แค่การได้เข้าไปในร้านหนังสือ หรือการได้เข้าไปขลุกตัวอยู่ในร้านเช่าหนังสือ ก็เป็นความสุขแบบสุขที่สุด อิ่มเอมที่สุดกิจกรรมวันเสาร์ อาทิตย์ ได้เดินเล่นในย่านช้อปปิ้ง ได้หาก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ อร่อยๆ กิน และได้ลุ้นว่ามีเงินพอจะซื้อหนังสือเล่มที่อยากได้ครบทุกเล่มไหม ก็ถือว่าได้ใช้วันหยุดแบบคุ้มค่าที่สุด
วันนี้พอเขียนถึงความสุขแสนง่ายในวันนั้น มันฟังดูราวกับเป็นอดีตอันไกลโพ้น เหมือนสมัยที่เราเป็นเด็กแล้วนั่งฟังเรื่องย่ายายของเราเล่าว่า พวกเคยกินก๋วยเตี๋ยวชามละสลึงกันยังไง หรือเคยงมกุ้งก้ามกรามในแม่เจ้าพระยากันอย่างสนุกสนาน อย่างไรอย่างนั้น
ฉันชอบทวิตเตอร์ ชอบเฟซบุ๊ก ชอบอินสตาแกรม ชอบไลน์ ชอบการที่เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินและอีกหลายธุรกรรม รวมทั้งการสั่งอาหาร การช้อปปิ้ง และอื่นๆ ได้บนสมาร์ตโฟนของเรา แต่ในเวลาเดียวกัน มันมีหลายครั้งที่ฉันถามตัวเองว่า เราจำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องที่เราได้รู้ผ่านเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้หรือไม่?
เรารู้เรื่องครอบครัวคนอื่นมากไปหรือเปล่า?
ทำไมเราต้องรู้ว่า วันนี้คนนั้นคนนี้ไปไหน ซื้ออะไร ไปกับใคร กินอะไร ที่ร้านไหน?
หรือแม้กระทั่งต้องถามตัวเองว่า เราจำเป็นต้องรู้เรื่องของครอบครัวเรามากขนาดนี้เลยหรือไม่? ในโลกก่อนมีอินเทอร์เน็ต หรือมีโซเชียลมีเดีย เราอาจมีโอกาสรับรู้เรื่องราวของใครต่อใคร หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวของเราแค่ร้อยละ 10 ของทุกเรื่องในชีวิตเขา เพราะข้อจำกัดของการสื่อสาร แต่เราก็ไม่รู้สึกว่าเราขาดอะไร แต่พอมีโซเชียลมีเดีย อยู่ๆ เราก็เห็นเกือบทุกย่างก้าวในชีวิตของคนทุกคน – ที่ย้อนแย้งกว่านั้นคือ ถ้าเป็นเรื่องของคนที่เราไม่รู้จัก ก็บันเทิงดี แต่ถ้าเป็นเรื่องของคนที่เรารู้จัก หรือคนในครอบครัวเรา หลายครั้ง ฉันก็รู้สึกว่า บางเรื่อง บางอย่าง ไม่รู้ ไม่เห็น อาจดีต่อสุขภาพจิตมากกว่า
ความเร็วของการสื่อสาร ซึ่งเราคิดว่ายิ่งเร็วยิ่งดี ยิ่งเร็วยิ่งทำให้เราแก้ไขปัญหาได้ก่อนที่มันจะลุกลามบานปลาย แต่หลายครั้ง เร็วมากก็เร่งให้เกิดความเสียหายมาก
เคยไหม มีเรื่องกระทบใจ หรือมีความขัดแย้งกับใครสักคน วูบแรกคือโกรธมาก เสียใจมาก เมื่อโกรธมาก เสียใจมาก โมโหมาก โทรศัพท์ในมือก็สั่นระริก ทันใดก็กดไปที่ชื่อคนนั้น ความโกรธก็สั่งให้มือพิมพ์ข้อความ ถ้อยคำแห่งความโกรธเกรี้ยวไปหาคนคนนั้นรัวๆ
หลายความสัมพันธ์ไม่ควรต้องมาจบ ขอเพียงแค่เราไม่มีโทรศัพท์ในมือตอนนั้น แล้วด่วนด่าๆๆๆๆๆ ไปอย่างหยาบคาย หรือใช้เฉพาะอารมณ์พ่นผรุสวาจาไปอย่างไม่คิดชีวิต ลองคิดดูว่า ถ้าไม่อินเทอร์เน็ต ไม่มีไลน์ ไม่มีกรุ๊ปไลน์ เราติดต่อคนคนนั้นได้ยากสักหน่อย ในเวลา 3-4 ชั่วโมง ที่เราติดต่อเขาไม่ได้ อารมณ์เราอาจจะเย็นลง โหมดแห่งการใช้เหตุผลอาจเข้ามาแทนที่ แทนการด่า อาจเหลือเพียงการต่อว่า หรือการซักถามถึงเหตุผล และสิ่งที่ตามมาคือการรักษาความสันพันธ์ที่ดีต่อกันเอาไว้ได้
ฉันคงไม่ภาวนาขอให้โลกหมุนย้อนกลับไปเหมือนเดิม
ทั้งอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย เครื่องมือสื่อสารต่างๆ มีคุณูปการกับชีวิตของเราอย่างมหาศาล เราสามารถปรึกษาจิตแพทย์ผ่านแอพพลิเคชันได้ สามารถดูหนัง ดูสารคดีสนุกๆ ได้เพียงมีเน็ตฟลิกซ์ ไม่ต้องถ่อสังขารไปดูหนังในโรง หรือนั่งเจ็บใจว่าหนังเรื่องนี้ไม่เข้าฉายบ้านเรา สามารถลงเรียนคอร์สออนไลน์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากทั่วโลกได้ สามารถเข้าไปดูมิวเซียมแบบเสมือนจริงได้ สามารถติดต่อกับเพื่อนทั่วโลกได้ ฯลฯ
แต่คนเจน X อย่างฉันคิดว่ามันจะดีต่อสุขภาพจิตมาก ที่เราจะใช้เวลาออฟไลน์มากกว่าออนไลน์
เราไม่จำเป็นต้อง detox ด้วยการออฟไลน์ทุกอย่างติดต่อกัน 7 วัน ก่อนจะกลับมาออนไลน์ แต่สำหรับฉัน มันดีต่อสุขภาพจิตมากที่ฉันเลือกจะไม่พกโทรศัพท์ติดตัวตลอดเวลา เช่น วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เก็บโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน แล้วลองไปไหนต่อไหนโดยไม่มีโทรศัพท์ไปด้วย
ลองทำสักครั้งแล้วจะรู้ว่า มันไม่มีวันมีเรื่องอะไรด่วนจนไม่อาจจะรอจนกว่าเราจะกลับบ้านได้แม้แต่เรื่องเดียว
ทุกเรื่องที่เราคิดว่ารอไม่ได้ สุดท้าย ทุกเรื่องรอเราได้หมด และคนที่ติดต่อเราก็ควรจะเรียนรู้ว่า เราไม่ใช่โตชิบา กดปุ๊บติดปั๊บ ถ้าไลน์หาเราแล้วเราไม่ตอบในบัดดล ก็ไม่มีใครตาย โลกไม่ได้ถล่มลงมา หลายๆ ปัญหาที่คิดว่า ถ้าติดต่อเราไม่ได้บัดนาว มันต้องวิกฤต สุดท้ายก็พบว่า แก้ปัญหานั้นได้แล้วก่อนเราจะติดต่อกลับ
ใครที่รู้สึกว่าเครียด ชีวิตมันเร่งเร้า ถูกมะรุมมะตุ้ม โลกทั้งใบจะอะไรกับฉันนักหนา ลองใช้วิธีนี้ดู ไม่ต้องออฟไลน์ แต่ลองไม่ต้องมีโทรศัพท์อยู่กับตัวตลอดเวลา และหยิบมันขึ้นมาใช้ และดูตามเวลาที่เหมาะสม หรือในยามที่เรารู้สึกว่า เออ ว่างแล้ว ปลอดโปร่งแล้ว พร้อมคุย พร้อมทำงาน พร้อมบริการผู้คน หรือ พร้อมจะติดต่อธุระปะปังอย่างมีสติสัมปชัญญะแล้ว
ท่องไว้ ว่าไม่มีใครตาย และโลกไม่ถล่มลงมาหรอก เพียงเพราะใครต่อใครติดต่อเราไม่ได้สักโมงสักยามหนึ่ง