สวนที่เป็นไปได้

คำ ผกา: สวนของฉันคือวัชพืช ปลูกง่าย ตายก็ปลูกใหม่

สวนของฉันคือวัชพืช

        ”สวนสวยจัง”

        “ปลูกผักเก่งจัง ทำยังไง มีเคล็ดลับอะไร”

        คนชอบถามฉันแบบนี้ และฉันก็ไม่ปฏิเสธว่าต้นไม้ในสวนเล็กๆ ของฉันก็สวยจริง และคำแนะนำของฉันก็คืออย่าคิดว่าเราปลูกต้นไม้ หรือจัดสวน ให้คิดว่าเราปลูกหญ้า ต้นไม้บางต้นฉันแค่หักกิ่งต้นหญ้าข้างถนนมาวางแล้วหาก้อนหินมาทับ รดน้ำพอเป็นพิธี แค่นี้เอง แล้วปลูกต้นไม้อย่ากลัวมันตาย เพราะถ้าตายก็แค่ปลูกใหม่

        ปลูกๆ ไป หว่านๆ เมล็ดไป ไม่ขึ้นก็หว่านใหม่ ตายก็ช่างมัน 

        ฉันคิดว่าเด็ก ‘บ้านนอก’ ทั้งหลายรวมถึงตัวฉันเองน่าจะมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากเด็กที่เติบโตขึ้นในเมือง นั่นคือ เราคิดว่าต้นไม้เป็นสิ่งที่ขึ้นได้ง่ายดายทั่วไป แค่ทิ้งหัวหอมไว้ในตู้เย็นรากยังงอกเลย ดังนั้น กะอีแค่ปลูกต้นไม้จะไปยากอะไร

        และเรามีสัญชาตญาณ ‘นักล่า’ อยู่ในตัว พูดให้เท่ไปอย่างนั้นเองว่านักล่า แต่จริงๆ แล้วมันหมายถึงสัญชาตญาณการ ‘เห็น’ อาหารที่เราไม่ได้ปลูกเอง ไม่ได้เลี้ยงเอง เช่น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ฉันจะเห็นผักที่กินได้ชูช่อ โดดเด่นออกมาจากหมู่วัชพืชเสมอ ตอนอยู่เกียวโต ฉันก็แทบจะเป็นเด็กไทยคนเดียวที่เห็นว่าข้างถนน โดยเฉพาะทางเดินขึ้นเขาหรือริมคลองในเกียวโตนั้นเต็มไปด้วยผักคาวตอง หรือที่เรียกันว่า ‘พลูคาว’ อยู่เต็มไปหมด โดยเฉพาะในฤดูใบไม้ผลิ เมื่อเห็นดังนั้น ฉันจึงเที่ยวเดินท่อมๆ ไปเก็บใบพลูคาวมากินแนมลาบอยู่เสมอ หรือในฤดูใบไม้ผลิหนึ่งที่ฉันเห็นดงสะระแหน่ใหญ่มากอยู่ท่ามกลางพงหญ้าใกล้หอพักในมหาวิทยาลัย หลังจากการค้นพบอันนั้นก็ทำให้พวกเรานักเรียนไทยมีสะระแหน่ไปทำยำ ทำลาบ ทำน้ำตก กันอย่างสนุกสนาน และฉันยังรู้อีกว่ากอสะระแหน่นี้จะหายไปในฤดูหนาวที่หิมะตก แต่อย่าได้ตกใจไป มันไม่เคยตาย แค่จำศีลไปชั่วคราว พอแสงแดดของฤดูใบไม้ผลิกลับมา พวกมันก็ฟื้นตัว ระบัดใบขึ้นมาราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

         แม้แต่ในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะไปที่ไหน สายตาของฉันก็จะสามารถสแกนเห็นตำลึง กระถิน เถาฟักทอง มีชีวิตอยู่อย่างสง่างามท้าแดดท้าลมอยู่ท่ามกลางพงหญ้ารกร้าง และฉันซึ่งเป็นมนุษย์ที่หลงรักตำลึงอย่างยิ่ง หลงรักในที่นี้คือ ชอบกินตำลึง ชอบรูปทรง เถา ใบ ดอกตำลึง รู้สึกว่ามันเป็นต้นไม้ที่สวยมากๆ ดอกก็สวย ใบก็สวย ลูกสุกๆ ของมันก็สวย แต่ฉันไม่เคยปลูกตำลึงได้สำเร็จในสวนของตัวเอง และในขณะที่เราเพียรปลูกตำลึงในสวนโดยล้มเหลว ตำลึงกลับจะงามเป็นพิเศษในที่ที่มันขึ้นเองตามยถากรรม

        พืชอีกชนิดหนึ่งที่ฉันรู้สึกว่าปลูกยากปลูกเย็น แต่สายตาเจ้ากรรมก็ชอบจะไปเห็นมันงอกอยู่ตามพงหญ้ารกในดงคอนกรีตที่ไม่มีใครแคร์หรือไม่มีใครเห็นหรอกว่า เฮ้ย ตรงนั้นมีดงกะเพราใหญ่มาก และมันเป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่สุด ที่มันจะงอก เติบโต มีชีวิต และแก่ลงไปอย่างเปล่าประโยชน์ ตายลงไปโดยที่ไม่เคยถูกเด็ดมากินเลย

        แต่ก็นั่นแหละ ใครเป็นเด็กบ้านนอกอย่างฉันก็จะรู้อีกว่า ต้นไม้น่ะ ไม่มีใครเขาปลูกกันหรอก โดยมากผักไม้ไส้เครือร้อยละแปดสิบที่เรากินกันนั้น ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศของ ‘หญ้า’

        กะเพรา โหระพา ใบแมงลัก ชะพลู ตำลึง ผักปลัง กระถิน มะระขี้นก ผักคราดหัวแหวน  ผักบุ้ง ผักหวานบ้าน พริกขี้หนู มะเขือเปราะ มะเขือขื่น ผักโขม ใบบอน ข่า ขมิ้น ไพล ผักหนาม ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็น ‘หญ้ากินได้’ สำหรับฉันในตอนเด็ก ยิ่งผักโขมดินที่ขึ้นรกเรื้อในฤดูฝนนั้นมีสถานะก้ำกึ่งระหว่างหญ้ากับผักอย่างที่สุด เพราะมันทั้งถูกนำไปทำอาหาร ถูกถอนทิ้งไปเฉยๆ จนไปถึงถูกนำไปเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่

        การบริโภคผักเหล่านี้จึงไม่ได้เกิดจากการที่เราปลูก และคงเป็นเพราะสายลมพัดพาเมล็ดของมันตกไปตามที่ต่างๆ บ้าง นกกินผลของมันแล้วขี้กลับลงดินบ้าง หลายอย่างก็คงงอกขึ้นมาใหม่จากเศษขยะในครัว ผักบุ้งต้นแก่ๆ ที่เราเด็ดทิ้งถ้าโยนทิ้งไปบนดิน ไม่กี่วันมันก็งอกขึ้นมาใหม่กลายเป็นต้นผักบุ้งอันใหม่ ตำลึง ผักปลัง เมื่อมีเมล็ดสุกหล่นลงดิน พอได้น้ำมันก็แค่งอกต้นใหม่ขึ้นมา เลื้อยโตไปตามยถากรรม รอคนมาเด็ดยอดไปกิน

 

        ชีวิตที่กิน ‘หญ้า’ แบบนี้ในตอนเด็ก เราจึงมีกิจกรรมเดิน ‘เก็บผัก’ นั่นก็คือเที่ยวเดินไปตามถนนในหมู่บ้าน เดินเลาะไปในสวนหลังบ้านคนอื่น เดินลงไปตามหัวไร่ปลายนา เดินไปตามริมคลอง แล้วเที่ยวเก็บ ‘หญ้า’ ที่กินได้กลับบ้าน ในฤดูฝนยังรวมไปถึงการเก็บเห็ด

        ถ้าเราเติบโตมากับกิจกรรมว่าด้วยการเดินท่อมๆ ไปตามที่ต่างๆ เพื่อมองหาหญ้าที่ดินได้แล้วเก็บกลับบ้าน นิสัยเช่นนี้ก็จะติดตัวมาตลอดไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน เช่นตัวฉันที่จะมองเห็นหญ้าที่กินได้โดดเด่นของมาจากพงหญ้ารกเรื้อ หรือที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าเสมอ

        และในยามที่เทรนด์ของโลกพยายามจะ go green เด็กบ้านนอกอย่างฉันไม่อยากจะเชื่อเลยว่าเดี๋ยวนี้มีเทรนด์ของการฝึกให้ ‘คนเมือง’ ทั้งหลายรู้จักที่จะกิน ‘หญ้า’ ที่งอกงามขึ้นมาเองตามที่ต่างๆ ในเมืองที่เราอยู่อาศัยนี่แหละ เช่น มีบทความแนะนำเรื่อง ‘21 พันธุ์พืช ‘เถื่อน’ กินได้ที่คุณสามารถพบเห็นในเขตเมือง’ หรือ ‘21 wild edibles you can find in urbun area’

        หรือเทรนด์ของการเปลี่ยนสนามหญ้าหน้าบ้านให้กลายเป็นสนาม ‘หญ้า’ ที่กินได้ – ไม่ได้หมายถึงการทำแปลงผักสวนครัว แต่แทนการทำสนามหญ้าอย่างที่เราเคยทำ เราหันมาใช้เวลาทำความรู้จัก ‘หญ้า’ ให้หลากหลายชนิดขึ้น แล้วเลือกปลูก หรือนำหญ้าที่ ‘กินได้’ มาจัดสวน ด้วยเชื่อว่า ใดๆ ที่เป็น ‘หญ้า’ มันมีธรรมชาติของความทนทาน ไม่ต้องการน้ำมาก ไม่ต้องการการดูแลมาก ทนต่อศัตรูพืช ‘หญ้า’ เหล่านี้ในบริบทของฝรั่งก็เช่น ดอกแดนดิไลออน, บานไม่รู้โรย, มินต์

 

        ฉันชอบไอเดียการเดินถนนแล้วเที่ยวเก็บเก็บหญ้าอะไรข้างทางมากินมาก แต่ในกรุงเทพฯ ออกจะทำยากอยู่สักหน่อย อันดับแรก เมืองนี้ไม่ได้มีไว้ให้เราเดิน ดังนั้น ต่อให้ฉันเห็นผักหญ้าข้างทางที่กินได้ ฉันซึ่งนั่งอยู่ในแท็กซี่คงไม่สามารถบอกให้แท็กซี่ว่า “พี่ๆ จอดหน่อย ขอลงไปเก็บตำลึง” ไม่เพียงเท่านั้น เรายังไม่อาจวางใจว่าตำลึงหรือผักบุ้งเหล่านั้นผ่านฉี่ของใครต่อใครมาบ้าง แต่ไอเดียการจัดสวนด้วย ‘หญ้า’ ที่กินได้นี่มันเร้าใจจริงๆ เลย

        ฉันเริ่มจากการเก็บสะสมเมล็ดพันธุ์ ด้วยเชื่อว่าเมล็ดพันธุ์ที่เราเจอะเจอตามข้างทาง สวนของใครสักคนที่เรารู้จัก จะเหมาะที่จะเป็น ‘หญ้า’ นั่นคือทนทาน แข็งแกร่งตามกระบวนการคัดสรรพันธุ์ตามธรรมชาติ ดังนั้น ถ้าฉันเห็นต้นพริกข้างทาง ฉันจะเก็บพริกลูกที่สุกๆ ไว้ เจอต้นอัญชันที่มีฝักแก่ก็เก็บ เจอกะเพราข้างทางฉันก็รูดดอกแก่เก็บไว้ หวังว่ามันจะมีเมล็ดอยู่ในนั้น เจอผักปลังป่าที่ขึ้นปนกับหญ้าก็จะมองหาเมล็ดแก่สีม่วงก่ำของมันแล้วเก็บไว้ เจอดอกดาวกระจายที่มีเมล็ดแก่อยู่ก็รูดไว้ รวมถึงบานไม่รู้โรย ถ้าสบโอกาสได้ไปตามหมู่บ้านต่างจังหวัด ริมรั้วใครมีฝักแก่ของถั่วพลู บวบ ฉันก็จะขอไว้ และแม้กระทั่งการซื้อใยบวบมาอาบน้ำหรือล้างจาน ฉันจะนั่งแคะใยบวบ หาเมล็ดแก่ที่ตกค้างอยู่ในนั้นแล้วเก็บไว้

        สะสมเมล็ดพันธุ์จากพืชผักกึ่ง ‘หญ้า’ เหล่านี้ได้แล้ว ฉันก็เริ่มทำสวนที่ไม่ใช่สวนครัว แต่เป็นสวนเพื่อความสวยงามนี่แหละ และในฐานะที่จะเป็นสวนเพื่อความสวยงาม ฉันบอกตัวเองว่า อย่าไปหวังว่าจะได้กินอะไรจากสิ่งที่เรานำมาปลูก ฉันแค่อยากท้าทายตัวเองว่า เราอยากให้สวนของเราเต็มไปด้วยหญ้าที่กินได้

        ใบเตย บวบ มะระขี้นก ถั่วพลู กุหลาบ ชะพลู ต้นหอม กระเทียม โหระพา ผักปลัง มะเขือเทศ ขิง ข่า ขมิ้น รางจืด โรสแมรี อ่อมแซ่บ หรือย่าหยา บ้างก็เรียกบุษบาริมทาง หรือเบญจรงค์ห้าสี อันเป็นหญ้าที่ปลูกง่าย เรียกว่าไม่ต้องปลูก แต่หักกิ่งมาโยนทิ้งไว้บนดิน มันก็รากงอก ขึ้นเป็นต้นให้ดอกเล็กๆ สีม่วง สีเหลือง สวยน่ารัก – ฉันปลูกหญ้าเหล่านี้โดยเลิกเห็นว่ามันเป็นหญ้า หรือเห็นว่ามันเป็นผัก แต่เห็นว่ามันเป็นต้นไม้ที่เราใช้จัดสวนอื่นๆ แล้วตอนนี้มีความทะเยอทะยานจะปลูกฟักเขียว ฟักทอง โดยคิดเสียว่า ใบหยักๆ ดอกสีเหลืองลออนั้นดูไกลๆ ก็คล้ายซุ้มองุ่น หรือไอวี สวยจะตาย โก้จะตาย ช่อดอกโหระพา ถ้าปลูกดีๆ ปฏิบัติต่อมันในฐานะไม้ดอก ไม่ใช่เอะอะเอาไปผัดขี้เมา ปลูกไปปลูกมา วางตำแหน่งให้สวยๆ ก็กล้อมแกล้มดูไกลๆ เป็นดอกไม้ในสวนอังกฤษได้ ยิ่งกลุ่มดอกถั่วต่างๆ เช่น ถั่วพลู นั้นยิ่งสวยมาก สวยไม่แพ้กล้วยไม้

 

        เมื่อจัดสวนด้วยคิดว่าเราปลูกหญ้า และหญ้ามันไม่มีราคาอะไร ตายก็ปลูกใหม่ เพราะมันช่างเป็นวัชพืชที่มีเหลือเฟือดาษดื่นอยู่ทั่วไป งานทำสวน ปลูกต้นไม้ ก็กลายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว ไม่ต้องลงทุนลงแรง ประคบประหงมอะไรนัก

        ใครที่รู้สึกลังเลที่มีสวน ที่จะปลูกต้นไม้ ลองคิดใหม่ว่าเราไม่ได้ปลูกต้นไม้นะ เราแค่ปลูกวัชพืชที่เราคิดว่ามันสวยจัง

         แล้วลองไม่ปลูกต้นไม้ที่ซื้อมาจากร้านต้นไม้ แต่ฝึกตัวเองให้เห็นวัชพืชข้างถนนทั่วไปในชีวิตประจำวันที่เรามักมองข้าม ลองเก็บเมล็ดมันมา ลองเด็ดก้านแก่ๆ มันมา เพราะธรรมชาติของวัชพืชมักขยายพันธุ์ได้ง่ายเพียงนอนกิ่งมันไปบนดินแล้วรากก็งอกออกมาจากทุกข้อต่อ

        เริ่มจากปลูกวัชพืชอะไรสักอย่างในกระถางเล็กๆ ลองดูว่าพลันที่ใบมันผลิใบ มันช่างนำความสุขมาให้ได้มากมายอย่างประหลาดแม้มันจะเป็นแค่วัชพืชในสายตาของคนอื่น

        บางทีสวนสวยๆ มันก็เริ่มต้นง่ายๆ แค่นี้เอง