อยู่เป็น

เป็นโสดทำไม? เมื่อคนโสดไม่มีสิทธิ์

สืบเนื่องมาจากข้อถกเถียงเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คู่ชีวิต และการเสนอ พ.ร.บ. ว่าด้วยสมรสเท่าเทียม ซึ่งฉันจะขอละเว้นไว้ไม่กล่าวถึง เพราะมีรายละเอียดอันไม่เกี่ยวกับสิ่งที่จะเขียนในบทความนี้ แต่บังเอิญว่ามีเพื่อนคนหนึ่งเอ่ยขึ้นมาทีเล่นทีจริงว่า ถ้ามีการเรียกร้องสิทธิการใช้ชีวิต ‘คู่’ ของคนเพศเดียวกันในฐานะคนโสด ก็อยากเรียกร้องสิทธิคนโสดด้วย เพราะรู้สึกว่าการเป็นคนโสดนั้นไม่มีโอกาสใช้สิทธิ์ เช่น สิทธิ์ลาคลอด หรือภาษีก็ไม่ได้รับการลดหย่อนอะไรเลย ในขณะที่คนมีลูกจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนการเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น

 

        แน่นอน เขียนไปเช่นนี้ก็ต้องมีปรากฏการณ์ทัวร์ลงอยู่แล้ว ว่าช่างเป็นความเห็นที่ตื้นเขิน ไปจนกระทั่งว่าคนพูดช่าง ignorance เป็นผู้ชายที่เต็มไปด้วยอภิสิทธิ์ จึงมาเย้ยหยันข้อเรียกร้องความเสมอภาคของคนเพศเดียวกัน

        ส่วนฉันนั้นเห็นว่าหัวข้อว่าด้วยความเป็น ‘โสด’ นั้นน่าสนใจ เริ่มจากการที่ในโลกที่ค่อนข้าง ‘เก่า’ จะมองว่าคนโสดคือคนที่ ‘ไม่มีใครเอา’ ในสมัยที่ฉันประกาศตัวว่าเป็นเฟมินิสต์เมื่อสักยี่สิบปีที่แล้ว ก็มีเสียงตอบรับกลับมาว่า

        “อ๋อ หน้าตา นิสัยแบบนี้ ไม่มีใครเอา หาผัวไม่ได้ เลยต้องมาเป็นเฟมินิสต์” อย่างนี้เป็นต้น

        ในโลกที่เก่ากว่านั้น ในเพลงลูกทุ่งยอดนิยมก็ยังมีการแซวคนโสดทั้งหญิงและชายว่า คนโสดนั้นน่าสงสาร เพราะเมื่อตายไปแล้วจะต้องถูกยมบาลถามว่าทำไมถึงเป็นโสด นี่เธอจะตายไปโดยไม่มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์แห่งการเป็นผัวใครหรือเมียใครจริงๆ หรือ? แปลไทยเป็นไทยได้ว่า เกิดมาแล้วไม่มีผัวหรือเมียนั้น มันช่างเสียชาติเกิด เสียทีที่ได้เกิดเป็นคน

        เมื่อเป็นเช่นนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าในวัฒนธรรมกระแสหลัก การเป็นโสดถูกทำให้เป็นปมด้อย เราจึงได้ยินคำพูดต่างๆ นานา เช่น

        “แรดแบบนี้สิ ไม่มีใครเอาไปเป็นแม่ของลูก”

        “ขี้เกียจแบบนี้จะหาผัวได้เหรอ?”

        “บ้านรกแบบนี้ใครจะมาขอไปเป็นเมีย”

        ฯลฯ

        ส่วนผู้ชายโสดก็ถูกมองว่า เป็นเกย์หรือเปล่า มีความผิดปกติทางจิตบางอย่างหรือไม่? เป็นคนขี้เหนียวเกินไปมั้ง? และอื่นๆ

        มองจากสายตาของรัฐชาติสมัยใหม่ ความเป็นโสดของพลเมืองก็ไม่ใช่สิ่งที่รัฐปรารถนา เพราะการที่คนไม่แต่งงาน หมายถึงการไม่ทำหน้าที่ผลิตพลเมืองให้กับรัฐ สถานะของผู้หญิงในรัฐชาติสมัยใหม่ในยุคแรก คือการเป็น ‘แม่ของชาติ’ อุปมาอุปไมยหลายอย่างก็ชัดเจน เช่น ชาติคือครอบครัว ดังนั้น การแต่งงาน สร้างครอบครัว มีลูก เลี้ยงลูกให้เป็นพลเมืองดีของสังคมสืบไป จึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองและเป็นสิ่งที่ถูกสถาปนาให้เป็น normative  เป็นความ ‘ปกติ’

        เมื่อเป็นเช่นนี้ การเป็นโสดจึงเป็นส่งที่ ‘ไม่ปกติ’ ไม่เป็นไปตามครรลองที่ควรเป็น ยังไม่นับว่า รัฐย่อมเห็นว่า ภาระของการเป็นพ่อและแม่นั้นเกี่ยวพันกับคุณภาพของพลเมืองของชาติในอนาคต รัฐจึงมีหน้าที่ดูแลคนที่แต่งงาน และมีลูกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการ หรือมาตรการทางภาษีต่างๆ

        ดังนั้น บนเส้นเรื่องนี้ ความโสดคือความชายขอบอย่างหนึ่ง แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป คนที่สวย หล่อ เก่ง มีชื่อเสียงจำนวนมาก พากันออกมาบอกว่าความโสดเป็น choice ฉันเลือกจะโสด และเลือกออกแบบชีวิตทางกามารมณ์ได้เอง โดยที่ไม่เอากามารมณ์กับการแต่งงานมาเป็นเรื่องเดียวกัน พูดง่ายๆ คือ มีเทรนด์แห่งการ empower คนโสด ในแง่ปัจเจกบุคคล คนโสดจะได้ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจว่าฉันเกิดมาเสียชาติเกิด หรือฉันมันแย่ ไม่มีใครเอา ซึ่งก็ควบคู่ไปกับเทรนด์ว่าด้วยความพยายามปัดเป่าอำนาจรัฐออกจาก ‘ชีวิตส่วนตัว’ ของพลเมืองออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

        แต่การต่อสู้ทางการเมืองเชิงอุดมการณ์เช่นนี้ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ท้ายที่สุดก็จะถูกทุนนิยมตีกินเอาบ้าง เพราะเมื่อคนโสดเพิ่มขึ้น กำลังซื้อสูงขึ้น สินค้า บริหารต่างๆ ก็ต้องหันมา ‘เชียร์’ ความโสด เพราะทุนนิยมเชียร์ทุกอย่างที่ขายได้อยู่แล้ว (รวมทั้งกระแสแอลจีบีทีคิว) สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ normative  ยังเป็นการแต่งงานและมีลูก ทว่า การเป็นโสดไม่ใช่ความผิดปกติอีกต่อไปแล้ว แต่เป็น alternative ที่ออกจะเก๋ๆ หน่อย

        แต่มองในแง่สวัสดิการของรัฐ เราคงต้องมานั่งถามกันว่า คนโสดคือคนที่ไม่มีภาระ จึงหมดสิทธิ์ที่จะได้รับบางสวัสดิการ เช่นเดียวกับที่คนมีคู่และมีลูกได้รับจริงหรือไม่?

        ถ้าคนท้องลาคลอดได้สามเดือน คนโสดสามารถลาสามเดือนเพื่อไปจัดการชีวิต หรือแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ได้บ้างหรือไม่? เพราะมันก็สามารถถามต่อไปได้ว่า กิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การมีลูก (การผลิตพลเมืองให้รัฐ) มันไร้ค่ากว่าหรืออย่างไร?

        คนเป็นโสดอาจมีความกังวลเรื่องการใช้ชีวิตในยามชรามากกว่าคนมีคู่ ณ จุดนี้ รัฐจะดูแลเขาในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง (ที่เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย) อย่างไร? หรือจะวกกลับไปที่คำตอบว่า “อ้าว แล้วใครใช้ให้โสด?” อันเราคนโสดก็จะตอบว่า “อ้าว แล้วการที่เราไม่อยากมีชีวิตคู่ มันต้องแลกมากับการที่เราไม่มีสิทธิเรียกร้องสวัสดิการคนโสดด้วยเหรอ?”

        ที่เขียนมาทั้งหมดก็ไม่จะชวนให้ไปร้องแรกแหกกระเชออะไร เพียงแต่อยากเรียงเส้นเรื่องให้เห็นว่า ปัจจุบัน เราอาจจะมองเห็นแต่ด้านฮิปๆ เก๋ๆ ของความโสด พอมีคนบอกว่าอยากเรียกร้องสิทธิคนโสด เราเลยรู้สึกว่า คนเหล่านี้มีอภิสิทธิ์อยู่แล้ว เก๋อยู่แล้ว จะมาเรียกร้องอะไรยะ

       แต่ฉันก็อยากจะบอกว่า ถ้าในโลกนี้มีคนอยากแต่งงาน อยากจดทะเบียน มันก็มีคนที่ไม่อยากแต่งงาน ไม่อยากจดทะเบียน ขณะเดียวกัน เขาก็ไม่อยากสูญเสียสิทธิบางอย่าง เพียงเพราะเขาไม่ต้องการ register ชีวิตกามารมณ์ของเขากับรัฐ

        และการไม่ยอม register เรื่องนั้นกับรัฐ ก็ไม่ควรเป็นเหตุให้เขาต้องเสียสิทธิบางอย่างไป

        เรื่องมันก็มีแค่นี้