5 ถุงที่ถูกใจ จากงาน Lampang Coffee Fest

        ย้อนกลับไปเมื่อสักสิบปีก่อน ลำปางแทบไม่ได้อยู่ในแผนที่ของธุรกิจคาเฟ่หรือร้านกาแฟของภาคเหนือแต่อย่างใด สมัยก่อนโน้นมีโรงคั่วที่เริ่มสร้างชื่อขึ้นมาเป็นที่รู้จักกันบ้างในหมู่นักดื่มกาแฟท้องถิ่นก็คือ โรงคั่วปรีดา แห่งร้านโก๋กาแฟ (ปัจจุบันยังเปิดดำเนินการอยู่) เท่านั้นจริงๆ แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่า ลำปางกลายเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการเติบโตของธุรกิจคาเฟ่และโรงคั่วมากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคเหนือ ซึ่งก็มีหลายปัจจัยนะครับที่ทำให้ที่นี่เติบโต

        ปัจจัยแรกก็คือการคมนาคมที่สะดวกมาก หากถามคนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนว่าจังหวัดไหนที่เดินทางสะดวกที่สุด เป็นศูนย์กลางของการเดินทาง ก็คงไม่พ้นลำปางเพราะเป็นชุมทางที่ไปได้หลายจังหวัด มีทั้งสนามบิน ทางรถที่เชื่อมต่อไปได้หลายทาง ทั้งไม่ไกลจากเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ รวมทั้งเมืองยังมีความเจริญระดับหนึ่ง ไม่ได้เงียบเหงาเหมือนน่าน ลำพูน หรือแพร่ ที่แม้จะเริ่มมีโรงคั่วและร้านกาแฟเติบโตแต่ก็อาจเงียบไปสักนิดสำหรับนอกฤดูกาลท่องเที่ยว

        ปัจจัยถัดมาก็คือลำปางเป็นเมืองรองที่ไม่เงียบเหงาจนเกินไป ผู้คนมีกำลังซื้อเนื่องจากมีหน่วยธุรกิจใหญ่ๆ หลายอย่างที่ตั้งอยู่ที่นี่ ทั้งเหมืองแม่เมาะ ทั้งธุรกิจของ SCG ที่มีฐานการผลิตอยู่ที่นี่อีก ธุรกิจผลิตเครื่องปั้นดินเผา เซรามิก ธุรกิจการศึกษาก็เติบโต ทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ทำให้เมืองดึงดูดผู้คนเข้ามาลงทุน

        ทั้งหมดที่ว่ามาก็น่าจะเป็นปัจจัยส่งเสริมว่าทำไมอยู่ดีๆ ลำปางถึงมีโรงคั่วเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

        จริงๆ อาจไม่สามารถเรียกว่าเป็น ‘โรงคั่ว’ ได้เต็มปากเต็มคำมากนักครับ เพราะบางแบรนด์ ใช้เครื่องคั่วขนาดเล็กๆ ไม่กี่กิโลกรัม เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนมากกว่า 

        อย่างไรก็ดีต้องถือว่าธุรกิจร้านกาแฟและโรงคั่วเป็นอาชีพที่ดูจะได้รับความนิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อายุยังเยาว์ (เมื่อเทียบกับคนวัย 48 อย่างผม) ร้านกาแฟ ร้านคาเฟ่ยิ่งมาก ปริมาณการใช้เมล็ดกาแฟก็มากตามไปด้วย เจ้าของธุรกิจก็มองหาเมล็ดกาแฟที่คุณภาพดี ราคาดี ที่สามารถทำกำไรต่อแก้วให้พวกเขาได้ โรงคั่วกาแฟที่มีระดับราคาของเมล็ดกาแฟให้เลือกหลากหลาย เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เจ้าของร้านมีตัวเลือกมากขึ้น

        ด้วยเหตุที่ว่ามา น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ลำปางมีงานแฟร์ขนาดกำลังน่ารักที่ให้ผู้ประกอบการในจังหวัดได้มาเจอกัน งานนี้จัดเมื่อวันที่ 15-19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปเดินในงาน เดินอยู่หลายชั่วโมง แวะซุ้มนั้น คุยซุ้มนี้ ซื้อกลับมาลองชงที่บ้าน และเลือกกาแฟที่ชอบมาได้ห้าถุง ได้แก่ 

Baramio Coffee Doi Chang

        หนึ่งในโรงคั่วที่เติบโตเร็วที่สุดของลำปาง ปัจจุบันส่งออกเมล็ดกาแฟไปกว่า 200 ร้านทั่วประเทศไทย มีจุดเด่นอยู่ที่ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับคุณภาพ ลูกค้าหลายคนให้คะแนนเรื่องความสม่ำเสมอของคุณภาพ บารามิโอเลือกเมล็ดกาแฟจากดอยช้างที่ระดับความสูงราว 1,700 ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล ถุงนี้เป็น single origin มาจากไร่เดียว หอมกลิ่นช็อกโกแลตและดอกไม้อ่อนๆ แอซิดิตี้ (acidity) ไม่มากนัก 

Mister Bean: Mister MC.

        ถุงนี้ออกแบบได้น่าสนใจและเตะตาตั้งแต่แรกเห็น เจ้าของคือ ศิร ลาวัลย์วดีกุล และ สุณัฏฐา จุลบุตร ทั้งคู่เคยทำงานในร้านกาแฟที่ซิดนีย์ ออสเตรเลียช่วงปี 2020 กลับมาเปิดร้านกาแฟและโรงคั่วที่ลำปาง น่าจะถูกใจใครที่ชอบงานออกแบบสวยๆ หน้าถุงเขียนชัดเจนว่าเหมาะทั้งแบบกินเป็นกาแฟดำ (black) หรือว่าจะกินเป็นกาแฟนม (White) ผมลองชงทั้งสองแบบไม่ออกเปรี้ยว รสชาติออกจะเบาไปนิด หากใครที่ชอบกาแฟมีบอดี้แน่นๆ ถุงนี้อาจไม่เหมาะ 

Thai Coffee & Cocoa: Medium Roast

        ถุงนี้ก็เป็นอีกถุงที่น่าสนใจ เป็นกาแฟที่มาจากแหล่งปลูกดอยแม่ส้าน อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง อยู่ไม่ไกลจากอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท รสชาติออกช็อกโกแลต แห้งไปนิดสำหรับผม

Chewin Special: Lee-La

        กาแฟแบรนด์นี้เน้นขายกรรมวิธีเป็นหลัก จุดเด่นอยู่ที่ใช้ยีสต์มาหมักในกระบวนการ คล้ายกับการทำไวน์ยีสต์พวกนี้จะไปย่อยแพกตินบนเมือกกาแฟออกและสร้างแอลกอฮอลล์ (ซึ่งมาจากกระบวนการที่ยีสต์กินน้ำตาลนั่นแล) ทำให้ได้กลิ่นและรสชาติเฉพาะตัวเมื่อนำไปคั่ว ถุงนี้ใช้เมล็ดกาแฟจากลำปางและแม่แจ่ม เชียงใหม่มาเบลนด์เข้าด้วยกัน ได้กลิ่นออกสมุนไพร มีกลิ่นของแอปเปิ้ลเขียวนิดๆ  

Fill Flavor Coffee Bar

        ร้านกาแฟที่ออกแบบได้เก๋ไก๋ ถุงกาแฟก็เก๋ไก๋น่าค้นหาไม่แพ้กัน ไม่บอกอะไรเลยให้เราได้รู้ ถุงดำขลับ มันวาว ให้เราได้เดากันเองว่าข้างในนั้นมีรสชาติอะไรซ่อนอยู่ ผมชงแบบผ่านน้ำ ให้ความหอมของดอกไม้ ออกเปรี้ยวนิดๆ ส่วนตัวผมว่าถุงนี้ดื่มแบบเย็นหรือใส่นมจะอร่อยขึ้น

        การไปเดินงานแฟร์ของกาแฟบ่อยๆ ก็เห็นรสนิยมของคนที่ดื่ม และรสนิยมของคนดื่มกาแฟในบ้านเราว่าโดยมากโรงคั่ว มักคั่วเมล็ดกาแฟเกรดกลางเป็น Medium to Dark หรือ Dark Roast เพื่อใช้สำหรับการทำเครื่องดื่มเย็น หรือชงเพื่อเป็นเบสในการทำเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ โรงคั่วบางแห่งอาจผสมโรบัสต้าเข้าไปด้วยเพื่อให้ได้อะโรมาที่ชัดเจนขึ้น หรือเลือกเมล็ดจากแหล่งปลูกที่มีแอซิดิตี้สูงนิดหน่อย เพื่อตัดกับนมแล้วจะได้พอดี ดื่มอร่อย

        ส่วนเมล็ดกาแฟที่มาจากแหล่งปลูกที่ดูจะ ‘เล่าเรื่อง’ ได้ ก็จะเน้นเป็นการคั่วแบบ light ไปจนถึง medium เพื่อให้เมล็ดกาแฟได้โชว์โปรไฟล์ออกมามากขึ้น เพราะแบบคั่วเข้มหากคั่วไม่ชำนาญ อุณหภูมิและเวลาไม่ถูกต้องถูกที่อาจทำให้เมล็ดไหม้ อีกประการหนึ่ง การชงแบบผ่านน้ำเมื่อเทียบกับการซื้อเครื่องเอสเพรสโซ เข้าถึงได้ง่ายกว่าสำหรับผู้ที่เริ่มต้นอยากชงเองที่บ้านและดูมีจริตมากกว่า ซึ่งนั่นก็ทำให้เมล็ดกาแฟและการชงดูมีพิธีรีตอง ดูน่าสนใจมากขึ้น

        อีกอย่างที่สำคัญพอกัน ก็คือกระแสของเครื่องดื่มเบสชานั้น ก็ได้รับความนิยมมาก เห็นได้จากการเติบโตของร้านชานมไข่มุก การที่กาแฟจะเข้าไปแย่งตลาดส่วนนี้ได้ ก็อาจต้องหาจุดร่วมที่พอดีกับรสนิยมของคนไทยที่อาจไม่ชอบรสขมเข้มของกาแฟแบบโอเลี้ยงของคนรุ่นก่อน การชงให้อ่อนลงก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เครื่องดื่มสองอย่างนี้มีจุดร่วมกันมากขึ้น 

        ฉะนั้นงานแฟร์ส่วนมากที่ผมเจอ จะมีแต่กาแฟที่กลาง-อ่อนหรือคั่วอ่อนเพื่อการเอาไปดริปมากกว่าจะมาขายกาแฟคั่วกลางค่อนเข้ม หรือเข้มเพื่อเอาไปชงกับเครื่องเอสเพรสโซ่ กระนั้นแบรนด์ส่วนใหญ่ที่มาออกงานก็มีโปรไฟล์ของกาแฟคั่วเข้มมาให้ดมเหมือนกัน เผื่อลูกค้ากลุ่มอื่น

        อยากเห็นงานแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ คิดว่าทำให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นมีกำลังใจและเห็นช่องทางทำมาหากิน ไม่ต้องมากระจุกตัวแออัดกันในเมืองใหญ่ 


เรื่อง: เอกศาสตร์ สรรพช่าง