ถุงนี้ที่เปิดชง
Bacha Coffee C9072 Flavored GOLDEN EAGLE
ต้องยอมรับว่า แค่ถุงก็กินขาดจริงๆ สำหรับความหรูหราหมาเห่า ชนิดที่ว่าซื้อมาแล้ว กินหมดก็ไม่อยากทิ้ง เพราะทำดีจริงๆ ไม่ใช่แค่ถุงใส่เมล็ดกาแฟเท่านั้น ถุงกระดาษที่ให้มาก็ดีเหลือหลาย นับรวมกับซองใส่ใบเสร็จที่ก็หรูหราไม่แพ้กัน
ถุงนี้ผมถามคนขายว่าอยากได้เมล็ดกาแฟแบบแต่งกลิ่นเป็นเฟรนช์ วานิลลา เพราะไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วร้านก็ปารีสเสียขนาดนั้นก็อยากได้อะไรที่ดูตอแหลไปอีกขั้น คนขายแนะนำเมล็ดนี้มา จริงๆ แล้ว เฟรนช์ วานิลลาในร้านมีหลายสูตร มีชื่อเรียกและระดับของวานิลลาที่ผสมแตกต่างกัน ซึ่งราคาก็ต่างกันไป อย่างถุงนี้ 300 กรัม คิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ราวพันกว่าบาท แพงไม่ใช่เล่น
เอามาชงก็ดีครับ ให้กลิ่นวานิลลาอย่างที่ใจอยาก ผมชงแบบผ่านน้ำ เมล็ดออกจะแห้งและหืนไปนิดหน่อย เข้าใจว่าอาจจะเก็บไว้ค่อนข้างนาน และวิธีการเก็บแบบโถใส่ชาเหมือนกับ TWG อาจดูสวยเวลาตั้งโชว์ในร้าน แต่อาจไม่เหมาะสำหรับการเก็บเมล็ดกาแฟเท่าไหร่
โดยรวมแล้วประทับใจที่หน้าตา รสชาติไม่ว้าวอย่างที่คิด
ที่ว้าวกว่าคือราคา เพราะแพงเหลือหลาย
หากคุณมีเพื่อนเป็นคนสิงคโปร์และถามเขาว่าตอนนี้มีร้านกาแฟไหนฮอตฮิตบ้าง เชื่อว่าหนึ่งในร้านที่ทุกคนจะพูดถึงและแนะนำคือ ‘บาชาคอฟฟี่’ (Bacha Coffee)
ความร้อนแรงของบาชาคอฟฟี่นั้นไม่เบาเพราะถึงขนาดที่ว่าแต่ละสาขาต้องต่อคิวนับชั่วโมง เพื่อเข้าไปนั่ง ผมมีโอกาสโฉบผ่านที่สาขามาริน่า เบย์ ก็ใจไม่ถึงพอที่จะรอเพราะคิวยาวมาก เลยโฉบไปดูที่สนามบินชางฮี ของสิงคโปร์แทนก่อนกลับ ซึ่งพบว่าความน่าสนใจของแบรนด์กาแฟใหม่ล่าสุดนี้ ไม่ได้อยู่ที่เครื่องดื่มในร้าน แต่อยู่ที่การสร้างประสบการณ์ของการบริการมากกว่า โดยเฉพาะการตกแต่งร้านที่ทำได้น่าสนใจ บาชาคอฟฟี่สร้างบรรยากาศคาเฟ่ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นปารีสเข้ากับศิลปะมัวร์ ให้บรรยากาศเหมือนอยู่ที่มาราเกซ เสมือนเราอยู่ในหนัง ลอว์เรนซ์ ออฟ อาระเบีย หรือเป็นคาเฟ่ที่อยู่ข้างบ้านอีฟ แซง โลรอง อะไรแบบนั้น เหมือนหลุดเข้าไปอีกโลกหนึ่งก็ว่าได้
ซึ่งก็ไม่แปลกใจหากคุณรู้ที่มาที่ไปของร้านกาแฟแห่งนี้ ที่แม้ว่ามันมีต้นกำเนิดที่มาราเกซ ประเทศโมร็อกโก แต่กลับมาโด่งดังที่สิงคโปร์มากกว่าที่อื่น-ค่อยๆ อ่านไปครับเดี๋ยวคุณก็จะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด
ย้อนกลับช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ปี 1910 ถือเป็นปีเกิดของบาชาคอฟฟี่ ตามที่หน้าถุงเขาอ้างอิงไว้ ปีนั้นเป็นปีที่พระราชวัง ‘ดาร์ เอล บาชา’ (Dar El Bacha) เปิดทำการ ว่ากันว่าเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟแห่งนี้ด้วย
ดาร์ เอล บาชา แปลตามตัวหมายถึง ‘บ้านของมหาอำมาตย์’ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้น ที่นี่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักและที่รับรองแขกของ Thami El Glaoui มหาอำมาตย์เจ้าหน้าที่ระดับสูงของมาราเกซ ได้รับการแต่งตั้งโดยสุลต่าน Moulay Youssef ขณะที่เขาขึ้นปกครองโมร็อกโก ในช่วง 1912-1927 วังนี้อยู่ในเขตเมืองเก่าของมาราเกซ ในช่วงตั้งแต่ 1912 มาจนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นช่วงที่โมร็อกโกมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองมากมาย เนื่องจากเป็นดินแดนที่เป็นที่หมายปองของชาติผู้ล่าอาณานิคมทั้งหลายไม่ว่าจะอังกฤษ ที่เข้ามาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 และสเปนกับฝรั่งเศสที่มีพรมแดนใกล้ๆ กัน ฉะนั้นแถบนี้จึงเต็มไปด้วยผู้คนที่เดินทางเข้าออกดินแดนแถบนี้ตลอดเวลา รวมถึงคนดังที่เดินทางเข้ามาและมีโอกาสได้แวะพักที่ ดาร์ เอล บาชา ทั้ง วินสตัน เชอร์ชิล (อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ) ชาร์ลี แชปลิน (นักแสดงฮอลิวู้ด) หรือโจเซฟีน เบเกอร์ (นักแสดงอเมริกันเชื่อสายฝรั่งเศส) และอีกหลายคน
ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับร้านกาแฟใน ดาร์ เอล บาชา แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีสถานที่รับรองแขกสำหรับการดื่มชา กาแฟ เพราะมาราเกซนั้นเป็นดินแดนที่รุ่งเรืองมานานมาก และเป็นแหล่งค้าขายชากาแฟที่สำคัญ ด้วยความที่มีภูมิศาสตร์เหมาะกับการเป็นศูนย์กลางของการค้าขาย โมร็อกโกมีส่วนเชื่อมต่อทางทะเล ทั้งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทั้งมหาสมุทรแอตแลนติก อีกด้านก็อยู่ติดกับเทือกเขาแอตลาส และยังติดกับทวีปแอฟริกา แหล่งปลูกกาแฟที่สำคัญของโลก ผู้คนจากดินแดนทางเอเชียตอนกลางและแอฟริกาใช้เส้นทางสัญจรบริเวณนี้ผ่านไปมาเพื่อค้าขายที่ มีการสันนิษฐานว่ากาแฟที่ดื่มกันในสมัยออตโตมันสมัยก่อนก็ผ่านมาจากเส้นทางนี้เช่นกัน
คนแถบนี้บริโภคชากาแฟกันมานานพอควร เพราะเขาไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม ทำให้ชากาแฟเป็นที่นิยมอย่างมาก อีกทั้งเมืองอย่างมาราเกซ คาซาบลังกา และแทงเจียร์ ถือเป็นสามเมืองใหญ่ที่นักเดินทางต้องแวะ ยิ่งในสมัยนี้ไม่ต้องพูดถึง ทุกสุดสัปดาห์นักท่องเที่ยวจากยุโรปนิยมข้ามช่องแคบยิบรอลตาร์มาเที่ยวอยู่เนืองๆ และเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องมาอย่างยาวนานนับร้อยๆ ปี ปัจจุบันหากอ้างตามการจัดอันดับของ Fitch Rating ของสหรัฐอเมริกา โมร็อกโกเป็นเมืองอันดับสองของประเทศในแถบ MENA (Middle East, North Africa) ที่มีการบริโภคกาแฟมากที่สุด ทั้งจากคนในประเทศเองและจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เรียกว่าอุตสาหกรรมกาแฟของที่นี่สูงมากเกือบหมื่นล้านบาทต่อปี แม้ไม่เป็นเมืองที่โดดเด่นเรื่องการปลูกกาแฟใดๆ เลย
ค่านิยมเรื่องการดื่มกาแฟได้รับอิทธิพลมาจากทั้งจากฝั่งออตโตมันในอดีตและจากฝรั่งเศสช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่โลกสมัยใหม่ของโมร็อกโก จะเรียกว่าโมร็อกโกเป็นหม้อหลอมทางวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศ MENA ก็ว่าได้
แต่กว่าที่ Coffee House จะเข้ามาแพร่หลายในโมร็อกโก ก็น่าจะเป็นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หลังจากที่ฝรั่งเศสเข้ามาเป็นประเทศเจ้าอาณานิคมนี่แหละ วัฒนธรรมคาเฟ่เริ่มเบ่งบานตั้งแต่ช่วงปี 1920 เป็นต้นมา Coffee House ในสามเมืองใหญ่ของโมร็อกโก ทั้งมาราเกซ คาซาบลังกา และแทงเจียร์นั้นผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดตามอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาจากฝรั่งเศส โดยเฉพาะในแทงเจียร์และคาซาบลังก้าซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ถึงกับมีสุภาษิตของชาวเมืองที่นั่นว่า “ระหว่างคาเฟ่ร้านหนึ่งกับคาเฟ่อีกร้านหนึ่ง…ก็มีคาเฟ่อีกร้านหนึ่งคั่นอยู่ตรงกลาง”
ร้านกาแฟดังๆ ที่ยังคงเปิดดำเนินการและเป็น must visit ของนักท่องเที่ยวอย่าง ‘Cafe Les Negociants’ (1936), ‘Patisserie Driss’ (1928) หรือ ‘Cafe de France’ ในคาซาบลังกา ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1915 ยังคงมีเสน่ห์ให้ผู้ที่มาเยือนต้องแวะไปสักครั้ง
แต่ก็น่าแปลกที่บาชาคอฟฟี่ไม่ได้มีชื่ออยู่ในนี้ ทั้งๆ ที่ระบุหน้าซองว่าเปิดมาตั้งแต่ปี 1910
บาชาคอฟฟี่ เป็นเรื่องกุขึ้นมาหรือเปล่า
พูดแบบนั้นก็อาจไม่ใช่เสียทีเดียว ผมคิดว่านี่เป็นการสร้างเรื่องราวของแบรนด์ ที่พยายามเชื่อมโยงกาแฟเข้ากับความเก่าแก่ของสถานที่ นำประโยชน์จากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาสร้างแบรนด์ให้น่าสนใจ เพราะบาชาไม่น่าจะเป็นร้านกาแฟ แต่แบรนด์น่าจะยืมชื่อของ ดาร์ เอล บาชา มาใช้มากกว่า
จริงๆ แล้ว ดาร์ เอล บาชา ในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง ที่แห่งนี้ถูกปล่อยให้รกร้าง ไม่มีใครสนใจ กระทั่งเริ่มมีการบูรณะใหม่โดย Fondation Nationale des Musées (FNM) ของโมร็อกโก และมีนโยบายว่าจะดัดแปลงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ในชื่อ Dar El Bacha – Musée des Confluences และบูรณะจนเสร็จเมื่อปี 2017 ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็มีร้านกาแฟที่ใช้ชื่อว่า ‘Bacha Coffee’ อยู่ในนั้น นั่นอาจเป็นสิ่งเชื่อมโยงถึงความเป็นมาเป็นไปของแบรนด์กาแฟแห่งนี้
หากไปดูเจ้าของแบรนด์ ผู้ดำเนินกิจการนี้คือบริษัท V3 Groumet ของสิงคโปร์ ในเครือของ Osim และ Paris Investment เป็นเจ้าของเดียวกันกับชา TWG ซึ่งก็ปั้นแบรนด์จนสำเร็จและโด่งดัง
TWG เปิดตัวเมื่อปี 2008 แต่ก็ใช้หลักการคล้ายกับบาชาคอฟฟี่ ก็คือนำผลิตภัณฑ์ไปผูกกับประวัติศาสตร์เพื่อให้น่าสนใจ (ตัวเลข 1837 บนโลโก้ของ TWG คือปีที่ถูกตั้งขึ้นมา โดยอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์ของเกาะสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสถานที่การค้าขายชาอันสำคัญในอดีต ภายหลังเมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจงใจให้คนเข้าใจผิดหรือไม่ “1873” เลยถูกพูดถึงว่าเป็นชื่อรุ่นหนึ่งของชาที่จำหน่ายใน TWG แทน) ผู้สร้างสรรค์แบรนด์ Bacha Coffee ก็นำเอาประวัติศาสตร์ของวังมาเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของกาแฟ ผมเข้าใจว่าร้านกาแฟที่เปิดให้บริการในพิพิธภัณฑ์ก็น่าจะบริหารจัดการโดยทีมงานจากสิงคโปร์
ในงานเปิดตัว ดาร์ เอล บาชา ครั้งใหม่ที่บูรณะเสร็จในปี 2018 มีการนำเอาวัตถุศิลปะต่างๆ จากวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก สิ่งของจากศาสนสถานของศาสนาเอกเทวนิยมทั้งสาม (ศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม) และมีการเสิร์ฟกาแฟบาชาในงานนี้ด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นการสร้างแบรนด์และการรับรู้ของกาแฟให้มีเรื่องราวที่น่าสนใจขึ้น
สำหรับร้านกาแฟบาชา หลายอย่างได้แรงบันดาลใจมาจากความสำเร็จของ TWG ทั้งเรื่องกลิ่นอายของความหรูหราแบบอาระเบียนผสมฝรั่งเศส การมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย เป็นเมล็ดกาแฟจากหลากหลายแหล่งปลูก และรวมถึงสินค้าเด่นของบาชา คือเมล็ดกาแฟแต่งกลิ่น เช่น เฟรนช์ วานิลลา โกโก้ พร้อมเครื่องชงแบบ French Press ที่ออกแบบโดย Alessi แบรนด์เครื่องครัวชื่อดังสัญชาติฝรั่งเศสที่ออกแบบมาให้เฉพาะ Bacha Coffee
ความเห็นส่วนตัวของผม บาชาคอฟฟี่ไม่ได้ขายรสชาติหรือคุณภาพของเมล็ดกาแฟมาเป็นอันดับแรก สิ่งที่พวกเขาขายคือประสบการณ์ร่วม โดยเฉพาะการนั่งดื่มที่ร้านเพื่อสัมผัสความหรูหราในแบบของบาชาคอฟฟี่
ตอนนี้เริ่มมีสาขาเปิดตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกแล้ว ทั้งปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก ไทเป และสิงคโปร์ เชื่อได้ว่าอีกไม่นานก็น่าจะมาเปิดที่กรุงเทพฯ แน่ๆ ใครผ่านไปผ่านมาที่สิงคโปร์ ก็ลองแวะดูครับ
แต่สำหรับคอกาแฟที่ซีเรียสกับการคั่วและชง ก็อย่าตั้งความหวังกับคุณภาพของกาแฟไว้สูงจนเกินไป
ถุงนี้ที่เปิดชง Bacha Coffee C9072 Flavored GOLDEN EAGLE
ต้องยอมรับว่า แค่ถุงก็กินขาดจริงๆ สำหรับความหรูหราหมาเห่า ชนิดที่ว่าซื้อมาแล้ว กินหมดก็ไม่อยากทิ้ง เพราะทำดีจริงๆ ไม่ใช่แค่ถุงใส่เมล็ดกาแฟเท่านั้น ถุงกระดาษที่ให้มาก็ดีเหลือหลาย นับรวมกับซองใส่ใบเสร็จที่ก็หรูหราไม่แพ้กัน
ถุงนี้ผมถามคนขายว่าอยากได้เมล็ดกาแฟแบบแต่งกลิ่นเป็นเฟรนช์ วานิลลา เพราะไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วร้านก็ปารีสเสียขนาดนั้นก็อยากได้อะไรที่ดูตอแหลไปอีกขั้น คนขายแนะนำเมล็ดนี้มา จริงๆ แล้ว เฟรนช์ วานิลลาในร้านมีหลายสูตร มีชื่อเรียกและระดับของวานิลลาที่ผสมแตกต่างกัน ซึ่งราคาก็ต่างกันไป อย่างถุงนี้ 300 กรัม คิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ราวพันกว่าบาท แพงไม่ใช่เล่น
เอามาชงก็ดีครับ ให้กลิ่นวานิลลาอย่างที่ใจอยาก ผมชงแบบผ่านน้ำ เมล็ดออกจะแห้งและหืนไปนิดหน่อย เข้าใจว่าอาจจะเก็บไว้ค่อนข้างนาน และวิธีการเก็บแบบโถใส่ชาเหมือนกับ TWG อาจดูสวยเวลาตั้งโชว์ในร้าน แต่อาจไม่เหมาะสำหรับการเก็บเมล็ดกาแฟเท่าไหร่
โดยรวมแล้วประทับใจที่หน้าตา รสชาติไม่ว้าวอย่างที่คิด
ที่ว้าวกว่าคือราคา เพราะแพงเหลือหลาย
เรื่อง: เอกศาสตร์ สรรพช่าง