ความพังทลายทั้งในเรื่องของหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ หรือความล้มเหลวในเรื่องอะไรก็ตาม สำหรับบางคน สิ่งเหล่านี้สามารถกัดกร่อนหัวใจของเขาจนแตกสลายไปได้ แต่ถ้าเราลองสูดหายใจเข้าปอดแรงๆ แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกมาอย่างช้าๆ เพื่อให้สมองของตัวเองได้มีเวลาหยุดคิดและไตร่ตรองสักครู่ ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เรียนรู้อะไรกลับมาจากเศษซากของความพังที่เกิดขึ้นมาก็ได้
_
PANOTH KHUNPRASERT
_
‘ณต’ – ปณต คุณประเสริฐ มือกีตาร์และนักแต่งเพลงของวง Getsunova เริ่มต้นบอกเราถึงแง่มุมของความสัมพันธ์ที่ผุกร่อนด้วยความไม่ใส่ใจ ก่อนจะพังทลายด้วยว่า ‘ไม่เหมือนเดิม’ จนทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าเขามีวิธีคิดอย่างไร ถึงถ่ายทอดคำว่าพังผ่านบทเพลงได้จับใจคนที่เคยมีความสัมพันธ์ที่พังทลาย
Get Lost
“ผมว่าคำว่าพังมันใช้กับทุกอย่างที่เรารักมัน อย่างถ้าเรารักใครหรือชอบทำอะไร ถ้ามันไปถึงที่สุด แต่สุดท้ายมันจบลง มันก็จะรู้สึกเหมือนสิ่งที่เราสร้างพังทลายลง สำหรับผม เรื่องความรักก็เคยมีที่คบกับแฟนมานานแล้วจบลง ผมก็รู้สึกว่ามันพัง มันน่าเสียดาย แต่ไม่ได้ลุกยากเท่าเรื่องงาน ตอนทำเพลงมีความพังค่อนข้างเยอะ ผมไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกตลอดว่า ‘เราต้องทำได้ดีกว่านี้สิ’ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเต็มสิบ เราต้องทำได้สิบเอ็ด หรือสิบเอ็ดจุดห้า ยิ่งยุคแรกๆ ของ Getsunova เป็นช่วงที่พังแล้วลุกยากที่สุด ก่อนที่จะมาเจอเพลงที่ดังมากอย่างเพลง ไกลแค่ไหนคือใกล้ เพราะตอนนั้นเรายังเด็ก ไม่เข้าใจเรื่องนั้นไม่เข้าใจเรื่องนี้ แล้วพยายามปล่อยเพลงที่มันจะต้องโดน มันจะต้องได้ ต้องมีคนฟัง และเราต้องชอบด้วย”
Get Down
“เหมือนตอนนั้นมันจับพลัดจับพลูไม่ถูกสักที ทั้งที่กว่าจะทำเพลงได้เพลงหนึ่ง ผ่านขั้นตอนการอัด ทำเดโม ทำมาสเตอร์ ถ่ายเอ็มวี แต่ปล่อยเพลงปุ๊บ คนกลับไม่ชอบอย่างที่เราชอบ เราเลยรู้สึกว่าสิ่งที่เรารักและสร้างมากับมือมันพัง เราเริ่มคิดกับตัวเองแล้วว่าเราทำอะไรผิด เราต้องปรับอะไรบ้าง แต่ในขณะเดียวกันมันจะมีความรู้สึกว่ายังไม่อยากปรับ ยังไม่อยากทำอะไร ขออยู่นิ่งๆ ก่อน ไม่อยากจะไปอยู่กับมัน บางทีถึงขั้นอยากให้พี่คนอื่นไปทำเลย ไม่อยากทำแล้ว เขียนเนื้อเพลงไม่ได้ก็ปาสมุด กระดาษ หนังสือเป็นการระบายอารมณ์ แต่ไม่ปามือถือนะ แพงไป (หัวเราะ)”
Get Up
“ผมคิดว่าการหยิบแง่มุมความรักที่ไม่สมหวังมาเล่าผ่านเพลงเศร้ามันสื่อสารได้มิติลึกกว่า ผมจึงมักเก็บความเศร้ารอบตัวมาสร้างเป็นงาน แต่มันไม่ได้กัดกร่อนขนาดนั้น อย่างเพลง พัง (ลำพัง) ก็มาจากที่ผมเห็นคนเอะอะก็ใช้คำว่าพังในโหมดที่ตลก ผมอินในความตลกที่มีความเศร้า แล้วอยากเล่าให้คนอื่นฟังว่า จริงๆ คำนี้เป็นคำที่เศร้ามากนะ เราอาจพูดตลกกลบเกลื่อนกับคนอื่นว่าพังว่ะ (หัวเราะ) พอไปนั่งอยู่คนเดียวเท่านั้นแหละ เราถึงทบทวนคำว่าพังของตัวเองจริงๆ สำหรับผม คำว่าพังมันเป็นเพราะทุกคนมีความคาดหวังในช่วงแรก เป็นที่มาของประโยคเริ่มเพลงที่ว่า ‘ทำไมวันนี้เธอไม่เหมือนเดิม’ ที่ผมชอบมาก ผมว่ามันเป็นคำถามง่ายๆ แต่เข้าถึงทุกความสัมพันธ์”
Get Over it
“ผมชินกับงานที่ไม่สำเร็จมากกว่าที่สำเร็จนะ อย่างเวลาพังๆ ก็ไม่ชอบปรึกษาคนอื่น ผมว่ามันไม่ค่อยได้ผล ไม่ค่อยได้ฟังคำที่อยากฟัง ผมแค่อยากนั่งอยู่คนเดียว ไม่อยากให้คนมาย้ำเราถึงเรื่องที่พังไปแล้ว ทีนี้พอถึงจุดหนึ่งผมก็จะกลับมาคิดว่า สุดท้ายจุดเริ่มต้นก็คือเราอยากทำเอง อยากทำให้มันสำเร็จเอง เราก็ต้องกลับมาทำให้ได้ มันก็แค่ต้องหาตัวเองใหม่ พอเราก้าวข้ามตรงนั้นมาได้ คนชอบเพลงเราเยอะขึ้น ก็ไม่ได้โล่งนะ มันจะมีโจทย์ต่อไป ไม่ใช่เรื่องของการทำเพลงอย่างเดียว แต่เป็นการสะสมความเชื่อ การแสดงออก ความสนุก และความผูกพันกับคน
_
JAMES WATTANA
_
ครั้งหนึ่ง รัชพล ภู่โอบอ้อม หรือ ‘ต๋อง ศิษย์ฉ่อย’ คือนักสนุกเกอร์มือวางอันดับหนึ่งขวัญใจคนทั้งประเทศ ครั้งหนึ่งเราเคยนั่งลุ้นอยู่หน้าจอและคอยลุ้นลูกกระทบชิ่งของเขาว่าจะแก้เกมจากคู่ต่อสู้ได้ไหม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชื่อเสียง และเรื่องราวของเขาก็ค่อยๆ เลือนหายไป พร้อมกับอันดับแชมป์ของเขาที่ไม่ท็อปฟอร์มแบบเมื่อก่อน
Get Lost
“ช่วงที่ผมไปแข่งขันและอาศัยที่อังกฤษหลายปี ตอนนั้นผมอยู่อันดับที่ 16 ของโลก ตอนนั้นผมแข่งแล้วก็แพ้บ่อยมาก แล้วก็กลับประเทศไทยไม่ได้ด้วย ตอนนั้นความรู้สึกของตัวเองเปลี่ยนไปเลย จากที่เราคิดว่าตัวเองเป็นผู้ล่า เคยไล่ต้อนคู่ต่อสู้มาตลอด กลายเป็นคนที่โดนล่าเสียเอง ผมเคยถึงขั้นที่ตัวเองใกล้จะเป็นบ้าเลยด้วยซ้ำ เพราะตอนนั้นไหนจะต้องอยู่คนเดียว แล้วอยู่เป็นสิบๆ ปี เรื่องเหงานี่ตัดไปเลย มีอยู่แล้ว ภาษาก็ยังไม่คล่อง เมืองที่อยู่คนไทยก็ไม่ค่อยมี อยากดูหนังไทยละครไทยก็หาดูยาก ผมทำได้แค่ซ้อมและก็ซ้อม วันๆ ได้มองแต่สีเขียวบนโต๊ะสักหลาด”
Get Down
“ความรู้สึกที่ติดลบของผมตอนที่ต่ำสุด มันดิ่งจนเหลือแค่ 5-10% เลยก็มี ซึ่งเป็นความรู้สึกที่น่ากลัวมาก ตอนนั้นต้องกินเหล้าเพื่อให้ลืม คิดสั้นก็เคย ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าคิดแบบนั้นทำไม แต่มันเหมือนคนที่แพ้ไปหมดทุกอย่าง จนคุณแม่พาเราเข้าสู่โลกของธรรมะ เราก็ศึกษาแล้วจึงรู้ว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาปชนิดหนึ่ง และเป็นบาปที่หนาด้วย ผมจึงลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง จะสู้จนกว่าตัวเองจะหมดลมหายใจ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะก็ขอให้ได้สู้ เพราะชีวิตเราเกิดมาบนพื้นฐานของนักสู้อยู่แล้วไง เราต้องสู้ให้ถึงที่สุด”
Get Up
“ทุกวันนี้ผมคิดว่าตัวเองเป็นผู้แพ้ที่ดีในระดับหนึ่ง เพราะบางครั้งเวลาที่แพ้แล้วรู้สึกหงุดหงิดก็ยังมีอยู่ (หัวเราะ) เพราะบางเกมเราอินกับการแข่งขันด้วย แต่ไม่เคยถึงขั้นโมโหแล้วหักไม้ทิ้งนะ เพราะไม้สนุกเกอร์นั้นต้องดูแลอย่างดี เราไม่สามารถไปหยิบไม้ใหม่มาแทงได้เลยแบบเทนนิส แต่ผมก็จะบอกตัวเองเสมอว่า ใจเราต้องอยู่เหนือความสุขและอยู่เหนือความทุกข์ ซึ่งก็มาจากหลักธรรม เอาใจเราเป็นที่ตั้ง บางคนไม่รู้จักการควบคุมจิตใจแล้วก็เกิดอาการฟุ้งซ่าน พอมีอะไรมากระทบความโกรธก็เข้ามากัดกินใจ เกิดเป็นการกระทบกระทั่งกันขึ้น เอาง่ายๆ แค่ขับรถออกจากบ้านเราก็ไม่รู้แล้วว่าจะเจอคนแบบไหน แล้วถ้าสติเราขาดไปแค่นิดเดียว ความเป็นความตายมันก็เกิดขึ้นได้ทันที และเด็กรุ่นใหม่ตอนนี้น่าเป็นห่วงมาก บางคนเรียนสูงก็จริงแต่ศีลธรรมไม่มี เราจึงเห็นข่าวคนฆ่าตัวตายเยอะขึ้น ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าลูกตัวเอง พ่อข่มขืนลูก ลูกข่มขืนแม่ เห็นแล้วก็รู้สึกสะอิดสะเอียนเหลือเกิน”
Get Over it
“ผมเคยขึ้นไปสูงสุดที่อันดับ 3 ของโลกมาแล้ว เราต้องเตือนสติตัวเองว่าทุกอย่างมันไม่จีรัง ถ้าเป็นเมื่อก่อนเวลาที่แข่งแล้วแพ้จะเสียใจมาก แต่เดี๋ยวนี้ให้ตัวเองเสียใจเต็มที่ไม่เกิน 3 วัน เพราะเรามีศึกต่อไปรออยู่ แต่ถ้าชนะก็จะบอกกับตัวเองว่า เราไปมีความสุขกับครอบครัวสามวันพอนะ ถ้าเสียใจก็อย่าเสียใจนาน เพราะมันจะบั่นทอนหัวใจ อย่าให้ใจเราดวงเล็กๆ ของเราบอบช้ำมาก เพราะหัวใจของผมก็บอบช้ำมานานแล้ว ทั้งพ่อเสีย ทั้งเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เข้ามาในชีวิต ประสบการณ์แย่ๆ ที่สะสมมา ความหิวกระหายในชัยชนะเมื่อก่อน แต่ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น”
_
SOMSAK SUMPOCHANONT
_
อาจารย์สมศักดิ์ สัมโภชานนท์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานจิตรกรรมร่วมสมัยบนแผ่นสังกะสีเก่ากล่าวขึ้นอย่างช้าๆ วันนี้เขาก้าวข้ามคำดูถูก ความท้อแท้ และความพังทลายของชีวิต โดยแปรเปลี่ยนสิ่งของไร้ค่าให้กลายเป็นงานศิลปะที่งดงาม เหมือนค่ำคืนมืดมิดที่ผ่านพ้นไป แล้วแสงสว่างของเช้าวันใหม่ก็ได้เริ่มต้นขึ้น
Get Lost
“ช่วงที่ผมเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผมรู้สึกว่าเป้าหมายของชีวิตเริ่มไม่ใช่แล้ว พอขึ้นปี 2 ก็เปลี่ยนใจเบนเข็มไปเรียนรัฐศาสตร์อีก3 ปี แต่มันก็ยังไม่ใช่อีก ตอนนั้นต่อสู้กับความคิดตัวเองเยอะมาก เพราะไม่อยากเรียนแล้ว อยากไปทำงานที่ตัวเองรัก คืองานศิลปะ แต่ก็เกิดขัดแย้งกับครอบครัว ถ้าผมลาออกจากมหาวิทยาลัย ผมจะถูกมองว่าเป็นคนไม่เอาไหน ถูกตราหน้าว่าไม่มีทางทำอะไรสำเร็จ แต่สุดท้ายผมก็เลือกสิ่งที่ตัวเองรัก ตอนนั้นผมอายุ 23 ปี ผมตั้งเข็มชีวิตว่าจะเป็นศิลปิน ผมลาออกจากมหาวิทยาลัยแล้วหันไปศึกษาศิลปะด้วยตัวเอง เริ่มวาดภาพคนเหมือนขายข้างถนน ซึ่งตอนแรกผมคิดว่าผมพอใจกับชีวิตแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่ เสียงข้างในตัวผมบอกว่าอยากทำอะไรมากกว่านี้ ผมอยากสร้างงานศิลปะที่สะท้อนตัวตนของผมจริงๆ”
Get Down
“ต้นปี พ.ศ. 2544 เป็นช่วงที่รุนแรงที่สุดในชีวิต ผมอยากประสบความสำเร็จในฐานะศิลปิน แต่ทำไม่ได้ เพราะผมหาอัตลักษณ์ของงานตัวเองไม่เจอ ตอนนั้นเป็นทุกข์มาก เพราะบาดแผลในอดีตมันย้อนกลับมาเล่นงานอีกแล้ว ว่าสุดท้าย มันคงจะจริงมั้ง ผมคงเป็นคนไม่เอาไหน ทำอะไรไม่มีวันสำเร็จ ขนาดเลือกเส้นทางที่ตัวเองรักก็ยังไม่สำเร็จ วันนั้น ผมนั่งอยู่หน้าบ้าน แล้วก็บอกกับตัวเองว่า ผมไม่อยากอยู่แล้ว รู้สึกว่าชีวิตไม่มีค่า ผมลุกจากเก้าอี้ เดินไปตามถนน สติก็เหลืออยู่ไม่เท่าไหร่ แล้วบังเอิญไปเห็นกองสังกะสีเก่าๆ ข้างทาง ทำให้เกิดความคิดว่า สังกะสีเก่าเนี่ยเหมือนผมเลย ไร้ค่าเหมือนกัน ตอนนั้นรู้สึกเหมือนเจอเพื่อน แต่แปลกดีที่สิ่งไม่มีค่าสองสิ่งมาเจอกัน มันกลับมีความหมายอยู่ตรงนั้น”
Get Up
“ผมมองแผ่นสังกะสีไปเรื่อยๆ จับแผ่นที่อยู่บนสุดพลิกไปอีกด้าน ไม่น่าเชื่อว่าการที่ผมพลิกสังกะสี มันเหมือนจุดพลิกชีวิตผมเลย เพราะอีกข้างหนึ่งที่ไม่โดนแดดโดนฝนมันไม่เป็นสนิม ตอนนั้นมองย้อนกลับมาที่ชีวิตตัวเองว่า ต่อให้ครึ่งหนึ่งเราเป็นสนิม แต่ก็ยังเหลือชีวิตอีกตั้งครึ่งหนึ่ง ผมจึงตัดสินใจว่าจะลองดู สร้างงานศิลปะบนแผ่นสังกะสีเนี่ยแหละ ซึ่งมันจะตอบทุกอย่าง มันเป็นตัวผม และไม่เคยมีใครทำก็เลยหยิบกลับบ้านไปหนึ่งแผ่น เรียนรู้ด้วยการลองผิดลองถูก ทั้งทุบ ดัด สารพัด ทำจนกระทั่งแผ่นสังกะสีเรียบพอสมควร แล้วก็ลองวาดรูปพระพุทธรูปเก่าๆ ลงไปเลือกเกลาเนื้อหาที่เป็นอนิจจัง บนวัสดุที่ให้อารมณ์อนิจจัง โห… มันใช่เลย”
Get Over It
“ก่อนออกแสดงงานกลุ่มครั้งแรก ผมใช้เวลาสองปีในการลองผิดลองถูก ทั้งเอางานไปขายริมถนน และไปแสดงในที่ต่างๆ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2547 งานผมได้รับรางวัลที่ 1 ศิลปินดีเด่นพิเศษ จากนิทรรศการ Art Market โดยกระทรวงวัฒนธรรม วินาทีที่ผมขึ้นไปรับรางวัล ผมดีใจมาก รู้สึกเหมือนได้ขึ้นไปรับปริญญา เพียงแต่ว่ามันเป็นปริญญาที่ผมใช้เวลาถึง 22 ปี หลังจากนั้นคนก็เริ่มเรียกผมว่า ‘สมศักดิ์ สังกะสี’ ซึ่งผมก็ชอบด้วย (หัวเราะ) ญาติพี่น้อง เพื่อนๆ ก็เริ่มมองผมในทางที่ดีขึ้น จนปีที่ผ่านมา ผมมีงานแสดงเดี่ยวครั้งแรก มันเหมือนความฝันเลย ได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก และรายได้บางส่วนก็เอาไปช่วยคนอื่น ส่วนในอนาคตก็วางแผนว่าจะจัดแสดงอีก ทำให้มากกว่าเดิม และทำไปเรื่อยๆ เท่าที่ผมจะวาดรูปไหว”