ชุมชนป้อมมหากาฬ รักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมไปพร้อมกับการพัฒนาเมือง

รอยต่อของช่วงเวลาที่ผ่านมา ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ได้นำเสนอและแสดงโมเดลความเป็นไปได้หลายๆ อย่างให้ได้เห็นว่าการพัฒนาและอนุรักษ์สามารถอยู่ร่วมกันได้ เราจึงอยากขอพาคุณไปพบกับเสน่ห์ของชุมชนเก่าอันทรงคุณค่า ที่กำลัง ‘ปรับตัว + เปลี่ยนแปลง’ พร้อมยืนหยัดอย่างสง่างามอยู่หลังกำแพงหนาสีขาวริมคลองแห่งนี้

ชุมชนป้อมมหากาฬ

 

     “เบื้องหลังกำแพงเก่านี้มีเรื่องราวดีๆ มากมาย” ‘ศา’ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ร่วมก่อตั้งมหากาฬโมเดลเอ่ยขึ้น

     “ที่นี่อากาศจะไม่ร้อน ทั้งๆ ที่ตอนนี้เป็นเวลาเที่ยงวัน บรรยากาศเงียบสงบทั้งๆ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ แวดล้อมไปด้วยต้นกล้วย ต้นมะพร้าว ไม่ต่างจากชุมชนต่างจังหวัด ทั้งๆ ที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ชาวบ้านเองก็ใจดี ผู้นำชุมชนเข้มแข็ง และมีความเหนียวแน่น เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมบ้านเรือนโบราณที่สำคัญ”

     ความรู้สึกพิเศษนี้ทำให้เขารู้ว่า ยังมีอะไรที่ต้องช่วยเหลือที่นี่อีกมาก และสิ่งที่ดีที่สุดคือการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และพัฒนาชุมชน ซึ่งเขาขอเป็นส่วนหนึ่งกับชาวบ้าน ก่อให้เกิดเป็น ‘มหากาฬโมเดล’ และหากสิ่งที่เขาและชาวบ้านดำเนินไปได้ดี โมเดลนี้จะกลายเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนอื่นๆ ได้ไม่ยาก

 

ชุมชนป้อมมหากาฬ

 

Stay Strong

     สิ่งสำคัญที่สร้างความแข็งแกร่งให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ มาจากผู้นำที่เข้มแข็งอย่าง กบ’ – ธวัชชัย วรมหาคุณ เพราะเขาคือหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงที่อยู่เคียงข้างกับชาวบ้าน และเชื่อมต่อผู้คนในพื้นให้ยืนหยัดเพื่อบ้านของตัวเองอย่างไม่ท้อถอย

     “ลุงกบแสดงให้ผมเห็นถึงความเข้มแข็ง การต่อสู้ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านคนอื่นๆ ด้วยว่า เรากำลังเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนักสู้ทุกคน แน่นอนว่าจะมีบางคนที่ยอมแพ้ และยอมย้ายออกไป แต่คนอื่นๆ ก็ยังยืนหยัดกันต่อมาจนถึงวันนี้ได้ ลุงกบจึงไม่ได้เป็นแค่ผู้นำของชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนความหวังของชาวชุมชนป้อมมหากาฬด้วย

     “เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา เราก็อยากเห็นเมืองพัฒนาเหมือนกัน แต่เราจะขอเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานั้นได้ไหม ทำไมเราจะเป็นส่วนหนึ่งไม่ได้ล่ะ” พรเทพ บูรณบุรีเดช รองประธานชุมชน กล่าวขึ้น

 

ชุมชนป้อมมหากาฬ

ชุมชนป้อมมหากาฬ

Living by Believing

     “แน่นอนว่า หากชาวบ้านเห็นผู้นำยังอยู่ คนอื่นๆ ก็มีความหวัง และกลายเป็นพลังต่างๆ ขึ้นมา” ศานนท์พูดถึงการรวมกลุ่มของชาวบ้าน

     “นับจากวันที่มีการรื้อถอนครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2543 จนถึงเหตุการณ์ใหญ่ช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว ก็มีชาวบ้านหลายหลังยอมย้ายออกไป คนที่ยังอยู่จึงมาช่วยกันคิดว่า ต่อจากนี้ควรจะเป็นอะไร เราเลยจัดงาน ‘Co-Create Mahakan’ ขึ้น มีหลายเครือข่ายมาช่วยกันมากมาย กิจกรรมคือ แบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพื้นที่สาธารณะ กลุ่มที่อยู่อาศัย กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มพิพิธภัณฑ์มีชีวิต รวมทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยให้แต่ละกลุ่มช่วยกันคิดว่า หากอยู่ที่นี่ต่อจะทำอะไร

     “กลุ่มเด็กก็เจ๋งมาก เขาคิดจะทำกลุ่มออมทรัพย์ ทุกวันนี้ได้เงินไปโรงเรียน จะต้องออมไว้คนละ 5 บาท แล้วนำมารวมกันเป็นกลุ่มออมทรัพย์ พร้อมเรียกร้องอยากได้พื้นที่ส่วนกลางของเด็ก จึงได้เป็นห้องสมุดชุมชนเล็กๆ กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์และกลุ่มพิพิธภัณฑ์มีชีวิตก็ร่วมกันทำตลาดสุดสัปดาห์ มีกิจกรรมอยู่เรื่อยๆ

     “กลุ่มพื้นที่สาธารณะก็ใช้ไอเดียเดิม เปลี่ยนบ้านที่รื้อไปให้เป็นแปลงปลูกผัก นำโดยกลุ่มแม่บ้านซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชุมชน ผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน”

 

ชุมชนป้อมมหากาฬ

ชุมชนป้อมมหากาฬ

 

In Community We Trust

     ชาวชุมชนป้อมมหากาฬยังทำให้ชุมชนนี้น่าอยู่ด้วยโครงการหน้าบ้านหน้ามอง ปลูกต้นไม้ที่ชอบในกระถางวางหน้าบ้านทุกหลัง สร้างความร่มรื่น เติมความสดชื่นและช่วยให้พื้นที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย

     ส่วนวิถีชีวิตปกติของคนที่นี่ ก็ทำมาหากินด้วยการเข็นของออกไปขายข้างนอก อย่างกระเพาะปลาเข็นไปขายสวนมะลิ กล้วยตากกล้วยทอดก็เข็นออกไปขายที่บ้านหม้อ ส่วนที่เหลือก็ทำหน้าที่ต้อนรับคนที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มอย่างจริงใจ

 

ชุมชนป้อมมหากาฬ

เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา เราก็อยากเห็นเมืองพัฒนาเหมือนกัน แต่เราจะขอเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานั้นได้ไหม ทำไมเราจะเป็นส่วนหนึ่งไม่ได้ล่ะ

ชุมชนป้อมมหากาฬ

 

A Dream You Dream Together is Reality

เพื่อให้การพัฒนาเดินหน้าต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม ชุมชนป้อมมหากาฬจึงตกลงร่วมกัน และยื่นข้อเสนอให้ทุกคนได้เห็นว่า นี่คือคำมั่นสัญญาที่พวกเขาจะช่วยกันปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้ให้ดีขึ้น

+ ชาวชุมชนจะมีการจัดตั้งเวรยามเพื่อรักษาความปลอดภัย

+ ชาวชุมชนขออาสาดูแลรักษาความสะอาดสวนสาธารณะ

+ ชุมชนป้อมมหากาฬจะพัฒนาชุมชนเพื่อเป็นตัวอย่างของชุมชนที่สามารถอยู่อาศัยคู่กับสวนสาธารณะ

+ กรุงเทพมหานครจะมีรายได้จากการจัดเก็บค่าเช่าที่ดินจากชุมชน

+ ชุมชนป้อมมหากาฬจะพัฒนาชุมชนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร

 

ชุมชนป้อมมหากาฬ

สำรวจข้อมูลเพิ่มเติมของชุมชนแห่งนี้ได้ที่ Mahakan MODEL