ในยุคที่เรามักตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ ว่า ทำดีแล้วได้อะไร ทำไปแล้วใครเขาจะเห็นคุณค่า หรือทำก็ได้แต่ขออัพรูปลงโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อจะได้มีคนเข้ามาชื่นชม การทำความดีของเราเริ่มมีเงื่อนไขอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวพันด้วยมากมาย สุดท้ายเมื่อสิ่งที่ทำไม่ได้รับเสียงตอบรับ หรือได้รับการยกย่องให้หัวใจพองโต จนแก่นแท้ของการทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนค่อยๆ ถูกผลักห่างออกไป ภาพของคนที่เดินทางจากบ้านเพื่อมาเป็น ‘อาสาสมัคร’ ที่อยู่ตรงหน้าเรานี้คือสิ่งที่มาช่วยดึงความเชื่อของเรากลับมาอีกครั้ง ว่าคนที่ทำดีโดยที่ไม่คิดหวังสิ่งตอบแทนหรือเสียงชื่นชมที่ดังได้นานแค่ระยะเวลาที่เราเลื่อนหน้าจอโทรศัพท์ไปดูสเตตัสต่อไปบนหน้าฟีดนั้นยังมีอยู่ และพวกเขาตอบคำถามที่เราเคยสงสัยไว้ว่าคุณค่าของความดีนั้นคืออะไร
01
สมบูรณ์ วัฒนมงคลสุข
หนึ่งในกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวังบอกเราถึงความสำคัญของร่มสีดำที่มีให้หยิบยืมตามจุดต่างๆ รอบสนามหลวง เพราะคนที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีตลอดทั้งวัน เริ่มตั้งแต่ตีสามไปจนถึงเที่ยงคืนกว่าๆ ของอีกวัน และช่วงเวลากลางวันของบ้านเราก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าร้อนขนาดไหน บางวันก็มีมรสุมและฝนตกพ่วงเข้ามาด้วย นั่นจึงเป็นที่มาของร่มสีดำจำนวนกว่าหนึ่งหมื่นคันที่ทางเจ้าหน้าที่รอบพระบรมมหาราชวังจัดเตรียมไว้ให้สำหรับทุกคน
“งานจิตอาสาเป็นงานที่ไม่มีผลตอบแทน ผมมาด้วยใจ ถึงแม้ว่าตอนนี้ทางสังกัดจะบอกผมว่าสิ้นสุดโครงการแล้วกลับไปพักได้ แต่ยังไงผมก็จะมาช่วยงานที่นี่ต่อไป เพราะยิ่งใกล้ถึงกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ เราก็ต้องการกำลังของจิตอาสามากขึ้น ผมอยากชวนให้ออกมาร่วมทำความดีเพื่อพ่อหลวงของเราเป็นครั้งสุดท้าย” เขากล่าวอีกครั้งด้วยน้ำตาซึมๆ
02
นภาพร พิทยวราภรณ์
ปลายเดือนตุลาคมปี 2559 นภาพร ได้เริ่มโครงการอ่านระหว่างรอขึ้นมา เพื่อแจกจ่ายหนังสือหลากหลายประเภทให้กับประชาชนที่มารอสักการะพระบรมศพฯ รวมถึงอาสาสมัครจำนวนมากที่กระจัดกระจายอยู่ตามท้องสนามหลวง ด้วยความเชื่อว่า การอ่านหนังสือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ทำให้ได้ใช้เวลาว่างอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
“เราแจกฟรีคนละ 1 เล่ม ไม่ต้องคืน บางคนพยายามยื่นเงินให้ เราก็ไม่รับ เพราะถ้ารับมาแค่สลึงเดียวก็ผิดแล้ว ให้เขานำเงินไปบริจาคอย่างอื่นดีกว่า เราไม่ต้องการค่าตอบแทน”
หนังสือเล่มเล็กๆ ของเธอกว่า 5,000 เล่มที่แจกจ่ายไป ช่วยยึดโยงเธอเข้าไปสู่หัวใจของนักอ่านหลายคน รวมทั้งบรรดาเด็กๆ ที่ล้วนถามถึงคุณน้าใจดี เพราะเฝ้ารอจะได้หนังสือเล่มใหม่ ผ่านไปไม่นานกลุ่มเพื่อนๆ สำนักพิมพ์และนักอ่านคนอื่นๆ ก็ช่วยกันส่งหนังสือเข้ามาสนับสนุน ซึ่งเป็นสิ่งที่เติมไฟให้นภาพรอยากมาทำโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์
“โครงการนี้ทำให้เราลดละความเห็นแก่ตัว และได้เห็นว่าจะทำอะไรเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้บ้าง” นภาพร บอกเราด้วยน้ำเสียงสดใส
03
พรทวี แสนบุญศิริ
พรทวี อาสาสมัครแห่งการสื่อสารไทยได้เล่าให้เราฟังถึงการเข้ามาเป็นจิตอาสาของเขา
“ผมสอบได้ใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่น ก็เลยมาสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ในส่วนประสานงานตามจุดต่างๆ อยู่ที่นี่” เขาเล่าพร้อมกับยกวิทยุสื่อสารขึ้นมารายงานความเรียบร้อยของขบวนผู้ที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพฯ เป็นระยะ
“ในหลวง รัชกาลที่ 9 ท่านเป็นบิดาของการสื่อสารในประเทศไทย พระองค์จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับผม และเมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้น การติดต่อทางวิทยุสื่อสารจะทำได้เร็วที่สุด” เขาเล่าถึงความสำคัญของหน้าที่นี้พร้อมกับยกวิทยุสื่อสารขึ้นมารายงานความเรียบร้อยอีกครั้ง
04
รังวัด สมนปรีชา
มัคคุเทศก์เฉพาะกิจที่ขอเป็นอาสาสมัครให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หลั่งไหลมาสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “งานของเจ้าหน้าที่ทุกคนในแต่ละวันก็เยอะมากอยู่แล้ว” ลุงแกเปิดบทสนทนากับเรา
“เราเป็นคนไทยต้องมีน้ำใจต่อกัน ถ้าผมเจอคนแก่ที่เดินไม่ไหวก็จะไปช่วยประคอง ถ้าเจอรถที่ขึ้นสะพานไม่ไหวก็จะไปช่วยเข็น” ชายคนนี้กล่าวพร้อมกับหันไปช่วยบอกทางกับผู้คนที่กำลังงงว่าจะต้องเดินไปทางไหน
“ที่ทำอยู่ถึงแม้จะไม่ได้เงิน แต่เราทำแล้วสบายใจ ทำแล้วมีความสุข เพราะเราทำเพื่อพ่อหลวง” มัคคุเทศก์แสนใจดีคนนี้กล่าว
_
Volunteers For King BhumibolAdulyadej
_
ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการเป็นจิตอาสาทั้งแบบมาเอง หรือเข้าร่วมกับหน่วยงานต่างๆ สามารถติดต่อลงทะเบียนได้ที่ศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร Volunteers For DAD โดยสามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00-22.00 น.
สถานที่รับสมัคร : หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
หน้าที่ปฏิบัติการ : ฝ่ายพยาบาล (มีความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น) ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและจัดการขยะ (คอยดูแลจุดขยะและจัดเก็บขยะ) และฝ่ายขนย้าย (หน้าที่ในการขนส่งอาหารและน้ำดื่มไปยังจุดต่างๆ)
ข้อมูลเพิ่มเติม : โทร. 0-2613-3908, 09-5479-7034, 09-1814-2076 (ติดต่อบริจาคโดยตรง)