มาราธอน

เรื่องราวปลุกพลังกายและใจ จาก 4 ผู้พิชิตสนามแข่งไตรกีฬาและมาราธอนระดับโลก

แม้ระยะทางจะยาวไกล และต้องใช้แรงกำลังมหาศาล แต่หากเรามีพลังใจที่เข้มแข็ง ก็สามารถไปถึงจุดหมายได้ เช่นเดียวกับเหล่านักกีฬาทางไกลเหล่านี้ มาร่วมทำความรู้จักกับสนามแข่งขันมาราธอน และไตรกีฬาระดับโลก พร้อมจุดประกายแรงใจของคุณให้ลุกโชนขึ้นมากับเรื่องราวของพวกเขา

มาราธอน

มาราธอน


Boston Marathon

ในแวดวงของนักวิ่งมาราธอน ต่างรู้กันดีว่างานบอสตันมาราธอนนั้นคือที่สุดที่บรรดานักวิ่งต่างใฝ่ฝันว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งของรายการนี้ดูสักครั้ง แต่สำหรับ เชษฏ์ สุวรรณรัตน์ นั้นแตกต่างออกไป การอาศัยอยู่ที่บอสตันนานหลายปี ทำให้เขาฝันถึงการออกวิ่งไปทั่วโลก

The Challenge Field :

ผมอาศัยอยู่ที่บอสตันมาตั้งแต่ปี 2000 จึงได้สัมผัสกับบรรยากาศของงานบอสตันมาราธอนแทบทุกปี วันที่มีเหตุการณ์ระเบิดในปี 2013 จนเป็นข่าวดังไปทั่วโลกนั้น ผมไปยืนถ่ายรูปอยู่ตรงจุดที่ระเบิดพอดี แต่โชคดีมากที่ออกมาก่อน จนปี 2015 ผมมีโอกาสได้ไปอยู่ใกล้ๆ กับเส้นชัยของงาน ได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ใส่ขาเทียมวิ่งเข้าเส้นชัย ผู้หญิงคนนี้เคยวิ่งมาถึงตรงนี้เมื่อปี 2013 แต่กลับเกิดระเบิดขึ้น ทำให้เธอต้องตัดขา ปลายปี 2014 หมอใส่ขาเทียมให้เธอสำเร็จ เธอจึงกลับมาเอาเหรียญ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมหันมาสนใจว่าแท้จริงแล้วมาราธอนคืออะไร

บอสตันมาราธอนเป็นงานมาราธอนประจำปีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และเป็น 1 ในท็อป 5 ของสนามมาราธอนระดับโลก เป็นความฝันสูงสุดของนักวิ่งมาราธอนทั่วโลกว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องมาวิ่งงานนี้ให้ได้ จึงไม่สามารถเปิดให้คนทั่วไปสมัครได้เหมือนมาราธอนที่อื่นๆ ต้องมีการคัดกรองคนที่จะมาวิ่ง ไม่อย่างนั้นคนคงล้นงาน แต่ละปีจะมีคนได้สิทธิวิ่งประมาณ 3 หมื่นกว่าคนเท่านั้น ต้องมีการคัดกรอง ซึ่งหากไม่ผ่าน time qualify หรือมาตรฐานการวิ่งจนจบในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละช่วงอายุก็จะไม่มีสิทธิสมัคร อย่างรุ่นอายุของผม ระบุไว้ที่เวลา 3.10 ชั่วโมง

แต่อย่างผมนี่ได้หมายเลขวิ่งมาด้วยการทำ fundraising กับองค์กรการกุศลที่เข้าร่วมโครงการกับบอสตันมาราธอน ซึ่งในปี 2016 ที่ผมวิ่งมีอยู่ประมาณเกือบ 30 องค์กร เราต้องส่งใบสมัครไปตามองค์กรต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเราต้องตอบคำถามเขาให้ได้ว่าจะหาเงินมาร่วมระดมทุนให้กับการกุศลของเขาได้อย่างไร ผมก็ได้รับการปฏิเสธจากหลายแห่ง แต่ด้วยความไม่ย่อท้อทำให้ผมได้รับเบอร์วิ่งมาในที่สุด

Spirit Forward :

เรื่องสนามวิ่ง ผมว่าแต่ละคนก็มีความเห็นต่างกันไป อย่างเพื่อนผมบางคน เวลาไปสนามไหนแล้วชอบ ติดใจ ไม่ว่าจะผู้จัดดี ได้ไปเที่ยว อาหารอร่อย เขาก็ไปกันซ้ำๆ ทุกปี แต่ผมชอบหาอะไรแปลกใหม่ไปเรื่อย ตั้งใจว่าจะเก็บสนามวิ่งเมเจอร์ให้ครบ โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นนักวิ่งมืออาชีพ แล้วก็ไม่ได้คิดว่าจะพัฒนาตัวเองไปถึงระดับนั้น ผมแค่คนธรรมดาที่ชอบเที่ยวและวิ่งสนุกๆ ไม่ได้คาดหวังอะไรกับเวลา แต่ผมคาดหวังว่าจะได้เจอบรรยากาศและเพื่อนใหม่ๆ

มาราธอน

มาราธอน


Challenge Roth

ไม่เพียงแค่มาราธอน แต่นักไตรกีฬาที่ทั้งวิ่ง ว่ายน้ำ และปั่นจักรยาน ก็มีงานแข่งระดับโลกที่ถือเป็นเมกกะที่ใฝ่ฝันอยากจะเข้าร่วมสักครั้งในชีวิต เช่นเดียวกับ ศราวุธ ทั่วรอบ นักไตรกีฬาจิตอาสาจากจังหวัดภูเก็ต กับแมตช์สนามแข่งที่เมืองร็อธ ประเทศเยอรมนี

The Challenge Field :

ผมเริ่มต้นออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน ด้วยความที่อาศัยอยู่ที่ภูเก็ตซึ่งเป็นสนามแข่งไตรกีฬา ประกอบกับได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อนๆ ที่ลงแข่ง ทำให้ผมพัฒนาตนเองเพื่อที่จะลองลงแข่งไตรกีฬาดูบ้าง นอกจากการแข่งขันที่จัดในเมืองไทยแล้ว ผมยังได้มีโอกาสไปแข่งที่ต่างประเทศอีกหลายรายการ

ปีก่อนโน้นผมไปร่วมแข่งขันในงาน Challenge Roth จัดอยู่ที่เมืองร็อธ ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในประเทศเยอรมนี เป็นรายการแข่งที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะมีนักแข่งเข้าร่วมประมาณ 5,000 คน ชาวเมืองร็อธถือว่าเป็นงานประจำปีของเมืองที่ทุกคนต่างตื่นเต้นและพร้อมใจกันมีส่วนร่วม

ผมเข้าแข่งขันในประเภท Full Triathlon ที่จะต้องว่ายน้ำ 3 กิโลเมตร ปั่นจักรยาน 180 กิโลเมตร และวิ่งอีก 42 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เพราะแม้จะเป็นหน้าร้อนของยุโรป แต่อุณหภูมิตอนว่ายน้ำในคลองส่งน้ำก็ยังเย็นอยู่ดี ระหว่างการแข่งขันผมรู้สึกเอ็นจอยกับบรรยากาศทุกอย่าง ภูมิประเทศอันสวยงามของเมืองนี้เหมาะสำหรับงานแข่งไตรกีฬามาก

ระหว่างที่แข่งชาวเมืองร็อธก็จะออกมาย่างบาร์บีคิวและดื่มเบียร์ พร้อมส่งเสียงเชียร์พวกเราไปด้วย บางทีพวกเขาก็จะชักชวนให้เราแวะจิบเบียร์ ซึ่งผมก็รับน้ำใจเขามาดื่มบ้างเหมือนกัน ตอนที่ปั่นขึ้นเนินที่เรียกว่า Solar Hill ซึ่งเป็นจุดไฮไลต์นั้นมีคนมาเชียร์กันแน่นขนัด บางคนมาตะโกนเชียร์ใกล้ๆ แทบจะข้างๆ หู ทั้งที่ไม่ได้รู้จักกัน ทำให้มีกำลังใจ ซึ่งโอกาสที่เราจะได้มาวิ่งในบรรยากาศแบบนี้คงน้อยมาก รู้สึกประทับใจมาก

Spirit Forward :

นอกจากแข่งไตรกีฬาแล้ว ผมยังทำโปรเจ็กต์ที่เป็น Charity Run โดยครั้งแรกเริ่มจากการวิ่งตั้งแต่เช้าจรดเย็นเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล และล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วก็ได้ช่วยจัดงานวิ่งระดมทุนให้กับศูนย์หัวใจอันดามัน โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต อีกด้วย ซึ่งการวิ่งครั้งนี้ผมได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนทั้งจากเพื่อนๆ และอีกหลายหน่วยงาน และหวังว่าจะจัดงานวิ่งระดมทุนเพื่อทำประโยชน์ต่อเนื่องอย่างนี้ไปอีกทุกๆ ปี

มาราธอน

มาราธอน


Kyoto Marathon

ไพรัช วราสินธุ์ นักวิ่งเทรลจากจังหวัดจันทบุรี ผู้หลงรักการวิ่งวิบาก เขาเคยเข้าแข่งขันในงาน Ultra Trail du Mont Blanc ที่เป็นเหมือนโอลิมปิกของการวิ่งเทรลมาแล้ว และสนามที่นักวิ่งหนุ่มคนนี้จะมาแนะนำกับเราคือการวิ่งมาราธอนแบบเพลินๆ ในเมืองมรดกโลกอันเก่าแก่ของญี่ปุ่น

The Challenge Field :

ผมเริ่มต้นการแข่งจากการวิ่งมาราธอน ต่อมาได้รู้จักกับการวิ่งเทรล จริงๆ ผมเป็นคนชอบเดินป่าอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นไม่รู้มาก่อนเลยว่ามีการวิ่งในป่าอย่างวิ่งเทรลด้วย พอได้ลองก็เลยชอบ และวิ่งเทรลมาโดยตลอด จนทำให้ผมได้รับการสนับสนุนจาก CWX แบรนด์ชุดกีฬาออกกำลังกาย ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเมืองเกียวโต ให้เข้าร่วมแข่งขันไนงานเกียวโตมาราธอน

แม้เกียวโตมาราธอนจะไม่ใช่มาราธอนรายการใหญ่นักเมื่อเทียบกับโตเกียวมาราธอนซึ่งเป็นเมเจอร์มาราธอนระดับท็อปของโลก แต่ก็ถือว่ามีความน่าสนใจในหลายๆ แง่ ทั้งเป็นรายการมาราธอนที่ค่าสมัครสูงติด Top 10 ของโลก ซึ่งงานนี้มีคนสมัครจำนวนมาก แต่รับนักวิ่งได้เพียง 16,000 คน จึงต้องจับฉลาก แต่โชคดีที่ CWX ซึ่งเป็นสปอนเซอร์หลักของงาน มีโควตาบัตร 10 ใบสำหรับนักวิ่งชาวไทย และผมก็เป็นหนึ่งในนักกีฬาที่ทางแบรนด์คัดเลือก

งานเกียวโตมาราธอนตรงกับช่วงฤดูหนาวของประเทศญี่ปุ่น อากาศจึงหนาวเย็นมาก แต่ก็มีนักวิ่งมากันแน่นขนัด ด้วยความที่เกียวโตเป็นเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น และเป็นเมืองมรดกโลก จึงเต็มไปด้วยวัดและสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ตลอดระยะทางที่วิ่งก็จะได้พบกับแลนด์มาร์กสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระราชวัง ศาลเจ้า ฯลฯ สถานที่บางแห่งมีประวัติความเป็นมานานกว่าพันปี จนมาจบที่บริเวณศาลเจ้าเฮอัน ซึ่งมีเสาโทะริอิขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น

สิ่งที่ประทับใจเกี่ยวกับงานนี้ก็คือ เมืองเกียวโตใช้งานวิ่งมาราธอนในการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความรักและร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากชาวเมืองที่พากันมาเป็นอาสาสมัครมากถึงประมาณ 15,000 คน และจากจำนวนผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด ผมเป็นคนไทยที่ทำเวลาได้ดีที่สุด คือเข้าสู่เส้นชัยเป็นลำดับที่ 106

Spirit Forward :

จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนหันมาออกกำลังกายนั้นมีหลายอย่าง บางคนอาจจะเป็นเรื่องสุขภาพ บางคนอาจอยากเอาชนะตัวเอง อย่างไรก็ตาม ถ้าเริ่มคิดแล้วว่าอยากจะออกกำลังกายก็ลงมือทำเลย สำหรับเป้าหมายระยะสั้น ผมอาจจะไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าการอยากจะแข่ง อยากจะไปเจอเพื่อนๆ ในสนาม และอยากทำให้ดีที่สุด แต่เป้าหมายระยะยาวของผมคืออยากจะวิ่งไปแบบนี้จนถึงวันที่ผมแก่ และเป็นกำลังใจให้กับนักวิ่งรุ่นหลังๆ ไม่ได้จะอยากดังนะครับ แต่ผมอยากจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเขาเหล่านั้น เหมือนกับที่ตัวผมเองก็มีนักวิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เหมือนกัน

มาราธอน

มาราธอน

IRONMAN World Championship Hawaii

ความหินของไตรกีฬาคือต้องใช้พลังมหาศาลไปกับการว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง ซึ่งคงหินขึ้นอีกเป็นทวีคูณเมื่อต้องแข่งขันในสภาพภูมิประเทศที่โหดที่สุดในโลก อย่างสนามไอรอนแมน เวิลด์ แชมเปียนชิพ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่เกินความพยายามของ ‘หนำ’ – น้ำเพชร พรธารักษ์เจริญ หญิงไทยคนแรกและคนเดียวที่พิชิตสนามนี้ได้สำเร็จ

The Challenge Field :

ย้อนกลับไปที่สนามแรก เราไม่รู้จักไตรกีฬามาก่อน และคิดไม่ออกว่ามันหินยังไง จนเพื่อนชวนว่า ‘ไปแข่งไตรกีฬากันไหม’ เราถามเขาว่าไตรกีฬาคืออะไร เขาบอกว่า ในการแข่งหนึ่งครั้งจะมีการว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง ซึ่งเราชอบว่ายน้ำอยู่แล้ว เคยปั่นจักรยานอยู่บ้าง ส่วนการวิ่งเราก็มีพื้นฐานอยู่ เลยตอบตกลง โดยที่เราตัดสินใจเดี๋ยวนั้นเลย ไม่มีความรู้สึกว่าเราจะไหวหรือไม่ไหว คิดแค่ว่าเราต้องไปลอง ซึ่งหลังจากครั้งนั้นเราก็ได้ลงสู่สนามไตรกีฬาอีกมากมาย

เวิลด์ ไอรอนแมน แชมเปียนชิพ คือสนามโอลิมปิกของการแข่งขันไตรกีฬา และเป็นความฝันของนักไตรกีฬาทั่วโลก การจะได้สิทธิเข้าไปแข่งขันในสนามนี้ต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อยคือต้องเป็นคนที่วิ่งเร็วที่สุดในรุ่นอายุของตัวเอง หรือต้องเป็นมืออาชีพทางด้านไตรกีฬา แต่ต่อมาได้มีการออกกฎใหม่ว่าคนที่จบไตรกีฬาระยะ Ironman 12 ครั้งขึ้นไป ก็สามารถสมัครได้

ไตรกีฬาระยะ Ironman หรือระยะ Full คือการแข่งไตรกีฬาที่ต้องผ่านการว่ายน้ำ 3,800 เมตร ปั่นจักรยาน 180 กิโลเมตร และจบด้วยการวิ่งอีก 42 กิโลเมตร ในปีหนึ่ง ไอรอนแมน เวิลด์ แชมเปียนชิพ จะมีการคัดเลือกนักกีฬาจำนวนหนึ่ง ซึ่งนักแข่งจากทั่วโลกต่างพยายามช่วงชิงสิทธินี้ แต่เราก็สู้ด้วยความรู้สึกที่ว่าฉันจะต้องไปแข่งสนามนี้ให้ได้ พอเราสะสมการแข่งขันไตรกีฬาระยะ Ironman จนครบ 13 ครั้ง ก็มาสมัคร และในที่สุดก็ได้เป็นผู้หญิงไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้สิทธิเข้าร่วมในปี 2014 ที่สนามไตรกีฬาสุดโหด ซึ่งเต็มไปด้วยหินลาวาภูเขาไฟ และลมแรงที่พัดเราขณะปั่นจักรยานจากด้านขวาสุดไปอยู่ตรงกลางได้ตลอดเวลา ที่เมืองโคนา รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา

Spirit Forward :

นักไตรกีฬาทุกคนในสนามไม่ได้มาเพื่อแข่งกัน แต่ทุกคนมาเพื่อ cheer up กัน หากมีช่วงเวลาที่รู้สึกท้อแท้ ให้ลองหยุดอยู่เฉยๆ นั่งพักให้หายเหนื่อย แล้วจะค้นพบว่าพอหายเหนื่อย จะเกิดแรงฮึดว่าเราต้องเข้าเส้นชัยให้ได้ และถึงแม้วันนี้เราจะอยู่ในจุดที่สูงที่สุดของการแข่งขันไตรกีฬาแล้ว แต่ก็ยังมีความสุขกับไตรกีฬาอยู่ สิ่งที่จะทำต่อไปคือหาชาเลนจ์ใหม่ๆ ให้กับตัวเอง นั่นคือการหันมาวิ่งมาราธอน 100 กิโลเมตร และวิ่งเทรล