“ดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทรายต้นไม้ใหญ่ แก้วน้ำ จานชาม บันได โคมไฟที่สวยงาม ขอบรั้วและริมทางเดิน ต้นหญ้าอยู่ในสนาม บ้านนี้จะมีความงามได้ถ้ามีเธอ…”
เพลง Home และเสียงทุ้มนุ่มของ ธีร์ ไชยเดช ลอยขึ้นมาทันทีที่เห็นหน้าปกหนังสือชื่อเดียวกัน ‘Home’ โดย ศศิ วีระเศรษฐกุล นักวาดภาพประกอบสีน้ำ ซึ่งถ่ายทอดเรื่องเล่าจากบ้านของเขา ผ่านการลากเส้นดินสอ ลงสีน้ำนุ่มๆ ราวกับมีชีวิต และชัดเจนไม่ต่างไปจากการภาพถ่าย พร้อมสะท้อนคำว่า ‘บ้าน’ ออกมาได้อย่างอบอุ่น ชวนให้นึกถึงบ้านที่เป็นโครงสร้าง และบ้านที่หมายรวมถึง ‘ครอบครัว’ จนอยากจะกลับบ้าน กลับหาคนที่เรารักอีกครั้ง
“
เวลาคิดถึง ‘บ้าน’ คุณนึกถึงอะไร?
”
01 บ้าน
จำได้ว่า เราซื้อหนังสือเล่มนี้มาเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน เราสะดุดใจกับหน้าปกรูปบ้านไม้สองชั้น วาดด้วยสีน้ำ พร้อมชื่อหนังสือตัวโตๆ ว่า Home หนังสือภาพลำดับที่ห้าของศศิ วีระเศรษฐกุล นั่นแหละเหตุผลที่ทำให้เราเผลอยิ้ม
และความทรงจำที่มีต่อบ้านของเราก็กลับมาฉายซ้ำอีกครั้ง
สำหรับเราบ้านคือทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ตั้งแต่เป็นเด็กน้อย กระทั่งเราเติบโต ป๊าเป็นคนเล่าให้ว่า บ้านหลังแรกที่เราอยู่ไม่ไกลจากบ้านปัจจุบันสักเท่าไหร่ เดิมอยู่กันเป็นครอบครัวคนจีนไซซ์ใหญ่ มีอาม่า อากง อาแปะ อาเจ๊ก อาโกว อาเฮีย ป๊า ม้า และเรา
เราอยู่ที่นั่นจนถึงสองขวบ ก่อนจะย้ายออกเพราะบ้านไฟไหม้ สู่บ้านตึกแถว 3 ชั้นในซอยเล็กๆ แน่นอนเราจำทุกเรื่องราวไม่ได้ เรารู้แค่ว่า เราอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาแบบหลายคนมาโดยตลอด เวลาผ่านไปไวเหมือนลมพัด ผ่านไปแล้วกว่า 30 ปี ที่ฉันใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น เกิดเรื่องราวดีร้ายมากมาย จนกระทั่งวันที่เราตัดสินใจย้ายออกมา
หนังสือเล่มนี้ในช่วงแรกก็เช่นกัน ศศินำพาเราย้อนอดีตของเขากับจุดเริ่มต้นของบ้าน ด้วยภาพสีน้ำอุ่นๆ และบทความสั้นๆ ที่อ่านง่าย แต่ฉายรายละเอียดอื่นๆ ให้เป็นภาพผุดขึ้นในหัวของเราได้ทันที …เขาย้อนเวลา ฉันก็เช่นกัน
02 พ่อแม่ ลูก และตายาย
‘บ้าน’ คือความฝันของเรา แต่เวลาของตาน้อยเกินไป ฝันเลยยังไม่จบ
บ้านของศศิ มาจากความฝันของตา สามีของยายน่ะ! ที่อยากจะมีบ้านสักหลัง ความฝันนั้นยังไม่จบ แต่ได้คุณพ่อของเขารับช่วงสานต่อฝันนั้นด้วยตัวเอง บ้านหลังนี้ของครอบครัวเขาจึงเกิดขึ้น
เขาเล่าว่า ทุกอย่างค่อยๆ เติบโตเป็นรูปเป็นร่าง มีสวนเล็กๆ หน้าบ้าน ต้นไม้ใหญ่ ดอกไม้หลากสี บ่อปลา และรถคันเล็ก ก่อนจะมีพี่สาวและเขา ให้บ้านได้สดใสและคึกครื้นมากยิ่งขึ้น แถมบ้านยังไม่เงียบเหงา เพราะมียายและน้าสาวอยู่เลี้ยงหลาน ไหนจะน้องหมาอีก เรื่องราวราบเรียบของเขา ทำเอาเรานึกภาพตาม ทั้งๆ ที่เป็นความทรงจำของคนอื่น แต่เรากลับรู้สึกอุ่นไปที่ใจ อุ่นจนร้อน (รน) ถึงขั้นต้องต่อสายหาป๊า ไม่ก็ม้าสักคน
“ฮัลโหลป๊า… ” หลังจากที่ป๊ารับสาย ฉันพูดแค่นี้แล้วเงียบ
“ฮาโหล ลื้อว่าไง ป๊าผัดข้าวอยู่” ป๊ารีบพูด ฉันได้ยินเสียงตะหลิวเคาะกระทะดังเป้งปั้งเล็ดลอดเข้ามา
“ไม่มีอะไร คิดถึง แค่นี้นะ” ว่าแล้วฉันก็วางสาย และมักจะเป็นแบบนี้เสมอเมื่อเหนื่อยล้า
แต่หากเป็นก่อนหน้านี้ที่อากงยังอยู่ และฉันยังไม่ได้ย้ายออกไปไหน ฉันจะเข้าไปกอดอากงขอพลังเส้าหลินจากฝ่ามือเหี่ยวๆ นั้นเสมอ หรือไม่ก็วิ่งไปกอดแม่และออดอ้อนด้วยสำเนียงคล้ายคนลิ้นเปลี้ยอย่างไงอย่างงั้น และนี่คือการขอพลัง (ใจ) ที่หาได้เฉพาะจากคนในบ้านเท่านั้น
03 หมาอ้วน
‘บ้านเราเลี้ยงหมาไว้เฝ้าบ้าน และไว้เป็นเพื่อนยายเวลาที่ทุกๆ คนไม่อยู่บ้าน’
ครอบครัวของศศิเลี้ยงน้องหมาสองตัว ชื่อ แด็กกี้ และ ซูซี่ พวกมันขนฟู ตัวกลม น่ารัก เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนคุณยายของเขา แต่น่าจะเป็นเพื่อนเขามากกว่า และทำให้บ้านหลังน้อยคึกคักมากกว่าเดิม
เปิดดูภาพวาดและอ่านเรื่องราวจนเพลินมาถึงกลางเล่ม เขาเล่าถึงที่มาของน้องหมาสองตัวและความป่วนของพวกมัน เราก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ แทบทุกบ้านจะต้องเคยผ่านการเลี้ยงน้องหมามาแล้วทั้งนั้น
เพราะความน่ารักแบบดุ๊กดิ๊ก วิ่งจนน้ำลายย้อย แกว่งหางเมื่อเห็นเราจนแทบหลุดนั่นแหละ ที่ทำให้เรารักจนหมดใจ เรียกชื่อก็วิ่งมา และชอบมานั่งรอเรากลับบ้าน ความสัมพันธ์แบบนี้มีงานวิจัยหลายชิ้นได้ระบุว่า น้องหมาเป็นเพื่อนที่แสนดีและมีความสัมพันธ์แสนลึกซึ้ง คล้ายกับทารก ประหนึ่งคนในครอบครัว แถมน้องหมายังเป็นอีกหนึ่งหนทางบำบัดรักษาอาการต่างๆ ได้อีกมากมาย รวมทั้งการดูแลผู้สูงอายุ
ครอบครัวของเราก็เช่นกัน ในอดีตเคยเลี้ยงตัวหนึ่งชื่อ ปุย หมาพันธุ์ทางผสมพันธุ์ไส้กรอก ขาสั้น ตัวยาว และอ้วนกลมเพราะถูกทำหมัน ปุยอยู่กับเรานานเกือบ 10 ปี ก่อนจะนอนนิ่งๆ อยู่หน้าบ้านแล้วไม่หายใจ ลาเราไปอย่างไม่มีวันกลับ ความทรงจำนั้นชัดเจนอีกครั้ง ราวเพิ่งผ่านไปไม่นาน… อาจเป็นเพราะแด็กกี้และซูซี่ของศศิ ที่ทำให้ฉันคิดถึงปุย
04 พี่น้อง
‘ปุยเมฆ’ ชื่อพี่สาวของศศิ
ท้ายๆ เล่ม ศศิมักใช้คำว่า ปุยเมฆและผม เขามักเล่าถึงเรื่องราวความผูกพัน ความสนุกสนาน และความหมายของพี่น้องให้ฟัง ถ่ายทอดออกมาผ่านเด็กชายตัวเล็กน้ำมูกไหลหยืด กับพี่สาวคนโต้แก้มกลมยุ้ยๆ เป็นเรื่องที่น่ารักมาก และแน่นอนว่า ฉันเองก็เป็นคนหนึ่งล่ะที่รู้สึกว่า โชคดีที่มีน้อง ขอบคุณที่ม้าท้องน้องๆ และไม่ปล่อยให้ฉันอยู่เพียงลำพัง
ท่ามกลางนาฬิกาชีวิตตั้งแต่เด็กจนโต ฉันไม่เคยอยู่เพียงลำพัง ทุกครั้งที่สนุก หันไปฉันก็มีน้อง ทุกครั้งที่ฉันหกล้ม หันไปก็มีน้อง น้องโอ๋ฉัน น้องทะเลาะกับฉัน น้องตีฉัน แต่น้องก็กอดฉัน ทุกครั้งที่ฉันกลับบ้าน น้องสาวคนเล็กมักจะรอกินข้าวเย็นเสมอ แม้ว่าวันนั้นฉันอาจจะกลับดึกหรือไม่กลับบ้าน เธอก็ยังคงรอ รอเพื่อจะรับฟังความบ้าบอของพี่สาว รอเพื่อหัวเราะไปด้วย ส่วนน้องชาย แม้ไม่ได้รอแต่เขาก็คอยห่วงฉันอยู่ห่างๆ
ทุกวันนี้แม้ฉันจะย้ายออกไปได้สักพักแล้ว แต่ด้วยสายใยพี่น้อง เราก็มักเจอกันทุกๆ วันหยุด กินข้าว ไปเที่ยว หัวเราะและทำทุกวันให้สนุกเหมือนตอนเราเด็กๆ …ดีใจที่หนังสือภาพ Home ทำให้ฉันเห็นคุณค่าของบ้าน ของครอบครัวและพี่น้องมากยิ่งขึ้น
05 กลับบ้านกันนะ
เวลาคิดถึง ‘บ้าน’ คุณนึกถึงอะไร?
ประโยคคำถามที่อยู่บนหลังปกหนังสือ คำถามที่เหมือนกดปุ่ม pause หัวใจเราสักพักก่อนจะตอบออกมาได้
หนังสือภาพวาดมาเรื่อยๆ ใกล้จะจบแล้ว เรื่องราวของศศิก็ดำเนินมาถึงเขาเติบโต เราเชื่อว่า บ้านมีความหมายต่อชีวิตเขา และมีความหมายต่อชีวิตทุกคน หลายคนที่โบยบินออกจากบ้านไปตั้งแต่หนุ่มสาว อาจจะคุ้นชินกับการต่อสู้ปัญหาเพียงลำพัง รู้จักวิธีการกอดตัวเองเพื่อปลอบประโลม และเข้มแข็งได้ดีแม้จะห่างอ้อมอกพ่อแม่หรือพี่น้องมาเนิ่นนาน
ส่วนใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ หากยังมีบ้าน มีครอบครัว วันหยุดนี้ กลับบ้านกันนะ… ท้ายสุดอยากจะขอบคุณศศิ ที่ส่งพลัง HOME มาจนชุ่มชื่นหัวใจ