รากฐานของความกตัญญูมักเริ่มต้นจากสังคมแรกที่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุดคือ ครอบครัว การกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เราเรียนรู้และเข้าใจกันมาตั้งแต่เด็ก แต่ทำไมในบางครั้งการตอบแทนความรักของพ่อแม่จริงๆ กลับกลายเป็นเรื่องยาก เมื่อสิ่งที่เรามอบให้ดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งที่ท่านต้องการสักที
ปัญหาของความกตัญญูที่ส่งไปไม่ถึงอาจไม่ใช่เพราะสิ่งที่ทำไปนั้นไม่เพียงพอ แต่เป็นเพราะเราแสดงความรักผิดวิธี หรือพูดได้ว่าเราใช้ ‘ภาษารัก’ กันคนละภาษาต่างหาก
ศาสตราจารย์แกรี แชปแมน (Gary Chapman) ได้เสนอแนวคิดเรื่องภาษารักไว้ในหนังสือของเขาชื่อ The Five Love Languages ซึ่งมียอดจำหน่ายถึง 11 ล้านฉบับในประเทศอังกฤษ และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลกถึง 49 ภาษา โดยภาษารักเป็นแนวคิดที่อธิบายว่าการแสดงความรักมีรูปแบบที่แตกต่างกันหลักๆ อยู่ 5 วิธี ทว่าแต่ละคนก็จะมีวิธีการแสดงความรักในแบบของตัวเองต่างกันออกไป และในทางกลับกัน ก็ต้องการได้รับความรักในรูปแบบที่แตกต่างกันไปด้วย
แชปแมนชวนให้เรากลับมาทบทวนว่าโดยปกติแล้วเราแสดงความรักออกไปด้วยวิธีการไหน และนั่นใช่สิ่งที่คนที่เรารักต้องการจริงๆ หรือเปล่า โดยพิจารณาจากภาษารักทั้ง 5 แบบดังนี้
ภาษาที่ 1 ถ้อยคำย้ำรัก (Words of Afffiirmation)
คุณจำได้ไหมวันที่คุณเดินทางออกจากบ้านแล้วแม่โทรมาถามว่า “ถึงหอหรือยัง” วันที่คุณกลับบ้านมาเหนื่อยๆ แล้วคำถามแรกที่เจอคือ “กินข้าวหรือยัง” นี่คือการแสดงความรักในแบบของท่าน และพ่อแม่ที่ต้องการภาษารักประเภทนี้ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการแสดงความรักอย่างจริงใจผ่านคำพูดของเราที่ไถ่ถามบ้างว่า “เหนื่อยไหม” “อย่ากินอาหารมันๆ เยอะนะ” “ตัดผมใหม่สวยจัง” หรือคำง่ายๆ ว่า “รัก” เท่านั้นเอง แม้ใครหลายคนจะเชื่อว่าการกระทำสำคัญกว่าคำพูด แต่สำหรับพ่อแม่บางท่านแล้ว คำพูดก็มีความหมายไม่น้อยไปกว่ากันเลย
ภาษารักที่ 2 ร่วมกันใช้เวลาคุณภาพ (Quality Time)
ช่วงเวลาที่ดีคือช่วงเวลาที่ใช้ร่วมกัน เมื่อว่างเว้นจากงานก็พาพ่อแม่ไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมร่วมกันบ้าง หรือแม้แต่เรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันอย่างการกินอาหารด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตาก็เป็นความสุขแล้วสำหรับพ่อแม่ที่ต้องการภาษารักนี้ ที่สำคัญคือการแบ่งเวลาให้ดี เลิกเล่นโทรศัพท์หรือตอบอีเมลงานเวลาที่อยู่ด้วยกัน เพราะบางทีแล้วสิ่งที่พ่อแม่ต้องการที่สุดอาจไม่ใช่การที่ลูกพาไปเที่ยวต่างประเทศ แต่เป็นการใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความหมาย อยู่ด้วยให้รู้สึกว่าอยู่ด้วยกันจริงๆ เท่านั้นเอง
ภาษารักที่ 3 สิ่งของแทนรัก (Receiving Gift)
เชื่อว่าภาษารักชนิดนี้ เป็นภาษาที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันและเรียนรู้มาจากพ่อแม่อยู่แล้ว อย่างวันที่อยู่ๆ พ่อก็ซื้อขนมขึ้นชื่อจากร้านดังที่เพิ่งออกทีวีมาฝาก หรือมีของขวัญของใช้ติดมือมาให้ทั้งที่ไม่มีโอกาสพิเศษอะไร ของที่มอบให้ไม่จำเป็นต้องมีมูลค่ามากมาย เพราะสำหรับคนที่ต้องการภาษารักนี้ สิ่งของที่มอบให้กันคือตัวแทนของความใส่ใจและเป็นคำบอกรักในตัวมันเองอยู่แล้ว
ภาษารักที่ 4 ใส่ใจบริการไม่ขาด (Act of Service)
สำหรับภาษารักนี้คือการพิสูจน์รักด้วยการดูแลเอาใจใส่ เราอาจเปลี่ยนเป็นคนจับพวงมาลัยคอยขับรถรับ-ส่งพวกท่านบ้างจากเดิมที่เป็นผู้โดยสารมาแต่เล็กจนโต โชว์ฝีมือทำอาหารจานเด็ดให้ได้ชิม หรือดูแลเวลาที่ป่วยให้เหมือนกับที่พ่อแม่เคยดูแลเรา
ภาษารักที่ 5 สัมผัสรัก (Physical Touch)
อาจมีอึดอัดหรือเขินอายกันบ้างสำหรับบางคน แต่ความอบอุ่นจากการกอดก็เป็นความรักในรูปแบบที่เรียบง่ายและหลายคนโหยหา บางทีอาจต้องกลับมาทบทวนกันดูบ้างว่าเรากอดพ่อแม่ครั้งสุดท้ายกันเมื่อไร
เราทุกคนต่างก็มีภาษารักคนละแบบสองแบบ แต่ในบางครั้งอาจเป็นเพราะเราแสดงความรักกันคนละภาษาจึงสื่อใจไม่ถึงกัน ในบางครั้งปัญหาของการแสดงความกตัญญูกตเวทีอาจไม่ใช่การตอบแทนความรักของพ่อแม่ไม่เพียงพอ แต่เป็นเพราะใช้ภาษารักผิดประเภทเท่านั้น จึงอาจต้องกลับมาทบทวนกันอีกครั้งว่าปกติแล้วเราใช้ภาษารักชนิดไหน แล้วสิ่งที่พ่อแม่ต้องการจริงๆ คืออะไร
บางทีแล้วการแสดงความกตัญญูที่ถูกคงมีจุดเริ่มต้นจากการใส่ใจสิ่งที่พวกท่านต้องการมากกว่าสิ่งที่เราตั้งใจจะให้ เพราะความเข้าใจคือส่วนสำคัญที่สุดของทุกความสัมพันธ์ที่ดี เราจึงอยากชวนให้คุณลองทำความเข้าใจความกตัญญูจากมุมใหม่ผ่านสายตาของคนอื่น ให้ได้เห็นว่าครูของลูก ก็ยังเป็นลูกของใครบางคน และความกตัญญูของเขาก็สามารถส่งต่อถึงเราได้ไม่ยากจากเรื่องราวในคลิปนี้
ครอบครัวคือจุดเริ่มต้นของความกตัญญูซึ่งหมายถึงการสำนึกรู้คุณ ตระหนักถึงสิ่งดีๆ ที่ผู้อื่นทำให้ และมักตามมาด้วยความกตเวทีซึ่งหมายถึงการตอบแทนบุญคุณที่ได้รับ ความกตัญญูกตเวทีนั้นจึงมีได้หลายระดับทั้งกับผู้ที่มอบสิ่งดีๆ ให้กับเราอย่างพ่อ แม่ ครู เพื่อน หัวหน้า ไปจนถึงสังคม สิ่งแวดล้อม หรือโลกที่เราได้อยู่อาศัย
เครือเจริญโภคภัณฑ์ เชื่อในคุณค่าความกตัญญู ว่าเมล็ดพันธุ์แห่งความกตัญญูจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราตระหนักรู้คุณค่าและตอบแทนสังคมในระดับต่างๆ และนำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด
#กตัญญู #เชื่อในความกตัญญู