จากโจทย์ที่ TMB ต้องการคืนสิ่งดีๆ กลับสู่สังคม และเปลี่ยนคุณภาพชีวิตให้ผู้คนอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Make THE Difference เราจึงได้รู้จักกับโครงการไฟ-ฟ้า ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาส เพื่อให้พวกเขาได้ค้นพบความมหัศจรรย์ที่ซ่อนอยู่ในตนเอง และเปลี่ยนสิ่งนั้นให้เป็นพลังงานเชิงสร้างสรรค์ ก่อนต่อยอดสู่การเป็นผู้ให้ในการคืนสิ่งดีกลับสู่ครอบครัว ชุมชน รวมไปถึงสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไฟ-ฟ้ายึดมั่นมาตลอด 9 ปี
โดยในปีนี้ ทาง TMB และ โครงการไฟ-ฟ้า พร้อมสานต่อแนวคิดด้วยแคมเปญ เด็กธรรมดา…คือสิ่งที่สวยงาม เรามีโอกาสได้คุยกับ ‘สา’ – มาริสา จงคงคาวุฒิ เจ้าหน้าที่บริหารกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบี ที่จะมาเล่าให้เราฟังถึงแคมเปญดีๆ นี้ที่จะช่วยจุดประกายสังคมให้มองเห็นว่า ท่ามกลางสังคมที่ยังมีเด็กที่ขาดโอกาส มีต้นทุนชีวิตไม่เท่าเด็กที่พร้อม แท้จริงแล้ว การมองเห็นธรรมชาติและความธรรมดาของเด็กโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร และพัฒนาเขาจากความธรรมดานั้นต่างหาก ที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่สวยงามและยั่งยืนในอนาคต
ไฟ-ฟ้า สองคำสำคัญที่จุดประกายโครงการ
ชื่อของโครงการไฟ-ฟ้า มีความหมายที่ซ่อนอยู่ ‘ไฟ’ คือพลังที่มีอยู่ในเด็กทุกคน ‘ฟ้า’ คือพลังของการให้จาก TMB ก็เลยกลายเป็น ‘ไฟ-ฟ้า’ เราเชื่อว่าเยาวชนเป็นกำลังสำคัญของชาติ เราจึงอยากจะมีสถานที่ที่สามารถช่วยกันจุดประกายให้กับเด็กๆ โดยเฉพาะกับเด็กที่อาจไม่มีโอกาสเท่าเด็กคนอื่น และช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เขา โดยเฉพาะในปีนี้เราได้ทำการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังผ่านวิดีโอ ภายใต้แคมเปญ ‘เด็กธรรมดา…คือสิ่งที่สวยงาม’ เพื่อหวังให้สังคมไทยมองเห็นว่าความธรรมดาของเด็กๆ นี่แหละคือสิ่งสำคัญ เพราะเราจะพบว่าหลายๆ ครั้ง สังคมเรามักจะชื่นชมเด็กที่ได้ที่ 1 เป็นหลัก แต่ความเป็นจริงยังมีเด็กอีกมากมายที่ไม่ได้มีโอกาสจะขึ้นไปสู่จุดนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือ ทำยังไงให้สังคมหันมาชื่นชมเด็กเหล่านี้บ้าง
สร้างศูนย์การเรียนรู้ที่จะช่วยค้นพบศักยภาพ
ตอนนี้เรามีศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า 4 แห่ง คือศูนย์ไฟ-ฟ้า ประดิพัทธ์, ศูนย์ไฟ-ฟ้า ประชาอุทิศ, ศูนย์ไฟ-ฟ้า จันทน์ และศูนย์ไฟ-ฟ้า บางกอกน้อย โดยแต่ละแห่งจะมีแนวคิดในการให้องค์ความรู้ การสอนจับปลาแทนการให้ปลาเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่อง Art & Life skill หรือทักษะศิลปะและทักษะชีวิตที่เราเน้นเป็นพิเศษ เพราะเราพบว่าวิชาศิลปะเป็นวิชาที่เชื่อมเด็กเข้าหาผู้ใหญ่ได้ดี แล้วเราก็อยากสอนอะไรที่อยู่นอกห้องเรียน เพื่อช่วยเสริมทักษะอื่นๆ ให้เด็ก
ความแตกต่างของแต่ละศูนย์คือเราจะมีไฮไลต์คลาสที่ต่างกัน ยกตัวอย่างศูนย์ไฟ-ฟ้า ประชาอุทิศ จะมีไฮไลต์คลาส คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ เพราะบริบทของชุมชนแถวนี้จะเป็นโรงงานที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ หรืออย่างศูนย์ไฟ-ฟ้า ประดิพัทธ์ ก็จะมีไฮไลต์คลาสที่เป็นชั้นเรียนทำครัว ทำขนม ศูนย์ไฟ-ฟ้า จันทน์ ก็เป็นชั้นเรียนแฟชั่น และศูนย์ไฟ-ฟ้า บางกอกน้อย ที่มีบริบทเป็นกรุงเก่า เราก็จะมีวิชาการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน เพราะฉะนั้นในการตั้งศูนย์การเรียนรู้แต่ละแห่ง เราเองก็จะมีการทำรีเสิร์ชก่อนทุกครั้ง เพื่อปรับบทเรียนให้เข้ากับบริบทของชุมชนแต่ละแห่ง
เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่มีต้นทุนไม่เท่าคนอื่น
สำหรับเด็กๆ ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์เรียนรู้ต้องมีการคัดเลือกโดยวิธีการสัมภาษณ์ คุณสมบัติของเด็กไฟ-ฟ้าก็คือ มีรายได้ครอบครัวค่อนข้างน้อยถึงปานกลาง มีอายุระหว่าง 12-17 ปี หรือถ้าอายุต่ำกว่า 12 ปี ก็สามารถมาเป็นเด็กห้องสมุดที่ยังไม่ต้องเข้าชั้นเรียนก็ได้ สำหรับเด็กที่ผ่านการคัดเลือกจะสามารถเลือกเรียนได้ 2 วิชา เรียนต่อเนื่องได้ 3 ปี ส่วนเหตุผลที่เราต้องเลือกเด็กชุมชนที่มีรายได้น้อย เพราะที่นี่เราอยากให้โอกาสกับเด็กที่ต้นทุนไม่เท่าคนอื่น ซึ่งบางครั้งอาชีพในฝันที่เขารู้จักอาจจะจำกัดอยู่แค่พยาบาล หมอ แต่พอเขามาอยู่ที่นี่ก็เป็นการเปิดโลกทัศน์เขา ให้เขาเห็นว่าในสังคมยังมีตัวเลือกอีกมาก และที่สำคัญคือเราอยากช่วยให้เขาค้นพบศักยภาพในตัวเองที่เขาอาจไม่เคยรู้มาก่อน และต่อยอดกับสิ่งเหล่านั้น
เป็นสะพานเชื่อมให้เด็กวัยรุ่นก้าวผ่านสู่สิ่งที่ดี
เหตุผลที่เราเลือกเด็กๆ วัยรุ่น อายุ 12-17 ปี เพราะเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นวัยที่เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เราอยากจะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ช่วยแนะแนวให้เขาค้นพบทางเดินที่ดี ที่ถูกต้อง เพราะปัญหาที่เราพบในกลุ่มเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นเรื่องติดเกม ติดยาเสพติด ติดเพื่อน บางคนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงมากกับการที่จะหลงผิด หรือพ่อแม่บางคนก็หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาดูแลลูก นี่คือสิ่งที่เรามองเห็นปัญหา ดังนั้นเราจึงขอเป็นโครงการที่ช่วยสังคมในจุดๆ นี้ ผ่านศูนย์การเรียนรู้แต่ละแห่งให้เด็กได้มาใช้สถานที่ ให้เหมือนเป็นบ้านอีกหลังของพวกเขา และเพื่อช่วยจุดประกายให้เขาไปในทางที่ดี รวมไปถึงค้นพบศักยภาพของตัวเอง
ส่งต่อความรู้ ความสามารถคืนสู่ชุมชน
สำหรับเด็กทุกคนที่นี่จะเรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เขาต้องเอาองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนไปสอนต่อให้คนในชุมชน ถึงแม้จะเป็นงานจิตอาสา แต่เด็กๆ เขาก็สามารถร่วมมือกับชุมชนดีไซน์งานออกมาให้มันมีมูลค่าเพิ่มเพื่อช่วยเหลือชุมชนได้จริง ซึ่งเรารู้สึกว่านี่แหละคือศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็กๆ หรือเด็กบางคนก็กลับมาเป็นครูสอนน้องรุ่นใหม่ๆ แบบนี้ เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงที่วัดผลได้
เราเคยทำ focus group กับพ่อแม่ของเด็กๆ ที่มาเรียนที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ซึ่งหลายครอบครัวก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ อย่างชัดเจน เช่น ปกติบางคนช่วงเสาร์อาทิตย์ตื่นสายมาก แต่พอมาอยู่กับเรา 8 โมงเช้าตื่นเองแล้ว เพื่อมาเข้าชั้นเรียนให้ทันกับเพื่อนๆ หรือบางคนจากเด็กขี้อายเขาก็มีความมั่นใจมากขึ้น ที่สำคัญ ทุกปีเราจะมีนิทรรศการประจำปีที่เรียกว่า FAI-FAH Art Exhibition ที่ให้เด็กแต่ละคลาสมาโชว์วิชาความรู้แทนการสอบ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือให้พ่อแม่ของพวกเด็กได้เห็นศักยภาพของลูกที่เขาอาจไม่เคยรู้มาก่อน และสิ่งนี้แหละคือความเชื่อมั่นที่ทำให้เขาไว้ใจศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า
เป็นบ้าน เป็นครอบครัว เป็นมากกว่าศูนย์การเรียนรู้
ที่นี่เป็นเหมือนบ้านอีกหลังให้เด็กๆ มีเจ้าหน้าที่ที่เหมือนเป็นพี่เป็นน้องที่คอยให้คำปรึกษาแก่เขาในหลายๆ เรื่อง หลายครั้งที่เด็กชอบมาเล่าว่าเขาเจออะไรมาบ้าง ทั้งเรื่องสนุกๆ หรือเรื่องดราม่า เรื่องเพื่อนที่โรงเรียน เรื่องการใช้ชีวิต หรือกระทั่งเรื่องความรัก มีหลายรูปแบบมาก ที่สำคัญจากที่เราเคยคุยกับครูที่สอนเด็ก ครูมักจะบอกว่าเขาเองก็ได้รับการจุดประกายจากเด็กๆ เหมือนกัน ครูสอนกราฟิกบางคนทำงานหลักอยู่บริษัทโฆษณา วันธรรมดาทำงานหนักมาก เครียดมาก แต่พอมาสอนเด็กๆ หรือมาอยู่กับเด็กๆ ก็เหมือนได้พักผ่อน ได้ผ่อนคลาย ได้รับพลังกลับไป มันก็เป็นสิ่งที่ครูได้จากเด็ก เหมือนมาเติมไฟให้กัน ช่วยเยียวยาซึ่งกันและกัน
Make THE Difference
สิ่งที่เป็นหัวใจหลักในการทำงานของเราคือแนวคิด Make THE Difference เราต้องการสร้างสิ่งที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญ โจทย์ของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของเรา คือการทำสิ่งที่มันยั่งยืนจริงๆ และต่อเนื่อง เราอยากเข้าถึงชุมชน แล้วไม่ได้เข้าแค่ครั้งเดียว แต่เข้าถึงแบบต่อเนื่อง ติดตามดูความความเปลี่ยนแปลงของเขา เน้นเรื่องของการส่งต่อองค์ความรู้ ฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เราจะมองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นจะช่วยจุดประกายความยั่งยืนให้ชุมชนอยู่รอดได้ไหม เขาต่อยอดเองได้ไหม นี่คือสิ่งที่เรายึดมาตลอดในการทำงาน ไม่ว่าโจทย์ไหนก็ตาม
ขยายศูนย์การเรียนรู้สู่อนาคต
ปีนี้เราจะมีศูนย์เรียนรู้แห่งที่ 5 เกิดขึ้นในต่างจังหวัดเป็นครั้งแรกคือที่สมุทรปราการ เพราะตอนนี้เรามีครอบคลุมในกรุงเทพฯ ครบแล้วทั้งเหนือ ใต้ ออก ตก สาเหตุที่เราเลือกขยายไปยังแถบปริมณฑลก่อน เพราะเราอยากเน้นคุณภาพของแต่ละแห่งจริงๆ เรามีการสำรวจ และพบว่าสมุทรปราการมีศักยภาพ ทั้งในเชิงความต้องการของชุมชน ในเชิงความพร้อม การเดินทาง อาสาสมัคร ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีไฮไลต์ที่มาจากการผสมผสานบริบทชุมชนเข้ากับคลาสเรียนด้วย
ปลูกฝังพนักงานให้มีจิตอาสา
ที่ผ่านมา TMB เรามีอยู่ทั่วประเทศ 400 กว่าสาขา แต่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า เรามีแค่ 4 แห่ง ผู้บริหารก็พยายามที่จะทำให้พนักงาน TMB ทุกคนได้มีโอกาสเป็นอาสาสมัคร โดยการมอบหมายให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการลงไปทำงานกับชุมชนที่ใกล้เคียงกับสาขาเป็นเวลาสามเดือน ตอบโจทย์ Make THE Difference คือความยั่งยืน เพราะการลงไปทำงานกับชุมชนจะทำให้เราได้รับรู้ความต้องการของเขา เช่น ชุมชนนี้อยากได้ศูนย์เรียนรู้ ชุมชนนี้อยากได้ธนาคารโรงเรียน เราก็จะเข้าไปช่วยเหลือตรงนั้น เราเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน เพราะฉะนั้นเราก็อยากจะทำสิ่งดีๆ คืนกลับให้ชุมชนด้วย นี่คือสิ่งที่ TMB พยายามปลูกฝังให้พนักงานทุกคน และเป็นสิ่งที่ผู้บริหารเรายึดมั่นมาตลอด
ร่วมซึมซับและส่งต่อแนวคิดดีๆ สู่สังคม
เราอยากจะรณรงค์แนวคิดนี้ และส่งเสริมแนวคิดนี้ให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะกับเด็กที่อาจไม่มีต้นทุนเท่ากับคนอื่น เราอยากเปิดโอกาสให้เขาได้รู้จักตนเอง เกิดแรงบันดาลใจ ภูมิใจในตนเอง เป็นที่ยอมรับ ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร แต่ให้เขาภูมิใจในตนเอง ทำสิ่งที่รักให้ดีที่สุด รู้จักแบ่งปัน รู้จักเสียสละ ซึ่งนั่นคือความธรรมดาที่สวยงามแล้ว เราอยากให้ผู้ใหญ่ในสังคมได้ซึมซับกับแนวคิดนี้ และถ้าเอาไปประยุกต์ใช้กับครอบครัวตนเองได้ก็จะดีมาก
ข้อมูลเพิ่มเติม www.TMBfoundation.or.th
แนะนำเยาวชนจากโครงการไฟ-ฟ้า
‘น้ำฝน’ – พรนภัส รักษาบุญ อายุ 15 ปี เรียนคลาสศิลปะ
หนูเรียนมา 2 ปีแล้ว หนูเป็นคนชอบศิลปะ ชอบการวาดภาพพอร์เทรต มันทำให้ได้เจอคนหลากหลายมาก การมาอยู่ที่นี่ทำให้หนูประทับใจตั้งแต่พี่ๆ เจ้าหน้าที่ไฟ-ฟ้า ไปจนถึงเด็กๆ ไฟ-ฟ้าทุกคนที่เป็นเพื่อนพี่น้อง รวมไปถึงการเรียนที่เรารู้สึกว่าคุณครูแต่ละคนที่มาสอนมีความสามารถจริงๆ ส่วนในอนาคตหนูอยากเป็นสถาปนิก เพราะชอบออกแบบ การมาเรียนที่นี่ก็ช่วยฝึกทักษะการวาดของหนูได้เป็นอย่างดี
‘แม็กซ์’ – เดชาพล เล็กเหล่าคง อายุ 17 ปี เรียนคลาสเต้นฮิปฮอป
ตอนช่วงที่มาเรียนแรกๆ ผมเต้นไม่ได้จนท้อ แต่เพื่อนๆ ที่นี่ก็คอยให้กำลังใจมาตลอด รวมไปถึงพี่ๆ เจ้าหน้าที่ที่คอยให้คำปรึกษาเสมอ ที่สำคัญ ที่ไฟ-ฟ้ามีกิจกรรมเยอะมาก ทำให้ผมได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เมื่อก่อนผมเป็นคนขี้อายมาก แต่พอมาอยู่ที่นี่ ผมกล้าแสดงออกมากขึ้น พูดมากขึ้น แล้วก็มีเพื่อนเยอะขึ้น ที่สำคัญคือที่นี่สอนความเป็นผู้ให้ ก่อนหน้าที่จะมาเรียนที่นี่ ผมไม่เคยคิดอะไรเกี่ยวกับอนาคตตัวเองเลย จนกระทั่งผมมาเรียนที่นี่ ผมจึงมีความฝันว่าอยากเป็นนักเต้น และนักออกแบบท่าเต้น
‘ต้น’ – ไชยเชษฐ์ เขาแก้ว อายุ 18 ปี เรียนคลาสเต้นและคลาสมวย
ผมประทับใจเพราะไฟ-ฟ้าเป็นสถานที่ที่ให้พวกเราได้ทำกิจกรรมต่างๆ และคอยสนับสนุน ให้แนวทางชีวิตที่เราสามารถต่อยอดไปได้ ทำให้ผมกล้าแสดงออก กล้าพูด และได้รู้จักการเป็นผู้นำ เพราะมีกิจกรรมที่ให้พวกเราได้ไปพัฒนาชุมชน ได้ฝึกแบ่งหน้าที่ เมื่อก่อนผมเป็นคนที่ไม่ค่อยยุ่งกับคนอื่น ติดเกม ไม่ค่อยช่วยเหลือคนอื่น แต่ตั้งแต่ผมมาเรียนที่นี่ก็ได้รู้จักกับทั้งครูและเพื่อนๆ ที่คอยช่วยเราตลอด เราเลยซึมซับสิ่งเหล่านั้นมา และมีน้ำใจมากขึ้น อยากช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น ในอนาคตผมอยากเป็นตำรวจ การเรียนของที่นี่ก็ช่วยเสริมทั้งทักษะทางร่างกาย และก็ทักษะการทำงานเป็นทีมที่สำคัญต่อการเตรียมพร้อมสู่ความฝันของผมได้’
เด็กธรรมดา… คือสิ่งที่สวยงาม