รวมใจต้านภัยหนาว

รอยยิ้มเปี่ยมความหมายของโครงการ ‘ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว’ โดย ทอม โพธิสิทธิ์

เมื่อลมหนาวพัดผ่านเข้ามาในประเทศไทย หลายคนคงเตรียมตัวเก็บกระเป๋า หาเสื้อผ้าอุ่นๆ เพื่อออกเดินทางไปสัมผัสไอเย็นและหมอกยามเช้าให้ชุ่มฉ่ำหัวใจ โดยเฉพาะหลายจังหวัดในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่ตัวเลขอุณหภูมิจะลดต่ำลงเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบสูงลมหนาวพัดผ่านได้ง่าย และบางแห่งอยู่ตั้งอยู่บนเทือกเขาสลับซับซ้อน

     ในขณะเดียวกัน ลมหนาวก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนท้องถิ่นหลายคนรอคอยมากนัก เพราะสำหรับชุมชนที่อยู่ห่างไกลความเจริญและขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค สายลมนี้กลับทำให้ชาวบ้านต้องเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตกว่าที่เคย

 

รวมใจต้านภัยหนาว

 

     แน่นอนว่าไม่มีใครหยุดอากาศหนาวได้ แต่บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เชื่อว่าเราสามารถช่วยบรรเทาความยากลำบากที่มากับอากาศหนาวได้ด้วยการเป็น ‘ผู้ให้’ พวกเขาจึงจัดโครงการ ‘ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว’ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้เป็นปีที่ 19 แล้ว ด้วยความตั้งใจที่จะส่งต่อการให้ที่ยั่งยืน และแปรเปลี่ยนความลำบากให้กลายเป็นรอยยิ้มกว้างของทุกคนในชุมชน ผ่านจุดแจกผ้าห่มจำนวนกว่า 200,000 ผืน ใน 15 จังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมระยะทางกว่า 4,089 กิโลเมตร ทั้งยังมอบทุนการศึกษา บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และสร้างความสุขผ่านกิจกรรมต่างๆ มากมาย

     เราจึงขอรวบรวมเรื่องราวๆ ดี และพาคุณออกไปค้นหาเบื้องหลังความหมายของรอยยิ้มและความสุขที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวจากเลนส์กล้องและมุมมองของ ‘ทอม’ – ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ ช่างภาพแฟชั่นฝีมือจัด ผู้ถ่ายทอดประเด็นสังคมผ่านภาพถ่ายออกมาได้อย่างคมคาย ที่ร่วมเดินทางไปเก็บภาพความสุขกับไทยเบฟในจังหวัดแพร่และน่าน

     แม้จะเคยเห็นรอยยิ้มมาเป็นพันๆ ครั้งจากการทำงานเป็นช่างภาพมืออาชีพ แต่เขาก็ยืนยันกับเราว่า รอยยิ้มที่เขาสัมผัสได้จากการเดินทางครั้งนี้เป็นรอยยิ้มที่มีความหมายลึกซึ้งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

 

รวมใจต้านภัยหนาว

 

แรกยิ้มแลกยิ้ม

     ขบวนแห่งความสุขของไทยเบฟในปีนี้เริ่มต้นขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา ก่อนจะยกพลขึ้นเหนือไปจบที่จังหวัดน่าน โดย ทอม โพธิสิทธิ์ ช่างภาพประจำทริปที่เข้ามาร่วมแจกจ่ายความสุขติดต่อกันเป็นปีที่สาม ได้ขับรถจากกรุงเทพฯ เข้ามาเริ่มต้นการเดินทางที่หมู่บ้านเล็กๆ บนเนินเขาอย่างหมู่บ้านผาคอ อ.ลอง จ.แพร่ ที่ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 14 องศาเซลเซียส

     “ผาคอเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่น่ารักมาก มีสถานีรถไฟที่นั่งได้ 3 คนก็เต็มแล้ว (หัวเราะ) พอเราแจกผ้าห่มแล้วมีรถไฟวิ่งผ่าน มันก็เกิดเป็นภาพที่สวยมาก ทำให้ประทับใจว่า ถึงแม้จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ก็เป็นที่ที่เราชอบ” ทอมเริ่มเล่าการเดินทางของเขาให้เราฟัง

 

รวมใจต้านภัยหนาว

 

     จากผาคอ เขาเดินทางต่อไปที่หมู่บ้านผาน้ำย้อย อ.เชียงกลาง จ.น่าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เดินทางไปค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเป็นถนนเลนเดียว ข้างทางเป็นเหวลึกดูน่าหวาดเสียว “แต่พอไปถึงก็รู้สึกสนุก เพราะเป็นหมู่บ้านห่างไกลความเจริญ เด็กๆ เขาไม่เคยเห็นอะไรใหญ่ๆ หรือคนมาเยอะๆ มีกิจกรรมให้ทำมากมาย พอเขารู้สึกสนุก เราก็สนุกไปกับเขาด้วย”

     จุดสุดท้ายที่เขาไปคือโรงเรียนประชาพัฒนา อ.เชียงกลาง จ.น่าน “เป็นจุดที่สบายที่สุดจากทั้ง 3 แห่งที่เราไป เพราะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ เดินทางสะดวก ที่นี่มีมีครูสอนฟุตบอลชื่อดัง รวมทั้ง ‘แพนเค้ก’ – เขมนิจ จามิกรณ์ ที่เข้ามาร่วมส่งต่อความสุขด้วย”

 

รวมใจต้านภัยหนาว

 

รอยยิ้มอบอุ่นหัวใจ

     แม้อากาศหนาวจะถูกจัดว่าเป็น ‘แรร์ไอเทม’ สำหรับคนเมือง แต่ใน 3 หมู่บ้านที่ทอมได้เข้าไปสัมผัสร่วมกับไทยเบฟนั้นอากาศหนาวนับว่าเป็น ‘เพื่อนสนิท’ ที่แวะมาทักทายชาวบ้านเป็นประจำ แม้ว่าบางทีพวกเขาจะไม่ค่อยอยากต้อนรับเพื่อนคนนี้เท่าไรก็ตาม

     “ตอนที่ไปมันหนาวมาก โดยเฉพาะที่ผาน้ำย้อย อากาศตอนเช้าๆ จะอยู่ที่ประมาณ 11 องศาเซลเซียสเท่านั้น แล้วบ้านที่ชาวบ้านอยู่กันก็ไม่ค่อยมีสาธารณูปโภค หรือเครื่องนุ่งห่มเขาก็ไม่มีเลยจริงๆ บางบ้านเลยสร้างความอบอุ่นด้วยการเอาเตาไฟย้ายมาตั้งไว้กลางบ้าน เพราะเขาไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ”

 

รวมใจต้านภัยหนาว

 

     ทอมเล่าย้อนว่ามีปีหนึ่งที่เขาร่วมเดินทางกับไทยเบฟไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นหมู่บ้านกลางเขาที่ห่างไกลความเจริญ และชาวบ้านต้องเผชิญกับภัยหนาวทุกปี “เขาไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรเลย พอไทยเบฟเอาผ้าห่มไปให้ถึงบ้านเขาก็ร้องไห้และขอบคุณ ภาพนั้นทำให้เราเชื่อมากว่าสิ่งที่ไทยเบฟทำอยู่มันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

     “ถ้าเราไม่ได้ใช้เวลากับชาวบ้านจริงๆ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าแต่ละบ้านมีปัญหายังไง บางบ้านไม่มีที่ทำสวน บางบ้านไม่มีเงินส่งลูกเรียน บางบ้านสามีติดเหล้า สิ่งเหล่านี้ก็เป็นปัญหาเหมือนชีวิตคนกรุงแหละ แต่ระดับความเป็นอยู่อาจจะแตกต่างกัน การที่เราไปช่วยให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เอาผ้าห่มไปให้เขา ไปสร้างรอยยิ้ม ก็นับว่าเรื่องดีๆ ที่คนเมืองอย่างเราพอช่วยได้”

 

รวมใจต้านภัยหนาว

 

รอยยิ้มแห่งความหวัง

     รอยยิ้มแห่งความหวัง คือรอยยิ้มที่ปรากฏขึ้นเด่นชัดบนริมฝีปากเด็กๆ และผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เมื่อได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และพี่ๆ ทีมงานที่มาแจกอุปกรณ์การเรียนชิ้นใหม่

     “ที่หมู่บ้านผาคอมีผู้สูงอายุเป็นหลัก ทำให้เราเห็นเลยว่าในพื้นที่ห่างไกลเขาขาดแคลนแพทย์จริงๆ เพราะเขาไม่รู้จะออกไปยังไง แล้วก็ไม่รู้จะไปไหน พอมีหมอฝรั่งจากไทยเบฟเข้ามาช่วยฝังเข็ม มีแพทย์อาสาเข้ามาตรวจสายตา ตัดแว่นให้ ก็สัมผัสได้ว่าพวกเขามีความหวังที่จะหายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วยนี้มากขึ้น

     “ส่วนที่ผาน้ำย้อย เรามีโอกาสได้ไปสอนศิลปะเด็กและเอาอุปกรณ์เครื่องเขียนไปแจก ก็เลยแอบถามพวกเขาว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ทุกคนก็ตอบคล้ายๆ กันว่าอยากเป็นหมอ พยาบาล ตำรวจ แต่มีเด็กคนหนึ่งบอกว่าอยากวาดภาพ อยากเป็นศิลปิน เราเลยถามเขากลับว่า แล้วหนูมีอุปกรณ์อะไรในการทำงานศิลปะหรือเปล่า เขาก็บอกว่าไม่มี ฝึกกับดินสออย่างเดียว เลยถามว่าสิ่งที่เราให้เขา จะเอาไปพัฒนาตัวเองไหม เขาก็บอกว่า น่าจะได้ ผมคิดว่าคงได้ใช้และคงจะทำได้ดี

     “คำตอบนี้มันทำให้เรารู้สึกชัดเจนเลยว่าของเล็กๆ น้อยๆ ที่เราให้ไปสร้างความแตกต่างได้ เด็กคนนี้อาจจะนำเครื่องเขียนเหล่านี้ไปฝึกจนกลายเป็นศิลปินใหญ่ในอนาคตก็ได้ หรืออย่างน้อยเราก็สร้างความสุขให้เขา ให้เขาเห็นว่ามันมีคนที่อยู่อีกโลกหนึ่ง เป็นคนภายนอกเลย ห่วงใยเขา และพร้อมช่วยเหลือเขาเช่นกัน” ทอมพูดพร้อมรอยยิ้ม

 

รวมใจต้านภัยหนาว

 

ความสุขจากการให้

     ‘การให้ไม่มีที่สิ้นสุด’ หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวนี้ เช่นเดียวกับ ทอม โพธิสิทธิ์ ที่มองว่าการช่วยเหลือนั้นเกิดขึ้นได้ตลอด โดยดูจากความสามารถของตัวเองว่าถนัดด้านไหน จะช่วยใคร และช่วยอย่างไร

     “ที่หมู่บ้านผาน้ำย้อย มีคุณตาคนหนึ่งที่มากับคุณยาย เราก็ไปนั่งข้างหน้าเขาแล้วสวัสดี ขอนั่งด้วย พอเขาคุ้นเคยกับเรา เราก็ไปเอาน้ำมาให้ เพราะคิดว่าคนแก่น่าจะลุกนั่งลำบาก โมเมนต์ที่เราจะเอาน้ำให้เขา แล้วเขาจะรับแก้ว เขาน้ำตาคลอเลย เราจึงรีบวางแก้วแล้วก็หยิบกล้องมาถ่ายตอนนั้นพอดี เพราะมันเป็นน้ำตาและรอยยิ้มแห่งความสุข เป็นรอยยิ้มที่เราเห็นได้ไม่บ่อยนักในเมืองหลวง

     “ที่ผ่านมาเคยมีคนตั้งคำถามว่าสิ่งที่ไทยเบฟทำมันได้ผลจริงๆ เหรอ แต่ปีนี้มันพิสูจน์ให้เห็นเลยว่า สิ่งที่เรามอบให้ชาวบ้านมันส่งต่อความสุขได้จริง ซึ่งหลายๆ คนก็สัมผัสได้ผ่านภาพถ่ายและเรื่องราวที่เรานำเสนอไป”

 

รวมใจต้านภัยหนาว

 

     นอกจากความสุขจากการเป็นผู้รับ โครงการนี้ก็เผยให้หลายคนเห็นความสุขจากการเป็นผู้ให้ด้วย “เราว่าคนที่ทำโครงการนี้ของไทยเบฟ ถ้าเขาไม่อิน เขาทำไม่ได้หรอก เขาคงต้องมองเห็นความสำคัญของการให้มากพอที่พร้อมจะสละความสะดวกสบาย ต้องเดินทางทรหด หรือวางแผนงานข้ามปี ความเชื่อในการทำให้ความเป็นอยู่ของคนชนบทดีขึ้นมันเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ทำตรงนี้ได้ โครงการไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาวจึงเป็นโปรเจ็กต์ที่เราตั้งตารอในการกลับมาทำทุกปี เพราะเราได้เห็นความสุขของคนให้ คนรับ แล้วได้ถ่ายทอดออกมาผ่านภาพถ่ายของเรา

     “การได้ถ่ายภาพรอยยิ้มของทริปนี้มันจึงไม่เหมือนกับการถ่ายภาพแฟชั่นที่เราเคยทำ เราไปสั่งเขาไม่ได้ว่า ขอยิ้มกว้างๆ กว้างกว่านี้ โพสท่ามีความสุขแบบนี้ เพราะรอยยิ้มที่เราเห็นกันที่นี่มันเป็นของจริง”

 


Tom Potisit

รวมใจต้านภัยหนาว

     ‘ทอม’ – ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ ช่างภาพแฟชั่นที่ผสมผสานประเด็นทางสังคมเข้ากับศิลปะได้อย่างลงตัว ผู้ที่เดินทางมาเป็นช่างภาพประจำโครงการไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว ติดต่อกันเป็นปีที่ 3