Art Macao

Art Macao: พหุนิยม ความแตกต่างที่สร้างสรรค์ในงานศิลปะและวัฒนธรรม ‘มาเก๊า’

“ศิลปะคือรูปแบบความเป็นมนุษยชาติ เป็นพื้นที่ที่เราสามารถถ่ายทอดตัวตนภายในได้อย่างเป็นอิสระและจริงแท้ที่สุด”

        ชิป ทอม (Chip Tom) ภัณฑารักษ์นิทรรศการ ‘Wynn – Garden of Earthly Delights’ เล่าถึงที่มาที่ไปถึงภาพเขียนฝีมือเฮียโรนิมัส บอช (Hieronymus Bosch) แห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ที่เป็นแรงบันดาลใจในการร่วมจัดนิทรรศการ ‘Art Macao’ เทศกาลศิลปะนานาชาติ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองปีที่ 20 การเป็นเขตปกครองพิเศษของมาเก๊า ซึ่งจัดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน ยาวไปจนถึงวันที่ 6 ตุลาคมนี้

        The Garden of Earthly Delights ภาพเขียนในตำนานที่ถอดความจากพระคัมภีร์ บอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ตั้งแต่การสร้างอดัมกับอีฟ มาจนถึงมนุษย์ภพภูมิปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสีสันตระการตา ชีวิตหลากหลายทั้งผู้คนธรรมดา สัตว์ประหลาด ไปจนถึงภพภูมิขุมนรกในวันลงทัณฑ์พิพากษา

        ภาพวาดที่เปิดกว้างต่อการตีความไปต่างๆ นานา บ้างว่าเป็นสารเตือนมนุษย์ไม่ให้ลุ่มหลงในบ่วงกิเลสตัณหา พระพรจากฟ้าที่มากเกินไปอาจนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของมนุษยชาติ บ้างว่าเป็นการฉายให้เห็นความเป็นพหุนิยม มีเกิดมีดับ มีความดีความชั่ว ความเป็นขั้วตรงข้ามของสรรพสิ่งที่รังสรรค์ให้เกิดความเป็นจริงต่างๆ ขึ้นมา

 

Art Macao

 

        แม้จะไม่มีคำอธิบายที่แน่ชัด แต่มันอาจคือความเป็นพหุนิยม (pluralism) ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทอมเลือกงานคลาสสิกของโลกชิ้นนี้ขึ้นมาเป็นงานตั้งต้นในการจัดนิทรรศการที่ Wynn Macao หนึ่งในรีสอร์ตที่ร่วมเปิดพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะทั่วเมือง โดยรวบรวมงานศิลปะในหลากหลายฟอร์ม จากศิลปินร่วมสมัยหลากหลายเชื้อชาติ ที่สื่อความหลากหลายในวัฒนธรรมของมาเก๊าได้เป็นอย่างดี

 

Art Macao

 

        ‘Macau Currents: Data Paintings’ และ ‘Melting Memories’ สองงานแรกที่ตั้งตระหง่านกับจอ LED สูงจากพื้นจรดเพดาน ผลงานศิลปินชาวตุรกี Refik Anadol ที่ใช้เทคนิคการบันทึกข้อมูล – Macau Currents จากการเก็บข้อมูลระดับผิวน้ำทะเลของมาเก๊า และ Melting Memories จากคลื่นสมองของมนุษย์

        การเล่นกับโลกดิจิตอลยุคใหม่อย่าง Big Data มาถ่ายทอดความจริงสามัญของธรรมชาติผ่านงานศิลปะ ซึ่งทำให้เห็นว่า ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ความจริงจะถูกถ่ายทอดในรูปแบบที่เปลี่ยนไปเช่นไร แต่ความจริงเรื่องการเกิดขึ้น เคลื่อนอยู่ และดับไปจะยังคงดำเนินไปเช่นนั้น ไม่ว่าจะในพื้นที่และเวลา (space and time) ใด

 

Art Macao

 

        ภาพระดับผิวน้ำทะเลสีฟ้าและคลื่นสมองที่แม้มาจากสองสิ่งที่ดูคล้ายจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง กลับมีความคล้ายกันอย่างน่าอัศจรรย์เมื่อถูกแปลงข้อมูลและฉายด้วยสื่อเดียวกัน ภาพการเคลื่อนตัวของคลื่นทะเลและคลื่นสมองที่บิดม้วนตัวไปมา เร็วบ้างช้าบ้าง และดับลงกระทันหัน ราวกับศิลปินจะฉายให้เห็นว่าแม้ชีวิตในขณะที่กำลังดำเนินอยู่จะสวยงาม ดูเป็นความจริงราวกับไม่มีวันจะดับสูญแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะดับไป เพื่อให้ภาพใหม่ ชีวิตใหม่ การประดิษฐ์ใหม่ได้เกิดขึ้นมา

 

Art Macao

 

        ‘Sacral’ งานชิ้นใหญ่กลางห้องโถงที่ใช้จัดแสดง ของศิลปินอิตาเลียน Edoardo Tresoldi ศิลปินที่ฟอร์บส์ (Forbes) จัดอันดับว่าเป็นหนึ่งในศิลปินอายุต่ำกว่าสามสิบที่มีอิทธิพลมากที่สุดในยุโรป กับการนำวัตถุดิบก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะตาข่ายลวดมาใช้ในการสร้างประติมากรรมที่ทำให้เกิดโครงร่างที่ชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความโปร่งใสราวกับจะจางหายไปจากพื้นที่นั้นๆ

        อยู่ตรงนั้น แต่ราวกับไม่ได้อยู่ตรงนั้น

        อีกครั้งกับการใช้ตาข่ายลวดอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาในการสร้างผลงาน ที่ไม่เพียงแต่น่าสนใจในเชิงเทคนิคและการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างในงานศิลปะ แต่ยังรวมถึงสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อสารผ่านงานชิ้นนี้ ให้เห็นเรื่องราวของสถาปัตยกรรมที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ตรงนั้น (space) และแม้วันหนึ่งกาลเวลา (time) อาจพรากมันไปจากสถานที่นั้น แต่ความทรงจำของผู้คน เรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้สถาปัตยกรรมมีเค้าลางตัวตนปรากฏอยู่จางๆ ตรงนั้นเสมอ แม้ในวันที่รูปร่างของมันได้เลือนหายสลายไป

        ใจความสำคัญของงานชิ้นนี้ย้ำเตือนความสำคัญของการบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านเศษซากสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อให้เรามีรากฐานความเป็นมาที่มั่นคง ไม่ลืมที่มาที่ไปว่าสิ่งใดสร้างวัฒนธรรมของเรา ในวันที่มาเก๊ากำลังรุดหน้าเข้าสู่ยุคใหม่ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม

 

Art Macao

 

        Jennifer Steinkamp ศิลปินหญิงชาวอเมริกันผู้เดียวของนิทรรศการ ที่แม้จะเป็นห้องสุดท้าย แต่ก็ยิ่งใหญ่อลังการด้วยการฉายวิดีโอโปรเจ็กต์มากถึง 6 ชิ้นงานบนผนังสามด้านของห้องจัดแสดง ‘Silence Dogood’ ชื่อของผลงานนั้นเป็นนามปากกาของ เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) ในช่วงที่เขาแอบสวมรอยเป็นบรรณาธิการหญิง การค้นพบประจุไฟฟ้าจากการศึกษาฟ้าแลบ ฟ้าผ่า และฟ้าร้องของแฟรงคลิน เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินผู้นี้นำมาสร้างสรรค์งานศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงามของขั้วตรงข้ามในธรรมชาติที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ นอกจากนั้น พหุนิยม ความแตกต่างหลากหลายในสรรพสิ่งนี้เองที่สร้างสรรค์และทำให้เกิดข้อค้นพบครั้งสำคัญทั้งในทางวิทยาศาสตร์และวิวัฒนาการของมนุษยชาติ

        เทคนิค Digital Projection ที่กำลังได้รับความนิยมกับการนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างสรรค์งานศิลปะ ช่วยทำให้เห็นการเกิดของประจุไฟฟ้าจากการชนกันของขั้วบวกขั้วลบในอากาศ ความเป็นขั้วตรงข้ามของสื่ออย่างดิจิตอลที่นำเสนออินทรีย์วัตถุในธรรมชาติยังทำให้เกิดความสวยงามอย่างน่าประหลาด ก่อให้เกิดความรู้สึกทั้งสวยงาม แปลกตา ทั้งอยู่ตรงหน้าจริง และลวงตาไปพร้อมๆ กัน

 

Art Macao

 

        นอกจากผลงานในอาคารแล้ว ‘Wynn – Garden of Earthly Delights’ ยังมีผลงานนอกอาคาร ไม่ว่าจะเป็น ‘The American Love’ กับงานคอนเซ็ปชวลที่นำตัวอักษร ‘LOVE’ ป็อปอาร์ตสีสันฉูดฉาดที่ใครๆ ต่างคุ้นตามาจัดตั้ง รวมทั้ง ‘Dragon’s Footprint’ รอยเท้ามังกรยักษ์สีชมพูสดกลางสนามหญ้าสีเขียวที่สามารถนั่งกระเช้าขึ้นไปชมได้ เป็นอีกงานที่สร้างความแตกต่างสุดขั้วตรงข้ามระหว่างภาพอาคาร รีสอร์ตทันสมัยของมาเก๊า และความเป็นดึกดำบรรพ์ ความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยต่างๆ ที่ยังแน่นหนาในวัฒนธรรมมาเก๊า

 

Art Macao

Art Macao

 

        และนอกจาก Wynn Macao ก็ยังมีอีกหลายสถานที่ที่ร่วมจัดงานศิลปะนานาชาติในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น Morpheus รีสอร์ตหรูโดยฝีมือสถาปนิกระดับโลกอย่าง ซาฮา ฮาดิด  (Zaha Hadid) ในเครือ City of Dreams (COD) ที่จัดนิทรรศการ ‘Unexpected Encounters’ ที่กระจายงานชิ้นต่างๆ ให้ได้ออกตามล่าทั่วพื้นที่จัดแสดง

        2019 ปีสำคัญในการก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 ของเขตบริหารพิเศษมาเก๊า หลังจากถูกครอบครองโดยโปรตุเกสที่พากันมาตั้งรกราก แสวงหาความรุ่งเรืองในมาเก๊าอยู่ยาวนานกว่า 400 ปี ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 จนถึงปี ค.ศ. 1999 พหุนิยม ความเป็นขั้วตรงข้ามจากประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมการผสมผสานทั้งโลกตะวันออก-ตะวันตก ความเชื่อเก่าแก่-ความทันสมัย ที่ปรากฏอยู่ในสถาปัตยกรรมอาคาร การออกแบบที่มีทั้งแสงสีเสียงและหลักฮวงจุ้ย กลายเป็นเอกลักษณ์ในความเป็น ‘แมคานีส’ (Macanese) พหุวัฒนธรรมผสานกันได้อย่างลงตัว ทั้งในศาสนา ภาษา อาหาร และงานศิลปะที่ถ่ายทอดผ่าน Art Macao นิทรรศการศิลปะนานาชาติครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน 

 


ภาพ: พรนภัส เข็มทอง