Berlin Wall

Berlin Wall: เมื่อกำแพงถูกสร้างขึ้นมา คุณค่าที่มีร่วมกันจึงปรากฏ

“มันยากที่จะจินตนาการได้ว่าครั้งหนึ่งเราเคยมีกำแพงเช่นนั้นตั้งอยู่จริงๆ แต่ในระยะเวลายี่สิบแปดปีที่มันคงอยู่ก็นึกไม่ออกเลยว่ากำแพงนี้จะหายไปได้อย่างไร”

        หนึ่งในบทสัมภาษณ์ Where were you when the Wall came down? จากสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยที่บันทึกเรื่องราวของผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ในเยอรมนีช่วงก่อนการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน และนำมาจัดฉายเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมฉลองครบรอบ 30 ปี แห่งการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ สถาบันเกอเธ่ สมาคมฝรั่งเศส และสถานทูตเยอรมัน ประจำประเทศไทย

        นอกจากสารคดีบันทึกเรื่องราว ภายในงานยังมีกิจกรรมมากมายตั้งแต่การฉายภาพยนตร์ วงเสวนา นิทรรศการงานศิลปะ ฯลฯ ไม่ใช่เพียงเพื่อระลึกถึงบทสำคัญในประวัติศาสตร์โลก สัญลักษณ์ของการสลายทั้งในเชิงกายภาพและอุดมการณ์ทางการเมือง หากการร่วมจัดงานในประเทศไทย และในอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในเยอรมนี ยังสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการเลือกบันทึกประวัติศาสตร์ ถอดบทเรียน และค้นพบความหมายที่แท้จริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

Berlin Wall

(1)

“The true battle is built underground.” —การต่อสู้เพื่ออิสรภาพที่แท้จริงเกิดขึ้นที่ใต้ดิน1

        ไมเคิล มึลเลอร์ (Michael Müller) นายกเทศมนตรีกรุงเบอร์ลินกล่าวระหว่างพาชม ‘อุโมงค์ 71’ (Tunnel 71) ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นความพยายามในการพาชาวเยอรมันตะวันออกลี้ภัยเข้าสู่เยอรมันตะวันตก

        ทางเข้าแคบๆ สภาพเกรอะกรังได้เปิดขึ้นอีกครั้งหลังหลายสิบปีที่อุโมงค์ความยาว 328 ฟุตแห่งนี้ถูกแช่แข็งอยู่ใต้ธรณี อุโมงค์ที่ผู้มีส่วนร่วมร่วมกันขุดสามวันต่อกะ กะละสามชั่วโมง ต่อเนื่องเป็นเวลาเก้าสัปดาห์ และเหลือระยะทางอีกเพียงสิบเมตรก็จะทะลุไปถึงฝั่งตะวันออก แต่บรรดาผู้ก่อการก็ถูก ‘Stasi’ ตำรวจลับผู้สังเกตการณ์มาโดยตลอดจับกุมเสียก่อน

        อุโมงค์ 71 ที่ตอนนี้ได้กลายเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในการระลึกถึงช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ในแง่มุมของผลพวงจากสงคราม หรือสมมติอุดมการณ์ทางการเมือง หากเป็นเรื่องราวของความกล้าหาญ ความรักของมนุษยชาติที่ดูจะปรากฏขึ้นให้เห็นชัดในช่วงเวลายากลำบาก

        “เมื่อเข้ามาแล้ว ใครก็สัมผัสได้ถึงความกล้าหาญของผู้คนที่พยายามช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้ได้พบอิสรภาพ” 

        มึลเลอร์กล่าวเพิ่มเติมไว้เช่นนั้น

 

Berlin Wall

(2)

“ทำไมคุณถึงเสี่ยงชีวิตกลับไปช่วยคนอื่นทั้งที่คุณเพิ่งรอดมาได้”

“แล้วทำไมผมถึงจะไม่ล่ะ?”

        โจชิม รูดอล์ฟ (Joachim Rudolph) ในวัย 80 ปี ตอบคำถามในรายการพอดแคสต์ที่เขาให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่กลับไปช่วยชีวิตผู้อื่นที่ยังอยู่ในเบอร์ลินตะวันออก แม้เขาจะสามารถเอาตัวรอดจากการถูกจับกุมในการลี้ภัยเข้าสู่เบอร์ลินตะวันตกได้แล้วก็ตาม

        พอดแคสต์ตอน Tunnel 29 (อุโมงค์ 29) เป็นตอนพิเศษของ BBC Radio เนื่องในโอกาสครบรอบสามสิบปีแห่งการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน บทสัมภาษณ์พิเศษ—รูดอล์ฟ หนึ่งในผู้ที่ร่วมสร้าง ‘อุโมงค์ 29’ ขึ้นมาในปี 1970 เก้าปีหลังจากที่กำแพงเบอร์ลินถูกสร้างขึ้น ในช่วงเวลาที่รูดอล์ฟควรอยู่อย่างปลอดภัย ใช้ชีวิตเสรีในเบอร์ลินตะวันตกได้แล้ว

        ‘อุโมงค์ 29’ ที่รูดอล์ฟและเพื่อนช่วยกันสร้างขึ้นมานั้นเรียกได้ว่าอยู่ในจุดที่ล่อแหลมเสี่ยงต่อการถูกจับได้อย่างง่ายดาย เพราะมันอยู่ใกล้มากกับจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ควบคุมชายแดนที่กำแพงฝั่งตะวันออก 

        “ใกล้จนได้ยินเสียงพวกเขาคุยกัน” รูดอล์ฟกล่าว

        รูดอล์ฟเล่าถึงเหตุการณ์อย่างเรียบง่ายธรรมดา บอกว่ามันเป็นสามัญสำนึกที่ใครก็ต้องทำหากอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเขา ราวกับว่ามันไม่ใช่ความกล้าหาญใดๆ เลยในการที่นำตัวเองย้อนกลับเข้าไปอีกฝั่งของกำแพงที่เขารอดพ้นมาได้แล้ว ความล้มเหลวในความพยายามขุดเจาะอุโมงค์จนน้ำท่วมทะลักเข้ามาในครั้งแรก และถูกหักหลังด้วยเจ้าหน้าที่ในครั้งที่สอง แต่สุดท้ายความพยายามของรูดอล์ฟและเพื่อนก็สำเร็จในครั้งที่สาม คือสามารถช่วยเหลือ 29 ชีวิตออกมาได้จาก ‘อุโมงค์ 29’ ใต้กำแพงเบอร์ลินนั้น

        ‘อุโมงค์ 29’ เป็นหนึ่งในอุโมงค์ที่ถูกค้นพบจากอีก 75 อุโมงค์ ตลอดระยะเวลา 28 ปีที่กำแพงเบอร์ลินตั้งอยู่ เพื่อเป็นเส้นทางช่วยชาวเยอรมันตะวันออกลี้ภัยเข้าสู่เบอร์ลินตะวันตก ในจำนวน 75 อุโมงค์ มีเพียง 19 อุโมงค์เท่านั้นที่บรรลุภารกิจในการเคลื่อนย้าย 300 ชีวิตข้ามไปอีกฝั่งของกำแพงได้สำเร็จ

 

Berlin Wall

(3)

“You could either be passive towards that shit regime, or stand up to it by being active.” —คุณเลือกได้ว่าจะยอมจำนนต่อระบบเฮงซวยนั่น หรือยืนขึ้นต่อสู้กับมันโดยการทำอะไรสักอย่าง2

        “การสร้างอุโมงค์นั้นไม่ประสบผลสำเร็จสักเท่าไรนัก มันเป็นงานขนาดใหญ่ที่เสี่ยงต่อชีวิต แต่เราจะทำอย่างไรได้? คุณแทบไม่ต้องถามถึงแรงจูงใจเลย เมื่อมันเป็นการกอบกู้ชีวิตเพื่อนและคนในครอบครัวของคุณ”

        อุลริช ไฟฟ์เฟอร์ หนึ่งในผู้ร่วมสร้าง ‘อุโมงค์ 71’ ที่ในวันนั้นเป็นนักศึกษาที่หนีข้ามมาสู่ฝั่งตะวันตกได้สำเร็จตั้งแต่ช่วงระหว่างที่กำแพงเบอร์ลินกำลังเริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1961 กล่าวในระหว่างพาชม ‘อุโมงค์ 71’ ที่ถูกเปิดขึ้นอีกครั้ง

 

        “เมื่อมีคนพยายามสร้างกำแพง ย่อมมีคนพยายามสร้างทางหลบหลีกมันเสมอ”

        เฮเลนา แมร์ริมาน (Helena Merriman) โปรดิวเซอร์พอดแคสต์ตอนพิเศษ ‘Tunnel 29’ กล่าวถึงความรู้สึกหลังได้ฟังเรื่องราวของรูดอล์ฟ และอีกหลายชีวิตที่มีส่วนร่วมในการสร้างอุโมงค์เพื่อช่วยเหลือเพื่อนชีวิตอื่นให้ได้รับอิสรภาพ แม้นั่นจะเสี่ยงต่อการแลกอิสรภาพของตัวเองก็ตาม

 

        “การต่อสู้เพื่ออิสรภาพที่แท้จริงเกิดขึ้นที่ใต้ดิน”

        คำกล่าวของมึลเลอร์ดังก้องในอุโมงค์ใต้ดินมืดแคบ เย็นเฉียบ ภายใต้กำแพงเบอร์ลินที่ครั้งหนึ่งเคยตั้งอยู่ยาวนานราวกับว่ามันจะไม่หายไปไหน หากวันนี้มันได้สูญสลายไปแล้ว และท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาสามสิบปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่คงแทบนึกไม่ออกว่าครั้งหนึ่งมนุษย์จะสามารถสร้างสิ่งกีดขวางขนาดใหญ่เพื่อกักขังอิสรภาพของมนุษย์ด้วยกันได้อย่างไร

 

Berlin Wall

 

        หากสิ่งหนึ่งที่ยังคงเหลือในวันที่กำแพงนั้นหายไป กลับเป็นคุณค่าอันยิ่งใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงความดิ้นรนในการมีชีวิต การต่อสู้ที่แท้จริงโดยไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา ที่มันอาจไม่ใช่ความกล้าหาญอะไรเลย—อย่างที่รูดอล์ฟว่าไว้ หากมันคือเรื่องสามัญธรรมดาที่มนุษย์พึงกระทำต่อกัน เป็นความสัมพันธ์อันปรากฏเด่นชัดในยามที่มนุษย์ร่วมกันเผชิญความทุกข์ยาก 

 


อ้างอิง:

ภาพ: Reuters