โมโน โนะ อะวะเระ ความรู้สึกดื่มด่ำ ทอดถอนใจในสัจธรรมการเปลี่ยนแปลงที่แสดงให้เห็นความงาม สุนทรียภาพของชาวญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลจากธรรมชาติ การเปลี่ยนผ่านของฤดูใบไม้ร่วงเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงปลายปี ใบไม้สีแดงแก่แซมเหลืองที่ลมเบาๆ ก็เพียงพอพัดปลิวให้ร่วงหล่นลงมา โมงยามแห่งการผลัดใบที่เปราะบาง แสนสั้น ทว่างดงามที่สุดของฤดูกาล
โมโน (mono) แปลตรงตัวได้ว่าสิ่งของ ส่วน อะวะเระ (aware) หมายถึงความโศกเศร้า แต่เมื่อรวมกันแล้ว ความรู้สึกทอดถอนใจใน โมโน โนะ อะวะเระ (the sorrow of things) นั้นหาใช่ความเสียใจไม่ หากคือความซาบซึ้งท่วมท้นที่ตระหนักรู้ได้ถึงสัจธรรมสูงสุดว่าสิ่งต่างๆ นั้นไม่จีรัง และนั่นคือเหตุแห่งความสวยงาม หาใช่ความน่ากลัวที่ต้องหวั่นเกรง
วัฒนธรรมนั่งชมดอกซากุระบานในฤดูใบไม้ผลิ หรือความนิยมใน ‘โคะโยะ’ การชมฤดูใบไม้เปลี่ยนสีฤดูใบไม้ร่วงช่วงปลายปีดูจะสะท้อนสุนทรียภาพ โมโน โนะ อะวะเระ ของชาวญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี—ซากุระชมพูสะพรั่ง เมเปิลเหลืองแดงจะงดงามเช่นนั้นไหม หากมันจะอยู่ตรงนั้นตลอดไป ให้ผู้คนชื่นชมเมื่อไรก็ได้
คงไม่, คงไม่เลย มนุษย์เราคงเพิกเฉยหรือมองเห็นซากุระ เมเปิล เป็นเพียงทัศนียภาพดาษดา—เมื่อมันไม่มีวันสูญหาย ก็ย่อมไร้ความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องหาเวลามาชื่นชมหรือดื่มด่ำไปกับสิ่งที่จะพบเห็นเมื่อไหร่ก็ได้
หากดอกไม้นั้นสวยงาม เพราะว่ามันผลิบาน ดอกไม้นั้นก็งดงาม เพราะว่าวันหนึ่งมันจะร่วงหล่นจากต้นไป
การโอบรับความงามในสัจธรรมดูจะไม่ได้เพียงซ่อนอยู่ในวัฒนธรรมการพักผ่อนจากการชมซากุระในลมร้อนหรือใบไม้เปลี่ยนสีในลมหนาวเท่านั้น หากยังสะท้อนในแนวคิดการสร้างสรรค์ศิลปะและสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่น เช่น แฟชั่นแนวคิดรื้อถอนอย่าง ‘กอมเดการ์ซง’ ที่ไปโด่งดังระดับโลกในปารีสแฟชั่นวีคยุค 80s หรือแม้แต่ขนบการสร้างศาลเจ้าชินโตในจังหวะมิเอะ ที่ใช้วิธี ‘รื้อถอนและสร้างใหม่’ ที่เป็นธรรมเนียมมากว่าพันปี ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างไปจากการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถาน—ที่จะพยายามทำให้เหมือนเดิม—ทั้งที่เมื่อเวลาผ่านไปใครเล่าจะการันตีได้ว่า ‘เหมือนเดิม’ นั้นเป็นอย่างไร หากในขนบแบบชินโตนี้ต่างไปจากการบูรณะเช่นนั้น คือให้มีการรื้อถอนศาลเจ้าเก่าทิ้งและสร้างใหม่ทุกยี่สิบปี—ระยะเวลาที่ไม่นานเกินไปที่ผู้เชี่ยวชาญจะถ่ายโอนความรู้ไปสู่อีกรุ่นได้ เพราะสุดท้าย ต่อให้ไม้ที่ใช้ก่อสร้างจะไม่ใช้ไม้ชิ้นเดิม (แต่ชนิดเดิม) เฉดสีอ่อนเข้มต่างไปบ้าง แต่สิ่งเดียวที่จะไม่สลายหายไป และส่งต่อได้อย่างแท้จริงก็คือ ความรู้ ทักษะ ความคิดที่ข้ามพ้นกาลเวลา
“ความไม่เที่ยงสอนให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงฉันใด การลุกขึ้นใหม่ทุกครั้งจึงกลายเป็นการตอบกลับอันงดงามที่สุด”1
ภูมิศาสตร์ที่ทำให้เผชิญกับความไม่แน่นอนตลอดเวลาดูจะทำให้คนญี่ปุ่นไม่เสียเวลาก่นด่าฟ้าดินในยามเกิดภัยพิบัติ หากสิ่งที่เราเห็นจากญี่ปุ่นผ่านการเผชิญโจทย์ท้าทายจากธรรมชาติซ้ำๆ ดูจะเป็นการยอมรับเมื่อมันเกิดขึ้น ลุกขึ้นใหม่ และเรียนรู้เมื่อสิ่งๆ นั้น หรือเหตุการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง
หากมนุษย์ไม่มีวันสูญหาย
เหมือนน้ำค้างแห่งอะดาชิโนะที่พร่างพราย
ไม่เลือนสลายจางไปดั่งม่านหมอกบนโทริเบะยามะนั่น
สิ่งทั้งหลายจะมีพลังในการขับเคลื่อนเราได้อย่างไรกัน2
Ahh~ โมโน โนะ อะวะเระ
เสียงทอดถอนใจทั้งในความงามของเมเปิลสีแดงแก่แซมเหลืองอ่อนตรงหน้า ความงดงามที่ปรากฏด้วยเงื่อนไขของเวลา ไม่ต่างจากสิ่งอื่นใดในชีวิตที่ล้วนมีค่า น่าโหยหา เพราะเราต่างรู้ว่าวันหนึ่งมันจะจากเราไป ไม่ว่ามันจะเป็นใบเมเปิล สถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่ หรือความสัมพันธ์ใดในชีวิต
Ahh~ โมโน โนะ อะวะเระ
ความโศกเศร้าเมื่อรู้ว่าสรรพสิ่งนั้นล้วนเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันก็ท่วมท้นไปด้วยความชื่นชมยินดีในความงดงามในโมงยามที่มันยังอยู่ตรงนั้น ในช่วงเวลานั้น
ก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะพลันสูญสลายหายไป
เป็นธรรมดา
ของกาลเวลา
อ้างอิง:
- 1หนังสือ Cool Japan Vol.2 (2017) สำนักพิมพ์ Little Thoughts
- 2บทกวีจาก “Essays on Idleness” (หรือ “The Harvest of Nature”) โดย Yoshida Kenko จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Tsurezuregusa
เครดิตภาพ: Piyapat Patipoksut