ตลาดชุมชน

‘ตลาดชุมชน’ เป็นกระจกสะท้อนคุณภาพชีวิตและประตูต้อนรับผู้มาเยือน

ตลาดชุมชนเป็นหนึ่งในที่แรกๆ ที่เรามักตามหาเสมอเมื่อเดินทางเข้าไปยังเมืองใหม่ๆ ไม่มีพื้นที่ไหนอีกแล้วที่จะทำให้คนนอกบ้านต่างเมืองได้สัมผัสความเป็นท้องถิ่น ตั้งแต่วัตถุดิบอาหาร วัฒนธรรมการกิน ท่าทีของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นต่างออกมาจับจ่ายใช้สอย ไปจนถึงบรรยากาศธรรมดาๆ ของเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งเราเพิ่งจะได้ก้าวเข้ามาสัมผัส แล้วมันก็จะดำเนินต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะถึงวันที่เราต้องจากเมืองนั้นไป

        จากการสังเกต ตลาดที่อยู่ในหลายๆ เมืองซึ่งเราเคยไปฝากปากท้อง ไม่ว่าจะเป็น Santa Caterina ตลาดของชาวคาตาลันในบาร์เซโลนา, Marché Raspail สวรรค์ของคนรักวัตถุดิบออร์แกนิกและเบเกอรีในปารีส, Thai Park ตลาดนัดคนไทยในเบอร์ลิน, Fusion Market ตลาดในย่านชุมชนพหุวัฒนธรรมในลิสบอน และ Fischmarkt ตลาดประมูลปลาที่สมกับการเป็นเมืองท่าของฮัมบูร์ก แต่ละที่ล้วนซ่อนปรากฏการณ์ทางสังคมที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองนั้นๆ เป็นแม้กระทั่งตัวชี้วัดการพัฒนาของเมืองได้ในหลายมิติ ตั้งแต่การจัดการเศรษฐกิจชุมชน การกระจายขนส่งมวลชน การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของคนในชุมชนก็ดูจะสะท้อนได้จากการจัดการตลาดในเมืองนั้นเช่นเดียวกัน

        ยิ่งถ้าได้พูดคุยกับคนท้องถิ่นเพิ่มเติมก็จะยิ่งพบว่าความเป็นตลาดในยุโรปคือการสืบทอดวิถีสังคมมาอย่างยาวนาน แนวคิดเริ่มแรกมาจากเพื่อคุ้มครองคนในชุมชนจากการขึ้นราคาข้าวของเครื่องใช้ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี การขาดแคลนวัตถุดิบบางอย่างในพื้นที่ ความไม่โปร่งใสในการชั่งตวงปริมาณสินค้า เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้จึงจัดให้มีการตั้งขายสินค้าในพื้นที่เปิด เพื่อให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถประเมินคุณภาพสินค้ากับราคาที่เหมาะสมได้อย่างเปิดเผย ในยุคเริ่มต้นตลาดจึงมักจะถูกจัดขึ้นในพื้นที่จัตุรัสกลางเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสัญลักษณ์ทางสังคมปรากฏอยู่ เช่น ธงชาติ หอระฆัง ไม้กางเขน เพื่อทำหน้าที่เสมือน ‘มือที่มองเห็น’ และเป็นเครื่องหมายเตือนใจว่ามีการสอดส่องตรวจสอบในพื้นที่เปิด ด้วยการดูแลของผู้คนในพื้นที่ตลาด

 

ตลาดชุมชน

 

        นอกจากผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้ร่วมกันแล้ว ตลาดยังเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้และต้อนรับคนต่างถิ่นเสมอ มันคือความรู้สึกไม่แปลกแยกและความเป็นกันเอง ซึ่งจะทำให้เราออกตระเวนหาตลาดทันทีเมื่อย้ายไปอยู่เมืองใหม่ ความรู้สึกเช่นนี้คงไม่ต่างจากผู้อพยพย้ายถิ่นฐานในสมัยก่อนที่มักเกิดความรู้สึกแตกต่าง เป็นคนอื่น เป็นคนนอกบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง จะเว้นก็แต่ในพื้นที่ตลาด เพราะด้วยความเป็นพื้นที่สาธารณะ พ่อค้าแม่ค้าต่างอยากขายของ จึงไม่สนว่าผู้ซื้อเป็นใคร มาจากไหน การแลกเปลี่ยนในตลาดจึงเป็นมากกว่าตัวสินค้า แต่คือการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนด้วย

        ตลาดยังเป็นเหมือนเมื องย่อส่วนทำให้ได้รู้จักความเป็นเมืองนั้นได้ดีขึ้นในทุกการรับรู้ของประสาทสัมผัสอีกด้วย หลายครั้งที่การจัดการที่ดี ความมีระเบียบของตลาดสอดคล้องกับลักษณะการเมืองการปกครองของท้องถิ่น, รสชาติของอาหารวัตถุดิบที่บอกได้ถึงภูมิศาสตร์ที่ตั้งของเมือง, กลิ่นของอาหารทะเล ชีส ยีสต์ในขนมปัง เนื้อสัตว์แห้งที่ถูกถนอมอาหารในรูปแบบแตกต่างกันไปตามบริบทของเมืองนั้น, เสียงการพูดคุยที่แม้จะไม่เข้าใจแต่ก็พอจับได้ถึงสำเนียงเฉพาะถิ่น หรือหากเข้าใจก็จะแอบได้ยินเรื่องราวที่กำลังเป็นที่สนใจของผู้คนในช่วงนั้น ประสบการณ์ความเป็นไปของชุมชนทุกมิติดูจะถูกรวบรวมไว้ในพื้นที่ตลาดให้คนผ่านมาอย่างเราได้ทำความรู้จักกับคนและที่แห่งนั้นได้ดียิ่งขึ้น

        ตลาดเป็นศูนย์รวมความหลากหลายที่มีเสน่ห์และทำให้เราหลงใหลได้เสมอ ไม่ใช่แค่ความหลากหลายในแง่สินค้า วัตถุดิบอาหารเครื่องปรุง เครื่องเทศ ของแห้ง อาหารสดเท่านั้น แต่รวมไปถึงความหลากหลายในความเป็นมนุษย์ ตลาดจึงเป็นพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ระหว่างคนท้องถิ่นและคนผ่านทาง คนแก่และคนหนุ่มสาว คนมีฐานะและคนยากไร้ซึ่งมักได้รับส่วนแบ่งจากของที่ขายไม่หมดเมื่อตลาดใกล้วาย ความเสมอภาคหรือ ‘สังคมสำหรับทุกคน’ (inclusive society) ที่เราโหยหากัน มักปรากฏขึ้นในพื้นที่เปิดของตลาดเสมอ

        ความเป็นพื้นที่เปิดของตลาดนั้นส่งผลดีต่อการปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ขณะเดียวกันขอบเขตพื้นที่ที่ถูกกำหนดแน่ชัดก็สำคัญต่อการดำรงอยู่ของตลาด ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ขายสินค้าสามารถตรวจสอบ ประเมินและปรับการแข่งขันด้านการขายกันเองได้ในพื้นที่นั้น ผู้ซื้อสามารถตัดสินใจซื้อของจากหลากหลายเจ้าในพื้นที่เดียวกัน เจ้าหน้าที่สามารถดูแลตลาดได้ทั่วถึง และชุมชนก็ไม่เดือดร้อนจากการถูกรุกล้ำ การเป็นพื้นที่เปิดนั้นเอื้อต่อความเป็นสาธารณะ และการจำกัดขอบเขตของพื้นที่ย่อมสำคัญต่อการรักษาสมดุลความเป็นส่วนตัว 

 

ตลาดชุมชน

 

        ในพื้นที่สาธารณะที่มีการจัดการที่ดี ผู้คนย่อมยินดีที่จะถอดวางเกราะป้องกันความเป็นส่วนตัวออกไปเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมในพื้นที่ที่ได้ตกลงกันไว้ เช่น เท่าที่เห็นตลาดนัดหลายแห่งในยุโรปจะมีการปิดถนนในวันเวลาที่ตกลงกันไว้กับชุมชน เพื่อเอื้อให้เกิดการค้าขายและสัญจรทางเท้า เมื่อทุกคนทำตามกติกา ชุมชนก็ยินยอมที่จะปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดกิจกรรมส่วนรวม เกิดประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย สร้างความเป็นชุมชนและความสัมพันธ์ในระดับบุคคล ในทางตรงกันข้าม หากผู้คนในสนามไม่สามารถรักษากติกาหรือรุกล้ำขอบเขตที่ตกลงกันไว้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะนั้นอาจส่งผลกลับกัน และเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยนั้นไม่สามารถไกล่เกลี่ยความขัดแย้งได้ พลวัตชุมชนอาจต้องออกมาทำหน้าที่จัดการรักษาสมดุลระหว่างความเป็นสาธารณะและความเป็นส่วนตัวเอง

        ปรากฏการณ์เช่นนี้มีความคล้ายกับปรากฏการณ์ที่เป็นมาตลอดประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยโรมัน เช่น ใน Roman Forum เมื่อตลาดในความเป็นพื้นที่สาธารณะมีบทบาทมากกว่าการเป็นพื้นที่กายภาพสำหรับการแลกเปลี่ยนซื้อขาย แต่ยังเป็นพื้นที่แสดงออกทางความเห็นด้านสังคมด้วย จนกลายเป็นพื้นที่ที่หล่อหลอมวัฒนธรรมและวาทกรรมต่างๆ ถึงแม้ในปัจจุบันจะไม่ได้มีเวทีแสดงออกทางการเมืองโดยตรงเหมือนสมัยก่อน แต่ตลาดก็ยังเป็นพื้นที่สร้างความเป็นพลเมืองและชุมชนด้วยกลไกของมันเอง 

 

ตลาดชุมชน

 

       มันคงเป็นการสรุปด้วยความหวังแห่งอุดมการณ์มากไป หากจะกล่าวว่าตลาดในความเป็นพื้นที่สาธารณะนั้นจะเป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดสังคมสำหรับทุกคน มีความเสมอภาคและเท่าเทียม แต่อย่างน้อยก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทพื้นที่สาธารณะของตลาดมีส่วนสำคัญในการร่างลักษณะพฤติกรรมและกฎหมู่ของผู้คนในสังคมนั้นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกสาธารณะของผู้คนในพื้นที่ที่จะกำหนดแนวทางว่ากฎหมู่นั้นจะออกมาในแง่ใด 

        ขณะกำลังฉีกขนมปังยืนกินในมุมหนึ่งของตลาด มองไปเห็นพ่อค้าแม่ค้า บ้างพูดคุยกันเอง บางคนยิ้มแย้มเชื้อเชิญให้ผู้เดินผ่านเข้ามาดูสินค้าของตน นึกในใจว่าชุมชนที่ไม่มีตลาดนั้นคงขาดอัตลักษณ์ประจำถิ่นไป และตลาดเองก็คงอยู่ไม่ได้หากไม่ได้รับพื้นที่สาธารณะนั้นจากชุมชน 

        ตราบใดที่เรายังพึงระลึกถึงธรรมชาติการพึ่งพาอาศัยในความเป็นพื้นที่สาธารณะและการทำตามกติกา ตลาดก็จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่กระชับความสัมพันธ์ ผู้คนแต่ละบทบาทก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกันจากจุดเริ่มต้นและแนวคิดในการเกิดขึ้นของตลาด