ย้อนกลับไปนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในยุค 1990s สำหรับเราคงเป็นเรื่องของการได้สัมผัสกับเครื่องเล่นเกมแฟมิคอมเป็นครั้งแรก หรือนั่งตาโตกับการปรากฏตัวของไดโนเสาร์ที่เหมือนจริงมากๆ ในภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park แต่ความสุขของ ‘จีน’ – กษิดิศ สำเนียง คือการเข้ามาของร้านขายเทปเพลงชื่อดังอย่าง Tower Records และกระแสของเพลงบริตพ็อพที่รุ่งเรืองสุดๆ จนหล่อหลอมตัวตนของเธอให้เป็นนักร้องที่หลายคนตามกรี๊ดอยู่ในทุกวันนี้
“
สิ่งที่เลิศมากที่เรามีคือ เครื่องตอบรับโทรศัพท์อัตโนมัติ เวลากลับบ้านต้องมากดฟังดูว่ามีใครฝากข้อความอะไรถึงเราบ้าง ถ้าวันไหนไม่มีข้อความเข้ามาจะรู้สึกนอยด์มาก (หัวเราะ)
”
ยุค 90s ในความทรงจำของจีน กษิดิศ
ยุค 90s คือช่วงที่เราย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ได้เปิดโลกด้วยร้าน Tower Records และร้านขายเทปของป้าโดเรมี วงการเพลงทั้งไทยและต่างประเทศบูมมาก มีนักดนตรีจากอังกฤษเข้ามาแนะนำตัวที่บ้านเราเยอะมาก แทบจะทุกเดือน นั่นจึงทำให้เรากลายเป็นแฟนเพลงอินดี้ของวงจากอังกฤษไปด้วย (หัวเราะ) กิจกรรมที่ต้องทำทุกอาทิตย์คือการไปเดินที่สะพานพุทธกับสวนจตุจักร เพื่อไปตามหาเครื่องแต่งกายมือสองที่ชาวบ้านไม่ค่อยมีกัน เช่น เสื้อยืดมือสอง ถ้าเราได้ตัวที่ดีๆ เก๋ๆ มาในราคาที่ถูกมากนั่นจะยิ่งภูมิใจ รถก็ไม่ติดมากเหมือนตอนนี้ เวลาไปดูคอนเสิร์ตก็นั่งรถเมล์ไป เราก็จะรู้เองว่ากว่าครึ่งของคนในรถเมล์นั้นก็มาดูคอนเสิร์ตแบบเรา เพราะการแต่งกายและบรรยากาศบางอย่างที่สัมผัสได้
สังคมและผู้ตอนนั้นเป็นอย่างไร
คนในยุคนั้นถ้าสนใจอะไรสักอย่าง เขาจะศึกษาเรื่องนั้นอย่างจริงจัง เพราะเราไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีวิกิพีเดียที่จะมาแบข้อมูลให้ดูตรงหน้า ต้องอ่านหนังสือจากต่างประเทศ หรืออัพเดตเพลงใหม่ๆ จากรายการของป้าวาส (วาสนา วีระชาติพลี) เวลานัดเจอกันก็ต้องมีการวางแผน ต้องโทรศัพท์คุยกันล่วงหน้าด้วยโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์สาธารณะ จนกระทั่งมีเพจเจอร์เข้ามาในช่วงปลายยุค 90s ซึ่งกลับมานึกดูตอนนี้ก็ไม่เข้าใจว่าเราจะมีไปทำไม เพราะเอาไว้ใช้แค่ขอเพลงหรือส่งข้อความเป็นเนื้อเพลงไปให้เพื่อน (หัวเราะ)
สถานที่แฮงเอาต์เด็ดๆ ล่ะ
ลานไอซ์สเกตที่ห้างเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ (เซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน) คือสถานที่ที่วัยรุ่นต้องไป แต่ถ้าสายอินดี้หน่อยอย่างเรา ก็จะตระเวนดูหนังจากเทศกาลหนังต่างประเทศตามสถาบันต่างๆ ซึ่งก็สงสัยอยู่ว่าทำไมตัวเองดูว่างจัง (หัวเราะ) ถ้าอยากไปประตูน้ำ การเดินทางด้วยเรือด่วนคลองแสนแสบจะเร็วที่สุด แต่ก็ต้องแลกด้วยความลำเค็ญ ทั้งแม่น้ำที่ส่งกลิ่นเหม็น และอันตรายระหว่างการขึ้น-ลงเรือ และเป็นยุครุ่งเรืองของห้างพันธุ์ทิพย์ เพราะเป็นช่วงที่คอมพิวเตอร์พีซีเริ่มเข้ามา ใครอยากได้อะไรที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ต้องไปที่ห้างนี้ บริการส่งถึงบ้านต่างๆ ก็ยังไม่มี ถ้าอยากรู้อะไรก็ต้องใช้ความพยายามและศึกษาสิ่งนั้นจริงๆ
โมเมนต์แห่งยุค 90s
การหายตัวไปของ ริชชี เจมส์ เอ็ดเวิร์ดส์ สมาชิกของวง Manic Street Preachers เป็นที่ฮือฮามาก บางคนก็บอกว่าเจอเขาอยู่ที่ถนนข้าวสาร บ้างก็บอกว่าไปอาศัยอยู่ที่ประเทศอินเดีย หรือปลีกตัวไปเป็นคนเลี้ยงแกะ ข่าวลือในตอนนั้นเยอะมาก เทียบกับตอนนี้ก็คงเป็นการแชร์ข่าวดังๆ ของดาราอะไรสักอย่างในเฟซบุ๊กนี่แหละ และการเสียชีวิตของ เคิร์ต โคเบน สมาชิกวง Nirvana ที่ช็อกคนฟังเพลงได้เป็นปี
ไทยแลนด์ 90ss
ทางด้านวงการเพลงไทย มีการเกิดขึ้นของค่ายเบเกอรี่มิวสิค ซึ่งนำโดยวงโมเดิร์นด็อก ที่ตีคู่มากับแฟชั่นที่เด็กวัยรุ่นฮิตมากคือเสื้อยืดลายโซนิกของ ทาทา ยัง หรือเสื้อเอวลอยของลิฟท์กับออย ถ้าคนที่ฟังเพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟก็ต้องใส่กางเกงลูกฟูก รองเท้าแนวสเกตบอร์ด และเสื้อวอร์มของ adidas ซึ่งก็เป็นอิทธิพลที่มาจากวง Oasis นั่นเอง
เด็ก 90s ในปี 2018
เราอยากให้วงการเพลงไทยตอนนี้มีศิลปินอินดี้เกิดขึ้นมาเยอะๆ เหมือนยุค 90s เพราะยุคนั้นเหมือนเป็นช่วงของการจุดระเบิดของวงการเพลงที่คนฟังเริ่มเบื่อเพลงจากยุค 80s ที่มีแต่ซินธิไซเซอร์ และการแต่งหน้าเข้มๆ กันแล้ว และถ้าบ้านเรามีรถไฟฟ้าด้วยก็จะยิ่งดี เพราะการไปไหนมาไหนด้วยรถเมล์กินเวลานานมาก ต้องเตรียมตัวให้พร้อมไม่ให้ถ่านที่ใส่ไว้ในวอล์กแมนหมด เพราะเดี๋ยวจะไม่มีเพลงฟัง (หัวเราะ) และขอมีอินเทอร์เน็ตที่เร็วๆ ใช้ด้วย แต่ไม่ต้องมีโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพราะเราคิดว่าเป็นสิ่งเสพติดของคนยุคนี้ ขนาดเราเองยังติด ต้องเช็กเพจของตัวเองทุกวัน ว่าวันนี้จะมีใครมาคอมเมนต์อะไรป่วงๆ ใส่เราบ้าง ถ้าเจอก็จะป่วงกลับ (หัวเราะ) และข้อเสียคือ โซเชียลเน็ตเวิร์กกลายเป็นตัวบังคับให้เราต้องคอยหาอะไรมาโพสต์เพื่อสร้างอะไรบางอย่างในแต่ละวัน
ภาพ: มณีนุช บุญเรือง
+ คุยกับ ‘สวีทนุช’ ถึงอดีตอันหอมหวานในยุค 60s
+ ท่องไปในยุค 70s กับ สุนทร สุจริตฉันท์ แห่งวงรอยัลสไปรท์ส
+ กลับไปตีสนิทกับ ‘ป้าตือ’ สมัยกำลังโตเป็นสาวสะพรึงแห่งยุค 80s