ทำความเข้าใจภาวะซึมเศร้า เมื่อสมองและจิตใจครุ่นคิด ถึงเหตุผลของการมีชีวิตอยู่

เมื่อขอบตาเริ่มร้อนผ่าว น้ำใสๆ ก็รื้นขึ้นมาจนภาพเบื้องหน้าพร่ามัว และแล้วหญิงสาวก็ต้องปล่อยโฮออกมา เพราะไม่สามารถเก็บกลั้นความเสียใจไว้ได้อีกต่อไป เป็นอีกครั้งที่ ‘Sadness’ เด็กหญิงสีฟ้าจากแอนิเมชัน Inside Out ปลดปล่อยความหม่นหมองให้แผ่ซ่านไปทั้งร่างกาย ครั้งนี้หญิงสาวขอไม่หลีกหนี หากแต่กอดเก็บความโศกเศร้าไว้ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง

เพราะแท้จริงแล้ว ความเศร้าคือพลังงดงาม ช่วยเปิดโอกาสให้เธอได้ครุ่นคิดถึงช่วงชีวิตที่ผันผ่าน เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยจิตใจที่มั่นคง เปรียบคล้ายช่วงเวลาอึมครึมในวันฝนตก ที่กลับทำให้เธอพบความสุขไปกับแสงแดดของวันที่ฟ้าสดใสได้มากกว่าที่เคย และแน่นอนว่า กว่าท้องฟ้าจะสดใสในวันที่แสนขมุกขมัว หากความเศร้าปล่อยให้ตัวเองทิ้งดิ่งไปมากกว่า เธออาจจะเดินทางไปไกลจนกลายเป็นนางสาวซึมเศร้าไปในที่สุด

 

ความเศร้าบางอย่างก็คือ
ผลลัพท์ที่ดีของเมื่อวาน

พญ. พาพร เลาหวิรภาพ

 

EMOTIONAL JOURNEY

โชคดีที่เด็กหญิงความเศร้าไม่ดำดิ่งสู่เส้นทางของภาวะซึมเศร้า จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า แต่มีคนอีกจำนวนไม่น้อยในโลกที่ปล่อยให้ความเศร้ากัดกินและทับถมความรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ท้ายที่สุดก็หลุดออกมาจากความเศร้านั้นไม่ได้ และนั่นเป็นสัญญาณของการเดินทางสู่ภาวะซึมเศร้าที่เริ่มต้นขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด แม้กระทั่งตัวคุณเอง

“ตอนนั้นผมตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยมาก บ่อยจนมองว่าชีวิตนี้คือทุกข์ และภายในวินาทีหนึ่ง วินาทีเดียวเท่านั้น ผมคิดว่า ผมเป็นโรคซึมเศร้า” ‘กอล์ฟ’ – นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ผู้ที่เคยวนเวียนอยู่บนถนนแห่งโรคซึมเศร้า ได้เล่าถึงสิ่งที่เกินปกติจุดแรกให้ฟัง พร้อมขยายสิ่งที่เกิดจากความเศร้ากลายเป็นภาวะซึมเศร้า

ด้วยอาการที่เขาสังเกตด้วยตัวเองว่า “มันมาจากอาการ ‘เบื่อ’ เบื่อทุกอย่าง เบื่อข้าว ไม่อยากกิน จนน้ำหนักลดไป 10 กิโล เบื่อหน้าตัวเองที่เห็นในกระจกแล้วรู้สึกว่าไร้คุณค่า เบื่ออาชีพของตัวเอง ไม่ต้องการที่จะเรียนรู้อะไรอีก ไม่อยากแต่งตัว ไม่อยากทำงาน ไม่อยากเจอเพื่อน ไม่อยากเข้าสังคม ไม่อยากทำอะไรเลย นอนไม่ค่อยจะหลับ แถมยังตื่นเช้า และก็มาจบที่ไม่เชื่อในความเชื่อของตัวเอง ซ้ำยังรู้สึกว่ากินข้าวก็ทุกข์ ทุกข์แบบตกเหว แต่ไม่มีความคิดที่อยากจะฆ่าตัวตาย

เพราะผมในความคิดของผมคือมันเลยจุดตายในตอนนั้นไปแล้ว ว่าหากตายก็ต้องเกิดใหม่ และทุกข์ใหม่อีก มันย้ำและชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แน่ละ สุดท้ายคือ ไม่ไหวก็ต้องไปหาหมอ” การเดินทางของความเศร้ามาถึงจุดสูงสุด เราจะสังเกตได้อย่างไรว่า อารมณ์ ความคิด และการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิมจนเป็นความผิดปกตินั้น แพทย์หญิงพาพร เลาหวิรภาพ จิตแพทย์ ให้หลักการไว้ว่า

 

 

“หลักการสั้นๆ ง่ายๆ สำหรับคนทั่วไปคือ อาการนั้นเป็น ‘หนัก’ และ ‘อยู่นาน’ กว่าที่คนส่วนใหญ่เป็นกัน และไม่ดีขึ้นตามลำดับแม้เวลาจะผ่านไปนานพอสมควร จนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในแง่ความสุขของตัวเอง หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ หรือความสัมพันธ์ เช่น กินไม่ได้นอนไม่หลับในอาทิตย์แรกหลังอกหัก คงถือว่าเป็นปฏิกิริยาปกติที่เข้าใจได้ แต่หากผ่านไปแล้ว 3 เดือน 6 เดือน อาการยังไม่ดีขึ้น หรือหนักกว่าเดิม แบบนี้ก็คงจะไม่ใช่เรื่องปกติแล้ว

“อีกอย่าง โรคซึมเศร้าเองก็มีหลายแบบ บางชนิดไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง นานเป็น 5 ปี 10 ปี จนทำให้บางคนแยกไม่ออกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออาการของโรค อาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องปกติของคนที่ต้องเจอปัญหาชีวิต ซึ่งในการตรวจสภาพจิต จิตแพทย์ก็มักจะเห็น ‘ภาษากาย’ ที่บ่งบอกความไม่ปกติของจิตใจ เช่น การนั่งตัวเกร็ง บีบมือ รวมไปถึงสีหน้า แววตา วิธีการพูด เป็นต้น ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสังเกตว่า อารมณ์ ความคิดของตัวเองไม่เหมือนเดิม หรือมีปัญหาที่คิดไม่ตกเสียที ก็อยากให้มาคุยกับจิตแพทย์นะ” คุณหมอพาพรยืนยัน

 

 

REAL-LIFE EXPERIENCE

แอนิเมชัน Inside Out ได้ถ่ายทอดบทเรียนจากอารมณ์ที่เห็นได้อย่างน่ารักและเต็มไปด้วยแง่คิดดีๆ ส่วนเรื่องราวชีวิตจริงของใครสักคนนั้น หากไม่ใช่คนชิดใกล้ อาจจะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้บทเรียนราคาแพงชิ้นนี้ ดังนั้น คุณหมอพาพรจึงได้นำเรื่องราวของหญิงสาววัยทำงานผู้ที่เก่งรอบด้านและมีบุคลิกภาพที่ดีคนหนึ่งมาแบ่งปันเรื่องราวให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

“เพราะผิดหวังจากความสัมพันธ์อย่างรุนแรง เธอเริ่มนอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิทำงาน และร้องไห้บ่อยจนผิดปกติ เมื่อเธอมาพบหมอ สิ่งที่น่าตกใจคือ ทุกครั้งที่ผิดหวังอย่างท่วมท้น เธอเลือกการ-กรีดแขนตัวเอง โดยทุกครั้งที่กรีด เธอกลับเล่าให้หมอฟังด้วยสีหน้าเรียบเฉยเหมือนการกรีดแขนเป็นเรื่องปกติ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า เธอไม่สามารถรับรู้อารมณ์ของตัวเองได้ ไม่ว่าจะอารมณ์โกรธ เสียใจ หรือความเจ็บปวด”

“หมอใช้วิธีให้เธอละทิ้งคัตเตอร์นั้นด้วยตัวเอง โดยให้เธอจดบันทึก เพื่อให้เรียนรู้ว่าในแต่ละวันนั้นเธอคิดอะไร รู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์นั้นๆ เมื่อเธอเริ่มรู้ตัว มีสติ และกลับมาดูแลร่างกายและจิตใจตัวเองมากขึ้น ถึงตอนนี้เธอไม่กรีดแขนอีกต่อไปแล้ว และที่สำคัญ เธอรู้ทันอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น หมอเองก็หวังว่าเธอจะหายและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป”

 

 

WHEN LISTENING IS THE BEST MEDICINE

หลังจากที่เดินทางบนเส้นทางแห่งความเศร้ามายาวนาน ถึงเวลาพักร่างกายและจิตใจด้วยการรักษาอย่างถูกวิธี กอล์ฟได้เล่าให้ฟังถึงวิธีการรักษาทั้งด้วยแพทย์และการรักษาที่เกิดจากตัวของเขาเองไว้ว่า “เริ่มด้วยการกินยาปรับสมดุลสารในสมองและเจริญสติ นั่นคือต้องรู้ทันการกระทำของตัวเองอยู่ตลอดเป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นค่อยๆ ลดยา และไต่ระดับลงมาจนหายอย่างในปัจจุบัน” คุณหมอพาพรได้อธิบายภาพรวมของการรักษาว่า

“การรักษาแบ่งออกเป็นสองระยะ ระยะแรกคือ ตั้งแต่เริ่มรักษาไปจนถึงจุดที่กลับเป็นปกติ คือไม่มีอาการ ระยะที่สองคือ ระยะป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างคงที่จริงๆ โดยช่วงแรกจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ส่วนช่วงป้องกันอยู่ที่ประมาณ 6 เดือนเป็นอย่างน้อย การรักษาจะใช้ทั้งยาและจิตบำบัด ซึ่งมีหลายเทคนิค ซึ่งระยะเวลาในการรักษาของแต่ละคนก็จะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค จำนวนครั้งที่เคยมีอาการ สถานการณ์ชีวิตที่เจอ และบริบทอื่นของชีวิตด้วย จิตแพทย์จะประเมินและให้การรักษาที่เหมาะสมที่สุดแก่แต่ละบุคคล”

นอกจากแนวทางการรักษาทางการแพทย์แล้ว คุณหมอยังแนะนำไปยังคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนซึ่งเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่จะเยียวยาและรักษาได้ คือการเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังอย่างเป็นกลาง และไม่ตัดสิน พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างด้วยความเข้าใจและเต็มใจ แม้ในหลายๆ ครั้งจะช่วยแก้ปัญหาที่เจอไม่ได้ แต่เชื่อเถอะว่าเขารับรู้ถึงความตั้งใจที่จะช่วยเหลือนั้นได้ และพร้อมจะขอบคุณคุณเสมอที่ไม่เคยทิ้งและอยู่ข้างกันในช่วงเวลาแย่ๆ ที่ผ่านไปอย่างเนิบช้า ให้รู้สึกเดินเร็วขึ้นกว่าเดิม

 

 

TURN SORROW INTO STRENGTH

มาถึงตรงนี้ คุณอาจมีคำถามผุดขึ้นว่า หรือจริงๆ แล้วเราทุกคนมีภาวะซึมเศร้าเป็นของตัวเองอยู่แล้ว เพียงว่าจะมากน้อยแค่ไหน มีเพียงตัวเราเท่านั้นที่รู้จักมันดี และมีเพียงตัวเราที่หยิบอารมณ์ซึมเศร้าขึ้นมาแล้วเปลี่ยนเป็นพลังได้อย่างไร เชื่อว่าทุกคนมีคำตอบ แต่หากยังไม่แน่ใจ
เรามีเรื่องราวดีๆ จากงานเสวนา ‘เราต่างมีภาวะซึมเศร้าในตัวเอง’ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2560 ณ สถาบันวัชรสิทธา

เริ่มด้วยคำของ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช พระทิเบต และผู้เขียนหนังสือธรรมะอันโด่งดัง Joy of Living ได้กล่าวว่า “ซึมเศร้าเป็นสภาวะจิตที่ไม่น่าพึงใจ ที่ทำให้เธอรู้สึกว่าชีวิตไม่มีทางออก แต่ด้านในมีพลังบางอย่างที่มีคำตอบทุกชนิดอยู่ แค่เพียงแอบซ่อน และฉันคิดว่าภาวะซึมเศร้าเป็นหนึ่งในพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นพลังงานที่ตื่นรู้อย่างยิ่งยวด แม้เธอจะรู้สึกง่วงๆ ก็ตาม”

“ผมเข้าใจแล้วว่า ภาวะซึมเศร้าทรงพลังได้อย่างไร? ‘พ่อหมอ Spokedark’ – ณัฐพงศ์ เทียนดี กลับพบคำตอบ แม้ความคิดวูบแรกเขาจะต่อต้านก็ตาม ท้ายสุดเขาก็เข้าใจ และเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า “ผมขอเปรียบเทียบโรคซึมเศร้าว่าเหมือน ‘หลุมทรายดูด’ ที่จะดูดกลืนชีวิตของเราให้ดำดิ่งลงไป หมดเรี่ยวแรงและกำลังใจจะทำอะไร การถูกทรายดูดตลอดเวลาทำให้เราได้ฝึกฝนกล้ามเนื้อจิตใจของเราให้แข็งแกร่ง เพื่อจะเดินหนีจากหลุมทรายดูด คนซึมเศร้าจะมีความคิดวนเวียนอยู่กับเรื่องแย่ๆ ตลอดเวลา แต่จะมีบางจังหวะที่เราหยุดและมีสมาธิ มีสติขึ้นมาได้ มันทำให้เราได้ฝึกความคิดตัวเอง และในจังหวะนั้นเราจะมีกำลังวังชาและลุกขึ้นมาจากหลุมทรายดูดได้”

 

 

TAKE IT FOR GRANTED

“อย่างน้อยในความเศร้า ก็ทำให้เรารู้ว่า ก่อนหน้านี้เรามีความทรงจำที่ดีและมีความสุขกับสิ่งนั้นมาก่อน หากเราไม่มีความรู้สึกดีๆ ตรงนั้น เราคงไม่เศร้า หากจะมีน้ำตา ก็มาจากความคิดถึง ดีใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นน้ำตาอาจไม่ได้เกิดจากความ-เศร้าเสียใจเพียงอย่างเดียว บางครั้งองค์ประกอบที่สำคัญก็คือความคิดถึง” คุณหมอพาพรเอ่ยด้วยน้ำเสียงที่ทำให้ใจชื้นขึ้น พร้อมกล่าวต่อว่า

“อารมณ์เศร้ามันบอกเราว่า โลกก็เป็นแบบนี้แหละ มีสมหวังและผิดหวัง เป็นธรรมดาของชีวิต เห็นถึงส่วนที่ควบคุมไม่ได้ เมื่อควบคุมไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปยึดมั่นถือมั่น สุขก็ยิ้ม เศร้าก็ร้องไห้แล้วก็รับรู้ว่าเรามีความรู้สึกนั้น ไม่ยินดีไปกับความสุขจนมากมาย หรือยินร้ายกับความทุกข์จนทรมาน ทำให้ใจเราอยู่กลางๆ ได้”

ส่วนทาง ปวเรศ วงศ์เพชรขาว หนึ่งในผู้ก่อตั้งบล็อก Moodytwenties เล่าประสบการณ์ตรงผ่านงานเสวนาข้างต้นว่า โรคซึมเศร้าทำให้เขากลายเป็นคนรอบคอบ ทำอะไรอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพราะเขาพยายามแยกแยะตลอดว่า ปัญหาที่เกิดมาจากความผิดพลาดจริงๆ หรือมาจากโรคซึมเศร้าที่เป็นอยู่ เมื่อแยกได้ก็ทำงานต่อได้ และยังรอบคอบขึ้นนั่นเอง

ไม่ต่างจาก จอมเทียน จันสมรัก นักเขียนผู้เป็นโรคซึมเศร้า ได้บอกถึงสิ่งที่ได้รับจากอาการป่วยว่าในงานเสวนาไว้ว่า “คนป่วยโรคนี้จะครุ่นคิดตลอดเวลา คิดแล้วไม่ฆ่าตัวตาย นั่นแปลว่าเขากำลังตั้งคำถามไปหมดทุกเรื่อง และถามตัวเอง ซึ่งเขาอาจจะค้นพบคำตอบสำหรับตัวเองแล้วว่า มีชีวิตอยู่ต่อเพื่ออะไร” ในขณะที่เราสัมภาษณ์กอล์ฟ และถามออกไปว่าเขามีชีวิตต่อเพื่ออะไร เขาตอบทันทีว่า “เพราะสิ่งที่ทำให้ผมเป็นโรคซึมเศร้าคือ การยึดมั่นถือมั่น ผมกระหายความสำเร็จจากองค์กรมากเสียจนลืมความสุขง่ายๆ วินาทีนั้น ผมรู้แล้วว่า ผมมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อเป้าหมายของชีวิต นั่นคือการเป็นพ่อที่ดีที่สุดของลูก”

คุณหมอพาพรได้ชี้ให้เห็นถึง ‘จุดเปลี่ยน’ บางอย่างที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าว่า “โรคซึมเศร้าจะทำให้คนคนนั้นได้ทบทวนตัวเอง สังเกตความคิด ความรู้สึก ซึ่งต้องอาศัยการมีสติ ผลลัพธ์ของการรู้จักจิตใจตัวเองนี้ทำให้เขาจัดการชีวิตตัวเองได้ดีขึ้น ใส่ใจในสิ่งสำคัญ และละวางในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เมื่อโรคนี้หาย เขาจะได้สิ่งที่มีค่ากลับมา คือชีวิตสมดุลมากขึ้น เพราะมีทักษะที่จะจัดการกับโลกภายนอกและโลกภายในได้ดีขึ้นนั่นเอง”

เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ซึมเศร้าคงไม่ต้องรอให้ความเศร้ามาสาดพลังงานลบใส่ ถึงจะเข้าใจการใช้ชีวิต แต่ขอให้ความเศร้าเล็กๆ เปลี่ยนเป็นพลังงานด้านบวกที่ยิ่งใหญ่ เป็นพลังดีๆ ที่จะอยู่ในใจของเราได้ตลอดไป