รสชาติและกลิ่นหอมของกาแฟอุ่นๆ ตอนเช้า ช่วยปลุกชีวิตที่หลับใหลให้สดชื่นและมีพลัง นั่นคือเสน่ห์ของกาแฟที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้ รวมทั้งไปถึงผู้ปลูกกาแฟเอง ที่ปลุกชีวิตจากเดิมให้กลายเป็นชีวิตใหม่ที่มีคุณค่าต่อตัวเอง ส่งผลประโยชน์ต่อผืนป่า และเกิดมูลค่าต่อชุมชนจนกลายเป็นโมเดลเล็กๆ ซ่อนตัวอยู่ในป่า ที่รอเวลาให้คนพื้นล่างได้ทำความรู้จักมากขึ้น ทั้งกาแฟดีมีคุณภาพอย่าง ‘กาแฟทีลอซู’ และผู้ปลูกกาแฟรักษาป่าอย่าง ‘ซ้ง’ – ณรงค์ศักดิ์ มาลีศรีโสภา
“
จำได้ว่าวันที่มูลนิธิฯ มาพูดเรื่องการปลูกกาแฟรักษาป่า มีคนสนใจไม่ถึงสิบคน แต่ตอนนี้มีคนเห็นด้วยและหันมาปลูกกาแฟแล้วตั้ง 50 ครอบครัว
”
กาแฟสืบฯ
ทันทีที่เรามาด้านในมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กลิ่นอายกาแฟจางๆ ทำให้เราผ่อนคลาย เสียงทักทายของเจ้าหน้าที่ที่อยู่หลังเคาน์เตอร์ก็ทำให้ยิ้มออก เรายืนมองรายการเมนูกาแฟบนกระดานด้านบน ก่อนที่จะสั่งอเมริกาโน่เย็นตามคุ้นเคย แล้วถอยออกมานั่งคอยกาแฟแก้วนั้น พลางมองไปรอบๆ พื้นที่ชั้นหนึ่งของมูลนิธิฯ รวมทั้งโซนเคาน์เตอร์กาแฟ ซึ่งตกแต่งพื้นที่ด้านในสไตล์ลอฟท์ เน้นความเรียบง่ายและดูแข็งแกร่ง
มีโซนจำหน่ายสินค้าที่ระลึกเพื่อร่วมสมทบทุนของมูลนิธิฯ อาทิ กระเป๋าผ้าแคนวาสสีสันสดใส เสื้อยืดภาพถ่ายคุณสืบ รูปเสือดำ หรือแม้กระทั่งหมวกปีกสีเข้ม พลางทำให้คิดย้อนกลับไปในสมัยเรียนที่ค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า จนได้รู้จักเรื่องราวของ สืบ นาคะเสถียร
เราดำดิ่งลงไปถึงเรื่องราวในอดีตเพียงครู่ กาแฟเย็นแก้วโตก็มาเสิร์ฟตรงหน้า ดื่มผ่านหลอดคำแรกก็รู้สึกสดชื่นด้วยรสเปรี้ยวนำตามด้วยขมอ่อนๆ ของกาแฟอาราปิก้า กลิ่นหอมๆ ชวนให้ชิมอึกต่อไปได้เรื่อยๆ จนเกือบจะหมดแก้ว แต่สายตาก็เหลือบไปเห็นหน้าซองกาแฟสีดำเข้ม ‘TEELOR-SU COFFEE’ กาแฟรักษาป่าต้นน้ำ นั่นทำให้เราสนใจว่า กาแฟที่เราดื่มเมื่อครู่นั้นคือกาแฟมาจากที่ไหน และเราก็เจอคำตอบ
ต้นกล้ากาแฟ
‘ซ้ง’ – ณรงค์ศักดิ์ มาลีศรีโสภา
รสชาติและกลิ่นหอมของกาแฟอุ่นๆ ตอนเช้า ช่วยปลุกชีวิตที่หลับใหลให้สดชื่นและมีพลัง นั่นคือเสน่ห์ของกาแฟที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้ รวมถึง ‘กาแฟทีลอซู’ กาแฟรักษาป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากหมู่บ้านแม่กลองน้อย ตำบลโมโกล อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก นำโดยเกษตรกรหนุ่มแกนนำพลิกฟื้นชุมชนให้หันมาปลูกกาแฟเพื่อรักษาป่าต้นน้ำ อย่าง ‘ซ้ง’ – ณรงค์ศักดิ์ มาลีศรีโสภา
ซ้งเป็นชาวเขาเผ่าม้งที่มีโอกาสได้เรียนจนจบปริญญาด้านวิชาการเกษตรที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตอนนั้นเขานำความรู้ที่ร่ำเรียนมาพัฒนาการเกษตรที่บ้าน โดยเฉพาะการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อเป็นรายได้ของครอบครัว เช่น การปลูกกะหล่ำปลี ให้ได้ปริมาณมากขึ้น และไม่โดนพ่อค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบ แต่ทว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และตอนนั้นเขาเองก็เริ่มพบกับทางตัน
ท่ามกลางความงุนงงและไม่แน่ใจ เขาได้คุยกับเพื่อนที่ทำงานอยู่ในมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่มาจัดเวทีเรื่องการรักษาป่าที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน และก็ได้แนวคิดเรื่องชุมชน วิถีชีวิต เป็นมิตรกับผืนป่า ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่มุ่งส่งเสริมชุมชนให้อยู่ดีมีสุขพอสมควร ตามอัตภาพ และตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและผืนป่า นั่นทำให้ซ้งเจอทางรอดที่เป็นทางเลือก อย่างการปลูกกาแฟด้วยแนวคิดรักษาป่าภายในหมู่บ้าน ซึ่งเดิมทีเคยปลูกกันอยู่แล้ว แต่ก็ห่างหายไปเพราะไม่เกิดผลกำไร
เก็บผลและตากเมล็ดกาแฟ
TEELOR-SU COFFEE
เขาเรียนรู้วิชากาแฟกว่า 3 ปี จนทะลุปรุโปร่ง เริ่มปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ ไร้สารเคมี ดูแลผืนป่าบริเวณรอบๆ พื้นที่ของตน ซึ่งเขาเล่าว่า
“จำได้ว่าวันที่มูลนิธิฯ มาพูด มีคนสนใจไม่ถึงสิบคน แต่ตอนนี้มีคนเห็นด้วยตั้ง 50 ครอบครัวแล้ว”
นั่นแสดงให้เห็นว่าโมเดลการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนกับป่าด้วยการปลูกกาแฟเป็นไปในทิศทางที่ดี นอกจากคนพื้นล่างจะได้กินกาแฟที่ดีมีคุณภาพแล้ว เขาและชาวบ้านก็มีรายได้เสริม และยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยรักษาผืนป่าต้นน้ำ ให้คนกลางน้ำ และปลายน้ำ ได้มีน้ำที่ดีใช้กันต่อไป
เรื่องราวของซ้งให้ความรู้สึกที่ดี ดีดั่งรสชาติกาแฟดริปแบบซองสำเร็จรูปในมือของเราเวลานี้ และต้องใช้เวลากว่าจะพบกับทางออกที่ดีต่อตัวเองและสิ่งแวดล้อม เหมือนกันการรอคอยหยดน้ำกาแฟที่ค่อยๆ ไหลผ่านเมล็ดกาแฟคั่วบดในซองบางๆ ก่อนที่กลิ่นหอมของกาแฟจะลอยฟุ้ง แล้วกาแฟสีน้ำตาลอ่อนๆ ค่อยๆ หยดจนเกือบเต็มแก้ว รอให้คลายร้อนสักนิด แล้วจิบชิมอย่างใจเย็น
รสชาติกาแฟอาราปิก้าที่เปรี้ยวจางๆ นำหน้า ตามด้วยความขมที่เป็นเอกลักษณ์ แต่กลับให้ความรู้สึกถึงพลังและวันใหม่ อาจจะเป็นเพราะเรื่องราวที่ได้รับรู้ ผสานไปกับกาแฟดีมีคุณภาพที่เหล่าเกษตรกรจากในป่า พยายามปลูกด้วยความตั้งใจ พร้อมใส่ใจในทุกๆ กระบวนการเพื่อให้ทุกคนได้ดื่มด่ำไปกับเรื่องราวและรสชาติที่เป็นมาตรฐาน
รอเมล็ดกาแฟแห้ง
จากนั้นจึงนำเมล็ดกาแฟไปสี
กาแฟกะลา
JOMPA COFFEE HOUSE
ซ้งและชาวบ้านไม่เพียงแค่ปลูกเพื่อจำหน่ายเมล็ดอย่างเดียว แต่พวกเขาทำทุกกระบวนการ ตั้งแต่เก็บผลผลิต ทำความสะอาด คั่ว บด จัดเก็บและจำหน่าย ท้ายสุดร่วมกับมูลนิธิฯ เปิดเป็นร้านจอมป่า คอฟฟี่ เฮ้าส์แห่งนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงปลายทางของการปลูกกาแฟรักษาป่าต้นน้ำว่าจะสร้างชีวิตให้ชาวบ้านและผืนป่าได้อย่างแน่นอน
และนี่คือเรื่องราวจากผืนป่าสู่แก้วกาแฟ ยิ่งเราได้รับรู้เรื่องราวต้นทางของกาแฟที่ดื่มมากเท่าไหร่ รสชาติที่อร่อยอยู่แล้ว กลับอร่อยยิ่งขึ้น แถมยังหอบเรื่องราวและกาแฟกลับบ้านด้วยกาแฟดริปแบบซองสำเร็จรูป ในราคาเพียง 59 บาทต่อ 2 ซอง เพื่อดื่มด่ำรสชาติกาแฟในยามเช้าถัดไป
ตำเมล็ดกาแฟ
นำเมล็ดกาแฟไปฝัด
เมล็ดกาแฟตามขั้นตอนต่างๆ
ดริฟกาแฟ
ขอขอบคุณข้อมูล : สาร์นสืบ เมษายน 2560
โดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ชิมกาแฟและซึมซับเรื่องราวต่อได้ที่ จอมป่า คอฟฟี่ ชั้น 1 สำนักงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เยื้องโลตัสแคราย เปิดทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ FB : JompaSaveForest