ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น | สดับเสียงลมหายใจจากคน 2 รุ่นบนดินแดนอาทิตย์อุทัย

ไต้ฝุ่นเชบีเดินทางถึงญี่ปุ่นก่อนเรา

ไม่กี่วันก่อนออกเดินทาง ข่าวตามสื่อต่างๆ เต็มไปด้วยภาพของความรุนแรงและความเสียหายอันเกิดจากพายุไต้ฝุ่นลูกนี้บนฝั่งคันไซ พร้อมข้อมูลที่ว่า ‘นี่เป็นไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี’ ด้วยความเร็วลมศูนย์กลางกว่า 162 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลให้ฝนตกหนักและมีลมกรรโชกแรงในหลายพื้นที่ มีการยกเลิกเที่ยวบินหลายร้อยเที่ยว บ้านเรือนเสียหาย รวมไปถึงน้ำท่วมจนทำให้สนามบินคันไซปิดชั่วคราว อิทธิพลความรุนแรงของพายุส่งผลกระทบมาที่เราซึ่งกำลังจะเดินทางในอีกไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์เข้าอย่างจัง

     หน้าจอไลน์กลุ่มมีข้อความส่งหากันไปมากับฝั่งญี่ปุ่นเพื่อเช็กสถานการณ์วันต่อวัน ยิ่งจำนวนวันลดลง เรายิ่งลุ้นหนักว่าจะมีโอกาสได้เดินทางหรือไม่

     “พายุขึ้นฝั่งภูมิภาคคันไซที่โอซาก้า ห่างจากโตเกียวประมาณ 500 กิโลเมตร และจะพัดลงทะเลไป ผลกระทบที่โตเกียวจึงมีแค่โอกาสที่จะเจอฝนเท่านั้น”

     ใครคนหนึ่งพูดถึงสถานการณ์ของจุดหมายที่เรากำลังจะเดินทางไปหา – โตเกียว

     คำพูดนั้นทำให้เราใจชื้นขึ้นมาพอสมควร แต่ก็ยังคงต้องเช็กความเคลื่อนไหวและเที่ยวบินจนกระทั่งถึงสองวันสุดท้ายก่อนเดินทาง – และในที่สุด มีข่าวดีแจ้งกลับมาว่า เรากำลังจะได้เดินทางไปญี่ปุ่นกันแน่นอน

 

ญี่ปุ่น

 

หลังม่านประตูบ้านญี่ปุ่น

     เรากับญี่ปุ่นคุ้นเคยกันในทางอ้อม จากทางหนังสือ ภาพยนตร์ และเรื่องเล่าขาน เพราะในชีวิตจริงนี่คือครั้งแรกที่เราจะได้เห็นญี่ปุ่นกับตาตัวเอง
ภาพบ้านเมืองของประเทศญี่ปุ่นในจินตนาการของเรานั้นผสมผสานจากสองส่วน คือจินตนาการของเราเอง กับจินตนาการจากคำบอกเล่าของผู้คนที่เคยไปเยือนและสื่อต่างๆ ที่นำเสนอ

     เรามองภาพเมืองญี่ปุ่นสวยงาม สะอาดสะอ้าน ตึกรามบ้านช่องเรียงเป็นระเบียบ ตรอกซอกซอยที่ซุกซ่อนร้านค้าเล็กๆ น่าเดินชม อาหารการกิน สภาพอากาศ แหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรมความละเอียดอ่อนที่สะท้อนจิตวิญญาณอันลึกซึ้ง หรือผู้คนที่มีระเบียบ เข้มงวด มีพื้นที่ส่วนตัวแต่ก็พร้อมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

     ภายใต้จินตนาการฟุ้งเฟ้อเพ้อฝันของเราที่มีต่อญี่ปุ่นและเสน่ห์ที่สะท้อนผ่านบ้านเมือง ตึกอาคารที่เป็นสัญลักษณ์ความเจริญก้าวหน้าของยุคสมัยไปจนถึงบ้านเก่าหรือสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ผสมผสานอยู่รวมกันอย่างกลมกลืน และใบหน้าอันเรียบเฉยของผู้คนนั้น เราอยากรู้ว่ามีเรื่องราวและจิตวิญญาณเช่นใดซ่อนอยู่

     เปรียบไปญี่ปุ่นก็เหมือนบ้านหลังเล็กหลังหนึ่ง ช่างสงบและดูเป็นระเบียบเหมือนที่เราเห็นในการ์ตูน 

     การจะรู้ได้ว่าเบื้องหลังประตูบานนั้นมีชีวิตเช่นใดดำเนินอยู่ ก็ต้องเริ่มจากการเคาะประตู

     ก๊อก ก๊อก

     ทะดะอิมะ – อยากพูดประโยคนี้บนแผ่นดินญี่ปุ่นมาตั้งนานแล้ว

 

ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่น

 

สดับเสียงลมหายใจแห่งจิตวิญญาณบนฟูจิซัง

     ย้อนเวลากลับไปช่วงก่อนที่จะมาญี่ปุ่น ใครหลายคนบอกเราว่าการจะได้เห็นฟูจินั้นต้องอาศัยโชคลางและดวงพอสมควร แม้ญี่ปุ่นจะไม่มีฤดูฝน แต่ช่วงที่เรามาเยือนอยู่ในช่วงเดือนที่มีฝนตกหรือฤดูไต้ฝุ่นพอดิบพอดี และหากย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะมาถึงเพียงสามชั่วโมง ความคาดหวังของเราถูกหักลบลงไปอีกเมื่อแรกมาถึงสนามบินนานาชาตินาริตะในช่วงเช้า มีกระแสข่าวว่าสภาพอากาศที่ฟูจิมีเมฆค่อนข้างมากทำให้อาจมีโอกาสที่จะไม่ได้เห็นยอดฟูจิ

     แต่ระหว่างที่รถบัสพาเราออกจากเมืองมุ่งหน้าสู่วนอุทยานฮาโกเน่และทะเลสาบคาวางุจิ อันเป็นประตูสู่สถานที่ที่รวบรวมจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นอย่างฟูจิ และค่อยๆ ลัดเลาะตามเส้นทางที่สองข้างเต็มไปด้วยต้นสนเขียวชอุ่มไต่ระดับขึ้นไปบนเชิงเขา สภาพอากาศที่เรามองเห็นผ่านริมหน้าต่างรถบัสคือท้องฟ้าที่แจ่มใส หัวใจเราเต้นระรัว เพราะนั่นหมายถึงว่าเราจะได้เห็นฟูจิแน่นอน !

     เมื่อรถมุ่งหน้าใกล้จุดถึงหมายที่ระดับชั้นห้าของฟูจิ ทิวต้นไม้เริ่มเปิดช่องให้เราแหงนมองเห็นส่วนยอดของปลายภูเขาที่เราฝันถึง

     นั่นไง – ฟูจิซัง ที่เราเคยได้แค่ชื่นชมในจินตนาการ บัดนี้เขาปรากฏต่อหน้าเราแล้ว

 

ญี่ปุ่น

 

     ภาพตรงหน้าที่เห็น เราไม่แน่ใจว่าจะบรรยายความรู้สึกอันลึกซึ้งที่มีอย่างไรถึงจะสาแก่ใจ เรานั่งเกาะหน้าต่างมองจ้องประสานสายตากับฟูจิซังอยู่เป็นเวลานาน ฟูจิซังในวันนี้ที่เราเห็นแปลกตาเล็กน้อย เพราะส่วนยอดที่เรามักเห็นหิมะปกคลุมอยู่เป็นเอกลักษณ์ผ่านสื่อต่างๆ ในวันนี้มีแต่ยอดโล่งๆ ซึ่งก็ให้ความรู้สึกสดชื่นไปอีกแบบ

     พี่สาวคนนำทางเรียกให้เราละสายตาจากฟูจิครู่หนึ่ง เธอบอกว่าระหว่างเส้นทางขึ้นสู่ฟูจิซังชั้นห้าจะผ่านถนนเส้นที่เรียกว่า Subaru Line หรือ ถนนแห่งเสียงดนตรี (Melody Road) ซึ่งจะมีเสียงเพลงที่ชื่อว่า Subaru (แปลว่า กลุ่มดาวลูกไก่) ดังขึ้นมาจากถนน สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากการที่ลมจากช่องแคบปะทะกับแรงเสียดทานของรถที่ขับผ่าน

     เราเงียบ เงี่ยหูรอฟัง – แต่ไม่ได้ยินเสียงใดๆ จนกระทั่งผ่านถนนเส้นนั้นไป

     “สงสัยฟูจิซังอยากให้มาอีกรอบแล้วถึงจะให้ได้ยิน” เธอพูดขึ้น แล้วเราก็หัวเราะกัน

     คนญี่ปุ่นเชื่อว่าตนคือลูกของพระอาทิตย์และลม ดังนั้นการที่สักครั้งหนึ่งในชีวิตจะสามารถเข้าใกล้เทพเจ้าที่เป็นดั่งพ่อให้ได้มากที่สุดก็คือการขึ้นไปบนยอดฟูจินั่นเอง

     “ส่วนใหญ่คนจะนิยมขึ้นไปค้าง และตั้งแคมป์ ร้องเพลง เล่นกีตาร์ ดูพระอาทิตย์ตกตอนเย็น เช้ามาก็ดูพระอาทิตย์ขึ้น แล้วก็ลงมา คนญี่ปุ่นเชื่อว่าในชีวิตสักครั้งหนึ่งต้องมาพบพ่อของตนเองให้ได้” พี่สาวคนนำทางเล่าให้เราฟัง

     นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาฟูจิซังมักจะหยุดอยู่ที่ชั้นห้าซึ่งจะมีลานเตรียมตัวให้เดินเท้าขึ้นไปต่อถึงชั้นสิบที่ต้องใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง ที่สำคัญบนชั้นห้านี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของฟูจิซังได้ชัด รวมไปถึงความสูงที่อยู่จากระดับน้ำทะเลขึ้นมา 2,305 เมตร ทำให้สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของทะเลสาบทั้ง 5 ที่ล้อมภูเขาไฟฟูจิ, เซาธ์แอลป์ (South Alps), เมืองยาซึกะทาเคะ (Yatsugatake) และภูเขาชิชิบุ (Chichibu) ได้

 

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น

 

     เมื่อมาถึงที่ชั้นห้า เราต้องกระชับเสื้อคลุมให้แน่นขึ้น อากาศบนชั้นนี้แม้ท้องฟ้าจะเปิดโล่งรับแสงแดดแต่ก็ค่อนข้างเย็นเยียบ แถมยังมีลมเย็นแห้งๆ พัดผ่านสม่ำเสมอ เราสังเกตเห็นนักท่องเที่ยวหลายคนหยิบเสื้อโค้ตออกมาคลุมทับร่างกายกัน – พลาดแล้วที่ไม่ได้เตรียมเสื้อโค้ตมา เรานึกในใจ

     ที่ชั้นห้านี้มีสถานที่น่าสนใจอยู่ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าของที่ระลึก หรือศาลเจ้าโคมิตาเคะ ของศาสนาลัทธิชินโต ซึ่งเป็นที่สักการะบูชาและอธิฐานขอพรของผู้มาเยือน อีกทั้งยังเป็นที่สำหรับบวงสรวงท่านเทนกุ ตำนานเล่าว่าบริเวณโดยรอบของฟูจิซังชั้นห้านี้ถูกเรียกว่า “เทนกุ โนะ นิวะ” หรือ “สวนของท่านเทนกุ” ซึ่งเป็นปีศาจที่มีจมูกแดงยื่นออกมา โดยมีความเชื่อว่าที่นี่มีท่านเทนกุปกครองอยู่นั่นเอง

 

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น

 

     เราใช้เวลาชื่นชมบรรยากาศบนชั้นนี้อยู่พักใหญ่ ผู้คนยังคงคึกคัก อากาศยังคงเย็นเยียบ เราสูดอากาศเต็มปอด จ้องมองยอดฟูจิซังที่อยู่ใกล้ราวกับจะยื่นมือไปสัมผัสได้ครู่หนึ่ง ก่อนจะได้เวลาบอกลาฟูจิซัง สถานที่อันรวบรวมจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นไว้เบื้องหลัง

 

ญี่ปุ่น

 

     ระหว่างเส้นทางลงเขา เราสงสัยว่าคนญี่ปุ่นใช้วิธีใดในการวัดระดับความสูงแต่ละชั้น พี่สาวคนนำทางเฉลยให้ฟังว่าคนสมัยก่อนจะใช้ตะเกียงเจ้าพายุหรือคบเพลิงเติมน้ำมันให้เต็มแล้วจุด ก่อนออกเดินไปเรื่อยๆ พอไฟในตะเกียงดับก็นับเป็นหนึ่งชั้น จากนั้นก็เติมน้ำมัน จุดไฟ แล้วเดินต่อไปอีกเรื่อยๆ พอดับอีกก็นับเป็นชั้นที่สอง จนกระทั่งถึงชั้นสิบที่เป็นจุดสูงสุด

     “คนญี่ปุ่นเป็นคนเดินไว เพราะฉะนั้นใช้แค่สิบคบเพลิงก็ถึงยอดแล้ว” พี่สาวคนนำทางพูดพร้อมรอยยิ้มที่สดใสพอๆ กับท้องฟ้าบนยอดเขาฟูจิในวันนี้

 

ญี่ปุ่น

 

     ก่อนเข้าสู่โตเกียว เราต้องเดินทางจากยามานาชิผ่านเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน ที่นี่ส่วนใหญ่จะปลูกข้าว และขายสินค้าการเกษตรของตนเองกันเป็นเขต จะไม่มีการขายข้ามเขตกัน เช่น เขตเอก็จะกันไว้ขายให้เขตเอ เขตบีก็จะกันไว้ขายให้เขตบี เพราะคนญี่ปุ่นเชื่อว่าข้าวของเขตตนเองก็จะมีความอร่อยของตนเอง ในเขตต่างๆ ก็จะมีตลาดเช้าท้องถิ่น สำหรับชาวบ้านที่นำผลิตผลพืชผักตามท้องถิ่นมาขาย ซึ่งราคาก็จะถูกคุมโดยกรมเกษตรญี่ปุ่น หรือ Japan Agriculture

     ผัก ผลไม้ ที่นี่มีราคาสูง นั่นเป็นเพราะคุณภาพและความใส่ใจในการปลูกของชาวญี่ปุ่นในเมืองเชิงหุบเขา รวมไปถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐ หากเรามีที่ดินแต่ไม่รู้จะปลูกอะไร เราสามารถโทรศัพท์ไปที่อำเภอเพื่อขอคำปรึกษาได้ ทางอำเภอจะส่งกลุ่มเกษตรมาตรวจสอบและเก็บดินของเราไปเข้าแล็บวิจัย เพื่อศึกษาว่าที่ดินเรามีแร่ธาตุอะไรที่เหมาะจะปลูกพืชพันธุ์หรือผลไม้ชนิดไหน หลังจากนั้นกรมเกษตรก็จะแวะมาที่บ้านเพื่อนำเมล็ดพันธุ์ตัวอย่างมาให้ หากเราสนใจ ทางกรมฯ ก็จะแนะนำวิธีการปลูก วิธีการเลี้ยง และวิธีการดูแลให้ และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ทางกรมฯ ก็จะมาเก็บเกี่ยวให้เรา เรามีหน้าที่ขาย แล้วหักเป็นเปอร์เซ็นต์ให้ทางกรมฯ เท่านั้น

     “ที่นี่รับประกันว่าถ้าไปเด็ดผักมาจากต้นแบบสดๆ เช่น แตงกวา มะเขือเทศ แล้วลองกัดเลย จะมีรสชาติความหอม ความหวานฉ่ำเต็มๆ คำ” พี่สาวคนนำทางสรุป

 

ญี่ปุ่น

 

พื้นที่แห่งลมหายใจของคนรุ่นใหม่ใจกลางมหานคร

     ราวกับญี่ปุ่นอยากเซอร์ไพรส์คนที่มาเยือนครั้งแรกอย่างเรา

     อุณหภูมิอากาศในเมืองโตเกียวเมื่อวันแรกที่ค่อนข้างร้อนก็ลดลงจนกลายเป็นอากาศเย็นสบายในชั่วข้ามคืน ฟ้ายังคงปลอดโปร่งเห็นสีครามของท้องฟ้าชัดเจน ถ้าพูดให้เกินเลยอีกนิด เราได้กลิ่นของต้นแปะก๊วยเจือจางอยู่ในอากาศและลมที่พัดมาสัมผัสร่างกายแผ่วเบา อีกไม่นานมันคงกลายเป็นสีเหลืองอร่ามและร่วงลงสู่พื้น ที่โตเกียวปลูกแปะก๊วยไว้รอบเมืองเพราะผู้คนเชื่อว่าสามารถกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในเมืองได้ – แต่เราก็เข้ามาแล้วนี่ไง เรานึกขันในใจ

     “แค่คืนเดียวฤดูใบไม้ร่วงก็มาสะกิดแล้ว” พี่สาวคนนำทางพูด

     ญี่ปุ่นเป็นดินแดนแห่งนวัตกรรมและความทันสมัยที่แม้จะก้าวเดินไปข้างหน้าไม่หยุด แต่ทว่าก็ยังมีพื้นที่อ้าแขนโอบรับวัฒนธรรมความเชื่ออันเก่าแก่และสวยงามอยู่เสมอ

ญี่ปุ่น

 

     ถนนซอกซอยในโตเกียวขึ้นชื่อว่าสะอาด สวยงาม เหมาะแก่การเดินเล่นถ่ายรูปหรือหาที่นั่งพักผ่อน วันนี้เรามาเยือน Daikanyama T-site ย่านไดคังยามะ ที่เปรียบเสมือน Third place ของชาวโตเกียว เพราะมีพื้นที่กว้างขวาง สะอาด สงบ ร่มรื่น โล่งสบาย และมีร้านค้า คาเฟ่ ร้านอาหาร เวิร์กช็อปดีๆ ให้เลือกใช้บริการ แม้จะเป็นวันธรรมดา แต่เรายังเห็นวิถีชีวิตของคนโตเกียวที่มาใช้เวลาผ่อนคลายที่นี่พอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่จะเดินเท้าหรือไม่ก็ปั่นจักรยานมา สังเกตได้จากที่จอดรถจักรยานซึ่งมีจักรยานจอดอยู่หลายคันทีเดียว

 

ญี่ปุ่น

 

     “เดี๋ยวนี้ยุคสมัยเปลี่ยน สถานที่ที่เป็น Third place ก็เกิดขึ้นเยอะตามกระแสนิยมโดยเฉพาะหนุ่มสาวสมัยใหม่ที่ชอบมาใช้บริการพื้นที่ในการสังสรรค์ พบปะ พูดคุย ทำงาน หรือเดินเล่น สิ่งสำคัญเป็นเพราะสถานที่ที่เป็น Third place ค่อนข้างตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เพราะมีร้านค้า ร้านหนังสือ คาเฟ่ ร้านอาหาร ที่หลากหลายในพื้นที่เดียวกัน แถมการออกแบบดีไซน์ก็มีความน่าสนใจ” พี่สาวคนนำทางบอกเรา

 

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น

 

     สิ่งขึ้นชื่อของที่ Daikanyama T-site คือพื้นที่ที่ถูกออกแบบอย่างเรียบง่าย สะอาดตา และมีต้นไม้สีเขียว กับสวนหย่อมเล็กๆ แทรกตัวอยู่อย่างร่มรื่นไปกับผังอาคาร การออกแบบดีไซน์ร้านค้าต่างๆ ก็น่าสนใจ โดยเฉพาะ Tsutaya bookstore ที่รวบรวมหนังสือ นิตยสาร ภาพยนตร์ แผ่นเพลง ไว้จนเต็มความจุทั้งสองชั้นของอาคาร เสมือนเป็นสวรรค์ของคนรักศิลปะที่สามารถมาใช้เวลาเดินดูได้ทั้งวัน ภายนอกอาคาร Tsutaya bookstore ฝั่งด้านหน้าสะดุดตาด้วยดีไซน์ผนังที่หากสังเกตดีๆ จะเป็นรูปตัว T สีขาว อักษรตัวแรกของชื่อสถานที่ที่ซ้อนเรียงกันจนกลายเป็นผนังฟาซาด (Facade) อันโดดเด่นที่แทรกอยู่กับโครงสร้างที่เป็นกระจก

     ระหว่างที่เราใช้เวลาสบายๆ ที่ Daikanyama T-site ผู้คนแวะเวียนไปมามากหน้าหลายตาโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่แต่งกายราวกับหลุดมาจากแมกกาซีนฮิปๆ ของญี่ปุ่น บ้างก็เดินดูหนังสือ บ้างเดินเลือกซื้อของในร้านค้า บ้างจับกลุ่มนั่งคุยที่คาเฟ่ หรือกระทั่งมีคุณครูที่พาเด็กนักเรียนน้อยหรือที่เรียกว่าแก๊งลูกเจี๊ยบมาเดินทัศนศึกษาที่นี่ด้วย เป็นภาพที่เหมือนได้หยุดเวลาไว้อย่างเชื่องช้า ณ มุมเล็กๆ ใจกลางเมืองที่วุ่นวายที่สุดเมืองหนึ่งในโลก

 

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น

 

     ถัดจาก Daikanyama T-site เรามาเยือน Third place อีกแห่งหนึ่งคือ La Kagu คาเฟ่ในคราบโกดังขนาดใหญ่ย่านคะงุระซะกะ ที่นี่ปรับปรุงมาจากโกดังเก็บหนังสือของโรงพิมพ์ โดยฝีมือ เคนโงะ คุมะ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่มีผลงานเป็นที่รู้จักในระดับสากล ด้านหน้าตรงทางขึ้นไปสู่ตัวโกดังโดดเด่นด้วยขั้นบันไดไม้อันกว้างขวางให้ความรู้สึกอบอุ่นในทุกย่างก้าวเดิน ส่วนบริเวณด้านในของ La Kagu ยังคงการตกแต่งแบบเดิมของโกดังไว้บางส่วน ผสานกับความมินิมอลตามฉบับของยุคสมัย มีคาเฟ่ สินค้าแฟชั่น สินค้าไลฟ์สไตล์ หนังสือ รวมอยู่ในที่เดียวกัน ที่สำคัญบริเวณชั้นสองยังมีพื้นที่สำหรับงานศิลปะและโซนใหม่ๆ ที่กำลังจะเปิดในอนาคต ทั้งหมดรวมอยู่ภายใต้บรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง

     La Kagu สร้างขึ้นตามคอนเซ็ปต์ “REVALUE” หรือ ปรับมูลค่าใหม่ มีที่มาจากพื้นฐานความคิดที่ต้องการมองหาคุณค่าพร้อมกับคงไว้ซึ่งสิ่งที่มีมาแต่เดิม และให้ความสำคัญผ่านไลฟ์สไตล์ของ “เสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย + ความรู้” ที่สินค้าแต่ละชนิดถูกคัดสรรมาอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน

 

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น

 

     “ที่นี่เสมือนเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลงก้าวใหม่ของรูปแบบไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นในอนาคตเลยนะ” พี่สาวคนนำทางบอกกับเราขณะกำลังเดินเล่นใน La Kagu

     หากวันแรกเราได้เรียนรู้และสัมผัสถึงวิถีความดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นผ่านสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ วันนี้เราก็ได้รู้จักชาวญี่ปุ่นในแง่มุมแห่งความเปลี่ยนแปลงและลมหายใจของคนหนุ่มสาว ที่แม้ทั้งสองสิ่งจะเป็นความแตกต่างของยุคสมัย แต่จิตวิญญาณที่ซุกซ่อนอยู่ในสถานที่สองแห่งนี้กลับเป็นสิ่งเดียวกัน

 

 

ญี่ปุ่น

     สำหรับใครที่สนใจพื้นที่ Third place ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตยุคใหม่ในกรุงเทพ กลุ่ม บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ผู้พัฒนาที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์และโครงการมิกซ์ยูส และโครงการที่เน้นการใช้ชีวิตแบบคนเมืองยุคใหม่ ภายใต้แบรนด์ แมกโนเลียส์ กำลังพัฒนาโครงการ 101 The Third Place ที่เป็น Innovative Lifestyle Complex บนพื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร ริมถนนสุขุมวิท ใจกลางกรุง ใกล้สถานีรถไฟฟ้าปุณณวิถี ซึ่งประกอบด้วยร้านค้ามากกว่า 200 ร้าน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์ทุกมิติของชีวิตประจำวัน

     อาทิ 101 Park อาคารที่ถูกผสานด้วยพื้นที่สีเขียวกว่า 5,000 ตารางเมตร ที่สามารถพักผ่อนหย่อนใจได้ Hillside Town พื้นที่ร้านค้าในบรรยากาศเมืองเล็กกลางหุบเขาที่จะทำให้คุณรู้สึกแตกต่างด้วยประสบการณ์การช้อปและชิม 24-Hour Street พื้นที่สำหรับคนนอนดึกและนักศึกษาที่อยากได้พื้นที่สำหรับอ่านหนังสือหรือใช้บริการต่างๆ ทั้งคืน และ 101 Track เลนจักรยานและลู่วิ่งลอยฟ้าแบบมัลติเลเวลที่แรกในประเทศไทยกับระยะทางรวม 1.3 กิโลเมตร เชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าปุณณวิถีสู่พื้นที่ภายในคอมเพล็กซ์

     ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการและรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook : 101 The Third Place