ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น | เยือน NHK และ ฟูจิทีวี สองสถานีโทรทัศน์ดังแห่งญี่ปุ่นที่กระจายความสุขไปทั่วโลก

อุณหภูมิโตเกียวอยู่ที่ประมาณ 20 องศา ในเช้านี้

เราออกจากที่พักย่านชินางาวะมุ่งหน้าเข้าสู่เขตชิบุยะที่ถือเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของโตเกียวตั้งแต่เช้าตรู่ ระหว่างทางเราใช้เวลาสอดส่ายสายตามองดูวิถีชีวิตชาวโตเกียวยามเช้า

     แม้โตเกียวจะเป็นเมืองที่ได้ขึ้นชื่อว่าวุ่นวายและคึกคักมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก แต่ตามซอกซอยในเวลาเช่นนี้ก็ยังมีกลิ่นอายของความเนิบช้าเจืออยู่กับแสงแดดอ่อนๆ ที่ตกกระทบอาคารและพื้นถนนอันสะอาดเอี่ยมไร้เศษขยะ สร้างมุมซ่อนเงาน่าดูชม บางช่วงของถนนมีผู้คนเดินบนทางเท้ามุ่งหน้าไปยังจุดหมายของแต่ละคน บ้างเป็นประชาชนคนธรรมดา บ้างเป็นซาลาริมัง หรือบางครั้งเราจะเห็นแม่บ้านที่ปั่นจักรยานแล้วเอาลูกน้อยซ้อนอยู่เหมือนที่เราเคยเห็นในการ์ตูน

     ‘คนญี่ปุ่นเดินเยอะจริงๆ นะครับ’ เราเอ่ยขึ้น

     ‘รู้ไหมว่าคนญี่ปุ่นเดินเฉลี่ยวันละสองกิโล ทั้งคนหนุ่ม คนแก่ เหมือนได้ออกกำลังกายไปในตัว คนญี่ปุ่นถึงอายุยืนไง’ พี่สาวคนนำทางเสริม เราพยักหน้ารับ

     นอกจากชีวิตยามเช้าของชาวโตเกียวจะทำให้เราเพลิดเพลินแล้ว เช้านี้เรายังตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะเราจะได้ไปเยือนสถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่นถึงสองแห่ง ซึ่งทั้งสองแห่งนั้นถือได้ว่าเป็นสถานีที่ชาวไทยอย่างเราคุ้นชื่อเป็นอย่างดี และเป็นสถานีโทรทัศน์ที่อยู่คู่กับชาวญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน

     สถานีโทรทัศน์ญี่ปุ่นเป็นยังไงกันนะ – เรานึกในใจ

     เก็บความสงสัยนั้นไว้ เรามาถึงที่แรกแล้ว

ญี่ปุ่น

 

จำลองบทบาทชีวิตผู้คนในสถานีโทรทัศน์อันเก่าแก่

     สิ่งที่สายตาเราปะทะแรกสุดคือป้ายตัวหนังสือ NHK ที่แปะอยู่บนอาคาร

     คำว่า NHK ย่อมาจาก Nippon Hoso Kyokai หรือ สมาคมแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบรรษัทกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งสาธารณะแห่งเดียวในญี่ปุ่น เริ่มกระจายเสียงทางวิทยุเมื่อปี ค.ศ. 1925 หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ แต่ที่นี่ดำเนินงานด้วยค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากครอบครัวที่ในครัวเรือนมีเครื่องรับโทรทัศน์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพโดยปลอดจากอิทธิพลทางการเมืองหรือกลุ่มบริษัทและเอกชนใดๆ

 

ญี่ปุ่น

 

     เราเดินมาอยู่ใต้อาคารสีเทาหลังใหญ่ ที่นี่คือ NHK Studio Park ซึ่งเป็นธีมปาร์กหรือสวนสนุกเกี่ยวกับการออกอากาศของสถานี ตั้งอยู่ในอาคาร NHK Broadcasting Center บริเวณเดียวกันกับ NHK Hall ที่นี่จะเป็นส่วนที่เปิดให้ผู้มาเยือนได้ชมเบื้องหลังการทำงานเกี่ยวกับการกระจายเสียงของ NHK ผ่านกิจกรรมและการจัดแสดงต่างๆ

     เราสังเกตเห็นว่านอกจากเราแล้ว ยังมีกลุ่มคนญี่ปุ่นที่สนใจดูการทำงานของสถานีโทรทัศน์มาเยี่ยมเยียนพร้อมๆ กับเราอีกกลุ่มสองกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่มากันเป็นก๊วนคุณตาคุณยาย เราคาดคะเนด้วยสายตาอายุน่าจะอยู่ที่ราวๆ 60-70 ปี บางคนก็มีไม้เท้าช่วย บางคนก็หลังงุ้มเล็กน้อย แต่ท่าทางของทุกคนยังดูสดชื่นแจ่มใส พวกเขาจับกลุ่มกันมาโดยปราศจากคนที่ตามมาดูแลด้วยซ้ำ เรามองภาพพวกเขายิ้มและคุยกันเบาๆ ตามลักษณะผู้สูงวัยแล้วเราก็อดยิ้มตามไม่ได้

     ‘คนญี่ปุ่นที่เกษียณแล้วจะชอบจับกลุ่มกันทำกิจกรรม ต่างกับบ้านเรานิดหนึ่งที่ผู้สูงวัยส่วนใหญ่จะถูกปล่อยให้อยู่เฉยๆ ซึ่งน่าเสียดายนะ’ พี่สาวคนนำทางพูด เราฟังแล้วมองดูกลุ่มคุณตาคุณยายตรงหน้าอีกครู่หนึ่ง

 

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น

 

     เมื่อถึงเวลา เจ้าหน้าที่พาเราเดินเข้าสู่ตัวอาคาร ภายในธีมปาร์กนี้แบ่งเป็น 3 ชั้น คือ A, B, C ให้ผู้ที่มาเยือนได้เดินชมอย่างอิสระ เพียงแค่เราเดินเข้ามาในโซนห้องแรก ซึ่งเป็นห้องที่แสดงการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ความละเอียด 8K เราก็รีบยกกล้องที่สะพายอยู่ขึ้นมาเตรียมกดถ่าย จู่ๆ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้ๆ พูดขึ้นมาเป็นภาษาญี่ปุ่นที่เราฟังไม่ออก

     ‘ที่นี่จะอนุญาตให้ถ่ายรูปได้บางโซน และบางโซนก็ห้าม’ พี่สาวคนนำทางแปลให้ฟัง เรารีบยกกล้องเก็บทันที

 

ญี่ปุ่น

 

     เราใช้เวลาเดินสำรวจตามจุดต่างๆ ที่น่าสนใจทั้งสามชั้น มีหลายโซนที่ทำให้เราประทับใจมากมาย เช่น โซน Media Wall หน้าจอดิจิตอลทัชสกรีนที่รวบรวมรายการต่างๆ ของ NHK ตั้งแต่อดีตในยุคก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน โซน NHK WORLD สำหรับฟังรายการถ่ายทอดทางวิทยุนานาชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 18 ภาษารวมทั้งญี่ปุ่นและอังกฤษ โซน Animation Hub ที่แสดงกระบวนการทำการ์ตูน และโซน Animation Factory ที่มีเครื่องเล่นสำหรับอัดพากย์เสียงการ์ตูนที่เราสามารถไปทดลองลองพากย์ดูได้

 

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น

 

     ‘ฉากที่เห็นตรงนี้เป็นฉากจริงที่ใช้อัดรายการวาไรตี้ของญี่ปุ่นนะ’ พี่สาวคนนำทางชี้ให้เราดูจุดหนึ่ง ตรงมุมนั้นเป็นฉากที่มีรูปหัวคนขนาดใหญ่และแบ็กกราวนด์ที่เป็นสีลูกกวาด ข้างๆ ฉากนั้นมีโต๊ะและปุ่มสำหรับกดเหมือนที่เรามักเห็นในรายการวาไรตี้ของญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ

 

ญี่ปุ่น

 

     อีกโซนที่เราชอบมากคือ Studio Park News ห้องสำหรับการอ่านข่าวที่จำลองบรรยากาศห้องส่งของสตูดิโอข่าวญี่ปุ่นมาให้ชม และได้ลองอ่านข่าวออกโทรทัศน์จริงๆ ตอนที่เรามาถึงห้องนี้ กลุ่มก๊วนผู้สูงวัยที่เราเจอก่อนหน้านั้นกำลังทดลองอ่านข่าวอยู่ ความน่ารักคือ เก้าอี้ผู้ประกาศข่าวนั้นมีแค่สามที่ แต่กลุ่มคุณตาคุณยายนั้นพยายามไปยืนเบียดเสียดกันเพื่อลองอ่านข่าว บางส่วนก็ลองไปยืนที่หน้าบลูสกรีนให้ตากล้องถ่ายทอดออกทีวีที่อยู่บริเวณหน้าห้องส่ง รอยยิ้มบนใบหน้าพวกเขานั้นบ่งบอกว่ามีความสุขเช่นไร – แม้มันจะไม่ใช่การถ่ายทอดจริงๆ ก็ตาม

     คุณตาคุณยายบางคนในกลุ่มนี้อาจเคยเฝ้าฝันจะได้ออกทีวีตอนยังหนุ่มยังสาวก็ได้ – เราคิด

 

ญี่ปุ่น

 

     นอกจากส่วนที่เป็นกิจกรรม ที่นี่ยังมีโซนที่จัดนิทรรศการเจ๋งๆ ที่เราชอบและตื่นเต้นมากเมื่อได้เห็น โดยเฉพาะส่วนที่จัดเป็นฉากจำลองของบางสถานที่ที่อยู่ในละครเรื่องดังของ NHK รวมไปถึงพร็อพจากละครฮิตต่างๆ ทั้งอดีตและปัจจุบันที่มาจัดแสดงในตู้โชว์ มีบางเรื่องที่เรารู้จักและเคยนำมาฉายในประเทศไทย เช่น อามะจัง สาวน้อยแห่งท้องทะเลที่ว่าด้วยเรื่องราวของผู้หญิงสามรุ่นสามมุมมองในชีวิตที่ประกอบอาชีพอามะ (ผู้หญิงที่ดำน้ำงมหอย) และมีฉากหลังเป็นเมืองชายฝั่งคิตะซันริคุ จังหวัดอิวาเตะ

     หลังใช้เวลาเดินสำรวจจนครบทั้ง 3 ชั้น ก็ถึงเวลาที่เราต้องเคลื่อนย้ายอีกครั้ง

 

ญี่ปุ่น

 

เกร็ดความรู้รายทางที่สะท้อนความเป็นญี่ปุ่น

     รถบัสพาเราเคลื่อนย้ายออกจาก NHK ทิ้งอาคารสถานีเก่าแก่สีเทาไว้เบื้องหลัง ตอนนั้นแสงแดดเริ่มอ่อนจางลงเพราะเมฆที่เกาะกลุ่มบางๆ บนท้องฟ้า แม้จะยังเป็นช่วงก่อนเที่ยงก็ตาม ลมเย็นของฤดูใบไม้ร่วงกลับมาสะกิดเราอีกครั้ง

     รถพาเราเคลื่อนผ่านตัวเมือง ผ่านบ้านเรือน อาคาร ร้านค้า เราสังเกตว่าโครงสร้างบ้านหรืออาคารของที่ญี่ปุ่นจะมีลักษณะหน้าตาคล้ายๆ กัน คือเน้นสีเรียบๆ แบบเอิร์ธโทนมองดูสบายตา อาคารไม่ได้มีโครงสร้างซับซ้อน มีอาคาร อพาร์ตเมนต์ที่เป็นผนังโมเสกค่อนข้างเยอะ

     สาเหตุนั้นเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงที่บอกว่าญี่ปุ่นมีแผ่นดินไหวประมาณ 300 ครั้งต่อวัน เพียงแต่จะแรงจนสามารถรู้สึกได้ไหมนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถึงแม้เราจะไม่รู้สึก แต่โครงสร้างอาคารก็อาจเกิดการบิดเพราะแรงสั่นสะเทือนได้ ฉะนั้นหากอาคารฉาบเป็นผืนเดียวกันหมด มีโอกาสที่จะเกิดรอยร้าวขึ้นเยอะจนซ่อมไม่ทัน ดังนั้นจึงต้องใช้วัสดุที่ยืดหยุ่น นั่นก็คือกระเบื้องโมเสกผสมกับวัสดุที่ยืดหยุ่นซึ่งช่วยลดการบิดรูปของโครงสร้างได้ นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมหน้าตาอาคารในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ถึงใช้กระเบื้องโมเสกในการทำผนัง

     การออกแบบก่อสร้างอาคารบ้านเรือนของญี่ปุ่นจะถูกผูกติดกับเรื่องของภัยธรรมชาติเสมอ นอกจากอาคารแล้ว บ้านเรือนของที่นี่ก็ยังเน้นการก่อสร้างที่ง่าย เพราะคนญี่ปุ่นจะเตรียมตัวเสมอหากเกิดภัยธรรมชาติหนักๆ อย่างพายุหรือสึนามิ วัสดุที่นำมาใช้ในการสร้างบ้านส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักเบาและลอยน้ำ เพื่อจะสามารถเก็บกวาดง่ายหากเกิดสึนามิจริงๆ ส่วนกระจกที่ใช้ก็เป็นเทมเปอร์กลาสที่สามารถรับแรงกระทบซึ่งเกิดจากลมหรือแรงดันของน้ำได้มาก เวลาแตกก็จะแตกเป็นเม็ดเล็กๆ คล้ายเมล็ดข้าวโพด ซึ่งมีความคมน้อย ทำให้ไม่บาดร่างกาย

     นั่นเป็นเรื่องความโดดเด่นของลักษณะนิสัยคนญี่ปุ่นที่ต้องรับผิดชอบในทุกสิ่งและให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดกับสังคมส่วนรวม แม้กระทั่งในช่วงวิกฤติที่สุดก็ตาม

     ‘บ้านที่นี่ใช้แรงคนแค่สี่คน ใช้เวลาสร้างเต็มที่แค่สองเดือนเอง’ พี่สาวคนนำทางบอก

     เราชอบเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังซึ่งสะท้อนออกมาเป็นวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ภาพที่เราจดจำของญี่ปุ่นนั้น ทุกเรื่องล้วนมีที่มาที่ไปทั้งสิ้น โดยเฉพาะวินัยอันเคร่งครัดและเข้มแข็งของคนญี่ปุ่นซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สะท้อนออกมาผ่านมิติต่างๆ ของบ้านเมือง

 

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น

 

     สังคมญี่ปุ่นจะใช้ระบบประชาชนดูแลประชาชน ประชาชนทุกคนจะมีแต้มความดีสะสมของตัวเอง หากใครทำผิดก็จะถูกหักแต้ม ยกตัวอย่างเช่น ที่ญี่ปุ่นจะมีการจัดโซนสำหรับสูบบุหรี่ การเดินสูบบนทางเท้านั้นถือเป็นความผิด หากคุณเห็นใครอยู่นอกโซนสูบบุหรี่ หรือเดินไปสูบไป แล้วแจ้งตำรวจท้องถิ่นบริเวณนั้น ตำรวจจะปรากฏกายพร้อมไอแพดประจำตัวสำหรับหักแต้มความดีของคนที่ทำความผิดมาให้คนที่แจ้งแทน คะแนนความดีที่สะสมนั้นสามารถเอาไปแลกของรางวัล เช่น ตั๋วเครื่องบิน ตั๋วโรงแรม ตั๋วร้านอาหาร ได้

     ‘ระบบประชาชนดูแลประชาชนทำให้ตำรวจไม่เหนื่อยมาก ต้องเป็นเรื่องหนักจริงๆ ตำรวจถึงจะมา ถ้าเราทำถูกกฎก็สบายใจได้ แต่ถ้าทำผิดเมื่อไหร่คนจะกลัวมาก เพราะกฎหมายที่นี่ค่อนข้างเข้มงวดเพราะฉะนั้นการคบกับคนญี่ปุ่นหรือทำการค้ากับคนญี่ปุ่น ประมาณ 90% จะค่อนข้างซื่อสัตย์และไว้ใจได้’ พี่สาวคนนำทางอธิบายเพิ่ม

     รถพาเราข้ามสะพานสายรุ้งที่เชื่อมต่อระหว่างโตเกียวและเกาะโอไดบะ แม่น้ำสุมิดะที่ไหลออกสู่อ่าวโตเกียวอยู่เบื้องล่าง ทิวทัศน์อันกว้างไกลทำเอาใจเราปลอดโปร่ง ยิ่งผสานกับถนนหนทางที่สะอาดสะอ้าน และเมืองใหญ่ที่มองเห็นจากมุมไกล ยิ่งทำให้เราอยากเก็บภาพประทับใจนี้ไว้นานๆ

 

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น

 

     ‘เห็นกำแพงทางด่วนไหม’ พี่สาวคนนำทางถามเมื่อรถกำลังแล่นผ่านบนทางด่วน เราหันไปมอง กำแพงดูดซับเสียงบนทางด่วนเหมือนปกติทั่วไป แต่ด้านบนกำแพงนั้นมีบล็อกทรงกลมเหมือนท่ออะไรบางอย่างไล่เรียงไปตามความยาวของกำแพง

     ‘ข้างในนั้นจะเก็บขวดที่บรรจุน้ำสะอาดไว้จำนวนมาก เผื่อเกิดภัยธรรมชาติ คนจะได้มาเอาไปดื่มได้’ พี่สาวคนนำทางเฉลย – เราทึ่งกับความช่างคิดอย่างละเอียดของคนญี่ปุ่น

 

ญี่ปุ่น

 

     ‘การดูแลกันเองของประชาชนในญี่ปุ่นนั้นเขามีคติอะไรที่ยึดถือเป็นหลักไหม’ เราย้อนกลับไปถามในสิ่งที่ยังค้างคาสงสัย

     ‘หนึ่ง ของคนอื่นอย่าจับ สอง อะไรมีความสุขก็ทำไป แต่อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน’ พี่สาวคนนำทางบอกด้วยสีหน้าจริงจัง ‘กลายเป็นว่าคนญี่ปุ่นทำอะไรจะกลัวคนจับผิดมาก นอกจากกฎหมายที่เข้มงวดแล้ว การแตกแถวจะทำให้คนคนนั้นดูแปลกแยกและพาให้คนอื่นๆ แบนออกจากสังคมไปเลย’

     คำตอบนั้นสะท้อนก้องอยู่ในใจเรา ภาพใบหน้าเรียบเฉยของคนญี่ปุ่นและบ้านเมืองผุดเข้ามาในห้วงความคิด แม้ภายนอกดูมีระเบียบ สะอาดตา เคร่งครัด แต่เรื่องของสิ่งที่อยู่ด้านหลังโดยเฉพาะความรู้สึกนั้น เราไม่อาจแน่ใจได้ว่ามันซุกซ่อนอะไรไว้บ้าง เหมือนดั่งที่ผู้คนให้นิยามว่าคนญี่ปุ่นมักเก็บกดข้างในลึกๆ – เรานึกเรื่องนี้ไปพร้อมกับภาพบ้านเมืองสวยงามที่ผ่านตาเราไปเรื่อยๆ ด้านนอกหน้าต่างรถ

 

ญี่ปุ่น

 

เบื้องหลังการถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์ที่กระจายความสุขไปทั่วโลก

     เรามาถึงย่านโอไดบะ เบื้องหน้าไม่ใกล้ไม่ไกลเราคือสถานีโทรทัศน์ฟูจิเทเลวิชันอันโดดเด่น

     ตัวอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูงใหญ่สองฝั่งเชื่อมกันด้วยทางข้ามที่สลับตัดกันเป็นช่อง เอกลักษณ์ที่นี่คือหอชมวิวทรงกลมบนชั้น 25 อันเป็นแลนด์มาร์ก ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและแปลกตา

 

ญี่ปุ่น

 

     สถานีโทรทัศน์ฟูจิเป็นสถานีโทรทัศน์อีกแห่งที่เก่าแก่ของคนญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1957 และเริ่มกระจายเสียงครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1959 ในปี ค.ศ. 1997 ย้ายสำนักงานใหญ่จากชินจูกุมาอยู่ที่โอไดบะแห่งนี้ ก่อนที่ช่วงปี ค.ศ. 1998-2000 จะผลิตผังรายการในช่องเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้รายการจากสถานีฟูจิติดอันดับต้นๆ ในการจัดอันดับรายการที่มีผู้ชมเยอะที่สุดในช่วงโกลเดนไทม์แทบทุกปีติดต่อกัน

     ในปี ค.ศ. 2007 ฟูจิก่อตั้งอาคารสำนักงานเพิ่มใกล้ๆ กับสำนักงานใหญ่ มีสตูดิโอขนาดใหญ่ด้านในถึง 8 จุด พร้อมอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับผลิตรายการและละครของช่อง ก่อนที่จะฉลองครบรอบ 50 ปี ตั้งแต่เริ่มถ่ายทอดครั้งแรกไปตอนช่วงปี ค.ศ. 2009 ที่ผ่านมา ส่วนในปีหน้า ค.ศ. 2019 สถานีฟูจิกำลังจะฉลองครบ 60 ปี

     สัมผัสแรกของเราเมื่อเข้าสู่ตัวอาคารฟูจิที่ทำให้รู้สึกแตกต่างจากสถานี NHK ที่ไปเยือนในช่วงเช้า คือความเคร่งขรึม จริงจัง ที่ทำให้เราเกร็งเล็กน้อยหากเทียบกับความผ่อนคลายและเพลิดเพลินเมื่อช่วงเช้า

     ‘สถานีฟูจิของเรามี 28 สาขาทั่วประเทศตั้งแต่ฮอกไกโดจนถึงโอกินาวา ส่วนต่างประเทศก็มี 14 สาขา ซึ่งต่างประเทศจะเน้นรายการประเภทธุรกิจเป็นหลัก’ โยชิกาว่าซัง หนึ่งในทีมผู้บริหารสถานีฟูจิเล่าให้เราฟังผ่านการแปลของพี่สาวคนนำทาง

     ‘ที่นี่เราผลิตรายการที่หลากหลายทั้งละคร รายการวาไรตี้โชว์ ข่าว สารคดี รายการกีฬา ภาพยนตร์ แอนิเมชัน รวมไปถึงจัดอีเวนต์ต่างๆ นอกจากนั้นเรายังผลิตรายการเพื่อขายลิขสิทธิ์ให้กับต่างประเทศอีกด้วย’ เขาอธิบายเพิ่มเติม

     ที่สถานีมีเทรนด์หรือธีมสำหรับเน้นเป็นหลักในการผลิตรายการต่างๆ แต่ละเดือนหรือแต่ละปีไหม – เราสงสัย

     ‘มีครับ ยกตัวอย่างปีนี้เราจะเน้นเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวเป็นส่วนใหญ่’ โยชิกาว่าซังตอบคำถามเรา

 

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น

 

     โยชิกาว่าซังพาเราเดินสำรวจส่วนต่างๆ ที่น่าสนใจของสถานีฟูจิ อาทิ ห้อง Master Control Room อันเป็นห้องตัดต่อสุดท้ายของทุกรายการในสถานีก่อนที่จะถูกเผยแพร่ออกไป เขาเล่าให้เราฟังว่าห้องนี้จะต้องมีคนประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อผลัดเปลี่ยนกันควบคุม ฉะนั้นห้องนี้ก็จะคึกคักด้วยพนักงานสถานีอยู่ตลอด

 

ญี่ปุ่น

 

     เรามองผ่านกระจกห้องควบคุมเข้าไป จอคอมพิวเตอร์ จอโทรทัศน์มากมาย เรียงรายตามโต๊ะ ผนัง และเหนือศีรษะ รายการมากมายกำลังถ่ายทอดอยู่ พนักงานสถานีหลายคนประจำการอยู่หน้าเครื่อง บางคนก็ยืนจับกลุ่มพูดคุยกันพร้อมกับเอกสารบางอย่างในมือ แม้จะไม่วุ่นวายเท่าที่เราคาดไว้ แต่เราก็สัมผัสบรรยากาศความจริงจังบางอย่างได้ผ่านสีหน้าและแววตาของพวกเขา

     โยชิกาว่าซังพาเราเดินดูห้องเก็บฉากขนาดใหญ่ ซึ่งมีฉากของรายการต่างๆ ในสถานีเก็บไว้โดยแบ่งสัดส่วนกันเป็นล็อกๆ เราเห็นป้ายไอดอล ฉากตลกๆ ฉากที่มีสีสัน หุ่นมาสคอตและพร็อพประกอบฉากหลายรูปแบบ หลายขนาด ถูกกองรวมกันตามล็อกของรายการตัวเองอย่างนิ่งเงียบงัน ก่อนที่พวกมันจะถูกเลือกไปประกอบฉากเพิ่มสีสันให้กับรายการและส่งต่อให้คนดูได้มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเมื่อรายการออกฉาย – เสียดายที่เขาไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพเก็บไว้

 

ญี่ปุ่น

 

     หลังจากนั้นเราได้เห็นสตูดิโอขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับอัดรายการวาไรตี้ของสถานี ฉากของรายการหนึ่งถูกเซตเตรียมไว้เรียบร้อยรอวันเวลาอัดรายการที่กำลังจะมาถึง อีกไม่นานสตูดิโอนี้คงเต็มไปด้วยผู้คน ทั้งพิธีกร แขกรับเชิญ สตาฟฟ์ ทีมงาน และคนดูที่มากันเต็มขนัด เพียงแต่ในเวลานี้ที่ร้างไร้ผู้คน เสียงความเงียบนั้นกลับดังขึ้นและดูแปลกประหลาด ขัดแย้งกับฉากที่มีสีสันในสตูดิโอแห่งนั้น ภาพนั้นยังตรึงอยู่ในใจเราอย่างอธิบายไม่ถูก – แน่นอนว่าสตูดิโอนี้ก็ห้ามเก็บภาพ

 

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น

 

     จุดสุดท้ายที่โยชิกาว่าซังพาเราไปคือแลนด์มาร์กของสถานีฟูจิแห่งนี้ ที่ความสูงบนชั้น 25 เป็นที่ตั้งของหอชมวิวฮะจิทะมะทรงกลมล้ำสมัยที่เราสังเกตได้จากด้านนอก บนชั้นนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของเกาะโอไดบะและโตเกียวได้โดยรอบ

 

ญี่ปุ่น

 

     เรากลับลงมาสู่ชั้นล่างของสถานีฟูจิอีกครั้งเพื่อล่ำลาโยชิกาว่าซังที่เดินลงมาส่ง เราแหงนมองตัวอาคารสถานีฟูจิอีกครั้ง ทุกอย่างยังคงตั้งตระหง่านอยู่ตรงนั้นเหมือนเดิมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 พี่สาวคนนำทางแอบกระซิบบอกเราว่าอันที่จริงโยชิกาว่าซังมีงานยุ่งมาก แต่เขากลับสละเวลามาเพื่อพาเราเดินแนะนำสถานีฟูจิอย่างเต็มใจ

     เรามองหน้าโยชิกาว่าซัง แน่นอนว่าเขาฟังภาษาไทยไม่ออก เขาดูเหมือนคุณลุงผู้ใจดีคนหนึ่ง ใบหน้าเขามีรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา หากแต่ว่าเราไม่รู้ว่าภายใต้รอยยิ้มนั้นเขามีความกังวลอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ – ไม่ใช่เราสงสัย – แต่เป็นเพราะที่ญี่ปุ่น เวลาทุกนาทีล้วนมีค่าและส่งผลกับการทำงานทั้งสิ้น – ถึงอย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าเขามีความสุข

     เราและโยชิกาว่าซังกล่าวคำขอบคุณซึ่งกันและกัน เขาหมุนตัวกลับจากจุดนั้นและมุ่งหน้ากลับขึ้นสู่สถานีฟูจิเพื่อทำงานต่อ ภาระหน้าที่ของสื่อมวลชนยังคงกองรอเขาไปสะสางให้เรียบร้อย

     ลมเย็นและแรงจากแม่น้ำสุมิดะพัดกรรโชกผ่านเราไปอย่างต่อเนื่อง ไม่แน่ใจว่าเย็นนี้ฝนจะตกหรือไม่

 


101 The Third Place

     สำหรับใครที่สนใจพื้นที่ third place ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตยุคใหม่ในกรุงเทพ กลุ่ม บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ผู้พัฒนาที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์และโครงการมิกซ์ยูส และโครงการที่เน้นการใช้ชีวิตแบบคนเมืองยุคใหม่ ภายใต้แบรนด์ แมกโนเลียส์ กำลังพัฒนาโครงการ 101 The Third Place ที่เป็น Innovative Lifestyle Complex

     บนพื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร ริมถนนสุขุมวิท ใจกลางกรุง ใกล้สถานีรถไฟฟ้าปุณณวิถี ซึ่งประกอบด้วยร้านค้ามากกว่า 200 ร้าน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์ทุกมิติของชีวิตประจำวัน

     อาทิ 101 Park อาคารที่ถูกผสานด้วยพื้นที่สีเขียวกว่า 5,000 ตารางเมตร ที่สามารถพักผ่อนหย่อนใจได้ Hillside Town พื้นที่ร้านค้าในบรรยากาศเมืองเล็กกลางหุบเขาที่จะทำให้คุณรู้สึกแตกต่างด้วยประสบการณ์การช้อปและชิม 24-Hour Street พื้นที่สำหรับคนนอนดึกและนักศึกษาที่อยากได้พื้นที่สำหรับอ่านหนังสือหรือใช้บริการต่างๆ ทั้งคืน และ 101 Track เลนจักรยานและลู่วิ่งลอยฟ้าแบบมัลติเลเวลที่แรกในประเทศไทยกับระยะทางรวม 1.3 กิโลเมตร เชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าปุณณวิถีสู่พื้นที่ภายในคอมเพล็กซ์