เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ถูกยกให้เป็นชัยชนะของประชาชนที่สามารถล้มรัฐบาลทหารที่สืบทอดอำนาจมากว่า 16 ปีลงได้ แต่ใครบ้างที่รู้ว่าอะไรปูทางให้เกิดการต่อสู้ในครั้งนี้
สิ่งที่น่าสนใจคือ ชนวนเหตุของ 14 ตุลา 2516 ไม่ได้เริ่มขึ้นแค่เฉพาะช่วงการสืบทอดอำนาจของ 3 ทรราช ‘ถนอม ประภาส ณรงค์’ ต่อจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ก่อตัวมาตั้งแต่เหตุการณ์หลังปฏิวัติ 2475 ที่นำมาสู่การปกครองประเทศแบบลัทธิชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กระทั่งการเลือกตั้งสกปรก ปี 2500 กรุยทางให้ทหารเข้ามาสืบทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่น
ภายใต้เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ‘สหรัฐอเมริกา’ ได้กลายมาเป็นอีกตัวละครสำคัญที่ชักใยอยู่เบื้องหลังการเมืองไทยตลอดยุคสงครามเย็น พร้อมครอบงำประชาชนด้วยการหยิบแนวคิด ‘ราชาธิปไตย’ ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาเขียนเป็นประวัติศาสตร์ที่สนับสนุนนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของตัวเอง ก่อนที่ประวัติศาสตร์นั้นจะถูกนักศึกษาและประชาชนเดือนตุลารับไปเป็นเครื่องมือยึดเหนี่ยวในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการทหาร ประชาธิปไตยของประชาชนในวันนั้นจึงถูกมองว่าเป็นประชาธิปไตยของชนชั้นนำในวันนี้
หลังปฏิวัติ 2475 กับการแตกคอกันเองของคณะราษฎร
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการปกครองไทยเริ่มขึ้นในปี 2475 เมื่อกลุ่มบุคคลในนาม ‘คณะราษฎร’ นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 มาสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่ปกครองโดยรัฐสภา
ภาพจาก : ศิลปวัฒนธรรม
หลังจากนั้นพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกและมีการจัดตั้งรัฐสภาขึ้น แต่บริหารประเทศไทยไปได้ระยะหนึ่งก็เกิดปัญหาขัดแย้งกันเองภายในคณะราษฎร เนื่องมาจากคณะราษฎรได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมร่างเค้าโครงเศรษฐกิจเพื่อจะได้พิจารณาวางนโยบายเศรษฐกิจของชาติ แต่ปรากฏว่าเค้าโครงเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมร่างขึ้นมานั้นมีผู้วิจารณ์ว่าคล้ายกับเค้าโครงเศรษฐกิจของประเทศที่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่เหมาะกับประเทศไทย ด้วยเหตุนี้สมาชิกของคณะราษฎรจึงแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย จนความขัดแย้งขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางทั้งในคณะราษฎร ในคณะรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ในที่สุดพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงกราบบังคมทูลแนะนำให้รัชกาลที่ 7 ออกพระราชกฤษฎีกานัดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว ภายหลังการออกพระกฤษฎีกานัดสภาผู้แทนราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนาเห็นว่า ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนี้อาจส่งผลเสียต่อจุดมุ่งหมายของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงนำกำลังเข้าทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งในปี 2476 ก่อนจะจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี
หลังจากนั้นไม่นานกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะกู้บ้านเมือง’ นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช นำกลุ่มทหารฝั่งอนุรักษนิยมเข้ายึดบริเวณดอนเมืองและจับฝ่ายรัฐเป็นตัวประกันเพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนากลับไปใช้ระบอบราชาธิปไตย ก่อนมีการปะทะกันและถูกปราบปรามจนพ่ายแพ้ไป พร้อมถูกเรียกขานว่า ‘กบฏบวรเดช’ โดยผู้นำทั้งการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและปราบกบฏบวรเดชก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นั่นเอง
ก้าวเข้าสู่ยุคลัทธิชาตินิยม
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเมื่อปี 2481 จากแรงสนับสนุนของคณะราษฎรและสภาผู้แทนราษฎรอย่างล้นหลาม หลังจากนั้นเขาเริ่มขับเคลื่อนนโยบายชาตินิยมเต็มกำลังด้วยการสร้างชาติผ่านด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการทหาร โดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ
เมื่อสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรกลายเป็นผู้พ่ายแพ้ จอมพล ป. ที่พาประเทศเข้าสู่สงครามด้วยการให้ความร่วมมือกับญี่ป่น จึงสูญเสียการสนับสนุนทั้งในและนอกสภา ทั้งยังโดนตั้งข้อหาอาชกรรมสงครามจนต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในปี 2487
ภาพจาก : สถาบันปรีดี พนมยงค์
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ‘ปรีดี พนมยงค์’ ผู้นำขบวนการเสรีไทยได้ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลสูงสุดในการเมืองไทยแทน ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา แต่เหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 ถือเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อฝ่ายอนุรักษนิยมกับพรรคประชาธิปัตย์พยายามใส่ร้ายปรีดีว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต ปรีดีจึงลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
ถึงอย่างนั้นรัฐสภาก็ได้เลือกให้เขากลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่กระแสโจมตีว่า ‘ปรีดีฆ่าในหลวง’ ได้สร้างความปั่นป่วนให้รัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาสวัสดิ์ จึงขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนโดยได้รับการสนับสนุนจากปรีดี
ไม่นานหลังจากนั้นจอมพล ป. ได้ร่วมมือกับเหล่าทหารที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของคณะราษฎรซึ่งมี พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้า พร้อมด้วย ควง อภัยวงศ์ แกนนำกลุ่มอนุรักษนิยมและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ถือเป็นการปิดฉากอำนาจที่อยู่ในมือของคณะราษฎรลง และเปิดฉากการต่อสู้กันระหว่างคณะรัฐประหารกับกลุ่มอนุรักษนิยมที่ช่วยกันโค่นล้มปรีดี แต่มีเป้าหมายทางการเมืองที่แตกต่างกัน
ภาพจาก : Google Arts & Culture
จอมพล ป. อยู่ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารจำเป็นต้องสนับสนุนให้ควงขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสร้างการยอมรับจากสาธารณชนและนานาชาติ แต่เหตุการณ์นั้นได้สร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มอนุรักษนิยมอย่างมาก เมื่อควงขึ้นดำรงตำแหน่งเขาจึงประกาศความเป็นอิสระจากคณะรัฐประหารด้วยการจัดสรรตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีให้กับเชื้อพระวงศ์ขุนนางในระบอบเก่า และอดีตนักโทษทางการเมืองกลุ่มอนุรักษนิยมให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี
แม้อำนาจจะดูอยู่ในมือของฝ่ายอนุรักษนิยมแล้ว แต่ปีถัดมาจอมพล ป. สามารถพลิกเกมโค่นรัฐบาลควงลงได้ จอมพล ป. จึงเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ปี 2491 โดยมีสหรัฐอเมริกาเข้ามาเป็นอีกตัวละครสำคัญในช่วงนี้
ผศ. ดร. ณัฐพล ใจจริง ผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)’ พบว่าสหรัฐอเมริกาหวังใช้ไทยดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่เริ่มลุกคืบเข้ามาในแถบอินโดจีน ขณะที่รัฐบาลไทยในยุคนั้นก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเพื่อแลกกับการสนับสนุนทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ
นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ และหน่วยงานต่างๆ ยังมีส่วนสำคัญในการทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างความรู้ว่าด้วยไทยในยุคสงครามเย็นเพื่อสนับสนุนนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของตน และอำพรางสภาวะกึ่งอาณานิคมของไทยในยุคสงครามเย็น ด้วยการนำสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือ ประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นโดยมีสหรัฐฯ ชักใยอยู่เบื้องหลังจึงกลายมาเป็นแม่แบบคำอธิบายเอกราชของไทยในงานวิชาการหลากหลายสาขา ตลอดจนการผลิตสื่อต่างๆ เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ว่าคอมมิวนิสต์คือศัตรู
เมื่อจอมพล ป. พยายามเปิดความสัมพันธ์กับจีน ทำให้สหรัฐฯ มองว่านี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่เป็นการถอยห่างออกจากสหรัฐฯ แต่ยังมีผลทำให้แผนสงครามจิตวิทยาที่สหรัฐฯ มุ่งสร้างความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ให้กับคนไทยไม่ประสบความสำเร็จอีกด้วย ประกอบกับขณะนั้นประชาชนเบื่อหน่ายต่อพฤติกรรมของรัฐบาลจอมพล ป. หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง และการใช้อำนาจของรัฐบาลเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง สหรัฐฯ จึงตัดสินใจให้การสนับสนุนกลุ่มการเมืองใหม่ที่มีผลประโยชน์สอดคล้องกับตนเองให้ก้าวขึ้นมามีอำนาจแทน
ช่วงปลายทศวรรษ 2490 จึงเป็นการขับเคี่ยวแย่งชิงความเป็นใหญ่ทางการเมืองกันระหว่าง 3 เสาหลัก ได้แก่ ฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับกลุ่มของ จอมพลผิน ชุณหะวัณ และ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และสุดท้ายกลุ่มทหารภายใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กำลังก่อร่างสร้างอำนาจทางการเมือง
แต่การขับเคี่ยวนี้ก็เริ่มรู้ผลแพ้ชนะหลังความพยายามสืบทอดอำนาจของจอมพล ป. ด้วยการทุจริตการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่การประท้วงผลการเลือกตั้งของนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก
เมื่อกระแสการประท้วงรุนแรงขึ้น จอมพล ป. จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 2 มีนาคม 2500 โดยมอบหมายให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้สั่งการใช้กำลังทหารและตำรวจปราบปรามผู้ชุมนุม แต่จอมพลสฤษดิ์กลับใช้สถานการณ์นี้สร้างภาพตัวเองเป็น ‘ฮีโร่ ในสายประชาชน
“เมื่อประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ก็ลุกฮือขึ้นเพื่อทวงสิทธิ์ของเขา แล้วจะให้ผมไปปราบประชาชน ผมทำไม่ได้” จอมพลสฤษดิ์กล่าว พร้อมห้ามไม่ให้ทหารใช้กำลังปราบปราม ทั้งยังเข้าไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงด้วยว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นวิธีการสกปรกจริง และสนับสนุนการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงจึงสลายตัวไป
เรียกว่าการมอบอำนาจให้คู่แข่งของจอมพล ป. ถือเป็นการเดินหมากผิดพลาดครั้งสำคัญเลยก็ว่าได้ แต่รัฐบาลก็ยังคงประคองอำนาจต่อได้ถึง 7 เดือน ก่อนที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะทำรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน 2500 โดยมีสหรัฐฯ และชนชั้นนำของไทยเปิดไฟเขียว
ยุคสมัยแห่งความเงียบ
การรัฐประหารปี 2500 ทำให้บรรยากาศการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ก่อตัวขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ค่อยๆ สลายหายไป หลังจากจอมพลสฤษดิ์รัฐประหารตนเองในหนึ่งปีให้หลัง ฉีกรัฐธรรมนูญ ยุบเลิกรัฐสภาและพรรคการเมืองทั้งหมด ตลอดจนทำการปกครองภายใต้กฎอัยการศึกและประกาศคณะปฏิวัติเพื่อนำประเทศเข้าการปกครองระบอบเผด็จการทหารเต็มรูปแบบอย่างปราศจากข้อกังขา เสถียรภาพของรัฐบาลจึงมีความแข็งแกร่งมาก ผู้ที่เป็นฝั่งตรงข้ามถูกปราบปรามหมด จนทำให้นักวิชาการขนานนามระบอบของสฤษดิ์ว่าเป็นการปกครองแบบ ‘พ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ’ เพราะปกครองด้วยความเด็ดขาด และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย จนก่อเกิดเป็น ‘ยุคสมัยแห่งความเงียบ’ ที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์มีเสียง
ภาพจาก : Wikipedia
การสามารถรวมศูนย์มาอยู่ที่ตัวจอมพลสฤษดิ์ได้อย่างเด็ดขาด ส่งผลให้การดำเนินงานการพัฒนาด้านต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลเป็นไปอย่างคล่องตัว และเมื่อได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้ในการเร่งพัฒนาประเทศแลกกับการใช้ประเทศไทยเป็นปราการในการสกัดกั้นอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค เศรษฐกิจในช่วงนั้นจึงก้าวหน้าตรงกันข้ามกับพัฒนาการทางด้านการเมืองการปกครองที่หยุดนิ่งเหมือนถูกแช่แข็งเอาไว้
จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตขณะยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2506 ก็เข้าสู่ยุคของ จอมพลถนอม กิตติขจร เขาสืบทอดโครงการต่างๆ ที่ริเริ่มไว้ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ทำให้มีการขาดดุลงบประมาณเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจอมพลถนอมเริ่มถูกโจมตีโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านและประชาชนที่ไม่พอใจ
จอมพลถนอมจึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ที่ใช้เวลาร่างนานถึง 10 ปี เพื่อเข้าสู่กลไกการเลือกตั้ง ภายหลังการเลือกตั้ง พรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอมได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยเสียงที่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภา ทำให้ต้องหาเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นๆ จนนำมาสู่การต่อรองเรื่องผลประโยชน์ระหว่างกัน สุดท้ายปัญหานี้ถูกแก้ไขด้วยการรัฐประหารตนเองตามรอยจอมพลสฤษดิ์ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายอำนาจของระบอบ 3 ทรราช (จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร) ในเวลาต่อมา
สภาพแวดล้อมของประเทศที่อยู่ภายใต้สงครามเย็นและยุครัฐประหารมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ตามมาด้วยการสืบทอดอำนาจนานนับ 10 ปี ของ 3 ทรราช เหมือนฟืนที่สุมไฟแห่งความไม่พอใจของคนในสังคมให้ค่อยๆ ลุกโชนขึ้นจนกลายเป็นเพลิงขนาดใหญ่ที่เผาไหม้อำนาจตัวเอง
การประท้วงเริ่มขึ้นอย่างเด่นชัดหลังมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งใช้เฮลิคอปเตอร์และปืนกลเข้าไปล่าสัตว์ในเขตป่าสงวนที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี เรื่องนี้แดงขึ้นมาเพราะเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งตกลงมากลางทุ่งนาบริเวณจังหวัดนครปฐม ซากสัตว์จึงกระจัดกระจายไปทั่ว
หลังจากนั้นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 9 คน ได้ร่วมกันตีพิมพ์บทกวี ‘บันทึกลับจากทุ่งใหญ่’ ออกเผยแพร่ในหมู่ประชาชน ก่อนที่ ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงขณะนั้น จะประกาศให้นักศึกษากลุ่มดังกล่าวพ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษาในเวลาต่อมา
การประกาศในครั้งนั้นได้นำมาสู่การลุกฮือของนิสิตนักศึกษาหลายพันคนในกรุงเทพฯ เพื่อให้รับนักศึกษา 9 คน กลับเข้าศึกษาตามเดิม พร้อมกดดันให้อธิการบดีลาออก และเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญใน 6 เดือน ซึ่งข้อเรียกร้องสองประการแรกได้รับการตอบสนอง แต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญกลับถูกเพิกเฉย
ภายหลังนักศึกษาและคณะอาจารย์ร่วมกันก่อตั้ง ‘กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ’ ขึ้นมา พร้อมประกาศ 3 ข้อเรียกร้องใหม่ที่เน้นให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด รวมถึงให้มีการจัดการศึกษาทางการเมืองเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความสำนึกและหวงแหนประชาธิปไตยของตน แต่สมาชิกเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 13 คน ถูกเข้าจับกุมเนื่องจากมีการแจกจ่ายจุลสารที่มีข้อเรียกร้องดังกล่าวแก่ประชาชน โดยหน้าปกของจุลสารได้ปรากฏข้อความบางส่วนเกี่ยวกับการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 เมื่อ 2 มีนาคม 2477 ที่ว่า
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร…”
นี่จึงถือเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวของบรรดานิสิตนักศึกษาในครั้งนั้นรับเอาอุดมการณ์ ‘ราชาชาตินิยม’ ที่ถูกสร้างขึ้นช่วงรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาเป็นเครื่องมือยึดเหนี่ยวในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการทหาร
14 ตุลา 2516 ถึง 14 ตุลา 2563
สำหรับการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 นี้ของเครือข่ายนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะราษฎร 2563’ ทำให้มีการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ว่ามีคล้ายกันในแง่ที่ว่าประเทศตกอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมาอย่างยาวนานจนประชาชนต้องการออกมารื้อถอนระบอบนี้ทิ้งด้วยการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเช่นเดียวกับเมื่อ 47 ปีก่อน ขณะที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็พยายามยื้อเวลาเอาไว้ให้นานที่สุดไม่ต่างอะไรจากครั้งรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร
แต่การเคลื่อนไหวทั้งสองครั้งต่างกันในแง่ที่ว่าคณะราษฎรซึ่งเคยเป็น ‘ผู้ร้าย’ ในปี 2516 ได้กลายมาเป็น ‘ฮีโร่’ ของขบวนการนักศึกษาในวันนี้ พวกเขาพยายามเชื่อมโยงตัวเองกับคณะราษฎรอย่างใกล้ชิด และกลับไปรื้อฟื้นทุกอย่างเกี่ยวกับคณะราษฎรขึ้นมาทั้งหมด ขณะที่วีรชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 กับพฤษภา 2535 ที่ถูกเชิดชูตามเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยกระแสหลัก ไม่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเลยบนเวทีปราศรัย
ผศ. ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ เจ้าของงานวิทยานิพนธ์ ‘ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2506-2516)’ ให้สัมภาษณ์กับ BBC Thai ว่าแม้แต่ข้อเรียกร้องหนึ่งความฝันในการมีระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ก็ไม่ได้ไปไกลกว่าหลักการของคณะราษฎร ลักษณะการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันจึงเป็นการสานต่อภารกิจของคณะราษฎรให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
“สองเหตุการณ์ที่ถูกยกย่องจากกระแสหลักว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของประชาธิปไตย นักศึกษากลับมองว่าเป็นชัยชนะที่ไม่แท้จริง สองเหตุการณ์ที่ถูกมองว่าเป็นชัยชนะของนักศึกษาและประชาชน เมื่อเขากลับไปทบทวนแล้วเห็นว่ามันไม่ยั่งยืน และเป็นการต่อสู้ที่ถูกชี้นำโดยอุดมการณ์ที่ผิดพลาดด้วยซ้ำ” ผศ. ดร. ประจักษ์ กล่าว
ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 กับพฤษภา 2535 จึงถูกขบวนการนักศึกษาในปัจจุบันมองว่าเป็นประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ ที่ประชาชนไม่ได้รับชัยชนะที่แท้จริง แต่เกิดจากความขัดแย้งกันเองระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นทหาร โดยที่โครงสร้างอำนาจเก่ายังคงอยู่ การเคลื่อนไหวในครั้งนี้จึงเป็นการเรียกร้องให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยของประชาชน เพื่อประชาชน และโดยประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่การขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ไปได้แต่วนกลับมาลูปเดิมด้วยการมีนายกฯ พระราชทานหรือรัฐบาลแห่งชาติอีกเหมือนในอดีตที่ผ่านๆ มา
จากปฏิวัติ 2475 ไล่เรียงมาจนถึง 14 ตุลา 2516 จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้อีกฝ่ายดั่งประโยคที่ว่า ‘ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์’ แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือผู้แพ้ไม่ใช่แค่ฝั่งตรงข้าม แต่เป็นประชาชนทั้งประเทศที่ถูกประวัติศาสตร์หล่อหลอมให้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจเสมอมา
อ้างอิง:
- www.bbc.com/thai/thailand-53160098
- www.the101.world/the-myths-of-2475
- www.the101.world/sound-of-silence
- www.bbc.com/thai/thailand-53399231
- www.bbc.com/thai/features-45781649
- www.bbc.com/thai/thailand-54491617
- https://waymagazine.org/dirty-election-2500
- www.bbc.com/thai/features-45781649
- www.matichon.co.th/article/news_1023165
- ณัฐพล ใจจริง. ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2563.
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติศาสตร์การเมืองไทย : 2475-2500. พิมพ์ครั้งที่3. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544.
- โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย : หลายมิติ. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2548.