หากคุณใช้บริการขนส่งมวลชนระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รวมไปถึงแอร์พอร์ตลิงก์ หลังจากรถไฟเข้าเทียบชานชาลาแล้ว จะสังเกตได้ว่าคุณสามารถเดินเข้าไปในตัวรถได้ทันที ไม่ต้องปีนขึ้นบันไดหลายขั้นแบบรถไฟทางไกลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
การออกแบบชานชาลาให้สูงเทียบเท่ากับพื้นในตู้โดยสาร เรียกว่า ‘ชานชาลาเสมอระดับ’ ส่วนชานชาลาที่อยู่คนละระดับกับพื้นในตู้โดยสาร (ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วตัวชานชาลาจะอยู่ต่ำกว่า) เรียกว่า ‘ชานชาลาต่างระดับ’ และการออกแบบชานชาลาเสมอระดับนั้นเป็นการออกแบบให้ทุกๆ คนใช้ได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร จะเดินเร็ว เดินช้า เดินลำบากเพราะเข้าเฝือกหรือเริ่มเข้าสู่วัยชรา รวมไปถึงผู้ที่ต้องใช้รถเข็น สอดคล้องกับแนวคิด Universal Design
ชานชาลาเสมอระดับคืออะไร
เฟซบุ๊กเพจ BKKTrains ได้อธิบายถึงชานชาลาเสมอระดับไว้ว่า เป็นชานชาลาที่มีระดับความสูงของชานชาลาใกล้เคียงหรือเท่ากับความสูงของพื้นรถ ซึ่งการที่มีระดับความสูงใกล้เคียงหรือเท่ากันนี้ จะช่วยให้ผู้โดยสารเดินเข้าหรือออกขบวนรถได้อย่างสะดวก ผู้ทุพพลภาพที่ใช้รถเข็นวีลแชร์สามารถเข้าขบวนรถได้ง่าย โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือพิเศษ รวมถึงผู้ที่เดินทางพร้อมสัมภาระก็เข้าออกขบวนรถได้ง่ายเช่นเดียวกัน และการที่ผู้โดยสารสามารถเข้าออกขบวนรถได้อย่างสะดวกนั้น ทำให้รถไฟใช้เวลาจอดในแต่ละสถานีไม่นานเท่ากับสถานีที่เป็นชานชาลาต่างระดับ สามารถทำขบวนได้รวดเร็ว ไม่เกิดความล่าช้า และที่สำคัญ ผู้โดยสารทุกคนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย1
ทำไมเราจึงต้องสนับสนุนชานชาลาเสมอระดับ
สมัยที่ยังเป็นนักเรียน ผู้เขียนโดยสารรถไฟสายใต้จากสุราษฎร์ธานีขึ้นมากรุงเทพฯ บ่อยครั้ง และการหอบหิ้วสัมภาระที่มีมากกว่ากระเป๋า 1 ใบ นั้นเริ่มสร้างความลำบากในการปีนขึ้นรถไฟ เพราะในบางครั้งญาติพี่น้องก็มีของฝากติดไม้ติดมือใส่กล่องมาด้วยเสมอๆ และเมื่อผู้เขียนสังเกตผู้โดยสารท่านอื่นที่เป็นผู้สูงอายุ การพาตัวเองจากชานชาลา ปีนขึ้นบันไดเข้ามาในตู้โดยสารนั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แม้จะไม่มีสัมภาระอะไรมากมายก็ตามที แต่ในทางกลับกัน เมื่อผู้เขียนได้โดยสารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ไปสนามบินสุวรรณภูมิพร้อมกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ การเดินเข้าไปในตู้โดยสารนั้นสะดวกกว่ามาก เพราะพื้นตู้โดยสารอยู่ระดับเดียวกับชานชาลา
ข้อดีของชานชาลาเสมอระดับนี้ เป็นมาตรฐานของโครงการระบบรางใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งบางโครงการก็ได้ทำไปแล้ว เช่น โครงการรถไฟทางคู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมกับปรับปรุงตู้โดยสารเดิมให้สามารถใช้งานได้ทั้งชานชาลาต่างระดับและชานชาลาเสมอระดับ รวมไปถึงได้กำหนดมาตรฐานความสูงของชานชาลาให้เป็นแบบเสมอระดับไว้เมื่อสองปีก่อน2
ชานชาลาเสมอระดับ สถานีรถไฟรังสิต ก่อสร้างโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย
(ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure)
แต่เวลาผ่านไปไม่นาน รฟท. กลับแก้ไขมาตรฐานเดิมที่เคยกำหนดไว้ เปลี่ยนไปใช้ชานชาลาต่างระดับ โดยอ้างเหตุผลเรื่องงบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งโครงการรถไฟทางคู่สายใต้บางส่วนได้ทำชานชาลาต่างระดับไปแล้ว3 รวมไปถึงการออกมาสนับสนุนการสร้างชานชาลาต่างระดับของสหภาพแรงงานรัฐวิสากิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่อ้างเหตุผลเรื่องการที่ต้องเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้าง ต้องจัดซื้อรถที่รองรับชานชาลาแบบใหม่นี้ เป็นการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยแอบแฝง ความไม่สะดวกในการเดินข้ามชานชาลาของผู้โดยสาร เพราะต้องทำสะพานลอยข้าม แทนที่จะเดินข้ามบนรางได้เลย รวมไปถึงปัญหาขอบชานชาลาที่อาจกระแทกกับตู้โดยสารได้4
“ถ้าเป็นเหตุผลตามนี้ แล้วคุณสร้างรถไฟเพื่อใคร ถ้าทำเพื่อผู้โดยสาร ก็ต้องเอาผู้โดยสารเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผู้โดยสารสะดวกที่สุด”5
นี่คือข้อความจากเฟซบุ๊กเพจ โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ที่ออกมาตอบโต้แถลงการณ์ของทางสหภาพฯ ว่าเหตุใดยังถึงสนับสนุนชานชาลาต่างระดับ เพราะเราสามารถปรับปรุงตู้โดยสารเดิมให้รองรับชานชาลาทั้งสองแบบได้ ควบคุมการก่อสร้างให้ได้มาตรฐานไม่ให้โครงสร้างของสถานีกระแทกกับตัวตู้โดยสาร ออกแบบสถานีให้มีลิฟต์ บันไดเลื่อนเพื่อขึ้นลงสะพานลอย หรือทางลอดให้สามารถเดินเข้ามาชานชาลาได้ และควรออกแบบให้คำนึงถึง Universal Design ให้ได้มากที่สุด
Conclusion
หลังจากที่มีการถกเถียงและร้องเรียนกันมานานนับเดือน ล่าสุด (30 มีนาคม 2564) ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งทบทวนเรื่องการออกแบบชานชาลาว่าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลแล้ว เพราะการออกแบบสร้างชานชาลาตามมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น ต้องมีการคิดมาก่อนแล้วว่ามีความสะดวก ปลอดภัย และประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ตามหลักตามหลักการออกแบบเพื่อมวลชน (Universal Design) คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน6
แต่ไม่ว่าข้อสรุปในอนาคตจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนเชื่อว่า การลงทุนทำชานชาลาเสมอระดับให้เหมือนกันหมดทุกสถานี ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า อำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารทุกคนสามารถเข้าถึงขนส่งมวลชนได้สะดวก ปลอดภัยอย่างแท้จริง
อ้างอิง:
1 https://bit.ly/3wtxzPF
2 https://bit.ly/2PNp3dd
3 https://bit.ly/3cIDokb
4 https://bit.ly/3wvgipc
5 https://bit.ly/3uflnzP
6 https://bit.ly/3cKskTE