ช่วงชิงชาติ

ช่วง ชิง ชาติ: ข้อเสนอของปัญญาชน เพื่อช่วงชิงวาทกรรมอย่างคำว่า ชาติ 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คนไทยในแทบทุกระดับชั้นของสังคมต้องตกอยู่ภายในช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในหลากมิติ สภาวะอิหลักอิเหลื่อของความยุติธรรม ความอดทนอดกลั้นเป็นเวลานานนม สั่งสมเป็นความโกรธเคือง แต่ยังคละเคล้าด้วยความฝันและความหวังว่าจะอนาคตมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย ปรากฏการณ์ใหม่ซ้ำเดิมอย่างม็อบ 2020 นี้ จึงมาพร้อมกับคำประกาศหลักสามข้อเรียกร้อง คือ ให้นายกรัฐมนตรีลาออก เปิดสภา-แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบัน

        จากจุดเริ่มต้นของเหล่านักเรียนนักศึกษา สู่การออกมาร่วมต่อสู้กับเยาวชน โดยชนชั้นกลางและปัญญาชนคนเมืองซึ่งแม้พวกเขาจะได้รับพรีวิเลจบางอย่างจากโครงสร้างความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตพวกเขาก็ยังคงถูกกดทับจากระบบที่ไม่ยุติธรรมดังกล่าว ดังนั้น พวกเขาก็ยังคงยืนหยัดจะลุกขึ้นสู้ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้น ไม่เพียงสำหรับตัวเขา แต่ยังรวมไปถึงคนรอบข้างในสังคมด้วย 
        ภายหลังจากต่อสู้อย่างยาวนานอีกครั้งในวันนี้ เหตุการณ์ฉีดน้ำสกัดกั้นการชุมนุมจากภาครัฐเป็นเหตุให้คนจำนวนไม่น้อยทักทายเรามาผ่านทางโซเชียลมีเดีลด้วยความเป็นห่วง เราจึงถือโอกาสนี้ในการเรียกคนรู้จัก 3 คนที่บังเอิญมาม็อบในวันเดียวกันมาเจอกันที่สนามราษฎร์ หรืออดีตท้องสนามหลวง  
        ตัวเราเป็นเด็กจบใหม่จากมหาวิทยาลัยรัฐกลางเมือง จากคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนอีกสามคนเป็นรุ่นพี่ห่างกันไม่กี่ปี คนแรกเป็นผู้ชาย นามสมมุติว่า ‘พี’ สายสังคมวิทยาสภาวะสมัยใหม่ สองคนเป็นรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยข้างเคียง จากหลักสูตรนานาชาติ สาขาผู้ประกอบการ  คนหนึ่งเป็นผู้ชายชื่อ ‘ที’ เขาทำงานในบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง  ส่วนอีกคนในวงสนทนา เป็นฟรีแลนซ์สาวสายบิสิเนสคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีนามว่า ‘เอส’ ซึ่งมีความสนใจทางการเมืองอย่างคาดไม่ถึง เราจึงถือขอพวกเขามานั่งล้อมวงพูดคุยกันเกี่ยวกับปรากฏการณ์ตรงหน้า       
        เหตุใดกลุ่มปัญญาชนคนเมืองอย่างเราๆ จึงกลายมาเป็นกลไกสำคัญ ที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านกับเผด็จการและความไม่ชอบธรรมที่ฝังรากลึกกับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน พวกเขาและเธออยากเห็นอะไรเปลี่ยนแปลง คิดว่ามีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลัง ความคิด และความฝัน ความหวังที่พวกเขามีต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงในประเทศชาติ สู่กลยุทธ์การต่อสู้ที่จะนำพาชัยชนะทั้งสามข้อเรียกร้องมาให้พวกเรา
        ท้ายที่สุดนี้ แม้ว่าคำตอบหลักฟังดูไกลแสนไกล อย่างการต่อสู้ช่วงชิงวาทกรรมอย่างคำว่าชาติให้ชาติหมายถึงประชาชน ทว่ารูปแบบการต่อสู้ครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นไปอย่างถอนรากถอนโคนเสียทีเดียว หลายคนยังคงเชื่อว่าในเมื่อเรายังคงยึดมั่นในสังคมประชาธิปไตย ความหลากหลายก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในสังคม ตราบใดที่ต่างฝ่ายต่างไม่ใช้เสรีภาพของตนไปละเมิดใคร

1
การลงทุน

        “คุณมีความคิดเห็นอะไรจากปรากฏการณ์ตรงหน้านี้” เราเปิดบทสนทนาทันทีหลังเสียงสัญญาณบันทึกอัดเสียงดังขึ้น
        “เราอยากนั่งรถไฟฟ้ามาสนามหลวงที่เปิดให้ประชาชนตลอด เพื่อมานั่งนอนอ่านหนังสือในวันเสาร์อาทิตย์สักสี่ห้าทุ่มแล้วก็กลับมาเจอพื้นที่หน้าคอนโดฯ ที่ไม่แย่ ฟุตพาทโอเค ต้นไม้ร่มรื่น ไม่สกปรก ไม่มีหลุมไม่มีบ่อ นี่คือสิ่งที่เราอยากให้มันเป็น เวลาใครมาด่าคนม็อบว่าไม่รักชาติ เอาจริงจะรักหรือไม่รักมันก็ย่อมได้ แต่เราแค่อยากรักชาติในแบบที่มันดีอย่างที่ว่ามากกว่า”
        พี คนหนึ่งในวงสนทนาจินตนาการภาพของชาติไทยที่เขาฝันเห็น และดูเหมือนคนอื่นก็จะเห็นด้วย สิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นความคิดที่เรียบง่าย เกี่ยวกับการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะที่สะดวกสบาย แต่ช่างน่าเสียดายที่ประเทศไทยเราก็ยังคงไม่สามารถมอบให้ได้อย่างจริงจัง และเมื่อใครคิดเช่นนี้ ก็กลับมักถูกโต้กลับด้วยวาทกรรมเช่นว่าไม่รักชาติ, เราคิด
       “ขณะที่เราเองเป็นคนเมือง แค่นั่งรถออกมาจากบ้านมาม็อบหนึ่งวันเพียงสี่ห้าชั่วโมงก็กลับได้แล้ว เราว่าผลลัพธ์ของม็อบขนาดนี้มันก็เกินคาดและน่าตื้นตันแล้ว ลองคิดดูว่าถ้าหากเป็นต้นปีบอกว่าจะมีม็อบที่มาหน้าวัง แล้วพูดเรื่องปฏิรูปสถาบัน จะมีใครเชื่อมั้ย มันไม่มีหรอก ซึ่งหลังจากนี้มันจะเปลี่ยนแปลงต่อไปยังไง จะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่มีใครรู้” เขาขยายความเสริม ปรากฏการณ์ตรงหน้า เทียบเคียงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในอดีตและอนาคตอันใกล้นี้
        “อีกอย่างด้วยรูปแบบของม็อบทุกวันนี้มันเป็นแฟลชม็อบมันปุบปับและไม่แน่นอน ต้องยอมรับว่ามันเป็นไปตามพลวัต ซึ่งไม่เหมาะกับคนต่างจังหวัด อีกอย่างต่อให้จัดม็อบค้างคืนก็ไม่เป็นผลดีเท่าไหร่ เพราะว่ามวลชนนั้นยังไม่พร้อม ใช่ว่าทุกคนจะเอาด้วย ตอนนี้มันมีแค่เด็ก มองไปทุกคนแบบหน้าใส” เขาผายมือไปยังกลุ่มเยาวชนทั้งหลายที่มาร่วมต่อสู้ครั้งนี้ ก่อนจะชี้ให้ดูบรรดาผู้ใหญ่บางส่วนที่มานั่งนอนกางเตนต์อยู่บริเวณท้องสนามราษฎร์รอบข้างที่มีอยู่บางตา “แต่เมื่อไรก็ตามที่ดึงดูดผู้ใหญ่ออกมาได้มากเข้า เมื่อนั้นแหละ… คือความหวัง” 
        “ถ้าเทียบกับเสื้อแดงจากต่างจังหวัดที่มาปักหลักราชประสงค์สามเดือนเต็ม นอนตรงนั้น อยู่ตรงนั้น ถามว่าเขาได้อะไร ยุบสภายังไม่ยุบเลย นอกจากนั้นยังโดนสลายการชุมนุม ตายไปกว่า 99 ศพ” เขาเปรียบเทียบให้เห็นถึงการลงแรงของคนม็อบปัจจุบันกับม็อบเสื้อแดงในอดีตที่ออกมาค้างคืนชุมนุมเป็นเวลานาน แต่กลับแทบไม่ได้สิ่งดีงามอะไรกลับไปเลย หากเทียบกับม็อบทุกวันนี้ “ คนเมืองบางคนอาจจะบอกว่าเราไม่เห็นจะได้อะไรจากการมาม็อบเท่าไหร่ แต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ เราอยากจะบอกว่า นี่เป็นการลงทุนที่น้อยแต่คุ้มค่ามากแล้วนะ”

2
การเปลี่ยนผ่าน

        “ย้อนไปเมื่อสามสี่ปีก่อน เราจะจำได้ว่าคนจำนวนมากทั่วประเทศต่างเข้ามาร้องไห้ในบริเวณสนามหลวงแห่งนี้ ขณะเดียวกันก็มีทวีตยืนกรานว่าการสร้างเมรุถึงพันล้านด้วยจำนวนเงินที่เยอะขนาดนั้น มันก็คือภาษี ตกต่อคนเจ็ดบาท ซึ่งเราสาปมารถเอาเงินก้อนนี้ไปสร้างผลกำไรให้กับพี่น้องประชาชนที่ทุกข์ยากได้มากมาย คุณคิดอย่างไร” เราเกริ่นถาม
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อสามสี่ปีก่อน คนมาม็อบสนามหลวงวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นคนเดียวกันกับที่ออกมามีส่วนร่วมในงานพระราชพิธีถวายเพลิงบรมศพ และแสดงความไม่พอใจต่อต้นทวีตดังกล่าว ทว่าวันนี้กลับออกมาเรียกร้องข้อสาม การปฏิรูปสถาบันให้ตรวจสอบได้ สิ่งนี้กำลังสะท้อนอะไรกับสังคมไทย
        “อย่างทวีตตอนที่ออกมาพูดเรื่องภาษีก็คือว่า ถ้าเอามาหารแจกแต่ละคนจะตกคนละเจ็ดบาท เมื่อก่อนนี่ก็มีคนด่าเยอะมาก แต่ล่าสุดทวีตนั้นครบรอบสามปี ก็มีคนที่เคยด่ารีพลายว่าขอโทษเยอะมาก พูดว่าตัวเองนั่นนู่นนี่ ลึกๆ แล้วก็แอบนึกขำ” พีพูดถึงทวีตนั้นด้วยอารมณ์ขบขันต่อความ (ไม่) ไร้เดียงสาของชาวโซเชียลฯ พลางโชว์ให้ดูในวง ซึ่งก็เผยให้เห็นว่าคนจำนวนหลายร้อยออกมาแสดงปฏิกิริยาตอบโต้กับตัวเองในอดีต ซึ่งเพียงเวลาผ่านมาไม่นาน กลับทำให้ความคิดของพวกเขาปรับเปลี่ยนไปราวกับคนละคนภายในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จนกระทั่งต้องออกมาแสดงความรู้สึกผิดต่อตัวเอง สะท้อนให้เห็นว่าการพูดถึงเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นเหตุเป็นผลในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะผ่านม็อบก็ดี หรือโซเซียลมีเดียก็ตาม ย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์อะไรบางอย่าง
       “ในขณะเดียวกัน เรามีเพื่อนที่บ้านอาจจะเป็นสลิ่ม หรือแบบรักเจ้ามาก จนไม่ฟังอะไรเลย ตอนนี้เขาก็ยอมรับฟังมากขึ้น” เขาเล่าพลางอธิบายถึงเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนของคนต่างวัย เมื่อก่อนปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนยังคงเชื่อในเรื่องสมมติเทพ หรือยอมรับว่าสังคมคนเราต่างยังคงมีลำดับชั้นทางสังคมชัดเจนอยู่ ต่างไปจากในรุ่นของพวกเราหรือเด็กสมัยนี้ที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความเชื่อเหล่านั้น และไม่ได้เห็นว่าเขาอยู่เหนือกว่าเราอย่างเป็นเรื่องปกติ ยิ่งไปกว่านั้นเรายังคงถกเถียงกันด้วยข้อเท็จจริง
        “อย่างเรื่องภาษีเนี่ย รวมทุกส่วนที่ซุกตามกรมกระทรวงต่างๆ ที่เอาไว้เทิดทูนสถาบันอีกหลายก้อนจะพบว่าถ้าเอามาเทียบกับขนาดของ GDP จะยิ่งตกใจ คือ ประเทศเราใช้เงินกับสถาบันแทบจะเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ GDP เรากลับต่ำมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ตัดภาพมาที่ชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไปของเราดูสิ แค่นี้ก็เห็นถึงความแตกต่างแล้ว”   

3
การปฏิวัติเชิงวัฒนธรรม

        หลังจากนั่งคุยกันได้พักหนึ่งเรายิงคำถามต่อทันทีด้วยความสงสัยว่าพวกเขามองการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างไร    
        “ม็อบมันทำหน้าที่สร้างการรับรู้ต่อสังคมว่ามีข้อเรียกร้องแบบนี้อยู่ เป็นฐานความรู้หรือการคุยแบบนี้ เมื่อถึงเวลาที่มันเหมาะสมข้างหน้ามันก็จะเปลี่ยนง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่มี ต่อให้เราเชื่อว่าอีกสิบปีคือเวลาที่เหมาะสมในการจะพูดถึงเรื่องปฏิรูป ถ้าสมมติเราไปพูดตอนนั้นครั้งเดียวมันก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรอก” พีกล่าวถึงการสื่อสารเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะม็อบที่กลายมาเป็นพื้นที่สำหรับการสนทนาพาทีในหลายเรื่อง พร้อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการพูด ซึ่งถือเป็นอาวุธชั้นดีของชนชั้นล่างในการเปล่งเสียงออกมาเพื่อต่อกรกับอำนาจบาตรใหญ่ที่คอยกดทับมาโดยตลอด   
        “อันที่จริงคนไทยพูดถึงสถาบันมานานแล้ว และพูดถึงมาโดยตลอด เป็นการเมาท์มอยซุบซิบ แต่เดี๋ยวนี้เรา ออกมาพูดในที่สาธารณะมากขึ้น และหัวข้อมันไปไกลกว่าเดิมมาก เราพูดถึงเรื่องภาษี ถึงเรื่องว่ามันเหมาะสมไหม Constitutional Monarchy (ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ) การวางตัวแบบไหนถึงเหมาะสม คือสังคมมันก็เคลื่อนไปในเชิงวิชาการมากขึ้น”
        อีกนัยหนึ่งม็อบในที่นี้ จึงทำหน้าที่เป็นดั่งเชื้อเพลิงที่คอยหล่อเลี้ยงให้ประเด็นหรือเรื่องเล่ามันยังคงครุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา คราใดที่ถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแต่เพียงอย่างเดียวดังที่เคยมีมา แต่สำนึกคิดของพลเมือง ปัจจัยเชิงสังคมและวัฒนธรรม ย่อมถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไปตามกัน เช่นกันกับการปฏิวัติเมื่อปี 2475
        “เพราะการปฏิวัติ 2475 มันก็แค่การปฏิวัติของชนชั้นนำ โดยมีทหารและเจ้าบางคนเอาด้วย ถามว่าถ้าเราเป็นคนธรรมดา เป็นชาวบ้านในปี 2474 เราอยู่อุดรฯ อยู่เชียงใหม่เป็นคนยังไงเนี่ย ปี 2476 สำนึกทางประชาธิปไตยก็คงไม่ได้เปลี่ยนอะไร สิ่งที่ขาดไปมันจึงคือปฏิวัติเชิงวัฒนธรรม ซึ่งประเทศเราไม่เคยมีเรื่องนี้อย่างจริงจัง อันนี้เราไม่อยากให้มองข้ามไป”
        “แล้วก็เราไม่ได้สนับสนุนให้ล้มล้าง” พีพูดดักคอ ด้วยความเข้าใจของใครหลายคนมักมองการปฏิรูป ปฏิวัติ เท่ากับล้มล้างสถาบันไปเสียหมด แต่นั่นไม่ไช่ความเชื่อที่ถูกต้องเสมอไป โดยเขาเสนอต่อไปว่า “เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นจุดร่วมของความเป็นไทยอยู่ และสังคมมันจำเป็นต้องคือความเป็นหนึ่งเดียวกัน (solidarity) อย่างในอเมริกามีสถาบันรัฐธรรมนูญ แต่ประเทศเรากษัตริย์ยังมีหน้าที่แบบนั้นอยู่” นี่คือสิ่งที่เขาคิดสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน
        “แต่ในอนาคตหากมีสิ่งอื่นสามารถกลายมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคนไทยได้ สังคมก็จะเป็นไปในอีกแบบหนึ่ง”

4
การต่อสู้เชิงวาทกรรม

        การเปลี่ยนแปลงมันควรจะเป็นแบบไหนหรือทิศทางใด ที่จะทำให้เราเอาชนะอีกฝ่ายได้ เมื่อสิ่งที่เราสู้ประกอบด้วยหลายสิ่งอย่างที่พร้อมจะทำให้เราเป็นผู้แพ้ได้เสมอ 
        “เราเป็นมาร์กซิสต์ เราเชื่อในวิภาษวิธี” พีพูดถึงแนวคิดสายหนึ่งที่เขายึดถือ ซึ่งเชื่อว่าทุกสิ่งอย่างในโลกอยู่ในสภาวะเปลี่ยนแปลงจากการขัดแย้งจากภายในอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีสิ่งเดิมคงอยู่ (thesis) ก็จะมีสิ่งใหม่เข้ามาท้าทาย (anti-thesis) และนำไปสู่การผสานด้วยสิ่งใหม่ (synthesis) สังคมมันเป็นไปด้วยเส้นทางวิวัฒนาการเช่นนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
        “ม็อบมันต้องไม่สุภาพอยู่แล้ว เพราะมันคือโกรธ ถ้าไม่โกรธอะไปวัด” พูดเสร็จคนในวงก็หัวเราะครืน “เพราะฉะนั้น อย่ามาหาเรียกร้องอะไร เห็นหลายคนพยายามทำให้มันคลีน พาสเจอร์ไรซ์กันเกินไป เราจะไม่เห็นวันแห่งชัยชนะเลย” 
        เขาหมายความว่า การต่อต้านด้วยคำหยาบ คำรุนแรงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แท้ที่จริงแล้วมันไม่ได้ทำให้ข้อเรียกร้องมันอ่อนลงไปเลยแม้แต่น้อย มันไม่เกี่ยวกันเลยเสียด้วยซ้ำ การที่อีกฝ่ายออกมาว่า ก็ใช่ว่าเราจะต้องคล้อยตามเขาเสมอไป อย่าให้ใครเอาอำนาจเช่นนี้มากดเรา สิ่งนี้มันเกินไปกว่าการต่อสู้ด้วยคำพูด การกระทำ แต่มันวาทกรรมที่กำลังเข้ามาเล่นกับชุดความเชื่อหนึ่งหนึ่ง ดังนั้นการต่อสู้รูปแบบนี้เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดและปรับความหมาย
        “ถ้าอยากจะรู้ว่าใครที่มีอำนาจเนี่ย ให้ดูว่าความหมายของสิ่งนั้นว่าถูกผูกขาดโดยใคร ซึ่งน่าเสียใจอย่างหนึ่งคือ ปัญหาของสังคมประชาธิปไตยหรือเสรีนิยมทั่วโลกมันขาดการถกเถียงเชิงศีลธรรม อย่างฝ่ายเสรีนิยมไทยมักจะยอมให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมผูกขาดคุณค่าทางศีลธรรมไป เราก็ต้องเถียง ต้องสู้กับชุดวาทกรรมเหล่านั้น อย่าให้ฝ่ายนั้นผูกขาดข้อถกเถียงเชิงศีลธรรมไว้อย่างเดียว มันน่าเสียดาย ถ้าหากเราจะไม่ช่วงชิงอำนาจตรงนั้นมาเป็นของเรา   แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราสามารถช่วงชิงความหมายมาได้เราก็มีสิทธิ์ที่จะฟังดูชอบธรรม” 
        “อย่างเช่นคำว่าชาติเนี่ย ปฏิเสธไม่ได้ว่าถูกผูกขาดโดยฝ่ายขวา เวลาพูดถึงคำนี้เราจะนึกถึงแต่อะไรในมิติเชิงวัฒนธรรมกระแสหลักที่มีอำนาจนำในสังคมไทย นึกภาพตามอย่างแม่พลอย สี่แผ่นดิน โหมโรง ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอำนาจนำเหนือกว่าอำนาจทางการเมืองอีกด้วยซ้ำ” พียกตัวอย่างถึงเรื่องชาติที่ใครหลายคนมักจะเชื่อมันไปโดยปริยาย ว่ามันเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เป็นสัจนิรันดร์ มีเพียงชุดความเชื่อหนึ่งเดียว เข้าใจมันโดยมักไม่ตั้งคำถาม ทำความเข้าใจ หรือสงสัย  โดยเสนอให้ปรับมุมมองนี้เสียใหม่ว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างและผลิตซ้ำขึ้นมาให้ห้วงเวลาหนึ่ง
    “แล้วฝ่ายซ้ายมีอะไร ชาติมันแทบจะไม่เคยหมายถึงประชาชนเลย” เขาแย้ง “เราออกมาสู้ยิบตา แต่น่าเสียดายถ้าเราไม่ไปช่วงชิงความหมายเหล่านี้มา” เขาอธิบายถึงการช่วงชิงวาทกรรมของคำว่าชาติ อย่าให้อีกฝ่ายเป็นฝ่ายผูกขาดเพียงฝ่ายเดียว ไม่งั้นเขาจะกลายเป็นคนที่มีควบคุมสรรพสิ่งเหมือนเช่นทุกวันนี้ ถ้าเราทำให้ชาติมันสามารถหมายถึงประชาชนได้ สำนึกมวลชนก็จะเปลี่ยนไป ลองคิดดูว่าถ้าเมื่อไรเราสามารถช่วงชิงความหมายเหล่านี้มาเป็นสิ่งที่เรานิยามวาทกรรมขึ้นมาใหม่เอง ผลิตซ้ำ จนไปครอบงำเขาได้ อันนี้ก็จะเป็นการต่อสู้ที่ชาญฉลาด และอำนาจก็จะกลายเป็นของเรา
        แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังคงเสนอต่อไปว่า “แล้วเราก็ไม่ควรยอมให้ฝ่ายซ้ายผูกขาดอย่างเดียวด้วยเช่นกัน เพราะว่าเราเองก็คาดหวังสังคมที่มีความเห็นที่หลากหลาย คำว่าชาติจึงควรที่จะมีหลากหลายความหมาย ไม่ใช่แค่ความหมายเดียวที่ถูกผูกขาดเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งกับการมาเคลียร์คำ มาสร้าง consensus ร่วมกันกับข้อถกเถียงเชิงศีลธรรมพวกนี้ให้มันเป็นสิ่งที่ประนีประนอมระหว่างกันทั้งสองฝ่าย    

5
วัน ทู ทรี…

        ถึงแม้ว่าเขามองว่าการต่อสู้ของม็อบมันได้มาไกลมากแล้ว แต่ก็เชื่อว่ามันยังจะต้องไกลต่อไปได้อีก ข้อเรียกร้องทั้งสามนี้จะไม่ใช่สามข้อสุดท้าย สามข้อตลอดไปที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศของเรา อย่างไรก็ดีการมีม็อบ การพูดถึงอยู่เนืองๆ มันเป็นฐานที่ดีในการพูดเพื่อให้สังคมรับรู้ว่ายังมีความต้องการเปลี่ยนแปลง “เพราะเราก็ไม่ได้ทำให้ม็อบเป็นเรื่องโรแมนติก และทำให้มันด้อยค่าลง มันยังคงมีหวังอยู่ แต่มันอาจจะนาน ยิ่งถ้าไม่สู้ เราอาจจะต้องต่อสู้กันมันนานกว่านี้ ประกาศสามข้อเรียกร้องเนี่ย ข้อ 1 ข้อ 2 มันควรจะเห็นผลภายในปีสองปีนี้แล้วด้วยซ้ำ”
        “สำหรับข้อที่ 3 ก็ควร ย้ำว่าควร!” เราแทรกขึ้นมา ก่อนที่พีจะขยายความต่อ “ใช่ แต่มันยังไม่ถึงจุดที่ทุกคนเอาด้วย หรือเข้าใจอกเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน มีคนบอกว่าที่ชนชั้นกลางไม่ออกมาเพราะว่ามีข้อที่ 3 เพราะเขากอดเขาผูกขาดคำว่ารักเจ้าและรักชาติไว้อย่างแนบแน่น ซึ่งเป็นความหมายที่สถิตและให้นิยามโดยฝ่ายขวา ทั้งที่ไม่รู้ว่ามันชอบธรรมยังไงทำไมถึงไม่ควรปฏิรูป”
        ในทรรศนะของเขามันจึงเป็นเรื่องแปลกที่ชนชั้นกลางจำนวนมากไม่เลือกออกมาโดยมีข้อสามเป็นเหตุผล แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดคาดมากนัก แต่เพียงแค่จะบอกว่าการที่คนไม่ออกมาเพราะข้อที่ 3 มันก็แสดงว่าสังคมไทยมันก็ไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม เหมือนว่าเราก็อยู่ในความไม่ปกติจนกลายเป็นเรื่องปกติ
        “เช่นเดียวกับคำว่ารักเจ้า เราก็ต้องช่วงชิงคำนี้มาให้ได้” เขายกตัวอย่างเสริม “อย่าให้เขาผูกขาดไว้แต่ฝ่ายเดียว เขาควรรักเจ้าแบบอยากให้เจ้าอยู่รอด และรักเจ้าแบบที่เห็นว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป เจ้าอยู่แบบนี้ไม่รอดแน่ เราจึงต้องสร้างการเปลี่ยนแปลง และเมื่อไรที่เราช่วงชิงความหมายนี้มาได้เนี่ย อีกฝ่ายจะหมดพลัง” 
        “คิดอย่างไรกับการที่มีคนมาบอกว่าคำว่ารักเจ้าแบบอยากให้อยู่รอดของคุณมันคือการล้มล้างสถาบัน” เอสที่นั่งฟังอยู่นานถามแย้งอย่างน่าสนใจ และคำตอบที่ได้จึงชัดเจนในประเด็นนี้ยิ่งขึ้น “นั่นก็แสดงว่าความหมายของคำว่ารักเจ้ามันยังคงถูกผูกขาดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ และนี่ก็คือการช่วงชิงวาทกรรม เราต้องสู้จนกว่าฝ่ายนั้นจะอ้างไม่ได้ แล้วเมื่อไรที่เขาสู้ไม่ได้ ก็หมายความว่าเราได้ช่วงชิงวาทกรรมชุดนี้ไปแล้ว การต่อสู้มันจึงไม่ใช่แค่การลงถนนเพียงเท่านั้น มันต้องต่อสู้เชิงอุดมการณ์ เชิงวาทกรรมร่วมด้วย นี่คือเรื่องน่าเสียดายของขบวนการประชาธิปไตยที่เราไม่ช่วงชิงวาทกรรมของคำเหล่านั้นมาเป็นของฝ่ายเรา”

6
อย่าลืมชื่นชมดอกไม้ริมทาง 

        “คิดว่ามันจะเปลี่ยนไปได้ขนาดไหนมั้ย” เราถามถึงอนาคตอันใกล้นี้ คำถามเดียวกับที่หลายคนในประเทศนี้สงสัย
        “การเคลื่อนไหวยังไงมันก็นำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น มันอาจจะเปลี่ยนช้าหรือเร็วไม่มีใครตอบได้แน่ เราก็ไม่มีทางรู้อยู่แล้ว แต่ทุกคนดูมีความหวัง จากแต่ก่อนเราไม่มีความหวังเลย”  จากที่มีเพียงแค่คนส่วนน้อยพูดเรื่องนี้มานานจะเริ่มท้อ อย่างพีคนนี้ที่คอยเป็นปากเป็นเสียงมาโดยตลอด “พอนี้เริ่มมีคนพูดเยอะขึ้นขนาดนี้ เป็นเราตื้นตันแล้ว นึกไม่ถึงเหมือนกันด้วยซ้ำว่าประเทศนี้จะมีวันนี้เร็วขนาดนี้” แม้ว่าคาดการณ์จากสถานการณ์ปัจจุบันอาจจะฟังดูริบหรี่ไปเสียหน่อยก็ตาม แต่เขาและอีกหลายคนก็เชื่อว่ามีหวัง
        ยิ่งไปกว่านั้นแล้วเขาก็ยังคงชี้ให้เราเห็นถึงหนทางเยียวยาจิตใจตัวเอง “อย่าไปรีบคิดถึงเส้นทางปฏิวัติอะไรไกล มันเหนื่อย เก็บเล็กเก็บน้อย ความสุข ความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ เช่นการที่เราพูดถึงเรื่องสถาบันได้อย่างเปิดเผย อาจจะไม่ใช่ก้าวที่ใหญ่ แต่ก็เป็นความสำเร็จแล้ว ขอให้นึกถึงตรงนี้ เอนจอยกับมันหน่อย อย่าลืมว่าความสำเร็จเล็กน้อยจะนำไปสู่ความสำเร็จใหญ่ได้ อย่างเราไม่เชื่อเลยว่าการที่ไม่พูดแล้วจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง มันไม่มีทาง มันเป็นไปไม่ได้เลย มันต้องพูด และพูดมากขึ้นเรื่อยๆ” 
        คำตอบของเขาอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีสุดเช่นเดียวกับการปฏิวัติอย่างถอนรากถอนโคน หากแต่เป็นสิ่งที่อาจดีที่สุดสำหรับการต่อสู้ในบริบทของประเทศไทยในช่วงเวลานี้ เพราะเราแต่ละคนต่างเหน็ดเหนื่อยจากหลายสิ่งอย่างมาเป็นระยะเวลานาน การให้รางวัลกับตัวเองเป็นการชื่นชมดอกไม้ริมทางบ้างอาจทำให้พอบรรเทาความหนักหน่วงให้เจือจางลงไปได้ เพื่อที่จะทำให้ยังคงเดินทางต่อสู้กันต่อไหว โดยที่ไม่เหน็ดหน่ายจนเกินไป
        พวกเราทั้งวงหยุดเงียบไปครู่หนึ่ง เงียบเชียบกระทั่งได้ยินเสียงประกาศพื้นหลังของแกนนำลำลองของม็อบบนถนนข้างทาง เสียงเชียร์ เสียงต่อสู้ของประชาชนคนม็อบเข้ามากระทบประสาทเรา ก่อนคำถามสุดท้ายจะถูกเอ่ยขึ้นมา

7
ให้มันจบที่รุ่นเรา

        ในสังคมประชาธิปไตยความเห็นต่างย่อมมีอยู่ทุกหนแห่งใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงให้ครั้งนี้ทุกคนจะพร้อมร่วมต่อสู้ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยไปเสียหมด คนหลายคนยังคงติดกับข้อเรียกร้องบางข้อหลายคนไม่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง “สิ่งที่พวกเราจะสามารถทำได้ในวันนี้คืออะไร คิดว่ามีวิธีไหนที่จะทำให้อีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเราเปิดใจยอมรับฟัง” ทีเอ่ยถาม
        “เราควรใช้ความสามารถเท่าที่มีในการพูดกับเขา educate คนอื่นไปด้วย อย่างแค่เราโพสต์ในแต่ละวันลงเฟซบุ๊กนี่ก็อาจจะมีคนหันมาเห็นด้วยกับเราในสักวันแล้ว อันนี้คือดอกผลของมัน คือถ้าทุกคนไม่พูด ไม่สื่อสารอะไรออกมา มันก็คงไม่มีวันนี้ วันที่ใครหลายคนตาสว่างขนาดนี้ เราต้องเชื่อในพลังของการสื่อสารแม้ว่ามันจะเกิดขึ้นได้ยากก็ตาม อย่างหลายคนที่เป็นที่เป็นสลิ่มกลับใจมันก็เกิดขึ้นได้” พีตอบด้วยประกายตาอย่างมีความหวังด้วยจุดยืนเช่นเดิม
        “แต่เราไม่คิดว่าเราควรจะได้เค้กทั้งหมด เขาก็ไม่ควรได้เค้กทั้งหมดเช่นกัน ไม่มีใครควรจะได้เค้กหมดทั้งก้อนทั้งนั้น เราไม่เห็นด้วยว่าข้อเรียกร้องมันจะเป็นไปตามที่เราต้องการโดยสมบูรณ์แบบ เพราะว่าสังคมมันก็ไม่ได้อยู่แค่เรา มันก็เกินไปเนาะจากที่เขากอดเอาไว้ทั้งหมด แล้วเราจะพรากเอาทุกอย่างไปจากเขา”
        เราเองก็เห็นเช่นนั้น “มันไม่จำเป็นต้องให้เขาเห็นว่าเชื่อแบบเราร้อยเปอร์เซ็นต์ สุดท้ายถ้าเขาจะกอดความเชื่อแบบนั้นไว้จนตายไป เพื่อที่จะไม่ทำให้ตัวเองล่มสลายไปกับโลกแห่งความจริงที่ไม่กล้าเผชิญหน้ายอมรับว่าโลกมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นั่นมันก็เป็นเรื่องของเขา” เราเสริม
 “ตราบใดที่เขายังคงเชื่อ เชื่อในสิ่งที่เขาเชื่อ แต่ไม่ได้มาละเมิดเรา คนอื่น หรือใครก็ตาม เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณใช้เสรีภาพโดยไม่ไปละเมิดคนอื่น แค่นั้นมันก็จบ” เขาทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ
        “ที่ว่าจบ อะไรจบ” ทีไต่สวนเพิ่มเติม “จบที่รุ่นเราเนี่ย ก็ใช่ เอาแค่เรื่องรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญก่อนเนี่ย มันก็ควรจะจบ ไม่ควรจะมีอีกต่อไป”
        “แปลว่ามันยังมีหลายเรื่องที่ควรจะจบที่รุ่นเรา” เราถามนำ 
    แต่เหมือนเขาจะไม่ได้ตอบคำถาม “มันก็เป็นมอตโต้ที่ดีนะ จบที่รุ่นเรา แต่มันจะจบไหมก็อีกเรื่อง ”
        “คิดว่าอะไรจบ” เราถามย้ำ
        “ชีวิตกูเนี่ยจบ” 
        อืม จริง “เราอะจบ” คนในวงขำขันอย่างสนุกสนาน ทว่าเขากลับพลิกสถานการณ์ด้วยการมองว่า
        “เราทุกคนต้องตายแน่ ๆ แต่ประเทศชาติจะเป็นยังไง… มันก็ยังต้องเดินต่อไปใช่มั้ยล่ะ”
        นั่นสินะ, เราได้แต่เพียงคิด


เรื่อง: ปารณ ศรีสุนทร
ภาพ: จิรัฏฐ์ วรรัตนวงศ์, ภัทรวดี ตุ้มชู

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ adB ARENA พื้นที่การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ ร่วมกับกองบรรณาธิการ a day BULLETIN

หมายเหตุ: บทสารคดีฉบับนี้ดัดแปลงมาจากบทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 วันที่ประชาชนร่วมส่ง ‘ราษฎรสาส์น’ ถึงพระมหากษัตริย์เพื่อเรียกร้องการปฏิรูป ทว่ากลับเป็นอีกครั้งที่มวลชนถูกสกัดกั้นด้วยรถฉีดน้ำโดยอ้างว่ามือลั่น