คนบ้านไกล แต่หัวใจรักประชาธิปไตย

ในทุกวันผมต้องแหกขี้ตาตื่นนอน รีบอาบน้ำล้างหน้าแปรงฟัน เปิดประตูห้องเช่าอันคับแคบออกมาเผชิญกับหมอกควันมลพิษ การจราจรที่แน่นเอี้ยดเบียดเสียด  แข่งขันกับเวลาเพื่อไปให้ทันตอกบัตรเข้างาน ในเมืองกรุงแห่งนี้ ผมไม่มีทางเลือกมากนักในการเดินทาง

        อะไรกันคือแรงขับให้ใครสักคนออกเดินทาง การต่อสู้ ความอยู่รอด ความฝัน ความหวัง หรืออุดมการณ์ ไม่มีการเดินทางครั้งใดที่ไร้จุดหมาย เมื่อสองเท้าได้ตั้งหลักหยัดยืน พร้อมก้าวขาออกจากประตูบ้าน เขาย่อมมีความหวังอยู่ ณ ปลายทาง แม้ปลายทางสายนี้ของพวกเขาจะริบหรี่เพียงใด ขอเพียงเชื่อมั่นในความหวัง… หวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง แม้ระยะทางจะยาวไกล

        รวม 5 บทสัมภาษณ์ จากมุมมอง 5 บุคคลผู้เดินทางมาจากต่างจังหวัด เพื่อมาเข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญ ณ อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย กับหลายคนการต่อสู้ครั้งนี้ อาจหมายถึงการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของชีวิต และกับบางคนนี่คือการต่อสู้ครั้งแรกที่จะส่งผลไปตลอดชั่วชีวิตของเขา

        ด้วยความจำเป็นหลายอย่าง  จึงไม่อาจเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามของคนที่คุยด้วยได้ ดังนั้น ตลอดบทสัมภาษณ์ทั้ง 5 คนนี้ จึงขอแทนชื่อเรียกของทุกคนด้วยชื่อจังหวัดที่เขาจากมา แม้จะมากันต่างที่ต่างถิ่นแต่สิ่งหนึ่งที่ยึดโยงพวกเขาร่วมกัน คือการอยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากกว่าทุกวันนี้

 

ป้านักสู้ศรีสะเกษ

        ท่ามกลางแสงแดดจ้ายามบ่าย  ผมพาตัวเองเข้าไปนั่งใกล้กับกลุ่มลุงป้าอารมณ์ดี ที่กำลังสนทนาถึงสถานการณ์บ้านเมืองกันอย่างถึงพริกถึงขิง หลายครั้งบทสนทนาก็หวนนึกถึงเหตุการณ์ที่เป็นเหมือนฝันร้ายของพวกเขาเมื่อ 10 ปีก่อน ฝันร้ายที่ทำให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งค่านิยมของสังคมเคยมองคนไม่เท่ากัน 

        จนสุดท้ายป้าๆ เปิดโอกาสให้ผมได้แนะนำตัวบ้าง และบทสทนาแรกก็งอกเงยขึ้น บทพื้นริมฟุตบาท ที่แบ็กกราวด์เบื้องหลังคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสูงเด่นตั้งตระหง่านชูคอ ผมเปิดบทสนทนาในบรรยากาศที่ค่อนข้างจอแจ

 

เดินทางมาอย่างไร

        “เอาคนไหนล่ะลูก ป้ามากันจากหลายจังหวัด นู่นป้าเชียงใหม่นั่งรถไฟมา นั่นป้าโคราชนั่งรถตู้มาอีกหลายคนเลยหนูเอ๋ย ทั้งปากช่อง พะเยา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ พวกป้าสู้กันมาตั้งแต่ปี 52-53 นู่นแล้ว ส่วนป้ามาจากศรีสะเกษน่ะลูก มาถึงตั้งแต่เช้าแล้ว” 

มากันอย่างนี้ไม่ขาดรายได้แย่เหรอ

        “คนเราจะบอกให้นะ ทำงานหารายได้ ให้พอกินเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว นักสู้มันไม่ได้มีชีวิตอยู่แค่เพียงมีรายได้ เราสู้จนเงินหมดแล้วก็กลับ เดี๋ยวเราก็มาใหม่ มีเงินเพียงแค่เท่าที่มีไว้ใช้ ป้าจะอธิบายให้หนูฟังนะ สมมติว่าป้าขายของได้ ขายได้เงินแล้วก็มา มาแล้วหมดมันจะเป็นอะไร ตอนนี้จะบอกให้ เศรษฐกิจแบบนี้ถึงไม่มา รายได้มันชักหน้าไม่ถึงหลังแล้ว เราอยากได้ประชาธิปไตย อยากได้มากๆ แล้วลูกหลานจะได้มีงานมีการทำดีๆ สักที”

เชื่อได้อย่างไร ว่าถ้ามีประชาธิปไตยแล้วชีวิตจะดีขึ้น 

        “อ้าว! มันต้องดีสิวะ (ป้าตบเข่าฉาด) เพราะว่าการเมืองดีภาษีที่เราจ่ายไป ไม่มีการหลบเลี่ยง เราจ่ายไปเขาเอามาบริหาร ผู้บริหารเขาจะฟังเสียงประชาชนเป็นหลัก ถ้าเป็นประชาธิปไตย คนรวยจะดูแลคนจนด้วยการที่เขาต้องเสียภาษี คนจนมีหน้าที่ซื้อสินค้าจากพวกเขา แล้วคนรวยจะเอาเงินที่เราซื้อของเขาไปเสียภาษี แล้วรัฐก็จะเอาเงินอันนั้นมาบำรุงพวกเราอีกที แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ เงินภาษีมันไม่ตกมาถึงรากหญ้าอย่างพวกเรา แล้วจะให้ป้าทนอยู่เฉยๆ ได้อย่างไรกัน”

มารอบนี้ มั่นใจไหมว่าจะได้ประชาธิปไตยอย่างที่หวัง

        “มั่นใจพลังคนรุ่นใหม่ (ป้าสวนกลับทันที) ตอนนี้เด็กมารู้เรื่องประชาธิปไตย เด็กยุคใหม่เขาสามารถหาความรู้ได้ด้วยตัวเขาเอง ไม่เหมือนรุ่นป้า เขารู้ถึงสิทธิที่พึงได้รับป้ามั่นใจในตัวพวกเขา แต่แอบเสียดาย แทนที่เด็กรุ่นนี้จะได้ใช้เวลาไปดูหนังฟังเพลง เมื่อก่อนเด็กมัธยม ป้าเห็นกินข้าวโพดคั่วตามโรงหนัง แต่มาตอนนี้เขากับต้องมาดูเรื่องกฎหมาย ประวัติศาสตร์ เพราะมันเป็นอนาคตของพวกเขา ดีมากๆ” (ป้าเน้นย้ำ)

        บทสนทนาถูกขัดลงเล็กน้อย เมื่อมีการแจกอาหารกลางวัน ผู้คนแย่งกันไปต่อแถวขวักไขว่ ป้าโคราชชวนป้าศรีสะเกษไปต่อแถวด้วยกัน แต่บทสนทนาระหว่างผมกับป้ามันเริ่มครุกกรุ่นสู้กับแสงแดดที่ร้อนแรง เราสนทนากันต่อโดยไม่ใยดีต่ออาหาร

จุดเริ่มต้นความเป็นนักสู้มันเริ่มขึ้นจากอะไร  

        “พ่อป้าเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พ่อเป็นคนรักษาความยุติธรรมที่สุด เขายกพ่อให้เป็นผู้นำหมู่บ้าน เราติดความเป็นธรรมมาจากพ่อ เราเกลียดการเห็นคนเอาเปรียบคน เห็นแล้วรับไม่ได้  และความยุติธรรมน่ะ เขาไม่กลัวตายหรอกนะ ถ้าหนูโดนเหยียบๆๆ จนจมดิน หนูจะลุกขึ้นสู้ไหม จะยอมให้เขาเหยียบ หรือหนูจะลุกขึ้นสู้”  น้ำเสียงของป้าหนักแน่น เด็ดขาด แต่คล้ายปะปนด้วยมวลของอารมณ์ภายในใจ

ถ้ามีคนบอกว่าความยุติธรรมมันกินไม่ได้ละ

        “ใครบอก? ความยุติธรรมนี่ละกินได้  คนเราถ้ามันมีความยุติธรรมอยู่ในใจ มันจะทำอะไรนึกถึงใจคนอื่นอย่างเท่าเทียมกัน แต่ถ้าเราไม่มีความยุติธรรม เราจะแบ่งสิ่งที่เรามีให้แต่คนที่เรารักชอบพอ คนที่มีประโยชน์กับพวกพ้องของเรามากกว่าคนอื่น เห็นไหมมันกินได้ ถึงไม่ได้กินก็อิ่มแล้ว อิ่มน้ำใจ ความโกงนั่นแหละกินไม่ได้ ยิ่งโกงไปสังคมยิ่งทรุดลง มีแต่ฆ่าแกงกัน มันจะกินได้อย่างไร ถ้าเราเข้าไปตรงไหนที่ไม่มีความยุติธรรม มีแต่จะโดนโกงมีแต่จะทุกข์ใจ”

        บทสนทนาจบลง เมื่อป้าโคราชยกก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ มาเสิร์ฟให้ป้าศรีสะเกษ มันคงเป็นเวลาพอเหมาะพอดีที่ผมขอตัวลาป้าๆ เพื่อเบียดเสียดกับมวลชนที่เริ่มเดินทางมากันอย่างหนาแน่น เสียงลำโพงดังเซ็งแซ่แข่งกับเสียงรถที่สัญจรไปมา เสียงรถกำลังพ่ายแพ้ให้แก่เสียงคนที่จะขอพื้นที่ถนนแล้ว ผมยังคงเดินต่อไป เดินหาใครสักคนที่ผมจะนั่งลงข้างๆ เขาอย่างสนิทใจ 

 

สามพี่น้องร่วมอุดมการณ์ปทุมธานี

        สวัสดีครับ วันนี้ป้ามาทำอะไรกัน? 

        ผมโพล่งเปิดบทสนนาไปอย่างโง่ๆ เพียงเพื่อขอโอกาสพูดคุยกับป้าๆ ที่นั่งปูเสื่อกันหน้าห้างร้านแห่งหนึ่ง เป็นคำถามที่ไม่น่าถามออกไปบนสถานที่ในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้ แต่คำถามโง่ๆ ของผมดันสัมฤทธิ์ผล ป้าจากปทุมธานียื่นปลาหมึกย่าง อาหารยอดฮิตจากหน่วย CIA เคลื่อนที่เร็วประจำม็อบครั้งนี้ให้ผม พร้อมกับเชื้อเชิญนั่งลง ปลาหมึกย่างอันเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาจาก 3 พี่น้องร่วมท้องทั้งยังร่วมอุดมการณ์ 

        “ป้ามาตั้งแต่ปี 2553 แล้วที่แยกราชประสงค์  ถามว่าป้าออกมาประท้วงเพื่ออะไรกันน่ะหรอ หนูดูเศรษฐกิจสิ ความเป็นธรรมละมีไหมตอนนี้ ป้าอยากให้มันเท่าเทียมกัน มันนอนอยู่บ้านไม่ไหว รุ่นเรามันไม่กล้าเท่านักศึกษา เด็กรุ่นใหม่เขารู้หมด ไม่เหมือนรุ่นเราฟังแต่วิทยุ เราเห็นความกล้าของเขา ถึงได้ออกมาช่วยเขา” 

 

ไม่กลัวหรอ รอบที่แล้วก็โดนสลายการชุมนุม

        “กลัวทำไม ไม่มีความยุติธรรมป้าไม่กลัว ถ้ากลัวป้าไม่มาหรอก เราเห็นความไม่ยุติธรรมมาเป็น 10 ปี เราแก่แล้วจะอยู่ไปอีกสักเท่าไหร่ก็ตายแล้ว (ป้าปทุมธานีพูดถึงความตาย แต่ในน้ำเสียงของป้าเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ พร้อมทำตาหยี ราวกับความตายคือขนมหวาน)

        “ให้รุ่นลูกรุ่นหลานเขาได้สบาย ให้มันมีอนาคตดีขึ้น พวกรุ่นป้ามันสู้ไม่เต็มที่ แต่รุ่นนี้เขากล้ากว่าป้า  ป้ามาหนุนหลังพวกเด็กๆ มาให้กำลังใจ ป้าออกมาเพราะทนไม่ได้ที่เขาจับเด็กๆ ไปมันไม่ยุติธรรม”

ทำไมดูมั่นใจกับคนรุ่นใหม่

        “หา มั่นใจสิ เพราะตั้งแต่รุ่นป้าปี พ.ศ. 2516 ตอนนั้นอายุ 17 18 ยังโหนรถเมล์เห็นนักศึกษาเขาไปประท้วงกันอยู่เลย เรารอคอยประธิปไตยมาโดยตลอด หวังรุ่นนี้แหละ ป้ารอมาตั้งนานว่าทำไมนักศึกษาเขาถึงได้เงียบกันจัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 สงสัยติดเกมกันช่วงนั้น บางทีตอนนั้นพวกป้าแอบน้อยใจพวกเขา รอว่าเมื่อไหร่นักศึกษาจะออกมาช่วย  ตอนนั้นเราชุมนุมเรียกนักศึกษา นักศึกษาไม่ยอมออกมา”

        บทสนทนาถูกคั่นกลางอีกครั้ง เมื่อแผงลอตเตอรี่เข้ามา  ต่อให้สถานการณ์ประชาธิปไตยจะร้อนแรงเพียงใด ก็ไม่อาจหยุดยั้งหัวใจ การรอลุ้นเลขท้าย 3 ตัวของปวงประชาลงได้

คิดว่ารอบนี้จะมีความรุนแรงอีกไหม

        “สมัยนี้เขาไม่ใช้อาวุธกันแล้ว เขาใช้พลังสมองกัน มีแต่พวกเต่าล้านปีเท่านั้นแหละที่ยังจะใช้อาวุธ ถึงอย่างไรป้าอยู่อีกไม่เท่าไหร่แล้ว อย่างพวกหนูนี่อายุ 20 กว่าๆ ยังมีอนาคตกันตั้งอีก 20 กว่าปี  ชีวิตป้ามันไม่ได้มีค่าอะไรแล้ว ตายมันตายกันทุกคน ตายวันไหนก็วันนั้น มันก็ตายครั้งเดียว ป้าไม่เคยกลัว ตั้งแต่ครั้งที่แล้วถ้าป้ากลัวป้าไม่กลับมาหรอก เด็กมันยังไม่กลัวตาย แล้วเราจะกลัวตายทำไม” (ป้าปทุมธานี เน้นย้ำถึงการมีชีวิตและความตายอีกครั้ง)

ประเทศไทยในฝันเป็นอย่างไร

        “ไม่มีเผด็จการ ขอให้เป็นประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ ไม่ใช่มาคุมอำนาจ ทุกคนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน อย่าให้คนผิดกลายเป็นคนถูก อย่าให้คนถูกกลายเป็นคนผิด หรือง่ายๆ ก็ที่นักศึกษาเขาเรียกร้องทั้ง 3 ข้อนั่นแหละ”

        ผมลุกขึ้นจากเสื่อ ขอตัวลาป้าปทุมธานีทั้ง 3 คน เดินตามเสียงเมาท์ออร์แกน เสียงดนตรีที่ทำให้บรรยากาศดูลดความตึงเครียดลงไป เสียงดนตรีที่ทำให้แสงแดดยามบ่ายไม่ร้อนหัวใจเกินไปนัก ผมหยุดอยู่ตรงหน้าพ่อหนุ่มนักดนตรี อ่านบทกลอนที่เขาเขียน พรรณนาความรู้สึกถึงเหตุการณ์บ้านเมือง ผมอยากคุยกับเขาหลังบรรเลงเครื่องดนตรีจบ… แต่แล้วหนุ่มน้อยคนหนึ่งก็ปรากฏตัวอยู่ข้างๆ ผม

หนุ่มน้อยนครสวรรค์ ผู้ฝันถึงการเปลี่ยนแปลง

        “สวัสดีครับ เห็นตั้งแต่ช่วงเที่ยงแล้ว มาจากแถวไหนหรอ” ผมเปิดบทสทนากับเด็กหนุ่มแปลกหน้า

        “มาจากนครสวรรค์” เขาตอบกลับมาด้วยความกระตือรือร้น

        ชายหนุ่มใส่แว่นรูปร่างสูงใหญ่ ผู้มีอัธยาศัยเป็นอาวุธ ผมเห็นเขาเดินไปเดินมา โอภาปราศรัยกับผู้เข้าร่วมชุมนุมคนอื่นๆ อยู่ตลอดทาง จุดสังเกตที่ทำให้ผมจำเขาไม่ลืมคือป้ายฟีเจอร์บอร์ดสีขาว ลงลายมือเรียกร้องถึงสิ่งที่เขาอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เขาหอบมันมาไกล 200 กว่ากิโลเมตร 

 

เมื่อเช้าเดินทางมาอย่างไร

        ผมออกจากบ้านมาตั้งแต่ตี 5 มาถึงนี่ 10 โมงเช้า นั่งรถไฟมาขากลับก็นั่งรถไฟเหมือนเดิม ถึงบ้านคงเที่ยงคืน เริ่มชินเพราะมา 2 ครั้งแล้ว รอบแรกมาเมื่อเดือนกันยายน และหยุดมาเพราะติดสอบที่วิทยาลัย ผมเรียนอยู่ ปวส. 2 ใกล้จบแล้ว พอดีกับที่ จ.นครสวรรค์บ้านผมมีการจัดชุมนุม คนไม่เยอะหรอกครับ 100-200 คน ผมไปเป็นการ์ดดูแลรักษาความปลอดภัย ช่วงนี้ว่างเว้นจากการเรียน เลยเดินทางมา… มาเท่าที่จะมาได้”

เราไม่มองว่ามันลำบากหรอเดินทางก็ไกล อยู่บ้านสบายกว่าไหม

        “ผมรู้สึกว่าประเทศเรามันต้องการเปลี่ยนแปลง เคยคิดนะ… ว่าจะไปทำไมให้เหนื่อย แต่ผมรู้สึกว่า ผมไปเพื่ออนาคตของตัวผม ผมอยากเห็นประเทศมันพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ อยากเห็นการศึกษาที่มันดีกว่านี้ อยากเห็นรัฐสวัสดิการมันเชื่อมโยงกับประชาชน ผมไม่อยากเห็นความเหลื่อมล้ำที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น… ผมไม่อยากเห็นอย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว”

เราไม่มาคนเดียว มันไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงไหม

        “ผมไม่ได้คิดว่า ตัวผมคนเดียวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเรารวมพลังร่วมใจกัน ผมเชื่อว่า พลังของประชาชนตัวเล็กๆ อย่างผม ที่มีแค่ป้ายประท้วง มันก็สามารถสู้ได้” 

ยังมีหวังกับประเทศนี้อยู่ไหม

        “ผมก็หวังทุกครั้งที่มา แต่เราต้องสู้กันต่อไป สู้จนกว่าเราจะได้ชัยชนะของประชาชนที่แท้จริง”

ประเทศไทยในฝันของเราหน้าตาเป็นอย่างไร

        “อยากเห็นการรวมพลังของประชาชนที่มีใจต่อบ้านเมือง อยากเห็นประเทศมันพัฒนาดีกว่านี้ เราไม่อยากเห็นประเทศเราเป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่อย่างนี้  เราพูดกันมาทุกปีว่าประเทศเรากำลังพัฒนา เราตั้งคำถามว่า แล้วเมื่อไหร่มันจะพัฒนาเสร็จ? เรามาต่อสู้เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง”   

แล้วแถวบ้านเรา (จ.นครสวรรค์) มีคนคิดเหมือนกับเราบ้างไหม

        “แค่บางส่วน ส่วนใหญ่คนแถวบ้านผมยังติดอยู่กับความคิดแบบเดิม แต่เพื่อนรุ่นเดียวกันส่วนใหญ่ก็คิดเห็นเหมือนกัน แต่เขาไม่มีโอกาสได้มาร่วมชุมนุม อาศัยติดตามข่าวจากหน้าเฟซบุ๊ก ส่วนคนคิดต่างที่เรารู้จัก เขาถามเราว่ามาชุมนุมจะไป-กลับอย่างไร เขาก็เป็นห่วงเรานะ “สู้ๆ แล้วกัน อย่าไปหาเรื่องกับเขา” เขาบอกกับผม  

มาอย่างนี้พ่อแม่มีฟีดแบ็กอย่างไรบ้าง

        “ถ้ามีเหตุการณ์เหมือนวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เขาก็ห่วง แต่เราบอกเขาตลอดว่าจะไปกี่โมง กลับกี่โมง มีทะเลาะกับแม่บ้าง เพราะผมกับแม่แนวคิดไม่เหมือนกัน คือผมเป็นครอบครัวข้าราชการทหาร ทะเลาะกันจริงจังนะ แต่อยู่กันได้ไม่มีกีดกัน แค่กลับให้ตรงเวลาให้ถึงบ้านก็โอเคแล้ว”

ไม่กลัวเหรอมาคนเดียว ถ้าเกิดเหตุสลายการชุมนุมขึ้นอีก

        “การสลายการชุมนุมวันนั้น เขาทำให้เรากลัวแปปเดียว แต่ก็ทำให้เรากลับมาสู้ยิ่งกว่าเดิม ต่อให้เขาจะฉีดน้ำอีกสักกี่หมื่นลิตร  เขาก็ไม่สามารถทำลายหัวใจของผมได้ ถ้าเราสู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง แล้วมันดีขึ้นมันคุ้มที่จะแลก แต่ถ้าเป็นไปได้ เราไม่อยากให้มีการสูญเสีย”   

        เดดแอร์เกิดขึ้นระหว่างบทสนทนาชั่วครู่ หนุ่มน้อยวัย 20 ปี เหลือบมองไปยังถ้วยกุ้งเผาสีส้มปนสีขาวมีรอยไหม้สีดำแต้มอยู่ข้างกายเขา กุ้งเผาที่ซ่อนเรื่องราวดราม่า แต่จบลงด้วยการกลายมาเป็นอาหารแจกในม็อบ เพื่อให้ทุกคนได้ลิ้มรสชาติกุ้งเผาประวัติศาสตร์ในวันนี้ หนุ่มน้อยน่าจะเป็นคนที่มีความอดทนไม่ใช่น้อย เพราะกว่าเขาจะได้กุ้งเผาถ้วยนี้มา ต้องผ่านการยืนต่อแถวยาวเหยียดท่ามกลางแดดที่ร้อนระอุอาจจะหลายสิบนาทีหรือเป็นชั่วโมง กุ้งเผาที่ต้องเดินทางไกลมากินถึง 200 กิโลเมตรจากบ้าน กุ้งเผาที่ตอกย้ำว่า ถ้าการเมืองดีกุ้งเผาก็แค่อาหารจานหนึ่ง ที่ไม่ได้พิเศษกว่าข้าวผัดกะเพรา ผมลุกขึ้นยืนเปิดโอกาสให้เขาได้กินกุ้งเผา ก่อนที่มันจะเย็นจืดชืดไปมากกว่านี้ เขานำป้ายฟีเจอร์บอร์ดสีขาวที่หอบหิ้วความฝันอุดมการณ์วางมันลงกับพื้น ในขณะที่เท้าผมก้าวลงสู่พื้นเดียวกันกับเขา

        เราเจอกันอีกครั้งในการชุมนุมที่สถานี BTS สยาม ผมจำเขาไม่ลืม… ใช่ ผมจำป้ายฟีเจอร์บอร์ดสีขาวนั้นได้ ผมเข้าไปทักทาย เราแลกเฟซบุ๊กกัน และโพสต์แรกจากเพื่อนใหม่คนนี้คือ ภาพตั๋วรถไฟด่วนขบวน 51 ต้นทางกรุงเทพ ปลายทางนครสวรรค์ ประทับเวลาออก 22.00 น. ถึง 02.21 น. เขาจะถึงบ้านก่อนแสงแรกของพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าไหม เป็นคำถามที่คนเคยนั่งรถไฟไทยคงจะเข้าใจดี 

 

ป้าชนชั้นนำ จากสมุทรปราการ

        เวลา 16.00 น. คับคั่งไปด้วยมวลชนเดินเบียดเสียด มีก็แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ นั่งเรียงรายปูเสื่อจับกลุ่มสนทนา ส่วนใหญ่แล้วนั่งติดพื้น มีเพียงเสื่อผืนน้อยคอยกั้นกลาง ระหว่างพื้นปูนกับร่างกาย

        แต่มีป้ากลุ่มหนึ่งแตกต่างออกไป ทุกคนล้วนตระเตรียมเก้าอี้สนามกันมาอย่างพร้อมเพียง การแต่งกายก็ดูแปลกตาไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไปที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด พวกเขาเป็นใครกันนะถึงได้ออกมาชุมนุม ผมไม่รอช้าขอเปิดวงสนทนากับ ป้าชนชั้นนำจากสมุทรปราการ  

 

เหตุผลที่ออกมาชุมนุมกันรอบนี้เพราะว่าอะไร

        “ความจริงแล้วเรื่องการเมืองมันไม่ได้กระทบกับชีวิตพวกป้าเลยนะ เราไม่เดือดร้อนก็จริง แต่ถ้าหากประเทศเป็นประชาธิปไตยมันก็เจริญแล้วทุกคนก็อยู่ดีกินดี ช่องว่างความเหลื่อมล้ำมันจะน้อยลง มันไม่เกี่ยวกับเรา แต่มันเกี่ยวกับลูกหลานของเราในวันข้างหน้า ถ้าความยุติธรรมไม่มี มันอยู่ไม่ได้ ป้าถึงออกมา”

ถ้ามีคนบอกว่าแก่แล้วมาทำไม จะตอบกลับเขาไปอย่างไร

        “ถ้าคนคิดแบบนั้นบ้านเมืองก็อยู่แค่นี้แหละ ป้าเคยไปอยู่เมืองนอกมา เห็นประเทศอื่นเขาเจริญเป็นประชาธิปไตย ของเรามันไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อก่อนนี้เด็กๆ เขายังไม่สนใจ พวกป้านี่เหนื่อยอายุปูนนี้ ต้องลุกขึ้นมานำต่อสู้เรียกร้อง หวังว่าทำไมเด็กเขาไม่ออกมา มันน้อยใจว่าอนาคตของเขา เขาจะอยู่กันแค่นี้หรอตอนนั้น มาวันนี้ก็มีกำลังใจมากขึ้น” 

จุดกำเนิดที่ทำให้รู้สึกว่าบ้านเมืองมันต้องการประชาธิปไตย มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

        “ย้อนกลับไปสมัยสาวๆ เลย ครอบครัวป้าเป็นครอบครัวข้าราชการทหาร บางคนทำงานรัฐวิสาหกิจ  มันเห็นมาตลอดนะ ว่าผู้ใหญ่น่ะทำอะไรก็ไม่ผิดเห็นจริงๆ พ่อเราขับรถไปชนคน เขาเป็นผู้น้อย แต่ตำรวจกลับช่วยให้เราไม่ผิด จุดนั้นมันทำให้เรารู้สึกไม่ถูกต้องแล้ว ต่อให้มันจะเป็นพ่อแม่เราก็เถอะ   

        มันเป็นจุดที่ทำให้เรารักความถูกต้องขึ้นมา นอกจากนี้ป้าเติบโตมาในครอบครัวที่มีการแบ่งชนชั้นคือ มีคนมาอยู่บ้านเราเป็นคนรับใช้ แต่เขาเป็นผู้ใหญ่กว่าเรา เขาให้อะไรเราก็ไหว้เขา พ่อแม่เรากลับมาดุว่าไปไหว้เขาทำไม คนสมัยก่อนเป็นแบบนี้นะซึ่งเรารู้สึกไม่ชอบ ถึงเขาจะเป็นลูกจ้าง แต่เขาก็เป็นคนเท่ากันกับเรา” 

ประเทศไทยในฝันเป็นอย่างไร

        “เป็นประชาธิปไตย ลดความเหลื่อมล้ำ มันไม่ต้องถึงกับว่าต้องเท่ากันหมดหรอก มันเป็นไปไม่ได้ แต่มันควรน้อยกว่านี้ ไม่มีสูงมีต่ำทุกคนเท่ากัน กฎหมายต้องเป็นกฎหมายไม่ใช่เลือกปฏิบัติ” 

วันนี้อยู่กันถึงกี่โมง 

        “สักสามทุ่มป้าคงกลับกัน” หลังได้รับคำตอบสุดท้ายผมขอตัวลาออกมา ป้าๆ สมุทรปราการ อวยพรขอให้โชคดี และกล่าวทิ้งท้ายสั้นๆ ก่อนผมหยุดการบันทึกเสียงและลุกขึ้นเดินออกมา 

        “พวกป้าอาจไม่ใช่กลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเมืองในวันนี้นะ แต่ในวันข้างหน้าป้าว่ามันไม่พ้นลูกหลานเราได้รับผลกระทบแน่ เขาจะอยู่กันได้อย่างไร บางครั้งคนที่รักความถูกต้องทุกคนที่เขาออกมาต่อสู้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีนะ บางคนเขามีพอแล้ว แต่เขานิ่งอยู่เฉยดูความไม่เป็นธรรมที่มันเกิดขึ้นไม่ได้”

        ใช่! บางครั้งการนิ่งเฉย ก็คือฆาตรกรรมทางการเวลา ที่กัดกินชีวิตของผู้คน และส่งผลกระทบต่อคนรุ่นถัดไป เป็นวงจรอุบาทว์อย่างไม่จบไม่สิ้น 

 

ลุงตราด กาลเวลามิอาจเปลี่ยนอุดมการณ์

        แสงแดดแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็น แดดแต่ละช่วงเวลาให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป เวลาเปลี่ยนแปรได้ทุกสิ่งผมเคยคิดอย่างนั้น จนกระทั่งผมได้พบกับ ชายสูงวัยในเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีเทาเข้ม รูปร่างผอมอิดโรย กำลังนั่งเอาหลังพิงกำแพง จกข้าวเหนียวปลาหมึกปิ้ง มองดูคนรุ่นลูก รุ่นหลาน ออกมาสานต่ออุดมการณ์ ชายสูงวัยที่บอกกับผมว่า เวลาไม่อาจเปลี่ยนอุดมการณ์ของเขาได้ ผมนั่งลงเอาหลังพิงกำแพงเดียวกันกับเขา  และช่วยขอให้เขาแนะนำตัว 

        ได้ความว่า เขาเกิดที่เพรชบูรณ์ จบการศึกษาระดับ ป.4 ในปี พ.ศ. 2510  พอเรียนจบมาขายไอติมหลอดอยู่สนามหลวง เห็นบรรยากาศการชุมนุมทางการเมืองมาโดยตลอด ตั้งแต่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ถึง 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 จนถึงตอนนี้มันยังคงเป็นคำถามที่อยู่ในใจเขามาตลอดว่า แล้วความถูกต้องมันอยู่ตรงไหน? 

 

สู้มาตั้งนานทำไมถึงไม่ยอมแพ้สักที

        “มันเปลี่ยนทางความคิด วันนี้ลุงถือว่าลุงชนะแล้ว ชนะทางความคิด วันนี้ลูกๆ หลานๆ ทำให้เรามีเสรีที่จะพูด เมื่อก่อนลุงใส่เสื้อสีแดงนะ เดินไปไหนมีแต่คนเกียจเขาไม่ต้อนรับ  บางทีเดินผ่านหน้าร้านเขายังด่าเลย แต่วันนี้ภาพจำคนเปลี่ยนไป เขาต้อนรับเรา

เสียใจไหมแต่ก่อนคนด่าเราเป็นวัวเป็นควาย มองพวกเราไม่ดี

        “เราไม่เคยคิดว่าดีหรือไม่ดี เรารู้แค่ว่าสักวันหนึ่งต้องมีคนเข้าใจสิ่งที่เราทำ เมื่อก่อนลำบากกว่านี้ลูกๆ หลานๆ เขาไม่สนใจการเมือง คิดอยู่ตลอดว่าลุงตายไปใครจะสานต่อ” ลุงตราดนิ่งไปครู่หนึ่ง ผมมองตาที่เป็นประกายคล้ายมีน้ำหล่อเลี้ยง ดวงตาของแกไม่เคยเหือดแห้ง มันชุ่มฉ่ำตัดกับสภาพร่างกายอิดโรยของแก

        “อุดมการณ์มันเปลี่ยนไม่ได้นะลูก ใครจะมาด่าอย่างไรก็ช่าง เรารู้อยู่แก่ใจว่าอะไรผิดอะไรถูก  อย่างระบบที่เราเห็นเนี้ยเรารู้ว่ามันไม่ถูก แต่ก่อนเสียงมันน้อยจะทำอะไรได้ พอมาเห็นลูกหลานวันนี้ ชีวิตไม่มีความหมายแล้วลุงชนะแล้ว ถ้าลุงตายไปวันนี้พรุ่งนี้นะ ก็ยังมีคนรุ่นหนูสืบสานต่อไป นี่ชัยชนะในใจลุง ชัยชนะที่มีคนสานต่ออุดมการณ์  

เริ่มมีหวังแล้วใช่ไหม 

        “ใช่ มีคนสืบเจตนารมณ์ของลุงแล้ว มันเปลี่ยนแปลงได้ 100% มันคือการสืบทอดเจตนารมณ์ มีคนสืบต่อแล้ว ตายตาหลับแล้ว ความทุกข์อยู่ในใจตั้งแต่ปี 2553 มันไม่ได้สูญเปล่า”

เชื่อไหมว่าประเทศเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีกว่านี้

        “รุ่นลุงคงไม่ทันแต่ก็อยากเห็น จะช้าจะเร็วมันต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เวลาอยู่ข้างคนรุ่นใหม่เสมอ รุ่นลุงมองแต่นักการเมือง แต่วันนี้ลุงมาฟังพวกหนูพูด  ความคิดความอ่านไปไกลกว่าลุงเยอะ  เหมือนไปอีกโลกหนึ่งเลย ลุงเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ ล้านเปอร์เซ็นต์เลยว่าเปลี่ยนแน่ จะเปลี่ยนแบบไหนว่ากันอีกที”

ทำไมดูเชื่อมั่นกับคนรุ่นใหม่

        “เชื่อมั่นมาก ลุงเชื่อมั่นในตัวพวกเขา ถ้ามีใครจะเอาปืนมายิงพวกหนูนะ บอกมันมันยิงลุงแทนได้เลย อย่ามายิงลูกยิงหลาน เขาอยู่ในโลกที่ยังก้าวไกลได้อีก ถ้าจะยิงมายิงคนอย่างลุงได้เลย ไม่ได้ดีแต่พูดแต่ปากกล้าขาสั่นนะ แต่มันคือเรื่องจริง อนาคตเขายังอีกยาวไกล พวกหนูอายุสิบกว่าปี ยี่สิบกว่าปียังกล้าออกมา เราอายุ 70 แล้ว ตายวันตายพรุ่งจะไปเสียดายทำไม”

พูดได้ไหมว่าครั้งนี้ออกมาสู้เพื่อลูกหลาน

        “ไม่ได้เพื่อตัวเอง ไม่เสียดายอะไรแล้ว ชีวิตมันพอแล้ว” 

ในความคิดอุดมการณ์ของคุณ กับคนรุ่นใหม่มันเหมือนกันไหม

        “อุดมการณ์ของลุงมันมาอย่างยาวไกลและมั่นคง แต่ความคิดของคนรุ่นพวกหนู จะว่าเป็นอุดมการณ์ไหม ลุงไม่แน่ใจ  มันเป็นแนวคิดที่ก้าวทันไปกับโลกมากกว่า เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วไม่มีหยุด อย่างนี้เรียกว่าอุดมการณ์ไหม มันเป็นความคิดมากกว่าอุดมการณ์”

        มันไม่หนักแน่นเท่า แต่มันยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมโลก (ผมเสริม) “ใช่ๆๆๆ ลุงคิดว่าอย่างนั้น”

        “อย่างลุงมาชุมนุมมาเจอพวกหนู ลุงไม่กล้าไปนั่งคุยกับพวกหนูหรอก รอฟังพวกหนูอย่างเดียว เราเป็นผู้ฟังมากกว่า โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่เด็กเดินตามคนโตอย่างเดียว แต่คนโตบางครั้งก็จำเป็นต้องเดินตามเด็ก ความคิดคนโตมันไม่ผิดหรอกนะ แต่มันไม่ทันโลกไม่ทันสมัย มันต้องหยุดให้ลูกให้หลานเขาทำไป ลุงสู้มา 10 กว่าปี ไม่เคยเห็นเด็กวัยรุ่นออกมาอย่างนี้เลย”

เหมือนฝันที่รอมาทั้งชีวิตไหม

        “ถามว่ามันใช่ความฝันไหม มันไม่ใช่ มันเหนือกว่าความฝันอีกที่วันนี้คนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้อง เรียกร้องสิ่งที่มันกดทับมนุษย์ในประเทศไทยนี้มาตลอด”

        ถ้าหากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน ติดปีกบินไปให้ไกล ไกลแสนไกล จะขอเป็นนกพิราบขาว เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี 

        เสียงเพลง เพื่อมวลชน ดังกึกก้องกลางถนนราชดำเนิน ในโมงยามที่แสงยามเย็นลาลับขอบฟ้าไปเสียแล้ว ลุงตราดจำต้องขอตัวลาจากผมเพื่อไปสมทบกับพวกพ้องซึ่งล่วงหน้าลงถนนไปก่อน สองเท้าก้าวเตาะแตะออกจากบ้านสู่ท้องถนนอันยาวไกล กว่าจะนำพาพวกเขาทุกคนมาอยู่ ณ สถานที่นี้  

        ผมย้อนกลับไปถามคำถามเดิมอีกครั้ง อะไรกันคือแรงขับที่ทำให้ใครสักคนออกเดินทาง สำหรับผมการออกเดินทางไปทำงานยามเช้า คงเพื่อความอยู่รอด แต่สำหรับพวกเขาทั้ง 5 คน การออกเดินทางมาชุมนุมในวันนี้คงเพื่อความฝัน  อุดมการณ์ และความหวังอันเต็มเปี่ยม 


เรื่อง: ณฐาภพ  สังเกตุ
ภาพ: ภัทรวดี ตุ้มชู

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ adB ARENA พื้นที่การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ ร่วมกับกองบรรณาธิการ a day BULLETIN