การชุมนุมทางการเมือง

บทสัมภาษณ์สามคนเมืองวัยทำงาน ถึงเหตุผล ความคิด ความหวัง และการไปม็อบครั้งแรกในชีวิต

ในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากระแสการเมืองไทยนั้นดุเดือดมาเกือบตลอดปี อาจเพราะการเกิดขึ้นของม็อบที่มาในกระบวนท่าใหม่ทำเอาสังคมไทยเปลี่ยนไปชนิดที่ว่าใครๆ ก็พูดว่านี่คือโลกใบใหม่ที่ไม่เคยนึกถึง เหล่าแกนนำ นักเรียนนักศึกษา นักการเมือง นักวิชาการ ไม่เว้นแม้แต่คนขายลูกชิ้นทอดถูกสัมภาษณ์ถึงประเด็นร้อนแรงนี้อย่างต่อเนื่อง

        หลายคนบอกนี่คือม็อบของรุ่นใหม่ ของคนเมือง เพราะวิธีการและประชากรม็อบก็เปลี่ยนไปอย่างมาก จากค้างคืนสู่ไปกลับ ไม่รวมไปถึงการนัดแนะที่กะทันหันทันที เพราะฉะนั้นคนที่มาร่วมม็อบส่วนใหญ่แล้วก็ชัดเจนว่าคือกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้แน่นอน

        ทุกคนคงได้ยินความคิดของแกนนำหรือคนดังกันมาบ่อยครั้งแล้ว แล้วคนธรรมดาๆ ล่ะ ถ้าลองจินตนาการว่าเรากำลังมองมวลชนจากมุมสูง เคยสงสัยกันไหมว่าพวกเขาแต่ละคนคิดอะไรกันอยู่ เขามีความฝันอะไร แล้วมีเหตุผลส่วนตัวอย่างไรที่เชื่อมโยงให้พวกเขามาร่วมเป็นหนึ่งในชาวม็อบครั้งนี้

        ชวนคุยกับสามคนเมืองในม็อบ ‘ต๊อบ’,  ‘กรณ์’ และ ‘ซัน’ ถึงสิ่งที่พวกเขาคิดกับม็อบ เหตุผลที่เข้าร่วมและความหวังว่าประเทศไทยจะดีกว่านี้ได้

        เรายิงคำถามชุดเดียวกันนี้ไปให้กับสามหนุ่มที่ไม่ได้รู้จักกัน มีหน้าที่การงานที่ต่างกัน มีเรื่องราวความหลังต่างกันและมีอายุที่ห่างกัน แต่มีสิ่งที่เหมือนกันคือม็อบครั้งนี้เป็นม็อบครั้งแรกในชีวิตของพวกเขา

        ก่อนที่จะไปเริ่มฟังสิ่งที่พวกเขาคิด เกริ่นคร่าวๆ ถึงสามคนนี้เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักพวกเขามากขึ้น เราได้รู้จัก ‘ซัน’ ผ่านการทำงานร่วมกันในอดีต ทุกวันนี้ซันสวมหมวกเจ้าของธุรกิจส่วนตัวควบตำแหน่งนักเขียนฟรีแลนซ์ด้านเทคโนโลยีกับธุรกิจ ถ้ารู้จักกันก่อนหน้านี้อาจนึกไม่ออกว่าคนอย่างเขาจะมาทำธุรกิจได้อย่างไร เพราะทั้งสิ่งที่สนใจและสิ่งที่เรียนดันอยู่ในหมวดของภาพยนตร์
การที่รู้ว่าซันไปม็อบถือเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้แล้วเพราะถ้าเลื่อนหน้าฟีดในเฟซบุ๊กก็จะเจอแต่โพสต์การเมืองของซันเต็มไปหมด

        แต่ที่ทำเอาตกใจคงเป็น ‘ต๊อบ’ เพื่อนที่แทบนึกไม่ถึงว่าจะเจอมันได้ในม็อบ เพื่อนที่ไม่เคยพูดเรื่องการเมืองเลยตลอดเวลาที่รู้จักกันมา ไม่แม้กระทั่งมีปัญหาขัดแย้งกับใครในตอนเรียน ถ้าบอกว่าเพื่อนคนนี้เป็นคนแบบไหน เราคงตอบว่าเป็นคนที่รักความสงบสุข ไม่ชอบการมีปัญหาและไม่ค่อยทำอะไรสุ่มเสี่ยง

        คนสุดท้าย ‘กรณ์’ ทราบมาว่ากรณ์เพิ่งเรียนจบจากอเมริกา และเริ่มงานใหม่ได้ไม่นานมานี้ จากการพูดคุยกันอยู่ระยะหนึ่ง เราคิดว่าเขาเป็นนักตั้งคำถามและเป็นนักหาคำตอบแบบชนิดที่ว่าถ้าอยากรู้ต้องได้รู้ ดังนั้นการทำในหลายสิ่งหลายอย่างของเขาก็เพื่อพิสูจน์ความเชื่อและความจริงที่เขาสงสัยอยู่ตลอด

ม็อบครั้งแรกที่แต่ละคนไป ไปที่ไหนมากันบ้าง

        ซัน: เราไปครั้งแรกคือวันที่เขาปักหมุดคณะราษฏรกัน ที่สนามหลวงนั่นแหละ วันที่รุ้งไปยื่นจดหมาย

        ต๊อบ: ครั้งแรกหรอ ครั้งแรกก็เจอฉีดน้ำเลยที่สยาม (หัวเราะ) ไม่เคยได้เจอโมเมนต์ดีๆ ในม็อบแบบคนอื่นเขาเลย ไปแต่ละครั้งเจอแต่ความรุนแรง

        กรณ์: (นิ่งคิด) ครั้งแรก ที่สนามหลวงนะ ไปเป็นอาสาสมัครให้ iLaw

ทำไมถึงตัดสินใจไป

        ต๊อบ: เริ่มแรกมันเป็นกระแสที่เราเห็นว่ามีเด็กมัธยมออกมา ไม่เคยเห็นว่าเด็กมัธยมจะออกมาเยอะขนาดนี้ เราเลยสนใจ บวกกับเราไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐบาลชุดนี้อยู่แล้วในหลายเรื่อง แล้วเรื่องที่มันแปลกๆ ก็ไม่ได้รับการตอบคำถามเหมือนสะสมมาเรื่อยๆ เราว่ามันคือพื้นที่ที่จะบอกว่าเราอยู่ฝั่งนี้นะ เรามีชุดความเชื่อและอุดมการณ์ประมาณนี้ที่บอกว่าเราอยากให้มันเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

        ซัน: ก่อนหน้านี้เราเป็นคนที่เห็นด้วยกับการเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่แล้ว แล้วเราก็ยิ่งชื่นใจด้วยที่เด็กรุ่นใหม่มาทำในสิ่งที่เราไม่เคยคิดไม่เคยฝัน

        เด็กรุ่นใหม่ของเราคือเด็กมัธยมหรือนักศึกษาซึ่งถือเป็นคนกลุ่มหลักที่จัดการการชุมนุม เรารู้สึกว่าเราถูกกระตุ้นด้วยคนรุ่นใหม่อีกทีเพราะคนรุ่นเราที่สนใจในเรื่องการเมืองส่วนใหญ่แล้วใช้วิธีซ่อนสัญญะ อย่างตัวเราเองที่คลุกคลีอยู่ในวงการคนทำหนัง ทำหนังสือ การแสดงออกต่างๆ ก็จะไปโชว์อยู่ในงานที่ทำเป็นเชิงสัญลักษณ์เสียมาก หรือคุยกันผ่านวงสนทนาเฉพาะกลุ่มซึ่งไม่ได้ใหญ่ แต่ครั้งนี้มันแมสมากซึ่งมันเกิดขึ้นเพราะเด็กรุ่นนี้ที่ลุกขึ้นมา แล้วเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราเข้าไปจอยด้วย

        กรณ์: ก็ไปเป็นอาสาสมัครให้ iLaw แหละ เราว่ามันเป็นโปรเจ็กต์ที่เจ๋งดี แล้วเพื่อนก็ฝึกงานอยู่ในนั้นด้วยก็เลยไป

อะไรทำให้มีครั้งที่สอง สาม สี่ มาเรื่อยๆ

        ซัน: นึกดูแล้วเหตุผลที่ไปร่วมครั้งแรกกับครั้งถัดๆ ไป มันก็ไม่เหมือนกันนะ ครั้งแรกที่ไปเราแค่อยากไปจอยโมเมนต์สักครั้งคือเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าก่อนหน้านี้มันมีการจัดมากี่ครั้งแล้วหรือมีกี่กลุ่มที่จัด เราไม่รู้อะไรเลย ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมากเลยแค่อยากไป

        สำหรับเราคือยิ่งเห็นความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับม็อบก็จะยิ่งอยากไป เช่นแบบมึงฉีดน้ำหรอ เดี๋ยวกูออกจากบ้านเลยตอนนี้เลย ทั้งที่ก่อนหน้าอาจจะอยากเคลียร์งานก่อน (หัวเราะ)

        ซึ่งเรามองว่าสิ่งเดียวที่ม็อบมีก็คือมวลชน ถ้าคนไม่ไปกันเยอะๆ มันก็ไม่มีอย่างอื่นแล้ว เราไม่ใช่แค่ไปนะ เวลาเราไปเราก็จะโพสต์รูปลง จะลงไอจีสตอรี จะป่าวประกาศเรื่องม็อบเยอะๆ เพราะเราคิดว่าถ้าเราไปคนหนึ่งแล้วเราไปพูดเรื่องเนี้ย เหมือนไปเอาอินไซต์จากข้างในออกมา แล้วเพื่อนเราต่อให้เขาไม่ไปวันนี้แต่เขาจะเริ่มคิดมากขึ้น

        ต๊อบ: ตอนแรกก็คิดว่าจะมาเก็บบรรยากาศก่อนมาแสดงจุดยืน แต่กลายเป็นครั้งแรกเราก็เจอการสลายการชุมนุมเลย เพราะก่อนหน้านี้ก็เหมือนม็อบมันมีสีสันมาก เราอยากดื่มด่ำตรงนั้นแต่เจอความรุนแรงจากฝั่งตรงข้ามแล้วแบบช็อกเลย เลยทำให้วันถัดไปเราออกมาอีกเพราะว่ามันต้องแสดงให้เขาเห็นอ่ะ ว่าทำแบบนี้ไม่ได้นะ พอมารอบสองก็ตามมาเป็นสาม สี่ ห้า เรื่อยๆ

        อยากออกมาช่วยเขา เราว่ามันคือการที่ใครพร้อมก็มา อย่างที่บอกว่าม็อบนี้มันยืดเยื้อ ไม่มีการค้างคืน ไม่ได้กดดันแบบเอาให้ถึงที่สุดแบบที่ผ่านมา แต่มันคือการออกมาบ่อยๆ สร้างแรงกระตุ้นเรื่อยๆ ไม่อยากให้มันซา มันจุดติดแล้ว แต่ที่สำคัญคือจุดต่อยังไง ทีนี้ถ้าเราออกมาได้เราก็จะออกมา

        กรณ์: หลังจากไปช่วย iLaw ทำให้รู้จักคนอื่นๆ เลยกลายเป็นเพื่อนที่ไปม็อบด้วยกัน แต่ก็ไปกับแฟนด้วยแหละจริงๆ แล้ว ครั้งที่สองสามก็ต่อเนื่องกับกลุ่มเดิม ถ้าไปคนเดียวก็คงไม่ไปเหมือนเป็นกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง

คิดว่าอะไรทำให้ตัวเองสนใจเรื่องการเมือง

        ซัน: เราเป็นคนเรียนหนังที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลยแรกๆ ตอนมีชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 เรายังคิดอยู่ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงนี่เป็นเป็นกลุ่มคนน่ากลัว เรียกว่าตอนนั้นยังไม่ตาสว่าง พอเรียนมาอีกหน่อยเราก็เริ่มสนใจหนังนอกกระแส อ่านหนังสือมากขึ้นทั้งของในประเทศนอกประเทศ แล้วสิ่งเหล่านี้มันแทรกแนวคิดแบบเสรีนิยม ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกันหรือเรื่องประชาธิปไตย ถ้าเป็นหนังไทย วรรณกรรมไทยเลยก็จะเป็นเรื่องของการเมือง เรื่องของคนที่ถูกกดทับอยู่หรือเรื่องคนชายขอบ เพราะฉะนั้นเราน่าจะถูกหล่อหลอมมาจากสิ่งที่ตัวเองสนใจอย่างหนังกับหนังสือนี่แหละ

        กรณ์: ก่อนหน้านี้เราไม่สนใจการเมืองเลย แต่หลังจากนั้นได้เจออาจารย์คนหนึ่งที่อเมริกา เขาเป็นคนสนใจประเทศไทยทำวิจัยเกี่ยวกับไทยมาเยอะ เคยอยู่ไทย แล้วเขาก็ให้หนังสือมาอ่านเกี่ยวกับการวิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในแง่มุมของรัฐของการเมือง ก็เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้สนใจการเมืองเพราะมันเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งสนใจอยู่แล้ว

        หลังจากนั้นเลยรู้สึกว่าการเมืองสำคัญ ตอนแรกที่คิดคืออยากเข้าใจประเทศไทยในสามเดือน แล้วมันเป็นช่วงเพิ่งเลือกตั้งจบพอดี เลยคิดว่าถ้าเราไปเข้าพรรคการเมืองเนี่ย เขาต้องส่งเราไปหลายที่แน่เลย อันนี้คือตรรกะนะ เลยแบบพอปิดเทอมก็ฝึกงานกับสองพรรคการเมือง ก็ได้ไปเลยสิบห้าจังหวัด แต่ไปจังหวัดละวัน นี่คือรวมสองพรรคนะ ก็เลยรู้ว่ามันฉาบฉวยเลยเปลี่ยนงานมาอยู่ที่ทำปัจจุบันตอนนี้

        ต๊อบ: ตั้งแต่มีม็อบมาอย่างเสื้อเหลืองเสื้อแดงเราไม่ได้เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของม็อบอื่นๆ นะ เลยไม่เคยเข้าร่วมเลย แต่อย่างตอนเสื้อแดงเราเชียร์ทักษิณนะแค่ไม่ได้ร่วม พอตอนม็อบเสื้อเหลืองเพื่อนเราออกมาเยอะมาก เราเรียนอยู่ในมัธยมที่โรงเรียนแบบเหลืองจัดๆ เลย ตั้งแต่อาจารย์ยันเพื่อนอ่ะแม่งบุลลี่กูเลย เรียกเราไอ้จตุพร ไอ้เสื้อแดง ส่วนตัวเรายังไม่เคยโพสต์เรื่องการมาม็อบในโซเชียลฯ แต่เราบอกเป็นนัยๆ ผ่านอย่างอื่นๆ คือเราก็ไม่ได้สุดโต่ง เราไม่ใช่สายบวกไง

การเมืองทุกวันนี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับเรามากน้อยแค่ไหน

        ต๊อบ: ทุกวันนี้เราว่าเราไม่ได้เดือดร้อนขนาดนั้น แต่เราว่ามันมีจุดที่ทำให้ดีกว่านี้ได้ คนที่อยู่ระดับเหนื่อยกว่าเรา ล่างกว่าเรามันมีอีกเยอะ แต่คนข้างบนแทบไม่เคยเห็นเลย เพราะเราเป็นครอบครัวชนชั้นกลางมั้งเลยมองเห็นว่ามันแบ่งเป็นสองฝั่งคือฝั่งด้านล่างที่ได้รับการพัฒนาในยุคยุคหนึ่ง กับฝั่งที่เป็นเมืองหลวง เป็นกลุ่มชั้นนำที่ไม่ได้สนใจคนอื่นเท่าไหร่ ทั้งที่กลุ่มคนข้างล่างนี่เขาเป็นแรงงานที่มาช่วยสนับสนุนธุรกิจของพวกคุณด้วยซ้ำนะ คือเราว่ามันน่าจะยุติธรรมกว่านี้

        ซัน: ย้อนกลับไปอีกเราว่าเราเป็นคนไม่ได้มีการศึกษาที่ดี ฐานะทางบ้านก็ไม่ได้ดี แต่โชคดีที่ทุกวันนี้เรารอดมาได้ เราว่ารากใหญ่ที่เราสนใจม็อบเพราะเราอยากให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำน้อยลงโดยเฉพาะเรื่องการศึกษา

        อีกเรื่องคือเราเป็นคนทำธุรกิจซึ่งในไทยมันมีปัญหาเยอะมาก อย่างเราทำเรื่องการจัดหางานกว่าเราจะก่อตั้งบริษัทได้ทุกอย่างมันใช้เวลานานมาก เราเคยได้ข้อมูลจากคนรู้จักในการติดต่องานกับราชการว่าไม่กี่วันก็ได้เอกสารแล้ว แล้วเราก็ไปทำบ้างทางหน่วยงานแจ้งเราว่าให้มารับเอกสารอีกเดือน เราก็ถามด้วยความไม่รู้ไปว่าทำไมเพื่อนผมถึงบอกว่าแค่ไม่กี่วันก็ได้แล้ว พนักงานก็ตอบกลับมาว่าก็ให้คนที่เอาได้มาเอาสิ ซึ่งมันหมายความว่าไง หมายความว่ามันมีคนที่สามารถทำเรื่องเดียวกับเราแต่เขามีอำนาจมากกว่าที่จะทำให้เอกสารมีการดำเนินการเร็วขึ้นงี้หรอ มันยังมีเรื่องกฏหมายอีกที่เก่ามากแบบเอาของห้าสิบปีก่อนมาใช้กับธุรกิจทุกวันนี้

        เราทำฟรีแลนซ์ด้วย เขียนบทความด้านธุรกิจและเทคโนโลยี เวลาไปสัมภาษณ์ผู้บริหารเราจะรู้ว่าพวกผู้บริหารองค์กรใหญ่ๆ เขามีสิทธิ์จะเข้าไปพูดคุยต่อรองด้านนโยบายกับรัฐ แล้วคนแบบเราล่ะ ผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยมีสิทธิ์ไหม เนี่ยคือความไม่เท่าเทียมด้านการแข่งขัน

        กรณ์: ไม่เลยนะ บวกนิดหน่อยด้วย

อย่างนี้เรียกว่าเราเรียกร้องเพื่อคนอื่นไหม

        กรณ์: ไม่นะ ไม่เคยคิดว่าตัวเองเรียกร้องเพื่อคนอื่นเลย คิดว่าเราเรียกร้องในอะไรที่มันถูกต้องมากกว่า

ความคิดเห็นต่อม็อบทุกวันนี้

        ซัน: คนรุ่นเรานะ จะคิดว่าหลายอย่างในประเทศไทยมันก็จะเป็นแบบนี้แหละ เราต้องยอมรับและเราก็ไม่สามารถที่จะตั้งคำถามได้คือเราเคยชินกับความปกติที่แม่งโคตรจะไม่ปกติ แต่ม็อบนี้ทำให้เกิดบทสนทนาในทุกเรื่องเลย ไม่ใช่แค่เรื่องสถาบัน แต่พูดไปถึงเรื่องครูนักเรียน มันทำให้เห็นว่าสังคมปัจจุบันจะไม่อยู่ใต้อำนาจอีกต่อไปแล้ว แม้กระทั่งในครอบครัว ในที่ทำงาน คืออย่างเราตอนเด็ก ครูไม่ใช่แค่ตัดผมให้เราอาย แต่ครูบางคนก็ตบหัวนักเรียนด้วย แล้วทำไมเราถึงไม่ได้ตั้งคำถาม ไม่กล้าพูด ไม่เหมือนเด็กในรุ่นนี้

        อีกอย่างคือคนหลายคนชอบบอกว่าม็อบมันรุนแรง หยาบคายมาก เราหงุดหงิดมากเลยนะเพราะเราคิดว่าเวลาคนปกติทั่วไปชอบไปนึกถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อหน้า เช่นคนต่อยกัน คนด่ากัน การทำลายข้าวของ แต่คนไม่นึกถึงความรุนแรงเชิงระบบที่มันส่งผลต่อคนส่วนมาก ระบบที่ทำให้เด็กหลายแสนคนอยู่นอกการศึกษา ระบบที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขนาดนี้มันโคตรรุนแรงเลยนะ แล้วสันติวิธีไม่ควรถูกมองว่าจะต้องเรียบร้อยสง่างามเสมอไป ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาเขาไม่ได้ใช้วิธีที่นุ่มนวลกว่านี้นะ เขาทำมาหมดแล้วจนถึงตอนนี้ แล้วก็เราคิดว่าม็อบต่อจากนี้มันจุดติดง่ายขึ้นเพราะคนรู้แล้วว่าพื้นที่ในการสนทนาเรื่องความไม่เท่าเทียมมันไม่ได้เกิดขึ้นยากขนาดนั้น

        ต๊อบ: เราไม่อยากให้คนมองว่าม็อบมันไม่มีคนแล้ว เราคิดมุมกลับว่าถ้าเราเป็นคนที่ออกมาแล้วอยู่ๆ วันหนึ่งเพื่อนที่เคยออกมาแม่งหายไปไหนกันหมดวะ มึงไม่มาแล้วเหรอ มึงยอมแพ้แล้วเหรอ เราว่าถ้าเราเป็นคนนั้นก็คงท้อแล้วก็หมดกำลังใจ สุดท้ายมันก็จะไปต่อไม่ได้ ถ้างั้นเวลาไหนเราให้กับมันได้ เราจะออกมาถึงแม้จะยังไม่สำเร็จก็ตาม

        กรณ์: ถ้าสมมติไม่ได้ไป iLaw ก็อาจจะไม่ไปนะ เอาจริงคิดว่าเรื่องความอิน อาจจะไม่ได้อินขนาดนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะลึกๆ ก็รู้ว่าแม่งประท้วงไปก็ไม่ค่อยฟัง ไปคนเดียวก็น่าจะไม่ไป แต่รู้สึกว่ามันมีหลายปัจจัยที่ทำให้คิดงั้นทั้งความปลอดภัยของพ่อของตัวเอง อีกอย่างที่ไม่อินคือพอเปลี่ยนอันนี้แล้ว แล้วมันก็จะเปลี่ยนอีก เปลี่ยนอีกสักพักจนกว่ามันถึงเวลาของเรา รุ่นของเรา สำหรับเราการเปลี่ยนครั้งนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับเราขนาดนั้นด้วย

        (นิ่งคิด) ไอ่เชี่ย! เราก็เห็นแก่ตัวเหมือนกันนะเนี่ย

แล้วประเทศไทยที่ฝันอยากจะเห็นมันเป็นแบบไหน

        ต๊อบ: เราว่าเรื่องการเดินทาง พื้นฐานโครงสร้างในการใช้ชีวิตเลย การเดินทางใช้รถสาธารณะควรโอเคกว่านี้ ราคาควรดีกว่านี้ เราเห็นต่างประเทศทำไมเขาทำได้อ่ะ รถเมล์เก่ามาก เราให้ความสำคัญกับการเดินทางกับการคมนาคมเป็นอันดับต้นๆ เลยนะ เพราะถ้าคมนาคมดีเมืองมันจะขยาย ไม่ต้องมาติดแบบนี้ แต่รถไฟฟ้าในปีนี้มีขึ้นเยอะจริงๆ นะอันนี้ชื่นชม แต่ก็ไม่ได้ตามจริงๆ ว่าโครงการนี้มันเริ่มมาตั้งแต่ตอนไหนโดยใคร แต่อย่างน้อยเขาก็ยังสานต่อให้เกิดขึ้น

        กรณ์: คือคิดมานานละ ได้คำตอบว่าการเมืองมันต้องมีความยั่งยืน และก็ยืดหยุ่นมากพอในแนวคิด อย่างเราคือเชื่อในการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจใช่ไหม หมายถึงว่าคุณจะไปทางไหนก็ได้ ถ้าฝั่งตรงข้ามพูดถูกก็ต้องกล้าพอที่จะยอมรับเพื่อจะได้ไปถึงเป้าหมายได้ มันขาวดำเกินไปทุกวันนี้ พออีกฝั่งเอาอันนั้นงั้นกูไม่เอาอันนี้ เราว่ามันขาดตรงนี้ ต้องสนับสนุนการพูดคุยถกประเด็นต่างๆ

        ซัน: รัฐสวัสดิการ คนทุกคนควรมีปัจจัยพื้นฐาน รัฐควรมีสวัสดิการพื้นฐานให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

        อย่างที่สองคือเราเชื่อพลังของเทคโนโลยีในการแก้ปัญหา เราเชื่อว่าประเทศไทยมีคนเก่งเยอะมาก แต่ด้วยการติดกับมรดกเก่าๆ และอะไรที่ทำให้คนที่มีประสิทธิภาพจริงๆ ไม่ได้แสดงศักยภาพในการออกมาทำงานบริหารประเทศ ซึ่งถ้าระบบรัฐสภา ระบบการเมือง ระบบยุติธรรมดี มันจะทำให้เกิดความแฟร์ที่จะเสนอคนเก่งๆ เข้าไปทำงาน ทุกวันนี้มันวัดอะไรไม่ได้เลย

        อยากให้เกิดการปฏิรูประบบราชการ ทุกวันนี้มันกลับกันเรากลัวราชการแทนที่เขาต้องมาช่วยเราถูกไหม แต่เขามาจ้องจับผิดเรา เรามองว่าประชาชนคือลูกค้าของเขา เขาเห็นว่าลูกค้าต้องการอะไร พอมีการส่งเรื่องที่ควรแก้ไขจากพนังงานชั้นล่างไปถึงนายใหญ่เรื่องกลับไม่ถูกดำเนินการ ไม่รู้ทำไมเนี่ยแหละระบบราชการไทย

        (นิ่งคิดไปครู่หนึ่ง) เราอยากอยู่ในประเทศที่คนไม่ต้องเกิดมาแค่ชดใช้หนี้ ชดใช้กรรม ทำงานงกๆๆ หาเงินดูแลตัวเองดูแลครอบครัว ไม่ได้มีเวลามากพอในการที่จะชื่นชมชีวิต ดูงานศิลปะ ไปเที่ยว ดูหนังหรือทำอย่างอื่นๆ ที่มันเติมเต็มเรา (ยิ้ม)


เรื่อง: นลินรัตน์ สุขสมบูรณ์พงศ์
ภาพ: ภัทรวดี ตุ้มชู

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ adB ARENA พื้นที่การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ ร่วมกับกองบรรณาธิการ a day BULLETIN