ดิโอลด์สยาม

โลกของคนสูงวัย | เติมความสุขใจผ่านเสียงเพลงของกลุ่มร้องเพลง ณ ดิโอลด์สยาม

“ศูนย์อาหารที่ดิโอลด์สยามมีกลุ่มร้องเพลงอยู่นะ”

ระหว่างหาข้อมูลเรื่องการรวมกลุ่มของคนสูงวัย ผมได้คำแนะนำแบบนั้นจากหลายคน เมื่อหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตก็เห็นการพูดถึงอยู่พอสมควร ทั้งจากรายการทีวี ภาพถ่าย และบทความที่เขียนถึง

     ห้างดิโอลด์สยามเปิดให้บริการ 30 เมษายน 2536 ขณะที่ส่วนให้บริการร้องเพลงของ ‘ฟู้ดเซ็นเตอร์’ ที่ตั้งอยู่ชั้น 3 มาเปิดให้บริการหลังจากนั้น (ไม่มีข้อมูลปีแน่ชัด ว่ากันว่าประมาณยี่สิบปี) เริ่มจากเป็นคาราโอเกะ แล้วค่อยขยับขยายมาเป็นดนตรีสด

     จากคนร้องไม่กี่คน ก็เกิดเป็นกลุ่มขาประจำ ไม่มีการนัดหมายชัดเจน แต่ละวันเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ใครว่างก็มาตามความคุ้นเคย เริ่มร้องตั้งแต่ช่วงสายไปถึงช่วงเย็น ด้วยความที่เวทีเป็นส่วนหนึ่งกับฟู้ดเซ็นเตอร์ คนกำลังรับประทานอาหารเลยเสมือนเป็นแฟนเพลงไปโดยปริยาย

 

ดิโอลด์สยาม

 

     วันจันทร์ปลายเดือนพฤษภาคม ผมไปถึงดิโอลด์สยามก่อนเที่ยงเล็กน้อย

     “ศูนย์อาหารที่มีกลุ่มผู้สูงอายุมาร้องเพลงต้องไปทางไหนนะครับ” ผมถามคนขายของที่ชั้นล่าง

     “เขาเพิ่งปิดบริการไปไม่กี่เดือนเอง ตอนนี้บางส่วนย้ายมาร้องที่ชั้น 2” เขาพูดขึ้นมาทันที คำตอบและน้ำเสียงสะท้อนว่ารู้จักที่หมายนั้นเป็นอย่างดี พอผมบอกว่ามาเก็บข้อมูลเพื่อเขียนบทความ เขาพูดว่า “ที่นี่ถือว่าเป็นตำนานเลยนะ”

     ผมเดินขึ้นไปชั้น 3 ตามทิศทางที่เขาบอกมา เพื่อความมั่นใจเลยถามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีกครั้งด้วยคำถามเดิม ปรากฏว่าเขาตอบได้ทันทีว่าปิดบริการไปแล้ว

     ช่วงเที่ยงของ ‘ฟู้ดเซ็นเตอร์’ มีคนมารับประทานอาหารพอสมควร มุมหนึ่งของพื้นที่มีเวทีขนาดขึ้นร้องเพลงคู่ได้กำลังพอดี เคียงข้างด้วยเปียโนหลังใหญ่และลำโพงลูกโต ดูจากภายนอกน่าจะยังใช้การได้ดี หากแต่ตรงนั้นกลับไม่มีเสียงเพลง ร้างไร้ผู้คน และบนกระดานไวต์บอร์ดที่แขวนบนผนังปรากฏคำว่า ‘ปิดชั่วคราว’

     เมื่อสอบถามจากเจ้าหน้าที่ ก็ไม่มีคำตอบแน่ชัดถึงเหตุผล ผมเลยขอเบอร์ติดต่อของหนึ่งในสมาชิกกลุ่มที่รักการร้องเพลงมา จนกระทั่งได้นัดหมายเพื่อย้อนวันวานของพวกเขาอีกครั้ง

 

ดิโอลด์สยาม

 

วนิดา วัฒนาโภคกุล อายุ 59 ปี

     “เมื่อก่อนเราเปิดร้านอาหารอยู่ชั้น 2 ที่ดิโอลด์ฯ เปิดอยู่หลายปีนะ แต่ค่าเช่าขึ้นราคาตลอด มองว่าได้ไม่คุ้มกัน เลยเปลี่ยนมาขายเสื้อผ้าและเครื่องสำอาง ด้วยความที่มาดิโอลด์ฯ อยู่บ่อยๆ เลยรู้ว่าชั้น 3 (ศูนย์อาหารดิโอลด์ ฟู้ดเซ็นเตอร์) มีให้ร้องเพลง เราชอบร้องเพลงตั้งแต่สาวๆ แล้ว ยุคก่อนชอบ พุ่มพวง ดวงจันทร์, สุนารี ราชสีมา ยุคหลังชอบ ตั๊กแตน ชลดา, ฝน ธนสุนธร เคยตะลอนร้องตามร้านกับเพื่อน ครั้งนั้นมาคนเดียวเลย คนในนี้รู้จักกันอยู่แล้ว บางคนเคยเป็นลูกค้าที่ร้านอาหารด้วย เราจองคิวร้องเพลงไว้ พอถึงคิวจะมีคนมาเรียก เราปล่อยให้ลูกน้องเฝ้าร้าน บางครั้งก็ฝากร้านข้างๆ (หัวเราะ) เข้าๆ ออกๆ ทั้งวันแหละ ช่วงแรกเป็นคาราโอเกะ แล้วย้ายมาอยู่อีกมุมโดยเปลี่ยนเป็นดนตรีสด ซึ่งเราชอบมากกว่าคาราโอเกะนะ เริ่มจากเพลงละ 10 บาท 15 บาท 20 บาท 4 เพลง 100 บาท ช่วงนั้นมาเกือบทุกวันเลย

     “ตอนยังเปิดร้านอาหาร เราก็ร้องที่ร้านด้วย ไม่ได้เสียเงิน แต่เครียด ต้องคิดเรื่องกำไร-ขาดทุน แล้วเกรงใจลูกค้าด้วย เลยไม่ได้ร้องบ่อย พอมาร้องที่นี่ จ่ายเงินร้องเพลง สบายใจกว่า แล้วคนฟังเยอะด้วย มีเพื่อนร้อง สนุก เราคุยกันเรื่องเพลง เพลงไหนเพราะ ร้องยังไง แล้วไปร้องต่อที่ไหนอีก พอไม่ได้ขายของที่ดิโอลด์ฯ แล้ว เลยลดเหลืออาทิตย์ละวันสองวัน ร้องเพลงช่วยให้หายเครียดบ้าง แต่ไม่ได้ลืมหรอก บางวันมีเรื่องทุกข์ใจก็ไม่อยากออกมา แต่พอเพื่อนชวนออกมาก็ออกมาได้ ไม่ได้ฝืนใจอะไร (หัวเราะ) ถ้าคนร้องทั้งหมดก็เยอะเลย ส่วนกลุ่มของเราเกือบสิบคน บางคนก็ไม่ได้อยู่แถวนี้ เมื่อก่อนโทรศัพท์นัดกัน ตอนหลังก็คุยไลน์ เหมือนฟังเพลงแหละ จากวิทยุก็มาฟังผ่านมือถือ”

 

ดิโอลด์สยาม

 

     “เราเปลี่ยนมาขายต้มเลือดหมูเกือบสิบปีแล้ว ร้านอยู่หลังวัดสุทัศน์ ห่างจากดิโอลด์ฯ แค่นิดเดียว ช่วงหลังเลยไม่ได้มาร้องเพลงบ่อยเหมือนเดิม เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ทางร้านมาบอกว่าจะปิดส่วนที่ร้องเพลง ไม่ได้บอกเหตุผลชัดเจน เราร้องจนวันสุดท้ายเลย พอวันต่อมาก็ไม่ได้เสียดายอะไร โอเค ประหยัดเงินด้วย (หัวเราะ) ถ้าอยากร้องก็ไปที่อื่น คิดถึงบ้าง แต่ทำยังไงได้ มันเป็นร้านของเขา กลุ่มของเราเปลี่ยนมานัดเจอกันร้านชั้น 2 เป็นร้านคาราโอเกะ แต่ตัวเองไม่ค่อยชอบเท่าไหร่นะ คนโต๊ะอื่นคุยกันเสียงดัง ไม่เหมือนร้านข้างบน ดนตรีสดเป็นเสียงเปียโน คนตั้งใจฟังเพลง เรามักแต่งหน้าแต่งตัวสวยๆ มาร้องด้วย เพราะบางคนแอบถ่ายรูป เราไม่สวยได้ยังไงล่ะ (หัวเราะ)

     “ตอนนี้ตัวเองอยู่กับสามี ลูกสาวสองคนแต่งงานออกไปแล้ว นานๆ จะเจอกันสักที เราเป็นฝ่ายไปหามากกว่า เพราะพวกเขาไม่ค่อยว่างกัน อาทิตย์นี้ไปหาลูกสาวคนโต อาทิตย์ต่อมาไปหาลูกสาวคนเล็ก ได้เจอทั้งลูกทั้งหลาน เลยไม่ค่อยได้ร้องเพลงเท่าไหร่แล้ว ต่อให้ในอนาคตไม่ได้ร้องเพลงแล้วก็ไม่เสียดายนะ อายุเท่านี้แล้ว อยู่กับลูกกับหลานแล้วอบอุ่นกว่า ตอนลูกสาวคนโตแต่งงานออกไป เรายังอยู่กับลูกสาวคนเล็ก แต่พอลูกสาวคนเล็กแต่งงานออกไป ตอนนั้นเหงามาก ไม่อยากร้องเพลงเลย เพื่อนชวนก็ไม่อยากออก เราคิดถึงลูก แต่เวลาผ่านไปก็ต้องปรับตัว ร้องเพลงช่วยคลายเหงาได้บ้าง แต่ถ้าตอนนี้เลย เราชอบไปเจอลูกเจอหลานมากกว่านะ”

 

ดิโอลด์สยาม

 

ปัทมา งามรุ่งศิริ อายุ 59 ปี

     “ฉันเป็นเพื่อนกับอาปุ๊ก (วนิดา วัฒนาโภคกุล) มาตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนพ่อของเขาขายผัก แล้วฉันไปเป็นลูกค้า คุยกันถูกคอเลยเป็นเพื่อนกันมาตลอด วันหนึ่งเขาอยากทำร้านอาหารที่ชั้น 2 ของดิโอลด์ฯ เลยให้ฉันมาช่วยทำ หลายปีเหมือนกันนะ ฉันชอบร้องเพลง แต่ไม่ค่อยเก่งเพลงไทย ส่วนใหญ่ร้องเพลงจีน มีกลุ่มที่ร้องเพลงของตัวเอง พอมาทำร้านอาหารกับอาปุ๊กก็ร้องที่ร้านบ้าง ตอนหลังร้านอาหารปิดตัว อาปุ๊กเปลี่ยนมาขายเสื้อผ้า เขามาเห็นว่าชั้น 3 มีให้คนมาร้องเพลงได้ด้วยเลยชวนฉันมาร้องบ้าง แต่ไม่ได้มาบ่อยหรอก เพราะนักดนตรีเล่นเพลงจีนไม่ค่อยได้ ถ้าเล่นได้ก็ต้องเป็นเพลงของ เติ้ง ลี่จวิน เพราะเป็นเพลงที่ดังหน่อย บางครั้งฉันพกซีดีดนตรีเพลงจีนมาด้วยเผื่อบางร้านนักดนตรีเล่นไม่ได้ ก็ใช้วิธีเปิดแผ่นเอาเลย (ยิ้ม)

     “ฉันชอบร้องเพลงมาก เรียกได้ว่าทุรนทุรายเลย (หัวเราะ) แต่ตอนเด็กๆ ทำได้ไม่เต็มที่ เราไม่ได้มีเงินมากด้วย เลยเหมือนเก็บกด พอมีเงินเลยตระเวนร้องตามร้าน ตอนหลังมาเป็นคนสอนด้วย ทุกวันพฤหัสฯ จะมาสอนที่ร้านชั้น 2 วันอังคารจะสอนที่ศูนย์การค้าวรรัตน์ วันพุธไปสอนแถวพระราม 4 เคยพาลูกศิษย์ไปประกวดร้องเพลงที่ต่างประเทศด้วยนะ ฝึกกับมือ พาไปได้รางวัล เดี๋ยวก็จะไปอีก ลูกศิษย์มีทั้งเด็กวัยรุ่นไปจนถึงคนแก่ อายุ 80-90 ยังมีเลย ร้องเพลงนี่ดีนะ ช่วยให้สมองไม่ฝ่อ เมื่อก่อนสังคมไม่ค่อยยอมรับให้ทำอะไรแบบนี้ ปัจจุบันก็อิสระ เดี๋ยวนี้คนแก่ๆ ออกมาร้องเพลงกันเยอะเลย

     “เวลาขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีใหญ่ๆ ฉันสะกดจิตคนได้เลย เดี๋ยวนี้อายุมากขึ้น เสียงตกลงไปสองคีย์ เราฝืนใช้เสียงมาเยอะ เส้นเสียงเลยเสียหาย ฉันชอบร้องโชว์บนเวทีใหญ่ๆ เสียเงินไปร้องก็เอา ความสุขมันหลั่งออกมาทันที ฉันชอบการร้องเพลงมาก ปัจจุบันยังร้องตลอด ร้านไหนปิดก็ไม่มีปัญหา ยังมีร้านเปิดอีกเยอะ ตัวเองตั้งใจว่าจะร้องจนกว่าร้องไม่ไหว ทุกวันนี้ไม่ค่อยกล้ากินอะไรที่ส่งผลต่อเสียง กลัวมาก ไม่อยากคิดถึงเลย ถ้าวันนั้นมาถึงจริงๆ คงเครียดมาก”

 

ดิโอลด์สยาม

ดิโอลด์สยาม

 

สุรินทร์ เฮงวิวัฒนชัย อายุ 72 ปี

     “สมัยผมเป็นเด็กยังไม่มีทีวีให้ดู ความบันเทิงในชีวิตคือการฟังวิทยุ เพลงที่ฟังบ่อยๆ คือเพลงสุนทราภรณ์ เมื่อก่อนบ้านของผมอยู่แม่กลอง แถวคลองบางนกแขวก มักมีเรือขายยาผ่านมา เขาพูดโฆษณายาแล้วเปิดเพลงลูกทุ่งไปด้วย เช่น ‘หากฝันว่าฉันและเธอ ละเมอความรักร่วมกัน ทุกๆ วันแสนสุขฤทัย’ ของ ทูล ทองใจ ‘ไหนว่าไม่ลืม ไม่ลืม ไม่เลือนเหมือนเดือนคู่ฟ้า’ ของ ผ่องศรี วรนุช แล้วพวกหนังขายยาตามวัดเขาก็เปิดเพลงอยู่ตลอด ผมเลยได้ฟังเพลงเป็นประจำ กลายเป็นคนชอบเสียงเพลง ชอบร้องเพลง สมัยนั้นยังไม่มีคาราโอเกะ เลยฝึกร้องกับดนตรีมาเรื่อยๆ ร้องถูกบ้างผิดบ้าง เวลาผ่านไปก็กลายเป็นทักษะ

     “พอเริ่มทำงาน ผมเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม เลิกงานก็ไปร้องเพลงที่ร้านอาหารแถวลาดพร้าวบ้าง แถวเสนานิคมบ้าง เวลาผ่านไป ผมมาเปิดร้านขายวัตถุโบราณเล็กๆ ที่โรงหนังควีน เลยได้มาเที่ยวดิโอลด์สยาม ตอนนั้นชั้น 3 เป็นคาราโอเกะ ผมเลยมาร้อง แต่ไม่ค่อยชอบหรอก คาราโอเกะเป็นนายเรา ต้องร้องตามเนื้ออย่างเดียว เลยไม่ได้มาบ่อย ต่อมาเปลี่ยนเป็นดนตรีสด เริ่มจากอิเล็กโทน แล้วมาเปียโน ผมชอบเลย เราเป็นนายมัน อยากหยุด อยากย้อน อยากซ้ำ เราบอกกับนักดนตรีได้ เลยมาร้องบ่อยขึ้น เลิกงานแล้วมาร้อง อยู่จนร้านปิด หลังจากนั้นเลยมาที่นี่เป็นประจำ ไม่ไปร้านอื่นแล้ว ดิโอลด์สยามอยู่ใกล้บ้านปัจจุบันด้วย พอเกษียณแล้วก็ยังมาแทบทุกวัน นอกจากติดธุระ”

 

ดิโอลด์สยาม

 

     “ตอนร้องเพลงตามร้านอาหารใหม่ๆ ผมติดเพื่อน ติดเหล้าด้วย (หัวเราะ) พอมาร้องที่นี่ไม่ได้ดื่ม แล้วก็เลิกถาวรเลย กลายเป็นว่าเสียงดีขึ้น วิธีร้องดีขึ้น เพราะเรามีสติ บางครั้งตอนเมาๆ ผมร้องเพลงแล้วต้องวางไมค์ เพราะจำเนื้อเพลงไม่ได้ (หัวเราะ) เห็นแบบนี้ เมื่อก่อนผมเคยมีแม่ยกด้วยนะ (หัวเราะ) ร้องเพลงแล้วมีคนเอาดอกไม้มาให้ เด็กๆ ที่โรงเรียนก็รู้ว่าผมมาร้องเพลง เจอกันแล้วล้ออยู่เรื่อยเลย ‘อาจารย์ไม่ไปร้องเพลงเหรอ’ (หัวเราะ) เคยมีเด็กมากินข้าวแล้วบังเอิญเจอกัน เขามากับพ่อแม่ ผมไม่มีเขิน ร้องเพลงให้ฟังเลย (หัวเราะ) เด็กก็ชอบใจ บอกว่า ‘วันนี้ผมได้มาฟังอาจารย์ร้องเพลง’ เวลาร้องเพลงแล้วมีคนตั้งใจฟัง มันให้ความรู้สึกว่าเป็นคนสำคัญนะ

     “ตอนรู้ว่าที่นี่ปิดบริการ ผมไม่ได้เสียดายอะไร เปลี่ยนไปร้องคาราโอเกะชั้น 2 ก็ได้ เมื่อก่อนไม่ชอบร้องคาราโอเกะ แต่พอฝึกไปเรื่อยๆ ผมไม่ต้องไปดูเนื้อเพลงแล้ว อาศัยฟังดนตรีอย่างเดียว (หัวเราะ) หรือต่อให้ไม่ได้ร้องเพลงเลย ผมก็ไม่เสียดายอะไร อยู่บ้าน ดูทีวี นอน ออกไปเจอเพื่อน แค่นี้พอแล้ว ผมเองมีเงินบำนาญ เลยไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน ช่วงนี้มีความสุขกับการซื้อทองเก็งกำไร (ยิ้ม) ผมมีพี่น้องหลายคน เลยมีหลานเยอะ วันหยุดก็ไปสอนพิเศษหลาน ไม่มีเหงาหรอก ผมเป็นคนมีความสุขกับทุกอย่างที่ทำ”

 


สำรวจ ‘โลกของคนสูงวัย’ ตอนอื่นๆ ได้ที่

     – สุขภาพกาย สุขภาพใจ และความหมายชีวิตของกลุ่มรำไท่เก๊ก ณ สวนลุมพินี

     – มิตรภาพจากเรื่องเล่าของมิตรสหายใน กลุ่มนั่งสนทนา ณ ฟู้ดคอร์ต ห้างพาต้า

     – สร้างสุขสูงวัย เปิดใจรับฟัง โดยกลุ่มสวัสดีวัยสุข ณ สวนโมกข์กรุงเทพฯ