รำไท่เก๊ก

โลกของคนสูงวัย | สุขภาพกาย สุขภาพใจ และความหมายชีวิตของกลุ่มรำไท่เก๊ก ณ สวนลุมพินี

ณ สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร

เมื่อประตูสวนสาธารณะเปิดออก ในทุกเช้าตรู่ของทุกวัน คนสูงวัยจำนวนมากจะมารวมตัวกัน หลากหลายกิจกรรมกระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ทั้งวิ่ง เดิน ยกเวต แอโรบิก ชี่กง ไท่เก๊ก ฯลฯ บ้างกลุ่มเล็ก บ้างกลุ่มใหญ่

     ขณะที่หลายคนยังหลับอยู่บนเตียงนอน พวกเขาเคลื่อนไหวไปพร้อมกับแสงเช้าที่ค่อยๆ ปรากฏตัว เวลาผ่านไปเพียงไม่นาน บางคนเริ่มนั่งพัก แล้วสักพักบางคนก็กลับไปทำกิจวัตรประจำวันของตัวเอง สวนทางกับคนกลุ่มใหม่ที่เพิ่งเดินทางมาถึง พวกเขาค่อยๆ รวมตัว และเริ่มต้นกิจกรรมของตัวเองบ้าง

     กลุ่มแล้วกลุ่มเล่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งแดดจ้าทำงานเต็มที่ บรรยากาศกำลังสบายถูกแทนที่ด้วยความรู้สึกแสบร้อนผิวกาย สมาชิกโดยส่วนใหญ่ทยอยออกไปจากสวนลุมพินี กลับสู่ชีวิตประจำวันที่คุ้นเคย เหลือเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่หลบเข้าร่มแล้วแกะอาหารเช้ามารับประทานร่วมกัน เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายบ่ายต้นเย็น หลากหลายกิจกรรมก็เริ่มต้นอีกครั้ง โดยมีความมืดของค่ำคืนเป็นจุดสิ้นสุด

     อาจแตกต่างกันในรายละเอียดบ้าง ทว่าวิถีชีวิตเช่นนั้นอยู่คู่กับ ‘สวนลุมพินี’ มาแล้วหลายสิบปี

 

ไท่เก๊ก

 

     เช้าวันนั้นผมกับช่างภาพไปถึง ‘สวนลุมพินี’ ราวแปดโมง มองว่าเช้าก็ใช่ มองว่าสายก็ใช่เช่นกัน เพราะบางกลุ่มกำลังเตรียมตัวกลับ ขณะที่บางกลุ่มเพิ่งจะเริ่มต้นทำกิจกรรม เรานัดหมายกับคนสอนมวยจีน หรือ ‘ไท่เก๊ก’ ที่บริเวณใกล้ทางเข้าเกาะลอย แต่ด้วยไปถึงก่อนเวลานัดพอสมควร ผมเลยใช้เวลากับการสังเกตการณ์กลุ่มอื่นๆ ไปก่อน

     หากมองจากสายตาคนนอก กลุ่มเล็ก-กลุ่มใหญ่ที่กำลังรำไท่เก๊ก มีทั้งสายตาและท่าทีที่จริงจังในการปฏิบัติ ขณะเดียวกัน พวกเขามีความผ่อนคลายด้วยเช่นกัน ผมประทับใจกลุ่มผู้หญิงสูงวัยที่กำลังร่ายรำ เห็นความง่าย ผ่อนคลาย และจริงจัง ขณะที่พวกเธอกำลังจะแยกย้ายกันกลับ เลยเข้าไปขอพูดคุยด้วยด้วย

     หากมองอย่างผิวเผิน ความเชื่องช้าคล้ายการฝึกสมาธิที่ไม่เกิดมรรคผลต่อร่างกาย แต่คนสูงวัยจำนวนหนึ่งที่เราได้พูดคุย แม้ว่าอายุหกสิบ เจ็ดสิบ หรือแปดสิบ พวกเขากลับตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า สุขภาพของเขาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งกับกลุ่มผู้หญิงสูงวัย และกลุ่มของอาจารย์สอนไท่เก๊กที่นัดไว้ล่วงหน้า

 

รำไท่เก๊ก

 

     แน่นอนว่า สิ่งที่พวกเขาได้รับคงไม่ใช่เพียงร่างกายที่แข็งแรง แต่รวมถึงการได้ออกมาเป็นส่วนหนึ่งกับพื้นที่กลางแจ้ง ลมเย็นๆ และแดดอ่อนๆ ยามเช้า อีกทั้งสีเขียวของต้นไม้น้อยใหญ่ ทำให้คนสูงวัยไม่ต้องอุดอู้อยู่ในพื้นที่คับแคบ พร้อมกันนั้นการได้เจอเพื่อนวัยใกล้เคียงกัน-ทั้งสนิทมากและสนิทน้อย ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ของวันที่ได้คุยได้ถามสารทุกข์สุกดิบอีกด้วย

     ‘สุขภาพกาย’ และ ‘สุขภาพใจ’ ที่เป็นปัจจัยส่งเสริมซึ่งกันและกัน เลยทำงานได้อย่างเต็มที่ แล้วถึงที่สุดมันอาจเชื่อมโยงไปถึง ‘ความหมายของชีวิต’ ในแต่ละวันที่เหลืออยู่ด้วย

 

 

เรืองโรจน์ ไตรสวัสดิ์วงศ์ อายุ 65 ปี

     “ย้อนกลับไปสามสิบปีก่อน ผมขายเสื้อผ้าอยู่ประตูน้ำ เป็นช่วงที่ทำงานหนัก กินไม่เป็นเวลา และพักผ่อนไม่เพียงพอ จนขับถ่ายออกมาเป็นเลือดสดๆ หมอแนะนำให้ออกกำลังกาย ผมกับแฟนเลยพากันมาวิ่งที่สวนลุมฯ วันนั้นวิ่งไปได้สักพักแล้ว ขณะนั่งพักอยู่ ผมเห็นคนกลุ่มใหญ่กำลังรำมวยจีน เลยพูดกับแฟนว่า ‘คนแก่ๆ มารำช้าๆ แบบนี้จะไปได้อะไร’ ขณะที่วิจารณ์อยู่ คนสูงอายุในกลุ่มหันมาเห็นแล้วคิดว่าสนใจ เลยกวักมือเรียกแล้วพูดว่า ‘ดีต่อสุขภาพนะ ถ้าสนใจเรียนมาสมัครสมาชิกได้ที่นี่ (ชมรมเซี้ยงเล้ง)’ ซึ่งต่อมาคนนั้นคืออาจารย์มวยจีนคนแรกของผม ทั้งที่ไม่ได้สนใจอะไร แต่ด้วยค่าสมาชิกต่อปีไม่แพง เลยคุยกับแฟนว่าลองดูก็ได้

     “ผมมารำมวยจีนทุกเช้า ผ่านไปเป็นอาทิตย์ ผ่านไปเป็นเดือน อาจารย์ก็ยังบอกว่า ‘รำไม่ถูก’ อะไรกัน มันรายละเอียดเยอะขนาดนั้นเลย เขาห้ามเคลื่อนไหวโดยใช้กำลัง ห้ามใช้มือ แต่ให้ใช้สมาธิ อาจารย์ค่อยๆ อธิบายเคล็ดลับ พอเรียนรู้แล้วมันฝึกทักษะเหมือนหนังจีนกำลังภายในเลย เราจะควบคุมระบบต่างๆ ของร่างกายได้ยังไง มนุษย์ตื่นมา เราเดินไปข้างหน้าตลอด แต่ร่างกายต้องใช้แปดทิศ เราไม่เคยเดินถอยหลัง เดินด้านข้าง เลยใช้กล้ามเนื้อไม่ครบ การรำมวยจีนทำให้เคลื่อนไหวครบแปดทิศ”

     “ตอนฝึกอาจารย์จะบอกว่า ‘ให้ใช้สมาธิจิตขับเคลื่อนลมปราณ แล้วลมปราณขับเคลื่อนร่างกาย’ ไม่ใช่แค่หลายเดือนนะครับ ต้องบอกว่าหลายปีถึงจะเข้าใจ สุขภาพค่อยๆ ดีขึ้น ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าการเคลื่อนไหวช้าๆ มันได้อะไร คำว่า ‘กำลังภายใน’ คือค่อยๆ ให้อวัยวะข้างในทำงาน กลางวันใช้ชีวิตไป พอกลางคืนเรานอน มันจะสร้างเสริมซ่อมแซมเซลล์ เหมือนการชาร์จแบตเตอรี่ให้ร่างกาย”

 

รำไท่เก๊ก

 

     “ในชีวิตไม่เคยคิดจะสอนใครเลย หลังจากเรียนไปประมาณห้าปี อยู่ๆ มีคนเข้ามาบอกว่า ‘ผมอยากให้พี่ช่วยสอนมวยจีน’ ผมตอบไปว่า ‘ผมยังเป็นลูกศิษย์อยู่เลย ถ้าอยากเรียนเดี๋ยวแนะนำอาจารย์ให้’ แต่เขาไม่เอา เจาะจงเรียนกับผมอย่างเดียว เอาจริงๆ เขาเคยเรียนไท่เก๊กมาแล้ว แต่สุขภาพยังไม่ดี นั่งดูผมรำมาสักพักแล้ว เลยอยากให้ช่วยสอน ผมเลยไปถามอาจารย์คนแรก เขาอนุญาตให้สอน เลยได้เริ่มสอนเป็นครั้งแรก

     “จากลูกศิษย์คนแรกก็กลายเป็นปากต่อปาก เลยกลายเป็นคนสอนมาจนปัจจุบัน เมื่อก่อนคนเรียนอายุห้าสิบขึ้นไป แต่ปัจจุบันก็มีเด็กวัยรุ่นมากขึ้น ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ผมไม่เคยเก็บเงินใครเลย ถ้าไม่ติดธุระไปไหน ผมมาเกือบทุกวัน พร้อมกันนั้นผมยังเรียนกับหลายอาจารย์ ความท้าทายของตัวเองคือการเรียนในขั้นสูงขึ้นไป อยากรู้ว่าร่างกายและจิตใจจะเป็นยังไง แล้วค่อยนำสิ่งที่ค้นพบมาถ่ายทอด

     “นอกจากได้สอนคนอื่น ผมได้สุขภาพตัวเอง ได้ฝึกพัฒนาจิตใจ แล้วได้เพื่อนดีๆ เยอะแยะ มวยจีนทำให้เกิดมิตรภาพ บางคนก็สังสรรค์กินข้าวกัน โม้นั่นโม้นี่สัพเพเหระ กลุ่มคนที่รำมวยจีนกันมา ปัจจุบันอายุ 70-80 ก็ยังสุขภาพดี ผมว่าเกี่ยวกันมากเลย การรำมวยจีนทำให้พวกเขาสุขภาพดี อายุยืน เคยมีคนถามผมว่าจะอยู่ถึงอายุเท่าไหร่ ผมตอบไปว่า นอกจากเรื่องสุขภาพในปัจจุบัน มนุษย์มีเรื่องกรรมพันธุ์ ยีน เซลล์ชีวิตของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวอายุยืน บางครอบครัวอายุสั้น ต่อให้รำมวยจีนขนาดไหนก็คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้หรอก อย่างน้อยผมขอให้ตัวเองเกิด แก่ เจ็บนิดเดียว เมื่อหมดอายุขัยก็ไป แค่นี้ก็สบายใจแล้ว”

 

รำไท่เก๊ก

 

วันทนา ประทีปวัฒนวิทย์ อายุ 70 ปี

     “เมื่อก่อนเล่นชี่กงในสวนลุมฯ นี่แหละ พอปี 2543 เพื่อนรำไท่เก๊กอยู่ แล้วเราเดินมาหาเขาที่นี่ (ลานใกล้กับทางเข้าเกาะลอย) เห็นคนกำลังรำแล้วชอบ มันเคลื่อนไหวมากกว่าชี่กง วันรุ่งขึ้นเลยมาสมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม ชื่อกลุ่มซีจ้าง เป็นชื่อเดียวกับอาจารย์ที่สอน เป็นการออกกำลังกายที่ไม่ต้องเคลื่อนไหวเยอะ เดิน ถอย ยกขา ขยับแขน บางครั้งใช้อุปกรณ์ด้วย เราได้หายใจถึงจุดตันเถียน (บริเวณท้องน้อย) มันดีต่อร่างกายมากเลย

     “ตัวเองเป็นคนสวนพลูโดยกำเนิด ช่วงนั้นมารำไท่เก๊กตอนเช้า เสร็จแล้วกลับไปทำงาน มาแทบทุกวันเลย คนมารำหลายสิบคน หลังจากนั้นประมาณสองปี อาจารย์ซีจ้างไม่ได้อยู่สอนแล้ว เขาเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่น ทำให้ไม่มีเวลาว่าง เราเลยต้องช่วยงานต่างๆ ของกลุ่ม แล้วเริ่มสอนคนอื่นเท่าที่ตัวเองทำได้ แต่พอไม่มีอาจารย์ กลุ่มก็ค่อยๆ ขนาดเล็กลงไป คนรำไม่เยอะเหมือนเดิม

 

รำไท่เก๊ก

 

     “คนรำเยอะไปก็ไม่ดี คนน้อยไปก็เหงา ต่อให้รำเป็นแล้ว แต่รำคนเดียวไม่สนุกหรอก บางวันมารำคนเดียว ก็ชะเง้อว่าเมื่อไหร่จะมีคนมา (ยิ้ม) รำทั้งหมด 85 ท่า ถ้าอยู่เป็นกลุ่ม เวลาสมาธิหลุดก็จะเกิดความคิดขึ้นมาว่า ‘ถึงท่าไหนแล้วนะ’ (ยิ้ม) เรายังหันไปมองเพื่อนข้างๆ แล้วรำต่อได้ เหมือนเป็นการส่งพลังกันในกลุ่ม มารำจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว วันไหนฝนตกก็เสียดาย ถ้าฝนตกตอนเช้าแล้วช่วงสายหน่อยหยุดตก เราก็ออกมานะ

     “ปีนี้อายุ 70 แล้ว รู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงกว่าเมื่อก่อนอีก เคลื่อนไหวดีกว่า นั่งยองๆ ได้ด้วย เคยไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อน เดินขึ้นถ้ำสูงๆ ก็ได้ อย่างเดินรอบสวนลุมฯ ก็ไหว เคยเห็นในโทรศัพท์บอกว่าได้เป็นหมื่นก้าวเลย ไม่เหนื่อยมากด้วย ไม่เคยรู้ว่าตัวเองแข็งแรงหรือเปล่า จนกระทั่งได้เดินเลยรู้ว่าตัวเองยังไหว”

 

รำไท่เก๊ก

 

     “เพื่อนที่สวนลุมฯ จะสนิทกันระดับหนึ่ง ที่สนิทจริงๆ จะเป็นเพื่อนสมัยเรียน เรายังติดต่อและไปเที่ยวด้วยกันตลอด หลายคนมีครอบครัวไปแล้ว มีลูก มีหลาน ส่วนตัวเองเป็นโสด พักอยู่กับพี่สาว ไม่ได้กังวลอะไรนะ (เงียบคิด) เรากำหนดชีวิตตัวเองไม่ได้หรอก ชีวิตมาแบบนี้แล้ว เลยเตรียมพร้อมมาตั้งแต่อายุสี่สิบ ทั้งเรื่องเงินและสุขภาพ

     “อายุเท่านี้ไม่ได้อยากทำอะไรแล้ว ชีวิตเป็นแบบเดิมๆ ทุกวัน ตื่นเช้ามาออกกำลังกายที่สวนลุมฯ ตอนเจ็ดโมง กลับบ้านประมาณเก้าโมง ก่อนกลับก็หาอะไรกินหน่อย ระหว่างวันจะค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ดูข่าว ดูโซเชียลฯ มีไปเที่ยวบ้าง หมดวันก็นอนหลับ แล้วก็วนแบบเดิม บางครั้งก็รู้สึกว่าจำเจนะ เลยไม่อยากคิดถึงอนาคต ตัวเองเป็นคนชอบสันโดษอยู่แล้ว เพื่อนก็มีหลายกลุ่ม เลยไม่ได้เหงาอะไร”

 


สำรวจ ‘โลกของคนสูงวัย’ ตอนอื่นๆ ได้ที่

     – เติมความสุขใจผ่านเสียงเพลงของกลุ่มร้องเพลง ณ ดิโอลด์สยาม

     – มิตรภาพจากเรื่องเล่าของมิตรสหายใน กลุ่มนั่งสนทนา ณ ฟู้ดคอร์ต ห้างพาต้า

     – สร้างสุขสูงวัย เปิดใจรับฟัง โดยกลุ่มสวัสดีวัยสุข ณ สวนโมกข์กรุงเทพฯ