ประหลาดใจ—เป็นความรู้สึกแรกเมื่อก้าวเข้ามาในฟู้ดคอร์ตของ ‘ห้างพาต้า’ ที่ตั้งอยู่บริเวณชั้นใต้ดิน
เปล่าเลย ไม่ได้เกี่ยวกับบรรยากาศหรือการตกแต่ง ไม่ได้เกี่ยวกับจำนวนหรือประเภทร้านอาหาร หากแต่เป็นผู้คนจำนวนมากที่นั่งอยู่ตามโต๊ะต่างๆ ที่แทบทั้งหมดเป็น ‘คนสูงวัย’
บางส่วนนั่งอยู่เงียบๆ เพียงลำพัง บางส่วนรวมกลุ่มสนทนาด้วยความเบาราวกระซิบ และบางส่วนรวมกลุ่มส่งเสียงเอะอะอย่างออกรสชาติ จากการคาดคะเน อายุคงเริ่มตั้งแต่คนเกษียณใหม่หมาด ไปจนถึงคนที่มากด้วยเวลาว่างมาหลายปี การแต่งกายก็หลากหลาย มีทั้งภูมิฐาน และสวมใส่ง่ายๆ สบายๆ เท่าที่เห็นในวันนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มีเพียงประปรายที่เป็นผู้หญิง ระหว่างสังเกตความเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่ม ผมเห็นบางคนยกมือโบกทักทายกันไปมา เป็นการสะท้อนว่าพวกเขาคงรู้จักมักคุ้นอย่างทั่วถึง
“คนแก่เยอะแบบนี้ เป็นเรื่องปกติของที่นี่ไหมครับ” ผมสั่งชาเย็นหนึ่งแก้ว แล้วลองถามพนักงานขาย
“ใช่ค่ะ” เขาตอบรับสั้นๆ ท่าทางบ่งบอกว่าเคยชินกับสิ่งที่เป็นอยู่ “ส่วนใหญ่ต่างคนต่างมา แล้วค่อยมานั่งรวมกลุ่มกัน นั่งคุยกันทั้งวัน บางคนเป็นลูกค้าประจำของที่ร้าน แต่ไม่ได้รู้จักชื่อหรอก แค่จำหน้ากันได้”
ผมกวาดสายตามองบรรยากาศโดยรอบ น้อยโต๊ะจะมีอาหารจานหลักวางอยู่ ไม่ว่าจะกำลังกินอยู่หรือกินเสร็จแล้ว แทบทุกโต๊ะมีเพียงน้ำเปล่าในขวดพลาสติกหรือน้ำหวานหลากสีสัน บ้างกาแฟเย็น บ้างชาเย็น โดยที่บางแก้วคงห่างหายการหยิบจับมาหลายนาที น้ำแข็งเลยละลายจนส่วนบนจางเป็นน้ำสีเกือบใส
มุมหนึ่งของฟู้ดคอร์ตมีป้ายห้อยระบุข้อความว่า ‘ขอความร่วมมือ กรุณาใช้พื้นที่ศูนย์อาหารเพื่อรับประทานอาหารเท่านั้น (บริเวณนี้นั่งได้ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง)’ ผมไม่เคยเห็นที่ไหนติดป้ายแบบนี้ เพราะปกติใครๆ ก็มาฟู้ดคอร์ตเพื่อกินข้าว เสร็จแล้วก็แยกย้ายไปทำอย่างอื่น
“ห้อยป้ายไว้ว่าห้ามนั่งเกินหนึ่งชั่วโมง สุดท้ายได้ผลบ้างไหม” ผมลองถามพนักงานขายน้ำ
เธอยิ้ม แล้วส่ายหน้าเบาๆ ซึ่งเป็นจริงอย่างที่ว่า วันนั้นผมอยู่สังเกตการณ์เกินหนึ่งชั่วโมง แทบทุกกลุ่มที่นั่งสนทนายังอยู่ที่เดิม ไม่มีวี่แววแยกย้าย มีแต่สมาชิกใหม่เข้ามาสมทบเพิ่มเติม
ในฐานะคนสังเกตการณ์ ขอบเขตการทำความเข้าใจจำกัดเพียงเท่านั้น เพื่อเป็นการขยายสายตาให้กว้างกว่าเดิม ผมเลยนั่งสนทนากับพวกเขา… ทีละคน
อุดม เสนามนตรี อายุ 85 ปี
“ผมทำงานในวงการเซลส์มาจนเกษียณ มาเที่ยวพาต้าไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีแล้ว ส่วนฟู้ดคอร์ตที่เทสโก้มาบริหารเพิ่งเปิดได้สักสิบกว่าปี เมื่อก่อนก็บรรยากาศแบบนี้แหละ คนหน้าเดิมๆ ทั้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนเกษียณ เคยมีคนเรียกว่า ‘สุสานคนชรา’ (หัวเราะ) คนแก่มารวมตัวกันก่อนตาย หลากหลายกลุ่มนะครับ กลุ่มทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เพื่อนใครเพื่อนมัน ส่วนกลุ่มของผมจะสัพเพเหระ (หัวเราะ) คนแก่มารวมตัวกันก็คุยสารพัดเรื่อง พระเครื่อง ธรรมะ ดูผู้หญิง (หัวเราะ) โม้เรื่องตัวเอง ผมก็โม้บ้าง จำเป็นต้องโม้เพื่อความอยู่รอด ทำงานอะไรมาบ้าง เตะปี๊บดังอยู่ แต่จริงๆ ไม่ได้เตะนะ เดินยังจะล้มเลย (หัวเราะ) ไม่มีอะไรเป็นสาระหรอกครับ
“บ้านผมอยู่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 57 ห่างจากพาต้าแค่กิโลกว่าๆ บางวันเดินมา บางวันขึ้นรถเมล์ บางวันขึ้นแท็กซี่ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ผมมาถึงช่วงบ่ายแล้ว มาเกือบทุกวันนะครับ เวลากลับไม่แน่นอน แต่ผมต้องถึงบ้านก่อนมืด เพราะเมียดุ (หัวเราะ) สมัยก่อนผมกลับบ้านตีสองตีสาม เราโกหกเก่ง ‘ผมไปกับเจ้านายมา เป็นความจำเป็นนะ เพราะปรึกษาหารือเรื่องงานกัน’ ถ้าถามว่ากลัวเมียไหม บางทีก็กลัว บางทีก็ไม่กลัว (ยิ้ม) ผมเป็นตัวของตัวเอง แต่หน้าที่ก็คือหน้าที่ เราอยู่กันสองคน ลูกชายสามคนโตกันหมดแล้ว นานๆ จะได้เจอกันสักที เพื่อนตายไปเป็นสิบคนแล้ว ก็เสียใจ ใจหาย แต่ไม่ได้มากมายอะไรหรอก มีโอกาสก็ไปงานศพ หรือทำบุญไปให้ แต่เรายังเหนียวอยู่ (หัวเราะ)
“คนอายุเยอะๆ อย่าไปเก็บตัวนะครับ ต้องเข้าสังคมบ้าง แล้วต้องเป็น good listener เป็นคนฟังที่ดี อย่าไปขัดคอใคร ผมอยู่ที่ไหนไม่เคยสร้างปัญหา ใครชวนคุยอะไรก็คุยได้ทั้งนั้น แต่ถ้าเรื่องการเมือง ผมขอฟังอย่างเดียว (ยิ้ม) แต่ละคนผ่านชีวิตมาแตกต่างกัน เรามีความรู้เรื่องพระเครื่อง ก็พูดให้คนอื่นฟัง ใครมีความรู้อะไรก็แบ่งปัน เราหวังดีให้กัน ที่นี่มีคนหลายประเภท กลุ่มชอบการพนัน ชอบเล่นม้า ผมไม่มีความรู้เลย เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ เชื่อไหมว่ากลุ่มขายที่ดินมาตกลงธุรกิจเป็นพันล้านก็มีนะครับ เพิ่งมีคนหนึ่งตายไปไม่กี่เดือนที่แล้ว เวลาไปร้องเพลงทีไร เขาต้องเลือกเพลง คิดจะปลูกต้นรักอีกกอ อายุ 99 แล้ว ฟังดูแล้วขัดกับความเป็นจริงนะ น่าสนใจไหม ผมว่าตรงนี้คือมหาวิทยาลัยชีวิตเลย”
ปกรณ์ กีรติเกรียงไกร อายุ 68 ปี
“ผมเคยทำอาชีพนำเข้าหูฉลามแห้งมาส่งร้านอาหารในกรุงเทพฯ สกาลา เฉลิมบุรี เยาวราช ฯลฯ บินไปฮ่องกงบ้าง สิงคโปร์บ้าง ขึ้นเครื่องบินเดือนละสองครั้ง พาสปอร์ตหมดไปหลายเล่ม ผมส่งอยู่เป็นสิบปีนะ พอส่งเสร็จแล้วเหลือเวลาว่างมาก ประกอบกับช่วงนั้นร้านใหญ่ที่สั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ยอดขายเลยไม่ดีเท่าเดิม ตอนนั้นผมอายุห้าสิบกว่า ยังรู้สึกว่าตัวเองมีไฟอยู่ เลยไปชวนญาติพี่น้องมาร่วมหุ้นเปิดร้านอาหาร เปลี่ยนอาชีพไปเลย ผมชำนาญเรื่องอาหาร ลูกน้องก็มี เคยทำจัดซื้อวัตถุดิบให้ภัตตาคารใหญ่ๆ มาก่อน เลยจ้างกุ๊กมือรองๆ เข้ามาทำงาน เพราะเอาจริงๆ ฝีมือไม่ค่อยต่างกันหรอก
“แม้จะมีประสบการณ์เรื่องอาหารก็จริง แต่พอมาทำร้านอาหาร เหนื่อยมาก (เน้นเสียง) ปัญหาเยอะ เราเจอลูกน้องไม่ซื่อสัตย์ เข้ามาใหม่ๆ ทำอะไรไม่เป็น ฝึกทำหมูหัน ทำเป็ดปักกิ่ง เสียหายไปไม่รู้เท่าไหร่ พอเริ่มทำเป็น เขามาขอลาออก บอกว่าอีกร้านให้เงินมากกว่า คนทำงานบางคนหิ้วกระเป๋าใบใหญ่มา พอตกกลางคืน วัตถุดิบ เครื่องปรุง ช้อนส้อม จานชาม แก้วน้ำอย่างดีทั้งนั้นเลย หายไปวันละนิดวันละหน่อย แล้วเราจะขอค้นตัวได้ไหมล่ะ มันเสียน้ำใจกัน สุดท้ายต้องเลยตามเลย ตอนนั้นร้านเปิดมาได้สี่ปี หมดสัญญาเช่าพอดี เขาจะเอาที่ไปทำอย่างอื่น ทั้งที่เครื่องไม้เครื่องมือพร้อม มีคนมาเสนอให้เซ้งที่ต่อด้วยนะ แต่ผมไม่เอาแล้ว เหนื่อยมาก ไม่เห็นกำไร สาบานเลยว่าจะไม่แตะอีกจนตาย
“ผมมีเงินเก็บอยู่บ้าง เอาไปลงทุนหลายอย่าง เล่นแชร์ เล่นหวย เล่นหุ้น เลยไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่พอไม่ทำร้านอาหารแล้ว เวลาว่างเยอะมาก เป็นจุดอ่อนของผมเลย เบื่อสิ ผมเลยหาอะไรทำ เริ่มจากไปร้องเพลงที่ดิโอลด์สยาม แล้วเปลี่ยนมาร้องที่พาต้าบ้าง ร้องเพลงเสร็จก็หิว เลยเดินมาหาอะไรกินชั้นล่าง ผ่านไปสักพักเลยได้คุยกับคนตรงนี้ คุยไปคุยมาก็ถูกคอ ช่วงหลังเลยมาเป็นประจำ คอนโดฯ ของผมอยู่แถวนี้ ย้ายมาอยู่เกือบสิบปีแล้ว แต่เพิ่งมานั่งฟู้ดคอร์ตของพาต้าแค่ไม่กี่ปี ส่วนใหญ่มาถึงช่วงเที่ยงๆ บ่ายๆ แล้วกลับประมาณห้าโมงเย็น มาแค่วันจันทร์-ศุกร์นะ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์จะอยู่กับครอบครัว ก็ช่วยให้หายเบื่อได้บ้าง อยู่คอนโดฯ ห้องนิดเดียว ดูโทรทัศน์ เล่นไลน์ ซ้ำไปซ้ำมา เบื่อ (เน้นเสียง) มาเดินโต๋เต๋ที่นี่ ซื้อข้าวมากิน นั่งคุยกับเพื่อน คุยทุกเรื่องเลย จิปาถะ แต่การเมืองคุยไม่ได้ ทะเลาะกันตาย นั่งไปแป๊บๆ ก็ค่ำแล้ว
“ทุกวันนี้ไม่มีอะไรอยากทำแล้วล่ะ ลูกเรียนจบ มีงานทำ ผมตายเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เอาให้สมศักดิ์ศรีหน่อย อย่าไปโดนรถสามล้อชนตาย อายตายห่า (หัวเราะ) ถ้าตายก็ขอใต้ต้นโพธิ์ต้นไทร อย่าไปตายใต้ต้นผักชีนะ (หัวเราะ) ผมมองว่าชีวิตคนเราจะเบื่อหรือไม่เบื่อ สิ่งสำคัญคือเรื่องเงิน ถ้าเรายังไม่ตาย เงินยังเหลือ ถึงเบื่อก็อยู่ได้ แต่ถ้าเรายังไม่ตาย เงินหมด ชีวิตจะลำบาก เปลี่ยนจากเบื่อกลายเป็นเครียดเลย”
วิบูลย์ พูตระกูล อายุ 81 ปี
“ผมเรียนจบไฟฟ้ามา ไม่เคยมีอาชีพเป็นหลักแหล่ง รับราชการก็เคย ทำงานตะวันออกกลางก็เคย ที่ไหนเงินดีก็ไป สัพเพเหระ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน สมัยก่อนเขาได้เงินเดือนกันไม่กี่พัน ผมได้สองสามหมื่นนะ มีเยอะก็ใช้เยอะ เหลือเก็บบ้าง แต่เราตัวคนเดียว ไม่มีลูก ไม่มีเมีย เพราะไม่มีปัญญาจะมี (หัวเราะ) ชีวิตเลยไม่ได้เดือดร้อนอะไร ผมเพิ่งย้ายมาอยู่แฟลตแถวพาต้าได้สิบกว่าปี ไม่ได้รู้สึกเหงา เมื่อก่อนผมชอบเล่นการพนัน เช้ามาก็ออกจากห้องแล้ว ตอนนี้เหลือแค่นิดๆ หน่อยๆ (ยิ้ม) มีมากเล่นมาก มีน้อยเล่นน้อย ไม่มีก็ไม่ได้เล่น (หัวเราะ)
“ทุกวันนี้ผมตื่นตีห้า ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ สองโมงเช้ากินข้าว อาบน้ำอาบท่า ประมาณเที่ยงก็เตรียมตัวออกมาพาต้า เดินข้ามถนนมาถึงเลย เจอเพื่อนก็นั่งกินกัน คนในนี้รู้จักกันเกือบหมด ผมรู้จักคนง่าย เป็นคนไม่สร้างปัญหา ถ้าไม่เจอใครก็กินขนมปังสักชิ้น แค่นี้พอ (หัวเราะ) ถ้าไม่ได้ไปธุระที่ไหน ผมมาเกือบทุกวัน นั่งอยู่ถึงหกโมงเย็นค่อยกลับ แวะซื้อมื้อเย็นกลับไปกินที่ห้อง แล้วซื้อมื้อเช้าเตรียมไว้ด้วย พอตื่นเช้ามาก็วนเหมือนเดิมอีก ไม่ได้เบื่ออะไรนะ เราไม่มีภาระ ชอบอะไรก็ทำอย่างนั้น ไม่มีอะไรมาบีบชีวิต ชีวิตเป็นแบบนี้มาสิบปีแล้ว
“ผมเป็นคนไม่ค่อยเครียด หนึ่งอาทิตย์จะคิดถึงวันข้างหน้ารวมแล้วไม่ถึงชั่วโมง วันไหนเหงาๆ ก็คิดบ้าง ถ้าเจ็บป่วยมาจะทำยังไง ผมไม่กลัวตาย แต่กลัวตัวเองป่วยนอนติดเตียง แล้วต้องกลายเป็นภาระคนอื่น แต่คิดไม่นาน เครียดมากก็หาอะไรทำ แถวนี้มีอะไรให้ทำเยอะ มีเงินก็ไปหาฟังเพลง ถ้าเงินไม่มีก็นั่งคุยกับพรรคพวก เรื่องกินไม่ต้องห่วงเลย วันละไม่กี่สิบบาทก็อยู่ได้แล้ว ผมไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ใช้เท่าที่มี ถ้าไม่มีก็พึ่งพาญาติบ้าง ซึ่งพวกเขาเต็มใจให้ เราไม่ได้เอามากมาย แค่ให้ชีวิตรอดตายพอ ความสุขของผมคือไม่ทำให้ใครเดือดร้อน วันไหนได้ฟังข่าวดีๆ บ้างก็มีความสุข หรือถ้าได้นั่งด่าคนนั้นคนนี้ก็สนุกดี แต่ต้องด่าคนไม่ได้นั่งอยู่ด้วยกันนะ (หัวเราะ)”
ชูชาติ ชื่นอุไทย อายุ 75 ปี
“ผมเรียนจบจากคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานในบริษัทเอกชนมาตลอด จนช่วงท้ายของการทำงานมีคนชวนไปเป็นที่ปรึกษาให้นักการเมือง คอยดูเรื่องงบประมาณและการโยธา บางอย่างเราเชี่ยวชาญอยู่แล้ว แต่บางอย่างต้องศึกษาเพิ่มเติม ทำอยู่เกือบยี่สิบปีเลยนะ จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 2557 เลยต้องหยุดทำงาน อายุเท่านี้เลิกทำงานก็ไม่ได้แปลกอะไร ผมไม่ได้ทำงานมา 5 ปีแล้ว เลยมีเวลาว่างทุกวัน แต่ไม่เบื่อหรอก ผมเป็นคนเพื่อนเยอะ เพื่อนหลายกลุ่ม กลุ่มมัธยม กลุ่มมหาวิทยาลัย กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มที่ทำงานการเมือง
“กิจวัตรของผมในแต่ละวันคือเช้าไปส่งหลานที่โรงเรียน เป็นลูกของญาติ เสร็จแล้วไปนั่งร้านกาแฟโบราณแถวนางเลิ้ง อยู่ถึงประมาณเก้าโมงก็เข้าไปในตลาดนางเลิ้ง นั่งคุยกับเพื่อนอีกกลุ่ม แล้วกลับมาบ้านดูทีวีสักพัก ถ้าไม่ได้ติดธุระอะไร ช่วงเที่ยงก็ไปหาข้าวกินที่พาต้า ผมมาคนเดียวตลอด ในนี้มีแต่เพื่อนทั้งนั้น บางครั้งพวกเราพากันไปร้องเพลงที่อื่น ผมเพิ่งมาหัดร้องเพลงตอนอายุเจ็ดสิบกว่า แต่ไม่ค่อยได้ไปหรอก โดยมากจะนั่งคุยกันไปเรื่อยๆ พอถึงบ่ายสาม ผมก็ออกไปรับหลานแล้วกลับบ้าน พอไปหลายที่หลายกลุ่ม วันหนึ่งเลยต้องกินกาแฟหลายแก้ว เราไปนั่งที่ร้านก็ต้องกินไง นั่งเฉยๆ ก็เกรงใจเจ้าของ
“ความสุขของผมคือตื่นขึ้นมาแล้วยังแข็งแรง เดินไปไหนมาไหนได้อยู่ ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วเดินไม่ไหว หมดแรง นี่แหละความทุกข์ หรือการได้รู้ว่าลูกชายประสบความสำเร็จในการงาน รู้ว่าหลานเรียนจบอะไร ก็ถือเป็นความสุขเหมือนกัน ทุกวันนี้ผมตัวคนเดียว ภรรยาเสียชีวิตไปสองปีแล้ว คนรู้จักที่อายุน้อยกว่าตายไปหลายคน งานเลี้ยงรุ่นที่ธรรมศาสตร์ บางครั้งไปแล้วใจหายนะ บางคนมาทุกปี อยู่ๆ ปีนี้ไม่มา เป็นอะไรไปหรือเปล่า ก็ต้องหาทางติดต่อ บางคนไม่ว่าง บางคนป่วย ก็ไปเยี่ยมกัน แต่ถ้าคนไหนตายจะรู้ก่อนหน้านั้น ตายไปหลายคนแล้ว รวมตัวกันไปเป็นเจ้าภาพงานศพ พอครบรอบก็รวมตัวกันไปทำบุญให้ ถ้าเพื่อนที่นี่หายไปวันเดียวคงไม่ได้อะไร เขาคงไม่ว่าง การเจอกันเหมือนเป็นสัญญาใจ ใครว่างก็มา ใครไม่ว่างก็ไม่มา แต่ถ้าหายไปนานๆ เราคงคุยกัน หายไปไหนนะ ถ้ารู้ว่าป่วยก็พากันไปเยี่ยม”
สำรวจ ‘โลกของคนสูงวัย’ ตอนอื่นๆ ได้ที่
– เติมความสุขใจผ่านเสียงเพลงของกลุ่มร้องเพลง ณ ดิโอลด์สยาม
– สุขภาพกาย สุขภาพใจ และความหมายชีวิตของกลุ่มรำไท่เก๊ก ณ สวนลุมพินี
– สร้างสุขสูงวัย เปิดใจรับฟัง โดยกลุ่มสวัสดีวัยสุข ณ สวนโมกข์กรุงเทพฯ