Alternative Investment

Alternative Investment การลงทุนสุดระห่ำ ที่สร้างทั้งรายได้และกระแสสังคม

‘การลงทุน’ แค่ได้ยินว่าเป็นหัวข้อนี้ หลายคนก็รู้สึกเบื่อจนเบือนหน้าหนีแล้ว เพราะส่วนใหญ่การลงทุนมักว่ากันด้วยตัวเลข อัตราการเติบโตของหุ้น การหาจุดตัดของกำไรและขาดทุน ที่เป็นเรื่องไม่เชื้อเชิญให้ทำความรู้จักเท่าไหร่นัก

        แต่การลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) ไม่เป็นแบบนั้น 

        เพราะนี่คือวิธีสร้างรายได้สุดระห่ำ ที่ล้อเล่นกับความชอบของกระแสสังคมจนทำให้เกิดปรากฏการณ์มาแล้วมากมาย ทั้งการถือกำเนิดของ Bitcoin ที่มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดจนสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ในชั่วข้ามคืน ปรากฏการณ์ ‘NMD ซอมบี้’ ที่ทำให้อาชีพรีเซลเลอร์เป็นที่รู้จักในสังคมไทย และยุคสมัย BNK48 ครองเมืองที่เปลี่ยนสถานะผู้คนจากนักสะสมกลายเป็นนักลงทุน

        สิ่งสำคัญที่การลงทุนทางเลือกเหล่านี้ดูฉูดฉาดกว่าลงทุนทั่วไปคือคำว่า ลิมิเต็ดเอดิชัน (Limited Edition) ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของนักลงทุนจนสามารถปั่นราคาของบางสิ่งให้สูงกว่าปกติได้ บทความนี้จึงขอมาขยายความให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ตั้งแต่ Bitcoin ที่เป็นก้าวต่อไปของการเงินโลก ไปจนถึงเข็มกลัด BNK48 ที่อยู่ในลิ้นชักที่ห้องของหลายคนนั้น มันกลายเป็น ‘การลงทุน’ ทางเลือกอย่างไรได้บ้าง

World Alternative Investment  

        หากย้อนกลับไปในอดีต คำว่า ‘ลิมิเต็ดเอดิชัน’ มีมานานแล้ว…

        สมัยก่อน โลกเคยใช้ระบบ Barter หรือวิธียื่นหมูยื่นแมวเป็นหลักในการแลกเปลี่ยนของ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ระบบ Bretton Woods หรือการออกตั๋วเงินและธนบัตรประเภทต่างๆ โดยใช้ ‘ทอง’ เป็นหลักประกันแทน

        ทุกอย่างคล้ายว่ากำลังไปได้สวย จนในปี 1971 ประธานาธิบดีนิกสันของสหรัฐฯ ช็อกโลกด้วยการประกาศยกเลิกการผูกตั๋วดอลลาร์เข้ากับทองคำ ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจากการพิมตั๋วดอลลาร์ใช้ในประเทศ และกลายเป็นจุดบอดแรกที่โลกได้เห็นข้อเสียจากการผูกขาดเงินตราเอาไว้กับของชิ้นใดชิ้นหนึ่งเพียงลำพัง ที่แย่กว่าคือของชิ้นนั้นสามารถควบคุมโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประชาชนเจ้าของเงินไม่มีสิทธิเสียงในการออกความเห็นใดๆ แม้แต่น้อย

        แล้วในปี 2007 ชายคนหนึ่งก็คิดจะปลดแอกมนุษยชาติ ไม่ให้ต้องนำมูลค่าไปผูกติดกับอะไรเพียงอย่างเดียว ผ่านผลงานระดับมาสเตอร์พีซของเขา ที่มีชื่อว่า บิตคอยน์ (Bitcoin)

เรื่องของบิตคอยน์

        ซาโตชิ นากาโมโต หนึ่งในนักพัฒนายุคแรกของบิตคอยน์ คือคนแรกที่หาวิธีที่จะออกจากระบบการเงินเดิมๆ ที่ต้องอาศัยความเชื่อใจจากรัฐบาลและธนาคารเพียงเท่านั้น

 

Alternative Investment
ซาโตชิ นากาโมโต

 

        “รากเหง้าของปัญหาทั้งหมดของสกุลเงินทั่วไปคือ มันจำเป็นต้องใช้ความเชื่อใจเพื่อที่จะถูกนำไปใช้งานได้ ธนาคารกลางต้องได้รับความเชื่อถือให้ดูแลสกุลเงินนั้นอย่างถูกต้อง” นากาโมโตเขียนไว้อย่างนั้น

         “แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น ธนาคารจำเป็นต้องได้รับความเชื่อใจให้ถือเงินและโอนเงินให้เราแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่พวกเขากลับนำเงินเหล่านั้นไปปล่อยกู้ทำให้เกิดฟองสบู่เครดิต แต่กลับมีเก็บสำรองจริง ๆ เก็บไว้เพียงเศษเสี้ยวเดียว ซึ่งเราก็จำใจเชื่อพวกเขา โดยการให้ข้อมูลที่เป็นส่วนตัวของเรา และไว้ใจพวกเขาเพื่อไม่ให้โจรเข้ามาขโมยเงินของเรา” เขาเขียนไว้ใน Whitepaper ของเว็บไซต์ Bitcoin ในช่วงแรก

        แนวคิดนี้ทำให้บิตคอยน์ถือกำเนิดขึ้นภายใต้โครงสร้างที่ไม่ขึ้นตรงต่อใคร กล่าวคือมันสามารถคงอยู่และดำเนินต่อไปได้เพียงลำพัง โดยอาศัยเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Blockchain ซึ่งจะตั้งค่าปริมาณบิตคอยน์ให้มีอยู่ในระบบ 21 ล้านบิตคอยน์เท่านั้น ซึ่งวิธีการครอบครองเงินสกุลนี้สามารถทำได้โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ขุดด้วยตัวเอง (Bitcoin Miner)

        แต่บิตคอยน์ที่ถูกสร้างให้มีปริมาณจำกัด จึงมีสถานะเหมือนเพชรในเหมืองแร่ เพราะเมื่อถูกขุดไปเรื่อยๆ มันก็หายากมากยิ่งขึ้น และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจและการลงทุนทางเลือกผ่านการซื้อขายบิตคอยน์ระหว่างผู้ถือครองกันเองขึ้น

        และแล้วบิตคอยน์ก็มาข้องเกี่ยวกับการลงทุน ผ่านกลไกลที่ทำให้ตัวมันเองมีความลิมิเต็ดเอดิชันขึ้นมา เพราะเงินออนไลน์สกุลนี้เริ่มเพิ่มมูลค่าให้กับตัวของมันเองอย่างก้าวกระโดด โดยอาศัยหลัก ‘ความต้องการซื้อมาก แต่สินค้ามีน้อย ราคาจึงสูง’ จนเงินประเภทนี้มีสถานะไม่ต่างจากเพชรที่ยิ่งหายากแค่ไหน ราคาก็ยิ่งสูงขึ้นตามลำดับ

 

Alternative Investment

 

        ที่สำคัญคือ มันได้แก้ไขปัญหาของเงินตราที่เดิมทีต้องผูกอยู่กับของบางสิ่งหรือคนบางกลุ่มอยู่ตลอด เพราะบิตคอยน์อาศัยและกินอยู่กับ ‘ระบบการเงินและการลงทุนของมนุษย์ทั่วโลก’ และยังพึ่งพา ‘ความเฉพาะตัว’ เพิ่มพูนมูลค่าให้ตัวเอง จนสามารถกลายเป็นอัตราการแลกเปลี่ยนของระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายได้ในที่สุด 

        แม้บิตคอยน์จะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมายในหลายประเทศ และฟังดูเหมือนสกุลเงินนี้จะไร้หลักประกันใดๆ แต่ประเด็นที่น่าคิดตามก็คือ แล้วทำไมบิตคอยน์ถึงต้องมีหลักประกัน เพราะในเมื่อการรู้ถึงมูลค่าของมันในขณะนั้นก็เพียงพอต่อการแลกเปลี่ยนต่อสิ่งของที่มูลค่าเท่าเทียมกันแล้ว (อย่าลืมว่าในช่วงที่ประธานาธิบดีนิกสันประกาศยกเลิกการผูกตั๋วดอลลาร์เข้ากับทองคำ ก็คือหลักฐานชั้นดีว่าที่ผ่านมาผู้คนก็ไม่ได้สนใจการนำสกุลเงินไปผูกขาดกับหลักประกันบางสิ่งแม้แต่น้อย)

        สิ่งเดียวที่บิตคอยน์นำเสนอให้ ก็คือความปลอดภัยในการถือครองเงิน เพราะมีระบบ Distributed Ledger หรือ Distributed Network ที่จะบันทึกการถือครอง ซื้อ-ขายบิตคอยน์ผ่านฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์หลายล้านเครื่องทั่วโลก ระบบจะทำให้การขโมยบิตคอยน์เป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากโจรต้องทำการโจรกรรมข้อมูลในคอมพิวเตอร์ที่บันทึกหลักฐานที่ทั้งหมดทุกเครื่อง

        จะเห็นได้ว่าบิตคอยน์คือการลงทุนที่เล่นกับความลิมิเต็ดเอดิชัน ทำลายกรอบของสกุลเงิน จนกลายเป็นทรัพย์สินให้นักลงทุนทางเลือกหันมาสะสมเพื่อเก็งกำไรในมูลค่าของมัน บิตคอยน์จึงโตขึ้นแบบก้าวกระโดดกว่า 900% และให้ผลตอบแทนด้านการลงทุนสูงถึง 20% ในปีที่ผ่านมาบิตคอยน์ 1 BTC มีมูลค่าสูงถึง 310,000 บาท

        แม้เมื่อไม่นานมานี้ บิตคอยน์จะเกิดภาวะฟองสบู่แตกจนหลายคนเจ็บตัวไปตามๆ กัน แต่ปัจจุบันก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังหมกมุ่น หลงใหล สนใจในความล้ำค่าของสกุลเงินดังกล่าว จนกลายเป็นผู้ลงทุนในบิตคอยน์ผ่านการซื้อมาขายไป 

เรื่องเหล่าของเหล่ารีเซลเลอร์

        รีเซลเลอร์ (Re-Seller) ก็คือคนที่ทำอาชีพซื้ออะไรมาสักอย่างหนึ่งเพื่อนำมา ‘ขายใหม่’ เพื่อทำกำไร ถือเป็นอาชีพที่วนเวียนอยู่กับการลงทุนทางเลือกโดยแท้

        ในประเทศไทยเคยมีปรากฏการณ์ที่เหล่ารีเซลเลอร์ได้สร้างปรากฏการณ์เอาไว้เมื่อปี 2018 เมื่อผู้วิ่งกันเข้าห้างสยามเซ็นเตอร์จนประตูพัง เพียงแค่จะเข้าไปซื้อรองเท้าสักหนึ่งคู่ จนกลายเป็นเป็นปรากฎการณ์ที่ใครต่อหลายคนขนานนามเอาไว้ว่า ‘NMD ซอมบี้’ 

 

Alternative Investment
ชวัล สุนทรผดุงพงษ์

 

        ‘เชน’ – ชวัล สุนทรผดุงพงษ์ รีเซลเลอร์ที่คลุกคลีอยู่ในวงการซื้อขายเก็งกำไรรองเท้าสนีกเกอร์โดยตรง บอกไว้ว่า รีเซลเลอร์นี่แหละที่ทำให้นี่คือกลุ่มธุรกิจที่ทำให้กระแส NMD ซอมบี้เกิดขึ้นมา

        “จริงๆ แล้วทั้งหมดนี้เกิดจากอุปาทานของพวกเรา ณ ตอนนั้นเลยน” คำอธิบายเบื้องต้นของเชน เมื่อเราชวนเขาพูดคุยถึงเหตุการณ์ประหลาดในวงการสนีกเกอร์ครั้งนั้น 

        “ถ้าย้อนไปก่อนหน้านั้นในวงการสนีกเกอร์เอง Nike ที่เป็นเบอร์ใหญ่ของวงการก็ไม่ได้มีรองเท้าใหม่ออกมาเลย ทำให้ NMD ของ Adidas ตอนนั้นถูกจับตามองในวงการมาก แต่พูดตามตรงเราก็ไม่รู้หรอกว่าใครเป็นคนจุดกระแสของรองเท้ายี่ห้อนี่ขึ้นมา กว่าจะรู้อีกทีคือรองเท้าสามารถนำมา ขายต่อ (Re-Sell) ได้ และเป็นที่นิยมในวงการมากขึ้นแล้ว

 

Alternative Investment

 

        “พอทาง Adidas ประกาศจะปล่อยรุ่นที่ 2 อย่าง NMD R1 หรือรุ่นซอมบี้ที่ทุกคนรู้จัก เราในฐานะรีเซลเลอร์ก็เห็นโอกาสทำเงิน เลยจ้างคนไปต่อแถวเลยทั้งสาขา Carnival และสาขาสยามเซนเตอร์ ที่เป็นจุดจำหน่ายรองเท้ารุ่นนี้

        “ตัวเราเองในฐานะรีเซลเลอร์รู้ดีว่าอย่างไรก็ต้องขายได้แน่ เพราะกระแสมาแรงมากๆ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมสาขาสยามถึงใช้กฏมาก่อนได้ก่อน (First Come First Serve) อยู่ จำได้ว่าหลังประตูห้างเปิดตอน 10 โมงเราลงมาจากลานจอดรถ ซึ่งประตูเปิดก่อนฝั่งหน้าห้าง ตอนนั้นเราได้ยินคนตะโกนด่าให้แซ่ดเลย ไอ้ขี้โกง มึงเข้ามายังไง (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็อย่างที่เห็นในข่าว คนกรูเข้ามาอย่างกับซอมบี้ เราจำได้ว่าตัวเองรู้สึกเหมือนกำลังถูกทรายดูด เพียงแต่ทรายนั้นเป็นกลุ่มคนที่กำลังแย่งกันซื้อรองเท้าอยู่”

        เหตุการณ์นี้สะท้อนอะไรบ้างไหม?

        “ถ้าสังเกตที่เราเล่ามา จุดเริ่มต้นเรื่องนี้มันเกิดจากคนเห็นว่าของชิ้นนี้สามารถรีเซลได้ ให้ราคาดี เลยมีคนเข้ามาซื้อในรุ่นที่ 2 เยอะขึ้นใช่ไหม จุดนี้เรามองว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการสนีกเกอร์ไทยเลย ที่ทำให้คนไทยได้รู้จักรองเท้าประเภทนี้มากขึ้น และที่สำคัญยังทำให้คนรู้จักอาชีพรีเซลเลอร์แบบเรามากขึ้นด้วย

        “จริงๆ จะบอกว่าการรีเซลของลิมิเต็ดทำให้วงการสนีกเกอร์โตขึ้นก็ได้” 

        แต่ก็มีอีกหลายคนที่ออกมาต่อต้านอาชีพแบบนี้ว่าเป็นการฟันราคา ปิดโอกาสคนที่เขาอยากสะสมจริงๆ อยู่เหมือนกัน 

        “จะบอกว่ารีเซลเลอร์เป็นอาชีพที่ต้องมีคนเกลียดอยู่แล้ว คือถามว่าเราจะไปเถียงเขา ไปเปลี่ยนความคิดเขาไหม เราคงไม่ทำหรอกมันยาก แต่ที่อยากจะบอกคือในมุมมองของเรา รีเซลเลอร์ก็เหมือนลูกค้า Adidas คนหนึ่ง ที่ยืนต่อแถวข้างคุณ ซื้อของพร้อมคุณ ได้ของเหมือนกับคุณทุกอย่าง กระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามกฏระเบียบตลอด เพียงแค่เขาเอาของเหล่านั้นมาขายต่อในราคาที่สูงขึ้น” 

        ถามว่าทำไมถึงต้องขายในราคาที่สูงขึ้น

        “ก็เป็นไปตามกลไกลการตลาดเลย ความต้องการซื้อมาก สินค้ามีน้อย ราคาก็ต้องมากขึ้น ถ้าสินค้าในร้านของ Adidas มีเยอะ เพียงพอต่อความต้องการของทุกคน คงไม่มีใครมาซื้อรองเท้าแพงๆ ที่เราขายหรอก แต่ในเมื่อทิศทางการซื้อขายเป็นแบบนี้ เราเองก็ต้องอยากได้กำไรที่เหมาะที่ควร เราก็มีสิทธิ์ที่จะตั้งราคาที่สูงขึ้น เราก็มีสิทธิที่จะทำอาชีพรีเซเลอร์แบบนี้เหมือนกัน”

 

Alternative Investment

 

        เชนทิ้งท้ายไว้อย่างเจ็บแสบอีกว่า “รีเซลคือการลงทุนกับความลิมิเต็ดเอดิชันของสินค้า ไม่ใช่แค่เราในฐานะรีเซลเลอร์ คุณในฐานะคนซื้อก็อยู่ในวังวนนี้เช่นกัน ผมถามกลับว่าในตอนนี้ที่คนไม่นิยม NMD แล้ว ก็ทำไมถึงไม่ไปซื้อกันล่ะ”

        ก็เพราะมันไม่เป็นกระแสแล้ว – ใช่ไหม?

        ในปัจจุบันรีเซลเลอร์ยังเป็นการลงทุนในสินค้าที่มีกระแส ซึ่งอยู่คู่สังคมไทยมาโดยตลอด และแน่นอนว่าในปัจจุบันก็ยังมีคำครหาต่ออาชีพนี้อยู่เช่นเดิม แต่การคงอยู่ได้มาจนถึงปัจจุบันก็เป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดีว่าการลงทุนทางเลือกเช่นนี้ ยังคงอยู่ได้ในทุกสมัยไม่มีเปลี่ยนแปลง

From Collector to Reseller

        ดั่งคำที่เชนกล่าวไว้ว่า รีเซลเลอร์คือคนที่ยืนซื้อของอยู่ข้างคุณ ดังนั้นใครก็ตามที่สนใจสินค้าประเภทนั้นๆ ก็สามารถเริ่มลงทุนทางเลือกเช่นนี้ได้ 

        คำพูดนี้ทำให้ผู้เขียนระลึกขึ้นได้ว่า ตัวเองก็คือหนึ่งในนักลงทุนด้วยเช่นกัน

         แต่เป็นการลงทุนทางเลือกแบบมือสมัครเล่น ที่เริ่มขึ้นจากกระแสความนิยมของ BNK48 วงไอดอลในเครือ 48 Group ที่สร้างกระแสนิยมได้อย่างถล่มถลายจากเพลง Koisuru Fortune Cookie คุกกี้เสี่ยงทาย และรวบรวมแฟนคลับจากทั่วทุกสารทิศกลายเป็นเหล่าโอตะ ที่พร้อมจะเปย์ทุกอย่างที่เป็นสินค้าของทางวงอย่างหมดหัวใจ 

 

Alternative Investment

 

        จุดน่าสนใจของโมเดลธุรกิจนี้คืออะไร

        13 ปีที่แล้ว ในปี 2005 สมัยที่ AKB48 วงรุ่นพี่จากประเทศญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มต้น คุณอากิโมโตะ ผู้ก่อตั้ง 48 Group อยากนำเสนอกลุ่มไอดอลรูปแบบใหม่ ภายในคอนเซปต์ ‘Idol You Can Meet’ เพื่อให้แฟนคลับที่ตามไอดอลเหล่านี้รู้สึกใกล้ชิดและผูกพันมากยิ่งขึ้น

        ‘แรงบันดาลใจ ความฝัน และความพยายาม’ กลายเป็นคอนเซ็ปต์ของ 48 Group ผ่านการให้เหล่าโอตะหรือแฟนคลับของวงไอดอลติดตามพัฒนาการและความพยายาม เสมือนเป็นรุ่นพี่ เป็นเพื่อน เป็นรุ่นน้อง ที่คอยอยู่เคียงข้างทุกช่วงเวลา จนได้เห็นพัฒนาการของเหล่าไอดอลเกิดขึ้น ซึ่งภายหลังวิธีดังกล่าวนี้ก็ได้สร้างความรักและความผูกพันให้เหล่าโอตะ เกิดความรู้สึกอยากช่วยเหลือไอดอลในทุกช่องทาง รวมไปถึงการสนับสนุนในแง่ของเม็ดเงินผ่านการซื้อของที่ระลึกด้วย

        ก่อนที่เพลง คุกกี้เสี่ยงทาย จะดังถึงขีดสุด ในตอนนั้นบัตรจับมือกับเหล่าไอดอลที่แถมมาพร้อมกับแผ่นซิงเกิลดังกล่าวมีราคาเพียง 350 บาทเท่านั้น แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์เพลง คุกกี้เสี่ยงทาย ขึ้น ราคาบัตรก็เพิ่มขึ้นกลายเป็น 1,000 บาท ในเวลาไม่ถึงเดือน

 

Alternative Investment

 

        แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้หากเกิดขึ้นในการลงทุนประเภทอื่น คงเฟ้อ และเกิดภาวะฟองสบู่แตกราคาตกในเวลาต่อมาอย่างแน่นอน แต่ในเมื่อมูลค่าของสิ่งของได้ผูกติดกับความลั่งไคล้ของเหล่าโอตะต่อกลุ่มไอดอล ความเฟ้อของสินค้า BNK48 จึงแปรผันตามกระแสนิยมของเหล่าไอดอลที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด สมาชิกที่มีชื่อเสียงอย่าง เฌอปรางหรือมิวสิค สามารถปั่นราคาคอลเลคชั่นรูปภาพ (Photo Set) ขึ้นสูงถึง 3 เท่าตัว แต่ก็ยังขายหมดในเวลาอันสั้น 

        นั่นจึงเป็นที่มาของ BNK48 Marketplace ที่เหล่าโอตะกลายเป็นพ่อค้าซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน

        ในช่วงที่ BNK48 กำลังจะมีคอนเสิร์ตแรกในประเทศไทย ความคลั่งไคลของแฟนคลับก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายทั้งการซื้อขายบัตรเพียงไม่กี่นาที คิวซื้อบัตรที่มากกว่าหมื่นคน ทำให้เกิดการซื้อขายคิวระหว่างจองบัตรคอนเสิร์ต ซึ่งราคามากกว่าค่าบัตรที่กำหนดจาก BNK48 เองเสียอีก

        การซื้อมา ขายไป เพิ่มมูลค่า และเก็งกำไร ผ่านความนิยมของไอดอลเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ขีดจำกัดของการลงทุนในตลาดนี้ เมื่อ BNK48 เริ่มหยิบคำว่าลิมิเต็ด เอดิชั่น มาเป็นตัวแปรในสินค้า

        สินค้า SSR (Super Special Rare) ที่มาในรูปแบบลายเซนต์ของไอดอล ซึ่งจะสุ่มอยู่ในรูปทั่วไปภายในอัลบั้ม กลายมาเป็นสินค้าสำหรับลงทุนใน BNK48 Marketplace ที่สามารถเก็งกำไรโดยอ้างอิงจากกระแสตัวไอดอลจนยกระดับรูปราคา 350 บาทให้กลายเป็น 450,0000 บาทได้ภายในพริบตา 

         จากการลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) ที่เราพูดกันมาใน 3 แบบ ทั้งในฐานะนักลงทุน Bitcoin ในฐานะ Reseller ที่ทำให้เกิดประเด็น NMD ซอมบี้ และในฐานะนักสะสมที่คาบเกี่ยวกับการลงทุในสินค้าจาก BNK48 ทั้งหมดนี้มีจุดเกาะร่วมเดียวกันที่ยกระดับจากของสะสมให้กลายเป็นการลงทุนได้จริงคือความ ‘ลิมิเต็ด เอดิชั่น’ ที่พูดมาตลอดในบทความนี้

        ของสะสมอื่นๆ นอกจากนี้ก็อาจจะกลายเป็นการลงทุนทางเลือกได้ ซึ่งเราพบเห็นมาตลอดประวัติศาสตร์ เช่น นาฬิกาหรูแบบลิมิเต็ด เอดิชั่น กระเป๋าแบรนด์เนมรุ่นลิมิเต็ด เอดิชั่น หรือกระทั่งการสะสม ‘กระเพาะปลา’ ของคนจีนรุ่นก่อนที่หาไม่ได้อีกแล้ว 

        เหล่านี้ล้วนไม่ได้เป็นเพียงการสะสม ‘ของ’ แต่มันคือการสะสม ‘เรื่องเล่า’ ผ่านวัตถุที่ถูกทำให้ล้ำค่า และมีการซื้อขายด้วยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

        ในอนาคต จะยังมีการลงทุนทางเลือกในเรื่องอื่นๆ ได้อีกไม่รู้จบ

        ตราบเท่าที่เรายังมี ‘ความเชื่อ’ บางอย่างร่วมกัน