อันตรายในม่านหมอก มวลฝุ่นละอองพิษสารก่อมะเร็งที่ห่อหุ้มกรุงเทพฯ เอาไว้

ปีนี้เป็นปีที่กรุงเทพฯ มีอากาศเย็นกว่าที่เคยเป็น เราทุกคนต่างดีใจ และเฝ้าภาวนาว่าขอให้อากาศเย็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่ทันเอะใจถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแบบเฉียบพลันนี้กำลังส่งสัญญาณอะไรถึงพวกเราหรือเปล่า เพราะหมอกสีขาวที่ปกคลุมไปทั้งเมืองที่นานๆ ได้เห็นทีนั้น ช่างเป็นภาพที่สวยงาม กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็พบว่าสิ่งที่วนเวียนอยู่รอบตัวเราในเวลาต่อมาที่หมอกสลายไปนั้น เป็นกลุ่มของฝุ่นละอองที่จับตัวเป็นมวลหนาห่อหุ้มกรุงเทพฯ เอาไว้

        มันคือฝุ่นพิษขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือเทียบเท่าขนาด 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ มีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของขนาดเม็ดเลือด (5 ไมครอน) ที่เรียกกันว่า ฝุ่น PM 2.5 และกลายเป็นภัยร้ายที่ค่อยๆ คุกคามเรามาตั้งแต่แต่ช่วงต้นปี เนื่องจากฝุ่นชนิดนี้มีขนาดเล็กมากจึงสามารถเล็ดลอดขนจมูกเข้าสู่ร่างกายได้ มีลักษณะขรุขระคล้ายสำลี และเป็นพาหะนำสารอื่น เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก เข้าสู่ร่างกายในแต่ละวันโดยที่เราไม่รู้ตัว

        แต่นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้น เพราะถ้านึกย้อนกลับไปดีๆ เราจะพบว่าชีวิตประจำวันก็คลุกคลีอยู่กับฝุ่น ควัน ไอเสียของรถยนต์ และแหล่งกำเนิดอื่นๆ มาตั้งแต่เกิด แม้แต่ในโฆษณาผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายหลายชนิดยังยกเอาประเด็นนี้มาชูเป็นประเด็นในการขาย ‘มลภาวะที่เจอทุกวันในอากาศ ทำให้…’ คงเริ่มคุ้นหูกันขึ้นมาแล้ว วันนี้เม็ดฝุ่นขนาดใหญ่ที่มองเห็นด้วยตาเปล่าไปจนถึงอนุภาคขนาดเล็กที่ทะลุผ่านหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาได้รายล้อมอยู่รอบตัว คงยังไม่สายเกินไปที่เราจะเริ่มหันมาให้ความสนใจ หาต้นเหตุว่าเกิดจากอะไร จะป้องกันตัวเองอย่างไร และมีทางไหนไหมที่จะช่วยกันทำให้ปัญหานี้ไม่กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

 

เราคิดว่าโลกไม่มีทางจะเย็นลงไปกว่านี้ได้แล้ว และนับวันก็จะมีแต่อุณหภูมิที่สูงขึ้น ถ้าเราไม่เพิ่มปัญหาให้กับโลกได้ก็คงจะดี —ธัญญารัตน์ ดอกสน, โปรดิวเซอร์ สถานีโทรทัศน์บีบีซี (อังกฤษ)

ถ้าเทียบกับเมืองอื่นๆ เมื่อก่อนกรุงเทพฯ อยู่อันดับท้ายๆ ในเรื่องของมลพิษทางอากาศ แต่ตอนนี้อันดับของเราขึ้นไปที่สิบกว่าๆ แล้ว ต่อให้ฝุ่นพวกนี้หายไป เดี๋ยวมันก็กลับมาใหม่ ถ้าไม่จัดการกันในระยะยาว —ธารา บัวคำศรี, ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปารีสมีผังเมืองที่วางไว้ดีมากๆ ก็ยังเจอกับปัญหาฝุ่นควัน ผังเมืองเป็นเรื่องปลายน้ำมากๆ ที่เป็นปัญหาต้นน้ำจริงๆ คือ ระบบการคมนาคมที่ก่อให้เกิดฝุ่นอนุภาคเล็กขนาด PM 2.5 ขึ้นมา —ดอกเตอร์พรสรร วิเชียรประดิษฐ์, รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง Urban Design and Development Center (UddC)

Bangkok in Dust

        ปรากฏการณ์ฝุ่นล้อมเมืองตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา เริ่มส่งผลกระทบต่อใครหลายคนที่ใช้ชีวิตในเมืองหลวง และเริ่มเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้น หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นจากการก่อสร้างอาคารที่ไม่ได้รับการควบคุมตามมาตรฐาน แต่ข้อมูลที่ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกมาคือ พวกเราใช้ชีวิตอยู่กับฝุ่นพวกนี้มานานกว่าครึ่งทศวรษแล้ว

        “กรมควบคุมมลพิษทำการวัดค่าของฝุ่น PM 2.5 ในอากาศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 แต่เป็นการวัดเพื่อเก็บเป็นข้อมูล ซึ่งมลพิษทางอากาศนั้นมีหลายปัจจัยมากมายที่ส่งผลกับสุขภาพของเรา แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ กรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยรายปีสูงเกินมาตรฐานทุกปี” แค่ประโยคแรกก็ทำให้เราถอนหายใจแรงๆ เผื่อฝุ่นที่ตัวเองสูดเข้าไปจะถูกเป่าออกมาบ้าง และคิดว่าเป็นเพราะเมืองขยายขึ้นทุกปี การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน สำนักงานต่างๆ เป็นสาเหตุหลักในการเกิดฝุ่นฟุ้งกระจายอยู่ในตอนนี้ แต่เปล่าเลย

        “ฝุ่นที่เป็นเม็ดใหญ่ๆ มาจากการก่อสร้างหรือกิจกรรมระดับพื้นที่ยังไม่น่ากลัวเท่าฝุ่นขนาดเล็กที่เรามองไม่เห็น ซึ่งเมื่อสูดเข้าไปยังไม่เกิดผลอะไรให้เห็นทันที แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ร่างกายเราอ่อนแอลง อาการเจ็บป่วยก็จะเริ่มปรากฏขึ้นมา ดังนั้น เวลาเราออกไปวิ่งตอนเช้าโดยไม่รู้ว่าวันนั้นอากาศมีความเข้มข้นของฝุ่นละอองเป็นจำนวนเท่าไหร่ แบบนี้อันตรายมาก เพราะอากาศในแต่ละวันก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดปริมาณฝุ่นไม่เท่ากัน” ธารากล่าวเสริม

        ผังเมืองล่ะมีส่วนทำให้เกิดฝุ่นละอองเหล่านี้มากขึ้นไหม เพราะถ้าเราขึ้นไปบนตึกสูงๆ ในตอนเช้าหรือตอนเย็นแล้วมองกรุงเทพฯ รอบๆ จะเห็นภาพที่น่าตกใจว่าเหมือนเมืองถูกครอบด้วยโดมฝุ่นขนาดยักษ์ เราถามประเด็นนี้กับ ดอกเตอร์พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการ UddC “จะบอกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับระบบผังเมืองเลยก็ไม่ได้ แต่เรื่องของผังเมืองนั้นเป็นผลกระทบช่วงท้ายเท่านั้น ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดฝุ่นขนาดเล็กพวกนี้คือระบบการคมนาคมที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้” ดอกเตอร์พรสรรอธิบาย

        “ปรากฏการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะนานๆ กรุงเทพฯ จะเจอมวลอากาศเย็นเข้ามาสักที และปีนี้ลมเย็นนั้นอยู่กับเรายาวนานกว่าปีก่อนๆ ทุกคนก็ดีใจกันที่กรุงเทพฯ หนาวแล้ว แต่จริงๆ อากาศเย็นส่งผลให้มวลของฝุ่นมีความเข้มข้นมากขึ้น พอพื้นผิวมีความเย็น อากาศก็จะไม่ลอยตัวขึ้นไปข้างบน หรือลอยไปก็ถูกกั้นด้วยโดมความร้อน ทำให้ไม่โดนลมระบายออกไปนอกเมือง ฝุ่นควันต่างๆ จึงเหมือนถูกกักไว้ในเมือง” ผู้อำนวยการกรีนพีซช่วยเฉลย

        “ทีนี้พอเมืองเต็มไปด้วยตึกสูงใหญ่ เส้นรถไฟฟ้า BTS ที่มีคอนโดมิเนียมขึ้นหนาแน่น ก็เป็นเหมือนกำแพงอีกชั้นที่กักฝุ่นไม่ให้ลอยออกไปจากเมือง” นี่คือปัญหาปลายน้ำที่ดอกเตอร์พรสรรพูดถึง

 

Cause Effects

        ภัยเงียบที่กำลังคุกคามเราอยู่นี้ นอกจากจะเกิดจากความแออัดของเมือง ปัญหาการจราจร สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมกันเป็นความเรื้อรังที่ยาวนานแล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกที่รอเข้ามาซ้ำเติมคนกรุงเทพฯ ด้วย

        “ถ้าอากาศยังเป็นแบบนี้ แล้วทิศทางลมเปลี่ยนทำให้กรุงเทพฯ อยู่ใต้ลม แล้วแหล่งกำเนิดฝุ่นอยู่เหนือลม ยิ่งเป็นลมที่พัดมาจากชลบุรีหรือระยองด้วย ลมจะหอบฝุ่นที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมมาเติมให้กับกรุงเทพฯ ฝุ่นเดิมก็ยังอยู่แล้วยังมีมาเพิ่มอีก” ระหว่างที่เรานั่งฟังธาราอธิบาย ตัวเองก็ออกอาการหน้าซีดเล็กๆ

        “แต่ก็ไม่เป็นอย่างนี้ตลอดเวลาหรอก เพราะการจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้ต้องมีเงื่อนไขของทิศทางลมเข้ามาประกอบ เพียงแต่กรุงเทพฯ ตอนนี้เริ่มมีภาพที่ทำให้สามารถอธิบายความเป็นไปได้ที่ชัดเจนได้มากขึ้น” เขายิ้มพร้อมกับตบบ่าเราเป็นการปลอบขวัญ

        “เราพยายามเช็กในแอพพลิเคชันรายงานสภาพอากาศทุกวัน ถ้ามันแจ้งว่าวันนี้อากาศไม่ดีก็จะไม่ขี่จักรยานไปทำงาน และใส่หน้ากากกรองฝุ่นตอนออกจากบ้าน แต่พอกลับถึงบ้านก็มีอาการจามและคันคอในตอนกลางคืน” ธัญญารัตน์ ดอกสน เล่าถึงผลกระทบที่ได้รับจากฝุ่นละอองที่อยู่รอบตัว เพราะออฟฟิศที่เธอทำงานนั้นก็อยู่ใจกลางเมืองพอดี

        “ภัยร้ายจริงๆ คือฝุ่น PM 2.5 เพราะมันมีขนาดที่เล็กมากจนขนจมูกของคนเรากรองไม่ได้ เป็นภัยเงียบที่น่ากลัว” ดอกเตอร์พรสรรเอ่ยขึ้นมา

        “ฝุ่นที่ว่าเป็นฝุ่นที่มีความละเอียดมากๆ มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม 25 เท่า และมันไม่ได้เป็นอนุภาคที่แข็ง ตัวมันมีความยืดหยุ่นเหมือนฟองน้ำ และเป็นพาหะให้กับอนุภาคอื่นๆ อย่างโลหะหนัก สารก่อมะเร็ง ลอยเข้าสู่ร่างกาย ฝุ่นขนาดใหญ่ที่เกิดจากการก่อสร้าง เราแค่กลับบ้านแล้วก็ล้างจมูกก็กำจัดออกไปได้แล้ว แต่ฝุ่น PM 2.5 มันจะทะลุทะลวงเข้าไปที่ปอด ลอยไปในกระแสเลือด พอสะสมเข้าไปในร่างกายมากๆ ก็จะเกิดเป็นโรคต่างๆ อย่างมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดในสมอง หรือโลกหัวใจขาดเลือดได้” ธาราช่วยขยายความ

 

Health effects of dust

ผลกระทบจากฝุ่นอนุภาคเล็กๆ แต่มีอันตรายที่คาดไม่ถึง

01 ระคายเคืองตา จมูก ผิวหนัง

02 มีเสมหะ

03 แพ้หรืออักเสบในโพรงจมูก

04 เกิดโรคทางเดินหายใจ หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หอบหืด

05 ภาวะปอดเป็นฝุ่น ทำให้เกิดพังผืดและยืดหยุ่นได้น้อยในระบบทางเดินหายใจ

 

Deal with pollution

        “จักรยานเป็นทางเลือกที่เราพึ่งพาตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอให้ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ เสร็จสมบูรณ์” ธัญญารัตน์ เล่าถึงเหตุผลที่เธอใช้จักรยานเป็นพาหนะในการไปทำงานมากว่า 10 ปี และยังทำเพจ Bike to Work – BKK ขึ้นมาเพื่อแชร์ให้เห็นว่ายังมีอีกหลายคนที่ปั่นจักรยานไปทำงาน โดยหวังจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่อยากลองช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในเมืองนั้นรู้ว่าเขามีคนที่คิดแบบเดียวกัน

        “ที่ประเทศจีนตอนที่ฝุ่นเต็มเมือง รัฐบาลเขาก็เด็ดขาดนะ ออกมาสั่งห้ามประชาชนทำอะไรก็ตามที่เกิดผลกระทบกับมลภาวะทางอากาศเพิ่ม ซึ่งช่วยลดปริมาณฝุ่นควันลงไปได้มาก” เธอเล่าจากประสบการณ์ที่ได้ทำข่าวเรื่องนี้ให้ฟัง

        “นโยบายที่ผมสนใจคือ เราจะทำอย่างไรให้มีระบบแจ้งเตือนให้คนป้องกันตัวเองได้เร็วที่สุด ซึ่งประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ก็ใช้วิธีนี้ เพราะการเตือนให้คนป้องกันตัวเองสามารถทำได้เลย เช่น วันนี้อากาศเป็นสีแดงให้พกหน้ากากติดตัว คนป่วย คนแก่ หรือเด็ก อย่าออกนอกบ้าน โดยใช้หลักการเหมือนการแจ้งเตือนแผ่นดินไหว มีการส่งข้อมูลไปทุกเครือข่าย ทุกโอเปอเรเตอร์บนโทรศัพท์ ซึ่งข้อมูลส่วนกลางอาจจะเอามาจากหน่วยงานรัฐบาลหรือเอกชนที่ช่วยกันก็ได้ อย่างแอพพลิเคชันของกรมควบคุมมลพิษผมก็ว่าใช้ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่คนก็ไม่สนใจจะดาวน์โหลดมาใช้ ถ้ามีบริการแจ้งเตือนจากแอพพลิเคชันที่แต่ละคนสนใจก็น่าจะดี เหมือนการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวของประเทศญี่ปุ่น ที่ Yahoo Japan ทำขึ้นมา ซึ่งเป็นโอเปอเรเตอร์ที่แจ้งเตือนการเกิดแผ่นดินไหวได้ครอบคลุมที่สุด” นี่เป็นไอเดียของดอกเตอร์พรสรรที่ฟังแล้วก็เข้าท่าไม่น้อย

        “การปลูกต้นไม้ที่มีใบหนาๆ ก็ช่วยได้” ผู้อำนวยการกรีนพีซประจำประเทศไทยบอก “เพราะต้นไม้จะช่วยดักฝุ่นให้เรา นั่นคือสิ่งที่เราช่วยกันทำได้โดยไม่ต้องรอภาครัฐ หรือการซื้อเครื่องตรวจสอบคุณภาพอากาศมาติดตั้งกันเป็นเครือข่าย ซึ่งเครื่องนี้จะเอาข้อมูลขึ้นไปไว้บนระบบคราวด์ ยิ่งถ้ามีมากเราก็สามารถเช็กได้ว่าวันนี้ในแต่ละพื้นที่อากาศเป็นอย่างไร ถ้าขึ้นเป็นสีส้มหรือสีแดงก็เตรียมป้องกันตัว ซึ่งอาจจะส่งผลไปยังด้านนโยบายที่อาจมีการจำกัดจำนวนรถเข้าออกในบางพื้นทีเป็นบางวันก็ได้ ซึ่งตอนนี้เครื่องที่ว่าราคาก็ไม่แพงมาก ในกรุงเทพฯ ยังมีคนใช้งานอยู่ไม่เยอะ ถ้ารวมตัวช่วยกันได้ การแจ้งเตือนนี้ก็เกิดขึ้นจากพวกเราเองได้ทันที”

 

Stay safe and cautious

        “นอกจากป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยแล้ว ถ้าบ้านเราอยู่ในเขตที่มีฝุ่นฟุ้งกระจายหนาแน่น ก็ต้องติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ทุกวันนี้เวลาส่งลูกไปโรงเรียนผมจะเช็กมลพิษในอากาศ ถ้าเป็นสีส้มก็จะบอกเขาว่าวันนี้อย่าออกไปเล่นที่สนาม ให้อยู่แต่ในตึกนะ” ธาราบอกกับเราถึงเรื่องการป้องกันตัวเองจากฝุ่นระดับ PM 2.5

        “เราเคยถามคนในเพจว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้เขาอยากปั่นจักรยานมาทำงาน ซึ่งเรื่องเลนจักรยานหรือถนนทางเรียบอะไรพวกนี้กลับไม่ใช่สิ่งแรกที่พวกเขาต้องการ คำตอบที่ได้คือ เขาอยากได้ห้องอาบน้ำในที่ทำงานมากกว่า ถ้าที่ทำงานเขามีห้องให้อาบน้ำ พวกเขาก็อยากลองปั่นจักรยานไปทำงานเหมือนกัน” โปรดิวเซอร์จากสถานีโทรทัศน์บีบีซี (อังกฤษ) อ้างอิงจากโพลที่เธอทำขึ้นมา

        “ที่ประเทศฝรั่งเศส ถ้าวันไหนมีมลภาวะทางอากาศสูง เขาก็จะลดการให้รถยนต์เข้าเมือง และส่งเสริมให้คนใช้ระบบขนส่งมวลชน โดยวันที่มีการแจ้งเตือน รถไฟฟ้าจะขึ้นฟรี นั่นทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยลดมลพิษ แต่ทางรัฐเองก็ต้องยอมเสียรายได้ไปบ้างในวันนั้น” ดอกเตอร์พรสรร เล่าถึงอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าเป็นไปได้ แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมากก็ตามในความคิดของเรา “ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องแก้ในเชิงนโยบาย นี่คือสิ่งที่เขาทำกันทั่วโลก แต่ในฐานะตัวบุคคลยังไงเราก้ต้องป้องกันตัวเองไว้ก่อน คนทำงานออฟฟิศ นั่งอยู่ในห้องแอร์ อาจจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าคนที่ทำงานกลางแจ้งก็จริง แต่เราต้องไม่ลืมว่ายังมีคนอีกหลายอาชีพที่เขาได้รับผลกระทบจากฝุ่น เช่น แม่ค้า เซลส์ขายของ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนแก่ และเด็ก ยิ่งถ้าคนใกล้ตัวเรามีภูมิต้านทานที่อ่อนแอ พออากาศมีปัญหาเขาก็จะได้รับผลกระทบมากกว่าคนปกติ”

 

The Air I Breathe

        หน้ากากที่ช่วยป้องกันฝุ่นชนิดนี้ต้องระบุไว้ว่า เป็นหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง ที่มีเส้นใยประจุไฟฟ้าสถิต ส่วนหน้ากากอนามัยทั่วไปหรือหน้ากากอนามัยพร้อมชั้นกรองคาร์บอนนั้นใช้ได้ดีในบริเวณที่มีควันจากรถยนต์ เช่น ในใจกลางเมือง โดยสามารถกรองฝุ่นขนาด PM 3 ได้ แต่กรองฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้