ถ้าในภาพยนตร์เรื่อง Midnight in Paris กล่าวว่า ปารีสสวยที่สุดเวลาฝนตก กรุงเทพฯ ก็คงตรงกันข้าม
ยิ่งถ้าหากเป็นช่วงเวลาเลิกงานในวันศุกร์สิ้นเดือนด้วยแล้ว นี่จะไม่ใช่ประสบการณ์สุดโรแมนติก แต่จะกลายเป็นประสบการณ์ขนหัวลุกทันที
ป้าย ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ ที่โชว์หราอยู่ใจกลางเมืองจึงไม่ต่างจากการโกหกคำโต เมื่อเทียบกับหลากปัญหาที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องเผชิญในหนึ่งวัน โดยเฉพาะในวันฝนตก ที่เมืองแห่งนี้แทบไม่ต่างอะไรจากวันสิ้นโลก
จากชีวิตที่ควรจะดี จึงกลายเป็นเกรด D ที่ไม่ลงตัวสำหรับใครหลายคน เมื่ออีกด้านของเมืองมีชีวิตหม่นเทาของคนจำนวนหนึ่งดำเนินอยู่
‘ฝน’ ภาพสะท้อนชีวิตสองขั้วของคนสองชนชั้น
ในหนังรางวัลออสการ์อย่าง ‘Parasite’ หรือ ‘ชนชั้นปรสิต’ ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเป็นไคลแม็กซ์ของเรื่องที่เปิดโปงให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคม ฝนที่สำหรับครอบครัวปาร์กกระทบแค่ลูกชายไม่ได้ไปตั้งแคมป์ ขณะที่ครอบครัวคิมหนีน้ำท่วมหัวซุกหัวซุนจนต้องระเห็จไปนอนในโรงยิมกับคนอีกหลายร้อยชีวิต ฉากนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าแม้จะอยู่ใต้แผ่นฟ้าเดียวกัน ฝนตกเหมือนกัน แต่ความเดือดร้อนช่างต่างกันราวฟ้ากับเหว
กรุงเทพฯ เองก็แทบไม่ต่างอะไรจากบ้านในหนังเรื่อง Parasite อาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำ เมื่อเราเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากในโลก คนรวยอาจจะรู้สึกว่าฝนตกอากาศดีน่านอน แต่สำหรับคนจนอาจกำลังกังวลว่าบ้านเขาจะน้ำท่วมหรือไม่ วันนี้จะหาเงินจากไหน หรือวันนี้เขาจะถึงบ้านกี่โมง ขณะที่เมืองแห่งนี้กลับไม่ได้ออกแบบมาเผื่อรองรับปัญหาเหล่านั้นเลย มีแต่จะซ้ำเติมให้ปัญหาหนักข้อขึ้นไปอีก อย่างน้อยๆ คนเกาหลีก็ไม่ต้องเจอปัญหาต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะเดินทางกลับไปถึงบ้าน มิหนำซ้ำตึกสูงระฟ้าที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดโดยไม่มีการวางผังเมืองที่เหมาะสม ก็ทำให้การเดินทางยามฝนตกกลายเป็นเรื่องยากลำบาก
ฝนที่ตกเวลาเลิกงาน นอกจากมรสุมเข้าหรือตกตามฤดูกาลแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ ‘โดมความร้อน’ หรือ ‘เกาะความร้อนในเมือง’ (urban heat island) ที่มักเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วโลก กรุงเทพฯ เองก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดโดมความร้อนมาจากหลายสิ่งประกอบกัน ไม่ว่าจะการที่มีตึกอาคารสูงอยู่เป็นจำนวนมาก และวัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาคารเหล่านั้นมีคุณสมบัติดูดซับความร้อนโดยตรงจากดวงอาทิตย์ ทำให้อากาศบริเวณใกล้เคียงพลอยร้อนไปด้วย รวมถึงความร้อนจากเครื่องยนต์ที่มาจากการใช้รถใช้ถนนอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้เครื่องปรับอากาศเองก็มีส่วน ซึ่งกว่า 50% ของพลังงานไฟฟ้าที่คนกรุงเทพใช้ไปนั้นล้วนใช้สำหรับเครื่องปรับอากาศ ดังนั้น เมื่อความร้อนที่มาจากหลายแหล่งนี้ลอยตัวสูงขึ้นจนแผ่ออกไปกลายเป็นโดมความร้อนครอบเมืองเอาไว้ ในเมืองจึงมีอุณหภูมิสูงขึ้นและร้อนอบอ้าว เมื่ออุณหภูมิความร้อนลอยตัวไปกระทบอากาศที่เย็นเหนือโดมความร้อน จึงกลั่นตัวเป็นหยดน้ำตกลงมาเบื้องล่างกลายเป็นฝนยามเย็นที่เราคุ้นเคย
ไม่ว่าจะอาคารสูงระฟ้า เครื่องปรับอากาศ และรถยนต์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของชนชั้นกลางขึ้นไป แต่ผู้ที่ต้องทนกับอากาศร้อนกว่าปกติกลับเป็นชนชั้นล่างที่ใช้ชีวิตอยู่ด้านนอกอาคาร อย่างวินมอเตอร์ไซค์ พ่อค้าแม่ขาย และผู้ใช้แรงงาน แม้กระทั่งช่วงที่ฝนตก พวกเขาก็ต้องเจอความทุกข์ทรมานแบบที่คนชนชั้นล่างต้องเผชิญ โดยที่คนชั้นบนยังคงเปิดเครื่องปรับอากาศพักผ่อนตามปกติอย่างไม่รู้อะไร
ผ่อนคอนโดฯ วันนี้ ผ่อนหมดชาติไหน
ความฝันจะเป็น ‘เจ้าของบ้านสักหลัง’ ในเมือง ดูเป็นความฝันที่เลือนรางออกไปทุกที เมื่อราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมนุษย์เงินเดือนไม่สามารถจะเอื้อมถึง ถึงแม้มีเงินพอจ่ายไหวก็ได้ห้องขนาดเล็กเพียงแค่ 20 กว่าตารางวาเท่านั้น พร้อมกับสัญญา 30 ปี ที่ไม่รู้สัญญาหรือชีวิตของเราจะสิ้นสุดก่อนกัน
เมื่อประมาณ 14 ปีก่อน ขนาดเฉลี่ยของห้องเดี่ยวในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 65 ตารางเมตร แต่ในปี 2019 กลับเฉลี่ยอยู่ที่ 28 ตารางเมตร เรียกว่าลดลงมากกว่าหนึ่งเท่าตัวเลยทีเดียว โดยเราสามารถเป็นเจ้าของห้องพักที่แสนกะทัดรัดนี้ได้ในราคา 1.4 แสนบาทต่อตารางเมตร แต่ถ้าเป็นคอนโดฯ สูงชะลูดตั้งตระหง่านอยู่ย่านหรูใจกลางเมือง มองเห็นทิวทัศน์ของเมืองที่ไม่เคยหลับใหลได้สุดลูกหูลูกตา ราคาก็อยู่ที่ 2- 3 แสนต่อตารางเมตร ซึ่งเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 37,751 บาทของคนกรุงเทพ ก็ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงอยู่พอสมควร เพราะรายจ่ายเฉลี่ยต่อแบบไม่รวมค่าเช่าห้องก็ปาเข้าไป 21,000 บาทแล้ว
อาจด้วยเหตุนี้ คนรุ่นใหม่ในเมืองจึงมีแนวคิดที่ว่าไม่จำเป็นต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นความต้องการที่แท้จริงหรือตกอยู่ในภาวะจำยอม) ส่งผลให้เกิดเทรนด์การเช่าอยู่ตลอดชีวิตขึ้นมา แน่นอนว่าค่าเช่าเองก็ถูกแพงขึ้นอยู่กับความใกล้ไกลความเจริญ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
หากเป็นห้องเช่าราคา 3,000 บาท ภายในห้องอาจไม่มีหน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์ หรือข้าวของเครื่องใช้ใดๆ ซ้ำร้ายกว่านั้นอาจเป็นเพียงห้องเปล่าๆ ที่ไม่มีห้องนั่งเล่น ไม่มีห้องส่วนตัว ไม่มีห้องครัว หรือกระทั่งไม่มีห้องน้ำ
“มีช่วงหนึ่งเราตกงาน ตอนนั้นไม่มีเงินเก็บเลย แต่จำเป็นต้องอยู่กรุงเทพฯ ด้วยหลายๆ อย่าง เราเลยพยายามจะหาห้องเช่าที่ราคาถูกที่สุดในย่านคลองสาน ตอนนั้นห้องเดือนละ 2,000 ยังว่าแพงเลย เพราะไม่มีเงินถึงขั้นต้องกดเงินสดบัตรสินเชื่อมาใช้รายวัน เราเดินหาอยู่นานจนเจอป้ายหนึ่งติดไว้ริมทาง เขียนว่าห้องเช่าราคาถูก เลยโทร.หาและนัดไปดูห้อง ที่นี่เป็นบ้านไม้ที่มีประมาณ 3-4 ห้อง แล้วแบ่งแต่ละห้องให้เช่า มีห้องราคาเดือนละ 1,200 ว่างอยู่ เราเลยตัดสินใจเช่าห้องนี้ แต่อย่าคิดว่าสภาพดี ห้องเดินจากประตู 4 ก้าว ก็ถึงกำแพงละ 4 ก้าวจริงๆ (หัวเราะ) แคบมากๆ และก็เป็นห้องน้ำรวมด้วย”
‘หญิง’ เริ่มเล่าประสบการณ์ของเธอให้ฟังเราฟัง หญิงเป็นมนุษย์เงินเดือนวัยยี่สิบปลายๆ ที่ย้ายจากต่างจังหวัดเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 4-5 ปีก่อน เพราะที่บ้านเกิดไม่มีสายงานที่เธอสนใจ แต่การตัดสินใจลาออกโดยไม่ได้มีงานรองรับ ทำให้เธอตกอยู่ในสภาวะตกงานกว่า 3 เดือนเต็ม เมื่อจำเป็นต้องอยู่กรุงเทพฯ ต่อ ห้องเช่าราคาถูกจึงกลายมาเป็นที่อยู่อาศัยของเธอ ห้องเช่าที่เราอาจไม่เคยรู้เลยว่ามันซ่อนตัวอยู่ละแวกเดียวกับคอนโดฯ หรูราคาหลายสิบล้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา
“ทางเข้าบ้านเราอยู่ห่างจากถนนใหญ่ไม่มาก แต่เปลี่ยวจนน่ากลัว มันเป็นทางเล็กๆ พอให้คนเดินได้ เวลากลับเกิน 2 ทุ่ม ต้องเดินระวังหน้าระวังหลัง เพราะมันมืด ตอนที่บ้านขนของมาให้ พ่อเราออกปากเลยว่า นี่มันสลัมเลยนะ มาอยู่ที่นี่ทำไม แต่ตอนนั้นเราไม่เห็นทางที่ดีกว่านี้แล้ว คิดว่าตัวเองก็น่าจะทนได้ด้วย พอได้มาอยู่จริงๆ มันแย่กว่าที่คิดมาก ตอนแรกเจ้าของบ้านเขาบอกว่าห้องน้ำด้านบนใช้ได้ และห้องน้ำด้านบนมันอยู่ติดห้องเราเลย เราก็โอเค รู้สึกไม่ลำบากถ้าต้องเดินไปเข้าห้องน้ำ แต่ความเป็นจริงห้องน้ำด้านบนน้ำไหลช้ามาก เรียกว่าแทบใช้ไม่ได้เลยแหละ ก็เลยกลายเป็นว่าต้องลงไปใช้ข้างล่าง
“สภาพแวดล้อมคนที่อาศัยอยู่ที่นั่นมันก็ไม่ได้ดีอะ คนส่วนใหญ่เป็นคนใช้แรงงาน เป็นคนพม่าอะไรแบบนั้น เรากลายเป็นคนที่ไม่เข้าพวกเลย วันแรกที่เราเข้าไป คู่ผัวเมียทะเลาะกันดังลั่นบ้าน แล้วมีครั้งหนึ่งเราออกมาเจอคนหนึ่งในบ้านเหมือนเขาจะเมาๆ ยังไงไม่รู้ เขามองเราด้วยสายตาแบบคุกคาม หลังจากนั้นเราก็หวาดระแวงมากจนไม่กล้าลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนเลย ได้ยินเสียงอะไรก๊อกแก๊กตอนกลางคืนก็สะดุ้งตื่นตลอดเพราะกลัวใครจะเข้ามาทำอะไร เราอยู่แบบพยายามทำตัวเองให้มีตัวตนน้อยที่สุด ประสาทเสียมาก เข้าใจเลยว่าคุณภาพชีวิตที่มันอยู่ล่างสุดของห่วงโซ่อาหารในกรุงเทพฯ มันเป็นยังไง”
หญิงอาศัยอยู่ในห้องเช่าแห่งนั้นได้ 3 เดือน ก่อนจะได้งานใหม่และตัดสินใจย้ายออกไป แม้เหตุการณ์ครั้งนั้นจะไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีนัก แต่เธอมองว่านี่เป็นชีวิตปกติประจำวันของคนอีกจำนวนมากในกรุงเทพฯ เธอแค่เคยเป็นหนึ่งในนั้นที่เดินออกมาได้แล้ว ตรงข้ามกับอีกหลายคนที่ยังติดอยู่สถานที่ในลักษณะแบบเดียวกันนี้เป็นสิบๆ ปี โดยไม่มีโอกาสได้ก้าวออกมา
กรุงเทพฯ ขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในประเทศไทย สถิติล่าสุดปี 2563 จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครกว่า 5,666,264 คน แต่ที่ดินราคาแพงแสนแพงเหมือนบีบให้ผู้คนเหล่านั้นต้องแยกตัวเองให้ถอยห่างไกลจากความเจริญออกไป จนกลายมาเป็นภาพความแออัดของชุมชนที่กระจายตัวอยู่ไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ ซึ่งถูกเรียกขานกันว่า ‘สลัม’
ต่อให้กรุงเทพฯ จะเจริญเติบโตก้าวล้ำไปแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นตาม แม้พวกเขาอาจจะไม่มีรายได้ขั้นต่ำอยู่ในระดับต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรรมดา แต่สิ่งที่เขาต้องจ่ายมากกว่าคือ เวลา ความสะดวกสบาย และความสุขในชีวิต
จากที่เคยเฝ้าฝันว่าจะ ‘มีบ้านสักหลัง ’หรือ ‘มีรถสักคัน’ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ถ่างออกไปเรื่อยๆ จนไม่ว่าอย่างไรก็ก้าวข้ามความจนไม่ได้ สุดท้ายก็ทำให้คนเหล่านั้นเลิกฝัน แล้วก้มหน้าก้มตาทำงานในแต่ละวันต่อไปราวกับไม่เคยฝัน
กรุงเทพฯ ทำร้าย ‘ใจ’ เราอย่างไร
ปกติเรื่องสุขภาพจิตมักถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ลองนึกภาพแค่ว่าในหนึ่งปี คนกรุงต้องเสียเวลาราว 90 ชั่วโมงไปบนท้องถนน จิตใจเขาจะอ่อนล้าขนาดไหนกับปัญหาเดิมๆ ที่ต้องเจอทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไหนจะปัญหาและมรสุมในชีวิตอื่นๆ ที่มาผสมปนเปกันอีก คำว่า ‘โรคซึมเศร้า’ อาจจะไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด ที่น่าเศร้าคือไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงการรักษาได้
“เราเป็นเด็กต่างจังหวัด บ้านอยู่ที่ศรีสะเกษ เพิ่งเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ อย่างจริงจังตอนเรียนมหาวิทยาลัย ก่อนหน้านั้นเคยแต่มาเยี่ยมญาติอะไรแบบนี้ เลยไม่ได้เจอปัญหารถติดอะไรจริงจัง แล้วตอนเรียนมหาวิทยาลัยอยู่รังสิตด้วย ก็เลยไม่ได้เข้าในใจกลางกรุงเทพฯ เลย จนตอนฝึกงานที่เรามาฝึกงานแถวซอยศูนย์วิจัย แล้วตอนนี้มีลงซัมเมอร์ไว้ด้วยตัวหนึ่ง เลยต้องขับรถเทียวไปเทียวมาระหว่างรังสิตกับซอยศูนย์วิจัยทุกวัน เวลากลับไปถึงหอก็ต้องทำงานต่อจนถึงตี 1-ตี 3 แล้วก็ต้องรีบตื่นแต่เช้าเพื่อรีบไปทำงานเพราะรถมันติดมาก ใช้เวลาเดินทางตอนเช้า 2 ชั่วโมง ตอนเย็นอีก 2 ชั่วโมง รวมๆ วันหนึ่งอยู่บนท้องถนนนานมาก ประกอบกับตอนนั้นเราก็เครียดกับการฝึกงานด้วย ด้วยปัจจัยชีวิตอื่นๆ ด้วย มันก็เลยเสียสุขภาพจิตไปเยอะเหมือนกัน”
ไข่มุก เป็นมนุษย์เงินเดือนอีกคนที่เผยว่าปัญหารถติดในกรุงเทพฯ เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เธอตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า ก่อนจะมาอยู่กรุงเทพฯ เธอคิดเอาไว้แล้วว่ามันเป็นเมืองที่ไม่ได้รื่นรมย์นัก แต่เมื่อได้มาอยู่จริงๆ มันแย่กว่าที่หลายเท่าตัว
“ตอนแรกๆ เราก็พยายามเอางานนั่งทำรอบนรถเลย ไม่ก็เปิดเพลงบ้างไรบ้าง พยายามเอนเตอร์เทนตัวเอง แต่พอนานวันเข้ามันรู้สึกเบื่อมาก ทำไมเราต้องมาติดแหง็กกับอะไรแบบนี้ แทนที่จะได้รีบกลับบ้านไปนอน บางวันก็เลิกดึก งานที่ต้องทำก็ยังมีอีกเยอะ เราก็สติแตกเหมือนกันนะ เคยโทร.ไปร้องไห้กับแฟน บอกไม่ไหวแล้ว ยิ่งถ้าฝนตกนะ มันไม่ไหวจริงๆ
“ไม่นานมานี้เราไปทำธุระแถวห้วยขวางแล้วต้องกลับมาคุยงานต่อแถวประดิพัทธ์ วันนั้นฝนตกหนักมาก น้ำท่วม แถมยังเป็นเย็นวันศุกร์ แบบว่ารวมความอัปยศทุกอย่างในกรุงเทพฯ ไว้หมดแล้วในวันนั้น แค่ห้วยขวางมาประดิพัทธ์เราใช้เวลา 3 ชั่วโมง บนท้องถนน แล้วเราไม่ใช่คนชำนาญทางอะไรแถวนั้นเลยต้องเปิดแม็ปส์ในโทรศัพท์ดู โทรศัพท์ดันแบตหมดอีก ถ้าขับวนไปเรื่อยๆ น้ำก็จะท่วมรถ วันนั้นหนักมาก สติแตกจนถึงต้องโทร.ไปร้องไห้กับเพื่อน กรุงเทพฯ แม่งห่วยแตกจริงๆ”
สิ่งที่ทำให้ไข่มุกยังคงทนอยู่ในเมืองแห่งนี้ต่อไปก็เพราะหน้าที่การงาน ซึ่งคงไม่ต่างจากใครอีกหลายๆ เมื่อในต่างจังหวัดมีความหลากหลายของงานน้อยมาก ถ้าไม่ได้รับราชการ ทำเกษตรกรรม และทำธุรกิจส่วนตัว เรียกได้ว่าแทบจะไม่เห็นทางเลือกอื่นเลย ถึงอย่างนั้นไข่มุกก็คาดหวังอยากเห็นกรุงเทพฯที่ดีกว่านี้ กรุงเทพฯ ที่ขนส่งสาธารณะเข้าถึงทุกที่ แม้ที่แห่งนั้นจะไม่สำคัญ แต่ก็ควรมี
ไม่ใช่แค่ไข่มุกเท่านั้นที่มีปัญหาสุขภาพจิต แต่ยังมีคนกรุงเทพจำนวนมากที่อยู่ในสภาวะนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งผลการสำรวจสุขภาพจิตของคนวัยทำงานอายุ 15-60 ปี ในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2561 พบว่า เกือบ 1 ใน 3 ของคนกรุงเทพ หรือกว่า 32.11% มีความสุขอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ และรายงานจากสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาเมื่อปีที่ผ่านมา ยังระบุด้วยว่า คนกรุงป่วยเป็นโรคจิตเวช 471,968 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโรคซึมเศร้า 238,011 คน แต่ได้รับการเข้ารักษาแค่ 24,375 คนเท่านั้น
ตามหลักการแพทย์แล้ว โรคซึมเศร้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่เสียสมดุลของสารเคมีทางสมอง หรือพื้นนิสัยเดิมเป็นคนคิดมาก กังวลง่าย ชอบโทษตัวเอง ตลอดจนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่บั่นทอนจิตใจ ซึ่งโรคซึมเศร้าถือเป็นประเด็นสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมากจากอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เมือง’ เองก็มีผลต่อผู้คนในเชิงของจิตวิทยาด้วยเช่นกัน หลายเมืองใหญ่จึงพยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพิ่มพื้นที่ที่สาธารณะให้คนในเมืองได้ออกมาทำกิจกรรมพักผ่อนย่อนใจมากขึ้น แต่พื้นที่เหล่านี้กลับขาดหายไปในกรุงเทพฯ ลองนึกภาพดูว่าถ้ากรุงเทพฯ รถไม่ติด น้ำในคลองใสสะอาด มีทางเท้าที่เรียบสนิท มีสวนสาธารณะให้วิ่งแทบทุกย่าน มีถนนหนทางที่สว่างปลอดภัย แค่นึกภาพตาม กรุงเทพฯ ก็ดูน่าอยู่ขึ้นเป็นกอง เรื่องนี้เห็นได้ชัดมากในช่วงกักตัวเพราะโควิด-19 เมื่อการอยู่ในห้องแคบๆ เป็นเวลานานทำให้คนจำนวนมากต้องทุกข์ทรมาน
ถ้าความเจริญกระจายสู่ภูมิภาค การเข้ามากรุงเทพฯ อาจไม่จำเป็น
หากถามใครต่อใครว่าถ้าความเจริญไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ เขาจะยังเลือกมาอยู่ที่นี่ไหม หลายคนก็คงตอบทันทีว่า “ไม่”
ประเทศไทยพยายามกระจายความเจริญไปสู่ต่างจังหวัดมาเนิ่นนานแล้ว ไม่ว่าจะการกระจายอำนาจการปกครองหรือการกำหนดนโยบายในยุทธศาสตร์แห่งชาติ แต่ความเป็นจริงมันไม่เคยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเลย อาจจะมีเพียงหัวเมืองใหญ่ๆ ที่เริ่มเห็นความเจริญไหล่บ่าเข้าไปหาคนในพื้นที่บ้าง แต่นั่นยังคงเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับอีกหลาย จังหวัดทั่วประเทศไทยที่รอการพัฒนาเช่นกัน
แค่มองผิวเผินแบบยังไม่ลงลึกไปถึงเรื่องสถิติ เราก็คงพอจะรู้สึกได้ว่าความเจริญทุกอย่างนั้นยังคงรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งการคมนาคม การศึกษา สาธารณูปโภค ไปจนถึงสาธารณสุข ยิ่งถ้าหากดูข้อมูลการบริหารจัดการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในประเทศไทยจะยิ่งเห็นได้ชัดถึงความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาที่สูงมาก เพราะขณะที่ภาคอีสานที่มีประชากร 34% มากที่สุดของประเทศ แต่กลับได้รับงบประมาณเพียง 6% เท่านั้นเอง ตรงข้ามกับกรุงเทพฯ ที่แม้จะมีประชากร 17% ของประเทศ แต่ได้รับงบประมาณถึงกว่า 72% ของงบประมาณทั้งหมด (สถิติของธนาคารโลก)
นอกจากนี้ดัชนี Human Achievement Index (HAI) ที่มีการวัดคุณภาพของบริการสาธารณะในแต่ละพื้นที่ต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละด้าน พบว่าในปี 2017 กรุงเทพฯ มีดัชนีที่สูงกว่าทุกภูมิภาคในทุกๆ ด้าน ยกเว้นแค่ด้านที่อยู่อาศัยเพียงด้านเดียว ส่วนภาคอีสานมีโอกาสเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ เกือบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษาและคมนาคม
เรื่องความไม่เท่าเทียมในพื้นที่นี้เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเข้มข้นก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวคิดแบบ Romanticize ที่คนเมืองมองต่อคนชนบทเช่นกันว่า ความจริงสิ่งที่เขาต้องเผชิญต่างจากภาพสวยหรูที่สื่อต่างๆ ประโคม ทั้งที่เสียภาษีเหมือนกันแต่พวกกลับเป็นคนที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ขณะที่ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาความเจริญมุ่งเข้ากรุงเทพฯ ที่เดียว จนสภาพสังคมต้องบีบให้คนต่างจังหวัดจากครอบครัวมาอยู่เมืองใหญ่ด้วยคำว่า ‘อยู่ที่บ้านไม่มีอะไรทำกิน’ แต่แทนที่จะมีรายได้ดังที่คาดหวัง กลับยิ่งเข้ามาลำบากลำบนจากครองค่าชีพที่สูงเป็นเท่าตัว
ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเรื้อรังที่กัดกินคนไทยมานาน และคาดการณ์กันว่าสังคมไทยจะยังต้องอยู่กับปัญหานี้ต่อไปเรื่อยๆ
ตัวอย่างความเหลื่อมล้ำใหญ่ที่สุดที่เราเห็นอยู่ตำตาเหมือนเป็นช้างตัวใหญ่ที่นั่งอยู่ในห้อง ก็คือเมืองหลวงของเราที่ดูดทรัพยากรส่วนใหญ่ของประเทศเข้ามาไว้ในตัวโดยละเลยพื้นที่อื่นๆ ทั้งที่อยู่ใน ‘ประเทศ’ เดียวกันนี่เอง
แต่กระทั่งในกรุงเทพฯ เอง ความเหลื่อมล้ำก็ยังยื่นมือเข้ามากดเหยียดผู้คน โดยเฉพาะคนจนเมืองที่หาที่ทางในการไต่บันไดทางสังคมขึ้นไปมี ‘ชีวิตที่ดี’ ได้ยากเย็นเหลือใจ
ดังนั้น ประโยค ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ จึงเป็นประโยคที่พูดเพียงเบาๆ ก็เจ็บปวดนักหนา
เพราะมันเป็นความจริง – เฉพาะกับคนบางกลุ่ม, เท่านั้นเอง
อ้างอิง :
– https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/896151
– https://www.bltbangkok.com/poll/4486/
– https://www.innnews.co.th/politics/news_171236/
– http://www.knowledgefarm.in.th/inequlity-in-mega-city/
– https://theurbanis.com/public-realm/04/06/2020/1797
– https://theurbanis.com/public-realm/10/01/2020/161
– https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=ZEgwbWNiSFNjUzg9
– https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/AAA/Inequality_3GiniCoefficient.PDF
– https://waymagazine.org/home/
– http://www.prbangkok.com/th/bmanews/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQwMzcwMQ
– https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/97269