ในขณะที่เรากำลังนั่งทำงานอยู่ในตึกสูงย่านใจกลางเมือง เมื่อหันซ้ายหันขวาอาจจะได้พักสายตาไปกับต้นตะบองเพชรเล็กๆ ที่เลี้ยงไว้บนโต๊ะทำงาน สีเขียวอ่อนๆ ที่ให้ความสดชื่นเบาๆ ทางใจ เป็นน้ำหล่อเลี้ยงเดียวตลอด 5 วันต่อสัปดาห์ ในห้องทำงานที่ต้องเผชิญอยู่กับแสงไฟนีออนจากเพดาน และแสงสีฟ้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์รวมถึงสมาร์ตโฟน
ส่วนวันหยุดที่เหลือ หลายคนตัดสินใจทิ้งกรุงเทพฯ ไว้เบื้องหลัง แล้วพาร่างกาย (และสายตา) ออกไปสัมผัสกับพื้นที่สีเขียวและอากาศที่บริสุทธิ์ของกรุงเทพฯ รอบนอก เพราะคนเมืองต่างโหยหาอากาศที่ดี และพลังชีวิตจากต้นไม้ใหญ่ ที่หาได้น้อยมากในเมืองใหญ่
แน่นอนว่า ความต้องการนี้ไม่ได้จะเกิดขึ้นแค่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น มหานครต่างๆ ทั่วโลกต่างตระหนักถึงข้อดีนานัปการของการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเปลี่ยนป่าคอนกรีตให้เป็นป่าในเมืองที่สอดรับไปกับการเติบโตของเมืองและผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากสารคดีปี 2011 Urbanized ว่าด้วยเรื่องการออกแบบจัดวางผังเมืองต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่มุมไบ เซี่ยงไฮ้ จนถึงรีโอเดจาเนโร ที่ชี้ให้เห็นถึงผังของเมืองเหล่านี้ แต่ไฮไลต์ของสารคดีนี้กลับอยู่ที่เหตุการณ์ต่อต้านโครงการ Stuttgart 21 ซึ่งเป็นโครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงที่จะตัดผ่านใต้เมืองชตุทท์การ์ท ประเทศเยอรมนี แต่การทำแบบนั้นจะต้องรื้อสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่มากมาย รวมไปถึงสวนสาธารณะที่มีต้นไม้ใหญ่อายุมากกว่าสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวเมืองต่างพากันคัดค้านเพราะต้องการให้ทุกอย่างรวมถึงต้นไม้นี้ยังคงอยู่ แต่สุดท้ายก็ไร้ผล ต้นไม้ถูกโค่นลงอย่างน่าเสียดายเพียงเพราะต้องการขยายเมืองเท่านั้นเอง สิ่งนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ระหว่างความเจริญของเมืองกับพื้นที่สีเขียวและพลังแห่งต้นไม้ ผู้คนที่อาศัยอยู่ต้องการสิ่งใดมากกว่า
ยังมีสารคดีในปี 2013 เรื่อง เนทูโรโพลิส นิวยอร์ก ปฏิวัติเพื่อสิ่งแวดล้อม (Naturopolis) ที่ทำให้เราเห็นว่า นครนิวยอร์ก เมืองแห่งมหาอำนาจ ยังมีอำนาจมากพอที่จะให้ยอมให้พื้นที่ราคาแพงเต็มไปด้วยป่าในเมืองที่อุดมไปด้วยสวนสาธารณะ ต้นไม้ใหญ่ แม่น้ำฮัดสันที่สะอาดจนปลาและสัตว์น้ำมากมายกลับมาเวียนว่ายอย่างอิสระ รวมทั้งตึกสูงมากมายที่แบ่งสรรจัดส่วนพื้นที่สีเขียวได้อย่างกลมกลืนไปกับเมือง และพื้นที่สีเขียวแบบนี้ยังกระจายเข้าสู่ 5 พื้นที่เขตขนาดใหญ่ในนิวยอร์ก และชาวนิวยอร์กก็ได้ใช้ชีวิตสไตล์คนเมืองที่อิงแอบไปกับธรรมชาติได้ตลอด 365 วัน
กรุงเทพมหานครเป็นอีกแห่งที่เราคาดหวังให้มีพื้นที่สีเขียวมากยิ่งขึ้น มีสวนสาธารณะที่มีต้นไม้ใหญ่ให้โอบกอดมากขึ้น มีต้นไม้ที่ปลูกอยู่ริมทางและเกาะกลางถนนให้ชุมชื่นสายตา แม้ว่าการจราจรด้านล่างจะติดแสนสาหัส แต่การพื้นที่สีเขียวล้อมรอบเอาไว้ ยังไงก็มีแต่ประโยชน์ให้สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตอยู่ดี
THE GREEN POWER
เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่คอยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และผลิตก๊าซออกซิเจนให้กับมนุษย์ หรือเรียกได้ว่าเป็นโรงงานฟอกอากาศที่มีต้นทุนต่ำที่สุดในโลก แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว ต้นไม้ในเมืองยังมีส่วนช่วยดูดซึมน้ำ ป้องกันอุทกภัย เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดูดเงินเข้าประเทศได้อย่างมหาศาล ทั้งยังเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของคนเมือง เช่น ความเครียด โรคซึมเศร้า และลดอัตราการก่ออาชญากรรมในเมืองได้
องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่าเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน แต่ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวทั้งหมดรวมแล้วที่ 6.43 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และต่ำกว่าพื้นที่สีเขียวในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา (23.1 ตารางเมตรต่อคน) แคนาดา (12.6 ตารางเมตรต่อคน)
และจำนวนต้นไม้ยืนต้นกว่า 3,000,000 ต้นในกรุงเทพฯ ยังตรวจพบต้นไม้เสี่ยงล้มกว่า 1,800 ต้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเลือกพันธุ์ไม้ที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการเลี้ยงดูและรักษาอย่างผิดวิธี เช่น ปลูกหลังจากที่มีการก่อสร้างถนน ซึ่งจะมีระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อยู่ใต้ดิน ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกส่วนใหญ่ไม่มีรากแก้ว และไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่
ในฐานะคนเมืองคนหนึ่ง เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาต้นไม้ในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อวันหนึ่ง กรุงเทพฯ จะได้กลายเป็นเมืองที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และเป็นมหานครสีเขียวที่สามารถพัฒนาอย่างยั่งยืน
วิธีแก้ไขปัญหาต้นไม้ในกรุงเทพฯ
ต้นไม้กับสายไฟฟ้า: เมื่อต้นไม้โตจนไปเกี่ยวกับสายไฟ ไม่ควรตัดต้นไม้จนเหี้ยน แต่ควรต้องใช้ศาสตร์รุกขกรรมผสมผสานกับวิศวกรรม เพื่อตัดแต่งกิ่งและเปลี่ยนสายรัดสายไฟให้เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ต้นไม้โตได้เต็มที่ และหากจะนำสายไฟลงใต้ดิน ควรตรวจสอบก่อนว่ารากของต้นไม้บริเวณดังกล่าวแข็งแรงพอหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต้นไม้โค่นล้มตามมา
ต้นไม้กับฟุตปาธ: หากเป็นฟุตปาธที่มีขนาดเล็ก ควรใช้ต้นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ทรงพุ่มไม่ใหญ่ และต้องไม่เปราะ ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดอันตราย สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันวัตถุที่อยู่รอบด้านได้ และแน่นอนว่าต้องไม่เทปูนทับบริเวณรากของต้นไม้ เพราะจะทำให้ต้นไม้ขาดอากาศและยืนต้นตายในที่สุด
ต้นไม้ริมคลองประปา: เมื่อต้นไม้ริมคลองประปาทำใบไม้ร่วงลงไป จนใบพัดที่หมุนอยู่ข้างล่างทำงานไม่ได้ ไม่ควรตัดกิ่งของต้นไม้ออกจนหมด แต่ตัดแต่งต้นไม้ตามหลักรุกขศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งการดูแลรักษาคลองประปาและสามารถรักษาต้นไม้ให้สวยงามและมีอายุยืนยาว
ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่กังวลถึงสถานการณ์ต้นไม้ในกรุงเทพฯ แต่ยังรวมถึงภูมิสถาปนิกหนุ่มชาวฝรั่งเศส Goustan Bodin ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Hyper-Tree และโปรเจ็กต์ Banyan Fever เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้และสร้างต้นแบบอาคารสีเขียว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาเมืองและรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
ในฐานะชาวต่างชาติ ทำไมถึงมองว่าการปลูกต้นไม้ในกรุงเทพฯ มันสำคัญนัก
คนปัจจุบันไม่ได้ตระหนักว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมมันรุนแรงแค่ไหน เราอาศัยอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ทำงานอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม เด็กๆ ไปโรงเรียนและนั่งเรียนในห้องสี่เหลี่ยม ขับรถเปิดแอร์ ทำให้เราไม่รู้อีกต่อไปว่าสภาพอากาศข้างนอกเป็นอย่างไร หากเรายังไม่ทำอะไร คนรุ่นปัจจุบันอาจจะเป็นคนรุ่นสุดท้ายก็ได้ที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติใช้ เช่น น้ำมัน ทองแดง น้ำ ทราย
ตอนนี้ผมย้ายบ้านจากใจกลางกรุงเทพฯ มาอยู่ที่บางกระเจ้า ทำให้รู้เลยว่าสภาพอากาศมันต่างกันมาก ถ้าเทียบกับในเมือง พลังงานความร้อนของแสงอาทิตย์ถูกกักเก็บอยู่ในตึก อยู่ในคอนกรีตและวัสดุต่างๆ ซึ่งทำให้ในเมืองมีแต่ร้อนขึ้น แต่ถ้าเราปลูกต้นไม้ในเมือง จะทำให้อุณหภูมิลดลงแน่ๆ อย่างน้อยร่มเงาจากต้นไม้ที่อยู่ในอาคารหรือถนนก็ทำให้อุณหภูมิตรงนั้นลดลงได้ถึง 3 องศา
คุณช่วยเล่าให้ฟังถึงกลุ่ม Hyper-Tree และโปรเจ็กต์ Banyan Fever หน่อยได้ไหม
Hyper-Tree คือกลุ่มที่ผมตั้งขึ้นมาเพื่อเชิญชวนคนกรุงเทพฯ ทั้งคนไทยและต่างชาติ มาเรียนรู้เรื่องต้นไม้และปลูกต้นไม้ด้วยกัน โดยตอนนี้เรากำลังโฟกัสกับโปรเจ็กต์ Banyan Fever เพราะในประเทศไทยเรามีต้นไม้สกุล Ficus เยอะ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีลักษณะเป็นพุ่มและมีรากห้อยลงมาตามกิ่งก้าน เช่น ต้นโพธิ์ ต้นโพธิ์ขี้นก ต้นไทร และอีกกว่า 12 ชนิด
ไอเดียของโปรเจ็กต์นี้จึงเป็นการปลูกต้นไม้เหล่านี้กับสิ่งก่อสร้างที่เราออกแบบ เพื่อให้ต้นไม้ที่โตขึ้นมาได้ล้อเข้าไปกับรูปร่างของอาคาร เช่น ถ้าเราจะสร้างบังกะโล ก็สร้างต้นไม้ไว้บนบังกะโลให้มันล้อมรอบและห้อยลงมา ซึ่งมันใช้เวลาแค่ 3-5 ปีเท่านั้น เราจะมีพื้นที่ป่าเล็กๆ อยู่ในอาคารนั้นแล้ว แม้ว่าตอนนี้ผมยังอยู่ในขั้นตอนทดลองอยู่ แต่มีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะเราทำได้เลย และทำง่ายนิดเดียว เพียงแค่เจ้าของตึกต้องเปิดใจ อย่างการสร้างสวนสีเขียวไว้บนหลังคาตึก ทำให้ตึกเย็นขึ้นได้ แถมยังเป็นมุมพักผ่อน จัดกิจกรรม และเป็นพื้นที่ให้สัตว์ตัวเล็กๆ อย่างนกและแมลงอยู่อาศัย ซึ่งจะวิน-วินกันทุกฝ่ายเลย
สิ่งนี้ยังนับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยหรือเปล่า คุณเจอปัญหาในการอธิบายให้คนอื่นเข้าใจไหม
คนทั่วไปอาจจะไม่เห็นภาพเท่าไหร่ ผมจึงต้องทำมันขึ้นมาสักทางใดทางหนึ่ง แต่มันยากเพราะผมไม่มีงบประมาณ ผมไม่สามารถไปซื้อตึกและปลูกต้นไม้ให้คนเห็นได้ จึงต้องไปทดลองโปรเจ็กต์นี้บนตึกร้าง แล้วก็โดนพี่ยามไล่ออกมา เพราะผมไม่รู้ว่าตึกนั้นมีเจ้าของ ช่วงแรกๆ เลยเต็มไปด้วยความทุลักทุเล และแม้ว่าวันนี้ผมจะมีอาสาสมัครมาช่วยเยอะขึ้น แต่ก็เป็นโปรเจ็กต์ที่ผมทำคนเดียว ตอนนี้ผมจึงพยายามเข้าหาเดเวลอปเปอร์ สถาปนิก หรือคนที่มีงบประมาณและอยากจะสร้างตึกสีเขียวให้สังคม ถ้าพวกเขาเห็นข้อความนี้สามารถติดต่อผมได้เลยนะ (หัวเราะ)
ทั้งๆ ที่คุณเป็นชาวต่างชาติ คุณมาทำสิ่งนี้ให้พวกเราคนไทยทำไม
ผมไม่ได้ทำให้พวกคุณ ไม่ได้ทำให้คนไทย แต่ผมทำให้คนทั่วไปและทำให้ตัวเอง ถ้าคุณรู้ว่าในอนาคตกำลังจะเกิดอะไรขึ้น แล้วคุณมีลูก ยากนะที่จะนอนหลับได้สนิท อย่างนักวิทยาศาสตร์ที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมบางคนเขาถึงขั้นฆ่าตัวตาย เพราะเขาเห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับโลก มันรุนแรงมาก มันมาแน่ ถ้าคุณรู้ว่าโลกนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น คุณอยู่เฉยๆ ไม่ได้หรอก
“
ปี 2015 คือปีที่โลกร้อนที่สุด ปี 2016 คือปีที่โลกร้อนที่สุด ปี 2017 คือปีที่โลกร้อนที่สุด แน่นอน ปีนี้ 2018 ก็ต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
”
ผมยังจำได้ตอนเด็กๆ ผมนั่งรถพ่อกลับบ้านแค่ไม่กี่กิโลเมตร แต่ทุกครั้งที่เราถึงบ้าน เราต้องเอาผ้ามาเช็ดกระจกที่เปื้อนแมลงออก เพราะมีแมลงเยอะมากบินมาชนกระจกรถตาย แต่วันนี้ ต่อให้คุณขับรถเป็นร้อยกิโลเมตร ก็คงมีแมลงแค่ 1-2 ตัวเท่านั้นที่มาจบชีวิตที่กระจกรถคุณ เมื่อไม่มีแมลง ก็หมายความว่าไม่มีนก ไม่มีกบ ไม่มีสัตว์ที่กินแมลง ประชากรของสัตว์พวกนี้จะล้มหายไปเรื่อยๆ และสูญพันธุ์ไปที่สุด
ถ้ามันรุนแรงขนาดนั้น แล้วการลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างจะไม่สายไปหรอ
มันสายไป แต่ถ้าคุณรู้ว่าตัวเองกำลังจะโดนต่อย แล้วคุณเห็นว่าหมัดมันกำลังใกล้เข้ามา อย่างน้อยคุณก็ได้ใช้กำลังเฮือกสุดท้ายป้องกันใบหน้าตัวเองไว้ เพื่อไม่ให้โดนต่อยจนน่วมเกินไป ก็เหมือนกัน คนรุ่นเราโดนธรรมชาติต่อยแน่ๆ แต่สิ่งที่เราทำได้คือเตรียมพร้อม ป้องกัน เพื่อให้ไม่เจ็บตัวจนเกินไป ซึ่งมันจะดีที่สุดถ้าเราทุกคนเข้าใจสถานการณ์นี้ร่วมกัน