สังคมไร้เงินสด

รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสังคมไร้เงินสด และเทคนิคการออมเงินฉบับเข้าใจง่าย นำไปใช้ได้ทันที

โลกได้เหวี่ยงสังคมรูปแบบใหม่ให้มาเจอกับคนหนุ่มสาวยุคใหม่ นั่นคือ ‘สังคมไร้เงินสด’ ซึ่งนานาประเทศได้เริ่มต้นเข้าสู่ยุคนี้กันอย่างพร้อมเพรียง บ้านเราก็กำลังกระโจนตามเข้าไปอย่างติดๆ ด้วยการที่สถาบันการเงินต่างก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกรรม ทำให้เงินขึ้นไปล่องลอยอยู่ในอากาศ จับต้องไม่ได้ แต่มันมีอยู่จริง คงมูลค่าเหมือนเดิม โดยสามารถแลกเปลี่ยนหมุนเวียนได้อย่างรวดเร็ว สะดวกสบายเพียงใช้ปลายนิ้ว โอกาสทางธุรกิจจึงเกิดขึ้นตามมามากมาย รายได้และผลกำไรกำลังหลั่งไหลเข้ามา พร้อมกับความง่ายดายในการช้อปปิ้งซื้อหาสินค้า และจับจ่ายเงินออกไปก็ง่ายดายเช่นกัน

     คำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมาในยุคสมัยของสังคมไร้เงินสด คือเมื่อมีเงินเข้ามาสู่เรามากมาย มีเงินไหลออกไปก็รวดเร็ว Easy come, Easy go. เช่นนี้ แล้วคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จะเก็บออมเงินเพื่อความมั่นคงในชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร a day BULLETIN จึงร่วมกับนักเขียนผู้มากประสบการณ์มาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการออม การลงทุน และไอเดียดีๆ ในการบริหารเงินสำหรับคนหนุ่มสาว ที่กำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางเทคโนโลยีใหม่ๆ

     ดวงกมล จันทร์เนตร์ คนรุ่นใหม่ผู้คร่ำหวอดอยู่ในโลกคอนเทนต์สายการเงิน จะพาเราไปให้ทำความรู้จักกับ Cashless Society พร้อมกับไอเดียในการเริ่มต้นทำธุรกิจง่ายๆ แล้วต่อจากนั้น ‘บักหนอม’ – ถนอม เกตุเอม เจ้าของแฟนเพจ TaxBugnoms และ aomMONEY และ ‘โอม’ – โอมศิริ วีระกุล บรรณาธิการแห่ง aomMONEY สองบล็อกเกอร์สายฮาที่ให้ความรู้และความบันเทิงกับผู้อ่าน จะมาแนะนำวิธีการออมเงินฉบับพกพาที่เข้าใจง่าย นำไปใช้ได้ทันที

     การออมเงินในโลกไร้เงินสดนั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย มันเป็นเรื่องที่ท้าทายกิเลสความต้องการของตัวเราเอง เมื่อเงินอยู่ในอากาศ ไม่ได้หมายความว่าเราจะปล่อยมันลอยไป ในทางตรงกันข้าม ยิ่งต้องออมเงินไว้หลายๆ ช่องทาง เพื่อรองรับความเสี่ยงนานัปการที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตของเรา

สังคมไร้เงินสด

 

‘สังคมไร้เงินสด’ สังคมใหม่ในโลกที่กำลังแปรเปลี่ยน

     ในอดีต การไปช้อปปิ้งที่ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หรืองานมหกรรมต่างๆ ที่มีคนจำนวนมาก สิ่งที่ต้องทำคือ การระมัดระวังทั้งหน้าและหลัง ป้องกันเหล่านักล้วงประเป๋าฉกเงินสดที่อัดแน่นอยู่ในกระเป๋าสตางค์ แต่ปัจจุบัน สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือสมาร์ตโฟนและจิตใจของเราเองเสียมากกว่า เมื่อเราไม่ต้องถือเงินสดออกไปซื้อของนอกบ้านให้ยุ่งยากอีก เราช้อปปิ้งสินค้าและบริการ รวมทั้งทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ หรือไม่ก็ใช้วิธีสแกน QR code ณ จุดขายสินค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

     นอกจากเรื่องการโอนเงิน จ่ายเงินเพื่อการช้อปปิ้งแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สังคมไร้เงินสดได้เข้ามามีบทบาทก็คือ เรื่องของการออมและการลงทุนที่สะดวกสบายและรวดเร็วเช่นกัน ผู้ตามกระแสความเปลี่ยนแปลงได้ทันจึงจะสามารถค้นหาสมดุลใหม่ในการใช้จ่าย ทำงาน และเก็บออมเพื่ออนาคต ได้อย่างลงตัวและมั่นคงอย่างแท้จริง อย่างที่นานาประเทศได้เริ่มต้นเข้าสู่สังคมไร้เงินสด โดยได้รับความร่วมมือจากพลเมืองเป็นอย่างดี

 

สังคมไร้เงินสดในนานาประเทศ

     ประเทศสวีเดนเป็นชาติแรกที่ขึ้นชื่อว่าก้าวสู่สังคมไร้เงินสดก่อนประเทศใดในโลก มีรายงานข่าวล่าสุดว่าชาวสวีเดนกว่า 4,000 คน ได้ฝังชิปข้อมูลส่วนตัวขนาด 1 เซนติเมตร ไว้ใต้ผิวหนังบริเวณข้อมือ ผู้คนมักใช้ชิปนี้ระหว่างการเดินทางแทนการซื้อตั๋ว ใช้สแกนแทนบัตรประจำตัวเวลาผ่านเข้าออกสถานที่ต่างๆ ที่ตนเองเป็นสมาชิก

     ปัจจุบัน ประเทศสวีเดนมีปริมาณการใช้จ่ายเงินสดเหลือเพียง 1.7% เท่านั้น ตามร้านค้า พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก็ติดป้าย ‘งดรับเงินสด’ รวมทั้งธนาคารเองก็เช่นกัน ตู้เซฟในธนาคารเองก็ไม่มีแล้ว ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเงินสดลดลง รวมทั้งเหตุจี้ปล้นธนาคารก็ลดลงถึง 90% ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

     ในขณะที่ประเทศจีน จำนวนเม็ดเงินจากการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบชำระเงินออนไลน์กลับสูงลิบลิ่ว โดยสถิติล่าสุดของปีนี้เมื่อเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 11.9 ล้านล้านหยวน แสดงให้เห็นถึงการก้าวสู่สังคมไร้เงินสดแบบพุ่งทะยานของมหาอำนาจจีนอย่างน่าตกใจ นำโด่งสหรัฐอเมริกาหลายเท่าตัว ทั้งที่ชาวอเมริกันอยู่ในสังคมไร้เงินสดมานานกว่าหลายปี

     เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย การเคลื่อนไหวที่ชัดเจนที่สุดและเป็นรูปธรรมต่อการปูทางไปสู่สังคมไร้เงินสดคือการให้บริการโอนเงินและรับเงินแบบ PromtPay หรือ Any ID ซึ่งทำให้ค่าธรรมเนียมการโอนธุรกรรมต่างๆ มีราคาถูกลง รวมทั้งสะดวกและง่ายดายมากขึ้น เพราะใช้เพียงเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์เท่านั้น

     นอกจากนั้นก็มีการพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรให้เป็น e-Service หลังจากนี้จะเป็นการขยายเครื่องรับชำระบัตรสำหรับหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งการจ่ายเบี้ยช่วยเหลือผ่านอี-เพย์เมนต์ และสุดท้ายคือการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดสังคมไร้เงินสดที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้

 

เข้าถึงสังคมไร้เงินสดผ่านสมาร์ตโฟนที่คุ้นเคย

     นอกจากความร่วมมือของผู้คนและนโยบายจากภาครัฐแล้ว ยังมีองค์ประกอบที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมไร้เงินสดให้ราบรื่นอยู่อีกไม่น้อย เช่น ทางด้านผู้ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ตัวแปรสำคัญรูปแบบการใช้งานอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจสมาร์ตโฟนหลายเจ้าต้องแข่งขันกันพัฒนาระบบและฟังก์ชันการทำงานของสมาร์ตโฟนให้รองรับการทำธุรกรรมได้อย่างไม่ติดขัด โยงไปจนถึงนักพัฒนาแอพพลิเคชันที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงธุรกรรมต่างๆ ได้สะดวกและเข้าใจง่ายมากขึ้น

     อีกส่วนที่สำคัญต่อการทำธุรกรรมทางเงินอยู่ไม่น้อยก็คือ ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ หากจะเปรียบไปแล้วธุรกิจตัวนี้ก็คงเป็นดังน้ำมันหล่อลื่นให้ฟันเฟืองตัวอื่นๆ ในการทำธุรกรรมต่างๆ เป็นไปโดยสะดวกง่ายดาย ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบการจ่ายเงินออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แข่งขันกันสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องการคิดค่าธรรมเนียม

     หากใครยังกล้าๆ กลัวๆ กับเทคโนโลยีใหม่นี้ ลองใช้ 5 วิธีจัดการความกังวลใจง่ายๆ ดังนี้

     1. กระจายความเสี่ยง อย่าใส่เงินจำนวนมากๆ ไว้ในบัญชีที่ใช้ในการทำธุรกรรมออนไลน์เป็นประจำ

     2. ตั้งระบบแจ้งเตือนไว้เสมอ ตั้งค่าให้มีการส่งเอสเอ็มเอสและอีเมลไว้ หากมีข้อสงสัยหรือการทำธุรกรรมที่ผิดปกติจะได้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ทันที

     3. ติดตามและอัพเดตข่าวสารใหม่ๆ เพื่อไม่พลาดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ธนาคารเสนอให้เพื่อดึงดูดในการทำธุรกรรมออนไลน์

     4. ตรวจสอบบัญชีอยู่เสมอ รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลร้านขายสินค้าและบริการก่อนโอนเงินเสมอ

     5. ในฐานะผู้บริโภคต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่ว่าจะเห็นสินค้าราคาถูกแค่ไหนก็ตาม ต้องถามตัวเองเสมอว่าสำคัญและจำเป็นกับชีวิตเราหรือไม่

 

ข้อดีและข้อเสียของสังคมไร้เงินสด

     ข้อดีของการมีสังคมไร้เงินสดคือ เจ้าของธุรกิจรู้และตรวจสอบบัญชีเงินเข้าออกได้ตลอด และไม่ต้องยุ่งยากคอยนับเงินสด เมื่อไม่พกเงินสด ก็ลดความเสี่ยงการเกิดอาชญากรรม รวมทั้งความเสี่ยงที่จะทำเงินหาย ส่วนภาครัฐก็สามารถตรวจสอบธุรกิจผิดกฎหมายได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีเงินจำนวนมากโอนเข้าหรือออกจากบัญชีแบบผิดปกติ รวมถึงประหยัดเวลา ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เวลาใด ก็สามารถทำธุรกรรมได้ ทั้งชำระเงินค่าสินค้าและบริการ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ สร้างความสะดวกต่อผู้บริโภคและผู้ค้าทั้งรายใหญ่และรายย่อย และไม่ต้องห่วงเรื่องเงินทอนอีกด้วยหมดปัญหาการโดนเอาเปรียบ

     สำหรับข้อเสียของสังคมไร้เงินสดคือ ระบบที่ไม่เสถียร ทำให้เกิดข้อผิดพลาดการโอนเงินเข้าออกผิดบัญชีได้ รวมทั้งข้อมูลส่วนตัวสามารถเข้าถึงได้โดยผู้ประกอบการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเกิดการรั่วไหลได้ สำหรับการทำธุรกรรมบางประเภทผู้บริโภคยังโดนเอาเปรียบในเรื่องค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างสูง และผู้บริโภคบางคนที่ไม่มีวินัยในการใช้จ่ายอาจจับจ่ายเกินตัวและเกิดหนี้เสียในระบบมากขึ้นได้

 

สังคมไร้เงินสด

 

สร้างนิสัยการออมเงินและการลงทุนในสังคมไร้เงินสด

     เมื่อเงินสดหมุนเวียนอยู่ในโครงข่ายออนไลน์ การจับจ่ายใช้สอยการเป็นเรื่องง่ายแค่คลิกปลายนิ้ว ความสนุกแสนเพลิดเพลินอาจนำความผิดพลาดมาสู่วงจรการเงินของเราได้ แต่เพื่อไม่ให้เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายจนถึงขั้นยอมอด เมื่ออดออม เรายังสนุกได้ แต่ก็ต้องรู้จักออมให้เป็น เพียงเท่านี้ ต่อให้เป็นมนุษย์เงินเดือนที่จะชนตูมสักกี่เดือน อย่างน้อยๆ เราก็ได้รู้จักเทคนิคการจ่ายเงิน วิธีการออมเงินและการลงทุน เพื่อสำรองลมหายใจทางด้านการเงินของตัวเองได้ในอนาคต

     หลายคนรู้ดีกว่าการออมเป็นสิ่งสำคัญ แต่คนส่วนใหญ่มักจะออมไม่ค่อยอยู่ หรือมีเหตุผลที่ทำให้ออมไม่ได้ ซึ่งแท้จริงแล้ว มนุษย์เงินเดือนทุกคนเป็นมนุษย์เงินออมได้ไม่ยาก ขอแค่มีจุดเริ่มต้นออมเท่าที่ตัวเองไหว จำนวนที่ไม่ต้องมาก แต่เน้นจำนวนครั้งที่ออม ทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างวินัยให้กับตนเอง มากกว่าการสร้างจำนวนเงินที่งอกเงยในบัญชี

     ในวัยที่เหมาะกับการเก็บเงินได้มากที่สุดคือ ช่วงอายุ 20-30 ปี เพราะรายจ่ายส่วนใหญ่จะหมดไปกับความบันเทิง หากมีวินัยและแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งไว้ออม จะทำให้อายุหลัง 30 ปีมีเงินสำรอง เพื่อการลงทุนหรือเตรียมพร้อมกับการเติบโตของตัวเอง กระทั่งเมื่อพ้นวัย 30 ปีเป็นต้นไป จะเป็นช่วงที่เริ่มมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่กลับเก็บเงินได้น้อยลงหรือเก็บไม่ได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงตามไปด้วย เช่น เริ่มมีทรัพย์สิน อย่างบ้าน คอนโดฯ มีพ่อแม่วัยชราที่ต้องดูแล มีครอบครัว เป็นต้น

     หลักการออมง่ายๆ คือ รายได้ 100% เริ่มต้นออมที่ 10-20% ตามความไหวของตัวเอง และการออมจะต้องเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่น เงินเดือน 18,000 บาท อาจจะเริ่มที่เดือนละ 3,600 บาท เมื่อเงินเดือน 20,000 บาท คิดง่ายๆ ก็คือ บวกเพิ่ม 2,000 บาท โดยไม่ต้องคำนึงถึงเปอร์เซ็นต์เป๊ะๆ มากจนเกินไป

     อีกหนึ่งวิธีคือ เก็บเงินสดตามจำนวนที่ต้องการให้ได้อย่างน้อย 6 เดือน หรือใช้วิธีคำนวณว่า ในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ แล้วเก็บให้ได้ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ต้องยับยั้งชั่งใจ ห้ามใช้เงินก้อนนี้โดยเด็ดขาด ซึ่งเราเรียกเงินก้อนนี้ว่า ‘เงินสำรองฉุกเฉิน’

     จากนั้นให้เริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกวัน สรุปรายจ่ายทุกเดือน และติดตามผลทุกๆ สามเดือน เพื่อดูเปรียบเทียบการใช้จ่าย หลัง 6 เดือนเป็นต้นไป ให้แบ่งเงินจากการออมไปลงทุนตามที่ตัวเองสนใจ เพื่อเพิ่มผลตอบแทน รวมทั้งการขยับเปอร์เซ็นต์ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นสวัสดิการที่ได้จากบริษัท ซึ่งตามปกติเราสามารถเลือกสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ตั้งแต่ 2-15% หลายบริษัทให้เลือกได้ลงทุนได้ถึงเปอร์เซ็นต์สูงสุด แต่อีกหลายบริษัทจะคำนวณให้ตามฐานเงินเดือน หากสามารถขยับขึ้นได้สูงสุด ก็ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น และสร้างวินัยให้ตัวเองในระยะยาวได้

     สุดท้ายคือ หารายได้มากกว่า 1 ช่องทาง และนำเงินจากรายได้ที่เพิ่มมาแบ่งสันปันส่วนออมเงินในรูปแบบต่างๆ ที่มากขึ้น หรือนำไปโปะหนี้ก้อนใหญ่ให้หายจากภาระชิ้นโต ดังคำว่า ‘ไม่มีหนี้คือ ลาภอันประเสริฐ’

     เมื่อออมเงินได้อย่างมีวินัยแล้ว ขั้นต่อไปคือการลงทุนแบบง่ายๆ อาจเริ่มต้นที่กองทุนความเสี่ยงต่ำ อย่างเช่นกองทุนรวมตลาดเงินหรือตราสารหนี้ระยะสั้น ไปจนถึงกองทุนความเสี่ยงสูงอย่างกองทุนหุ้น แต่ก่อนที่จะเลือกลงทุนสักกอง สามารถทำความเข้าใจได้ดังนี้

     1. กำหนดเป้าหมายของการลงทุนสำหรับตัวเอง เพื่อวางแผนรูปแบบการลงทุนให้ง่ายขึ้น เช่น ตั้งใจจะลงทุนระยะยาวเพื่อเก็บไว้ในวัยชรา เช่น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

     2. ทำแบบประเมินความเสี่ยง เพื่อดูว่าตัวเองยอมรับความเสี่ยงได้ระดับไหน ทางเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่คุณเลือก ก็จะทำพอร์ตการลงทุนในกองทุนฯ ต่างๆ มาอธิบายให้คุณฟังว่าคุณเหมาะกับกองทุนไหน

     3. เริ่มต้นลงทุนด้วยจำนวนเงินที่ตัวเองไหว เพื่อประเมินตัวเองว่าเหมาะหรือไม่เหมาะกับการลงทุนในกองทุนที่เปิดรับ

     4. ควรศึกษาเพิ่มเติม หรือบางกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงและลงทุนระยะยาว อย่าตระหนกตกใจไปกับความผันผวนที่เกิดขึ้น ปล่อยให้เวลาเยียวยาทุกอย่างได้เอง

     5. เปลี่ยนกองทุนได้เสมอ หากลงสนามกองทุนแล้วรู้สึกว่าไม่เหมาะกับตัวเอง

     6. ซื้อกองทุนเท่ากันทุกเดือน โดยที่ไม่ต้องคำนึกถึงราคาต่อหน่วยมากจนเกินไป เพื่อสร้างวินัยในการลงทุนของตัวเอง

 

สังคมไร้เงินสด

 

ประเทศที่มีนิสัยการออมที่น่าสนใจมากที่สุดในโลก

     ประเทศแรกคือเยอรมนี เพราะชาวเยอรมันส่วนใหญ่นิยมทำประกันชีวิตและสุขภาพกันตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ เพื่อให้เกิดวินัยในการออมเงินแบบบังคับตัวเอง และจะออมเงินถึง 70% และใช้จ่ายเพียง 30% เพื่อผลักดันให้ตัวเองทำงานเสริมเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ชาวเยอรมันต้องจ่ายภาษีเกือบ 50% ของรายได้

     ส่วนประเทศที่สองคือญี่ปุ่น โดยทั่วไปชาวญี่ปุ่นนิยมจะฝากเงินไว้ในธนาคารเป็นหลักเพื่อการออมเงิน โดยมีสัดส่วนการออมเงินอยู่ที่ 25% ของรายได้ ทั้งยังแบ่งออกเป็นส่วนๆ ออมเพื่อสำรองยามฉุกเฉิน ออมสำหรับค่ารักษาพยาบาล และยังเน้นการออมในประกันในรูปแบบเงินบำนาญ (Pension) เพื่อชีวิตหลังเกษียณ

 

เคล็ด(ไม่)ลับเรื่องการใช้เงิน

     อีกหนึ่งวิธีที่ไม่ใช่การออม แต่เป็นการรู้จักใช้ด้วยทริกที่สนุกสนาน ก็สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้อย่างคาดไม่ถึง

     1. อย่ากดเอทีเอ็มบ่อย ให้กดใช้เฉพาะค่ากิน ค่ารถ และทดลองกำหนดตัวเองให้กดเงินสด 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อรักษาวินัยในการใช้จ่ายเงินและกิจวัตรประหยัดเงินของตัวเอง

     2. มองหาฝากเงินในบัญชี 4.0 เพื่อให้เข้ากับยุคดิจิตอล ต้องหูตาไว สายตาต้องคอยมองหาบัญชีที่ได้ดอกเบี้ยสูง โดยเฉพาะประเภทบัญชีเงินฝากไม่ประจำ แต่ได้ดอกเบี้ยสูง มีสภาพคล่อง อย่างบัญชี ME SAVE ของ ME by TMB ที่ให้ดอกเบี้ยออมทรัพย์สูงถึง 1.7% หรือบัญชีที่มีบริการช่วยออมด้วยการปัดยอดเงินคงเหลือให้โดยอัตโนมัติ อย่างบัญชีใช้จ่าย ME MOVE ก็มีให้เลือก

     3. เปิดบัตรเครดิตไว้หลายธนาคาร เพื่อรับสิทธิประโยชน์ แต่ใช้จริงเพียง 1 ใบ เพราะแต่ละธนาคารจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป เช่น บัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ ซื้อตั๋วเครื่องบินได้ส่วนลด, บัตรเครดิตซิตี้แบงก์ เก็บไมล์ไว้พาครอบครัวไปเที่ยว, บัตรเครดิตธนาคารธนชาติ สำหรับเติมน้ำมันรถเพราะได้ส่วนลดเยอะ หรือบัตร TMB so chill เมื่อต้องการเงินผ่อน ก็ใช้บัตรนี้ผ่อน 0% นาน 3 เดือนได้ เป็นต้น

     4. สมัครสมาชิกเมื่อใช้บริการร้านค้านั้นบ่อยๆ เช่น ถ้าเข้า 7-Eleven บ่อยๆ ก็ทำ True Wallet และเติมเงินตามจำนวนที่กำหนดตัวเองให้ใช้ในแต่ละอาทิตย์ เมื่อซื้อของก็สะสมแต้มแลกของต่างๆ ได้อีกทาง แต่! อย่าสมัครสมาชิกเพียงแค่ต้องการสะสมแต้มแลกของ เพราะนั่นคือ ‘กับดักทางการเงิน’

     5. จ่ายเงินเล็กๆ น้อยๆ ผ่าน QR Code เช่น ค่าชานมไข่มุก 1 แก้ว 59 บาท เพื่อให้เรามีเศษเหรียญน้อยลง

     6. เคลียร์กระเป๋าเงินบ่อยๆ เพื่อตรวจนับเงินที่เหลืออยู่ นำใบเสร็จต่างๆ ออกมาดูว่าใช้จ่ายอะไรแค่ไหน

     7. ควรซื้อของดีที่สุดให้ตัวเองในราคาที่จ่ายไหว เช่น แว่นสายตา เลือกเลนส์ที่ดีก็มีราคาแพง เก้าอี้นั่งทำงาน ที่นอน หมอน เป็นต้น เพราะร่างกายไม่พัง (ยัง) ทำเงินให้ตัวเองได้มากกว่า

     8. สุดท้าย ฝากเงินทั้งหมดไว้ที่ภรรยา! รับรองว่าได้ใช้เงินอย่างจำกัดจำเขี่ยของแท้ (โอมศิริและบักหนอมกล่าว)