celebrity child

Celebrity Child เมื่อพ่อแม่ (อยาก) ปั้นลูกให้เป็น ‘ดาว’ ผ่านโลกโซเชียลมีเดีย

คุณเคยได้ยินคำว่า Sharenting ที่หมายถึงพ่อแม่ชอบแชร์ลูกหรือเปล่า

        ตั้งแต่สื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่วิถีชีวิต เรื่อยไปจนถึงความเป็นธรรมชาติของผู้คน 

        หนึ่งในนั้นยังมีเรื่องของการเลี้ยงดู และวิธีปฏิบัติต่อลูกๆ อย่างคำว่า Sharenting ที่ถูกบัญญัติไว้ใน Collins Dictionary ในปี 2016 เป็นคำที่ใช้เรียกกิจกรรมที่พ่อแม่ยุคใหม่มักจะโพสต์หรือแชร์ภาพลูกน้อยจนเกินพอดี จนละเลยเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย 

        บางครั้งเกิดการใช้คำที่หยาบคาย หรือทำอนาจารต่อรูปของเด็ก หรือแม้กระทั่งถูกกลุ่มคนที่มีรสนิยมชอบร่วมเพศกับเด็ก (Paedophiles) เซฟภาพเหล่านั้นแล้วเผยแพร่ต่อผ่านเว็บไซต์ใต้ดิน รวมไปถึงการแชร์ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ของลูกโดยไม่ระวัง จนกลายเป็นช่องทางของมิจฉาชีพฉ้อโกงก็มี

 

celebrity child

เด็กปั้น หรือฮ่องเต้ซินโดรม? 

        เรื่องนี้ไม่ได้มีผลแค่ภายนอก แต่ยังส่งผลไปถึงภายในและตัวตนของลูกได้ โดยเฉพาะการสร้างตัวตนให้ลูกผ่านโลกโซเชียลมีเดียด้วยการเปิดเพจที่เกี่ยวข้องกับลูก หรือผ่านช่องยูทูบ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ ‘ตัวตนเสมือนจริง’ ที่แตกต่างกับโลกแห่งความเป็นจริง 

        ลักษณะเช่นนี้เกี่ยวพันกับคำว่า ‘ฮ่องเต้ซินโดรม’ อย่างใกล้ชิด คำนี้มาจากพฤติกรรมของการเลี้ยงดูลูกในประเทศจีน หลังจากมีนโยบายลูกคนเดียว จำกัดให้มีลูกบ้านละ 1 คน ส่งผลให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่และครอบครัวอย่างตามอกตามใจมากเกินไป พ่อแม่ทำทุกทางให้ลูกเพื่อทดแทนในสิ่งที่ตัวเองสูญเสียหรือไม่เคยได้รับ ลูกจึงกลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจ คิดแก้ปัญหาไม่เป็น ไม่สามารถรับมือกับความผิดหวังได้ ไม่มีความอดทน กระทั่งกลายเป็นคนที่ไร้ระเบียบวินัยเมื่อเติบโตขึ้น

        ในประเทศไทยเอง มีหลายปัจจัยบ่งชี้เช่นกันว่า พ่อแม่ไทยยุคใหม่อาจเป็นผู้นำฮ่องเต้ซินโดรมมาสู่ลูกหลานได้ ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า Total Fertility Rates (TFR) หรืออัตราการมีบุตรของครอบครัวในประเทศไทย ลดเหลือเพียงครอบครัวละ 1.6-1.7 คน* เป็นไปได้ว่าเมื่อมีลูกน้อยลง พ่อแม่จึงทุ่มเทให้ลูกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะทุ่มเงินและวัตถุ แต่อาจจะละเลยการเอาใจใส่ในเรื่องระเบียบวินัย

        ส่วนพฤติกรรมฮ่องเต้ซินโดรมจะเกี่ยวข้องกับเรื่องเด็กและโซเชียลมีเดียหรือไม่นั้น ‘หมอก้อย’ – แพทย์หญิงพรพิมล นาคพงศ์พันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ ได้อธิบายไว้ว่า 

        เมื่อฮ่องเต้ซินโดรมคือการเลี้ยงดูโดยให้ลูกเป็นใหญ่ ย่อมส่งผลให้เด็กยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ในขณะที่การปั้นเด็กผ่านโลกโซเชียลมีเดียก็อาจส่งผลทำให้เด็กสร้างตัวตน โดยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางได้เช่นเดียวกัน เพราะโซเชียลมีเดียคือการพรีเซนต์ตัวตน โดยส่วนใหญ่ก็มักจะพรีเซนต์แต่ด้านดีๆ ตามที่พ่อแม่เป็นผู้สร้างขึ้นมาให้ 

        “นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องระวัง เพราะเด็กอาจยังไม่เข้าใจว่าโลกแห่งความเป็นจริงและโลกโซเชียลมีเดียไม่เหมือนกัน เช่น ลูกไปตัดผมมาใหม่ ในโลกแห่งความเป็นจริง เพื่อนที่โรงเรียนก็อาจจะไม่ได้ทักอะไร แต่หากเขาชินกับการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย แล้วมีคนมากดไลก์ มีแต่คนมาชม เขาก็จะสับสนว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งก็มีเด็กหลายคนที่ใช้ชีวิตในโลกโซเชียลมีเดียได้ แต่ในชีวิตจริง เขาทนไม่ได้ เขารู้สึกราวกับว่าโลกความจริงช่างโหดร้าย ไม่มีใครสนใจเขาเลย” หมอก้อยกล่าว

        ตามหลักพัฒนาการของมนุษย์นั้น พัฒนาการที่สำคัญของเด็กวัย 0-3 ปี คือพัฒนาการด้านการรับรู้ตัวตน (sense of self)  ซึ่งเป็นพัฒนาการพื้นฐานที่มีความสำคัญมาก เพราะประสบการณ์ที่สะสมในช่วง 3 ปีแรก จะเป็นต้นกำเนิดของความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อตนเอง ต่อความชอบ แรงบันดาลใจ การตีความโลกใบนี้ ไปจนถึงเป้าหมายในชีวิตของเขา 

        นอกจากนั้น Stacey Steinberg ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจาก University of Florida’s Levin College of Law ที่ควบตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์เด็กและครอบครัว ยังเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า มีเหตุผลทั้งทางการแพทย์และทางพฤติกรรมศาสตร์ให้การสนับสนุนว่า well-Being ของเด็กนั้นมันมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวด้วย เพราะมีงานศึกษาที่พบว่าเด็กที่เติบโตมาพร้อมกับความเป็นส่วนตัว โดยมีพ่อแม่ให้การสนับสนุน และควบคุมเขาน้อยลงเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ จะมี well-being และความพอใจในชีวิตมากกว่าเด็กที่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่โดยมีอิสระน้อยกว่า เพราะเด็กจะต้องพัฒนาการด้านการรับรู้ตัวตนจากทั้งความเป็นส่วนตัวและความเป็นส่วนรวม

ตัวตนบนโลกออนไลน์ที่กระทบต่อโลกของความปลอดภัยในชีวิตจริง

        โดยเฉลี่ยเด็กหนึ่งคนจะมีรูปถ่ายและวิดีโอของตัวเองกระจายอยู่บนโซเชียลมีเดีย เฉลี่ยคนละเกือบ 1,498 ชิ้น ตั้งแต่ก่อนพวกเขาจะอายุ 5 ขวบ 

        นี่คือข้อมูลจากในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2016 ซึ่งตัวเลขนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับในสหรัฐอเมริกาที่พบว่าเด็กอายุ 2 ขวบ กว่า 90% และเด็กทารกกว่า 80% มีข้อมูลตัวเองปรากฏอยู่บนโลกออนไลน์  

        การที่พ่อแม่แชร์โมเมนต์ต่างๆ ของลูกลงบนโลกออนไลน์อาจจะไม่ได้ตั้งใจให้เกิดผลกระทบตามมา แต่เมื่อใดก็ตามที่พ่อแม่โพสต์รูปหรือข้อมูลส่วนตัวของลูกลงอินเทอร์เน็ต นั่นหมายความว่าพวกเขากำลังสร้าง digital footprint ให้กับลูกแล้ว ซึ่งตราบใดที่โลกนี้ยังมีอินเทอร์เน็ต รูปของลูกก็อาจถูกสืบค้นเจอได้ในอนาคต โดยที่ลูกอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีข้อมูลนี้ของตัวเองอยู่ 

        หากยังจำกันได้ หลายปีก่อนมีหญิงสาวชาวออสเตรียวัย 18 ปี ตัดสินใจจ้างทนายเพื่อยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อสั่งฟ้องพ่อแม่ของตัวเองให้ลบภาพในวัยเด็กของเธอมากกว่า 500 รูป ที่โพสต์ลงในเฟซบุ๊กโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัว พร้อมให้เหตุผลว่ามันเป็นภาพที่น่าอายและเข้าข่ายการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว ซึ่งก่อนหน้านี้เธอเคยขอให้พวกเขาลบรูปหลายครั้งแล้ว แต่ก็ถูกปฏิเสธตลอด จึงต้องตัดสินใจทำแบบนี้ 

        เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมตั้งคำถามถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก เพราะนอกจากกรณีได้รับอับอายแล้วยังมีสิ่งที่เลวร้ายกว่านั้น นั่นคือการถูกลักพาตัวหรือการถูกขโมยตัวตนเพื่อนำไปทำธุรกรรมต่างๆ หลายประเทศจึงมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็กบนโลกออนไลน์ 

        อย่างประเทศเยอรมนีนั้นห้ามพ่อแม่หรือผู้ปกครองเช็กอินว่าเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปีอยู่ที่ไหน แม้เด็กจะอยู่กับพ่อแม่หรือผู้ปกครองก็ตาม ส่วนสหรัฐอเมริกาก็มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กและเยาวชนของสหรัฐฯ (The Children’s Online Privacy Protection Act of 1998) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘COPPA’ กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์หลักในการป้องกันการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2000 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับบริบทของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นกฎหมายที่บังคับใช้กับผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เกี่ยวพันโดยตรงกับเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี และในประเทศฝรั่งเศสนั้นก็มีกฎหมายระบุว่า หากใครก็ตามที่โพสต์ภาพของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงการที่พ่อแม่โพสต์ภาพลูกของตัวเอง อาจจะถูกปรับสูงสุดถึง 45,000 ยูโร หรือจำคุก 1 ปี 

        สำหรับประเทศไทยเรามีพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งมาตรา 27 ดูจะเกี่ยวข้องกับการแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์มากที่สุด เพราะระบุว่า

        “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครองโดยเจตนาที่จะทําให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ” 

        ปัจจุบันกฎหมายไทยอาจจะยังขาดการคุ้มครองเด็กในแง่ที่ว่า หากผู้เผยแพร่เป็นผู้ปกครองโดยไม่ได้มีเจตนาทำให้เสียหาย แต่เมื่อข้อมูลส่วนตัวไปอยู่ในโลกออนไลน์ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งขึ้นชื่อว่าไม่มีความปลอดภัย รัฐจะคุ้มครองเด็กอย่างไรให้ปลอดภัยมากที่สุด 

การรับมือของพ่อแม่ 

        สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำก็คือ ‘การคิดก่อนโพสต์’ นี่คือสิ่งที่หมอก้อยเน้นย้ำเรื่อยมา เพราะทุกโพสต์ ทุกประโยค ภาพถ่ายเพียงหนึ่งใบ หรือคลิปวิดิโอสั้นๆ หากลงไปอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตแล้ว ต่อให้โพสต์แล้วลบทิ้งทันที ก็มีโอกาสที่ใครบางคนจะเซฟหรือแคปไว้ รวมทั้งอินเตอร์เน็ตเองก็มีระบบปฏิบัติการที่ฝังข้อมูลเหล่านั้นไว้ในทันทีโดยที่ไม่รู้ตัว  

        สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลยก็คือ การคืนพื้นที่ส่วนตัวของลูก พ่อแม่ต้องให้พื้นที่ในโลกความเป็นจริงตรงนั้นกับลูกเสมอ ระวังการโพสต์เรื่องของลูกให้มากขึ้น อาจจะไม่ต้องโพสต์ทุกกิจกรรมที่ลูกทำ หรือทุกเรื่องในชีวิตของเขา โดยปล่อยให้ลูกมีความเป็นส่วนตัวด้วย ระหว่างนั้นจะต้องพูดคุยกับลูก ชวนลูกสะท้อนคิดต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ลูกได้มีโอกาสเตรียมตัวรับมือได้

 

celebrity child

 

        “ข้อดีของการชวนลูกคิดคือ เป็นการฝึกคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และแก้ปัญหาในอนาคตได้” นี่คือการรับมือสำหรับอนาคตที่พ่อแม่เริ่มปฏิบัติได้ทันที แม้ว่าจะเป็นการโพสต์แบบส่วนบุคคลหรือเปิดเพจเกี่ยวกับลูกก็ตาม  

        โดยคำแนะนำของคุณหมอ ตรงกับสิ่งที่ ‘แม่ตูน’ – อัมพาพันธ์ คำคุณ จากเพจ แม่จ๋าๆ พามาตาเที่ยวหน่อย ได้คิดและปฏิบัติต่อลูกน้อยวัยสามขวบอย่างน้องมาตา มาโดยตลอด 

        “ทุกครั้งที่ลูกต้องถ่ายภาพ ทุกเรื่องราวที่ลูกพบเจอระหว่างการทำเพจ รวมไปถึงสิ่งที่เราคาดเดาว่า อาจจะเกิดขึ้น ทั้งหมดเราคุยกับพ่อน้องมาตา และบอกกับมาตาเสมอ ต่อให้ลูกยังเล็ก ดูเหมือนจะไม่เข้าใจ แต่เราเชื่อว่าลูกรับรู้และเข้าใจได้ตามวัย แต่เท่าที่เห็น ลูกก็ชอบนะ (หัวเราะ) 

        “เรายึดความสุขของลูก และคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกเป็นหลัก ต่อให้ต้องเช็กอินทุกครั้ง แต่เราก็จะไม่โพสต์แบบเรียลไทม์เลย ส่วนวิธีการของบ้านเราคือ พ่อของลูกจะเป็นเก็บช่วงเวลา ส่วนแม่จะเป็นคนซึมซับช่วงเวลาดีๆ กับลูก โดยยกให้ลูกเป็นเจ้าของโมเมนต์นั้นได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอะไรมากั้นระหว่างรอยยิ้มของแม่กับลูก 

        “สำหรับเรา พื้นที่บนโลกโซเชียลมีเดียเล็กๆ นี้นี่จึงกลายเป็นเพจแห่งความทรงจำที่เราสร้างไว้ให้กับลูก แต่โชคดีคือ การที่มีคนรักและเอ็นดูลูกของเรา จนคอยติดตามผ่านหน้าเพจ หรือแม้กระทั่งพบเจอโดยบังเอิญด้านนอก ซึ่งทุกคนจะมีคำพูดเชิงขออนุญาตถ่ายภาพน้องก่อนเสมอ หากลูกเราไม่พร้อม ทุกคนก็เข้าใจและกล่าวบ๊ายบายด้วยรอยยิ้ม 

        “แต่หากวันข้างหน้า วันที่ลูกโตพอที่จะตัดสินใจความชอบของตัวเองได้แล้ว และเดินมาบอกเราว่า ไม่อยากทำแบบนี้แล้ว พวกเราก็จะเคารพในการตัดสินใจของลูก 

        “เราเป็นเพจที่พาลูกเที่ยว ดังนั้น ส่วนใหญ่จะเปิดเผยรูปลูกที่กำลังสนใจเรียนรู้และมีความสุขต่อสิ่งที่อยู่ข้างหน้า เราจะคัดกรองและตรวจสอบภาพของลูกก่อนจะออกไปสู่โซเชียลมีเดียก่อนเสมอ เพื่อป้องกันผู้ไม่ประสงค์ดีนำภาพไปทำอย่างอื่นโดยไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้อง” แม่ตูนใช้วิธีดังกล่าวเพื่อปกป้องน้องมาตากับโลกออนไลน์ฝั่งดาร์ก 

 

celebrity child

ตัวตนที่แท้จริง และ ความสุขของลูก

        แต่ท้ายสุดหากตัวตนที่แท้จริงของลูกกำลังจะถูกสื่อโซเชียลมีเดียครอบงำ ความสุขของลูกกำลังจะถูกบางอย่างกลืนหายไป หมอก้อยแนะนำว่า หนทางที่ดีที่สุดของการสร้างตัวตนในโลกแห่งความเป็นจริงคือการมีปฏิสัมพันธ์

        “หมายความว่าพ่อแม่ต้องปฏิสัมพันธ์กับลูกจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เห็นเขาอยู่ในสายตา ไม่ใช่อยู่ในจอมือถือ อยู่ข้างๆ เขาทุกโมเมนต์ ทั้งมีตอนมีความสุข หรือตอนที่เสียใจที่สุด ผิดหวังที่สุด พ่อแม่จะอยู่ตรงนี้ โอบกอดเขาแน่ๆ  และบอกว่ารักเขาแค่ไหน หมออยากให้ฉุกคิดว่า ช่วงเวลาที่ลูกยังเป็นเด็กอยู่กับเราไม่เกิน 10 ปี ดังนั้น 10 ปีนี้ทุกนาทีจึงมีค่ามากมายสำหรับเด็กและพ่อแม่เอง หมอคิดว่า บางทีหากการใช้โซเชียลมีเดียของพ่อแม่โดยที่ไม่ระวัง ก็อาจทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่มีตัวตนได้เหมือนกัน ในขณะที่เราคิดว่า เรากำลังสร้างตัวตนให้ลูกในโลกโซเชียลมีเดียอยู่” 

        ทางด้านแม่ตูนได้ให้ความเห็นว่า “เราคิดว่า ความสุขของลูกในวัยนี้ก็คือ ารได้เล่นและอยู่กับครอบครัว ได้ใช้เวลาทั้งหมดของชีวิตไปกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างที่พวกเราพาลูกไปเที่ยว ในขณะที่ได้ลูกเองก็ได้เรียนรู้เรื่องการทำงานโดยไม่รู้สึกว่านี่คืองานไปในตัว” 

        มาถึงตรงนี้ หมอก้อยและแม่ตูนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โลกโซเชียลมีเดียไม่ได้เลวร้าย ไม่ถึงขั้นที่ต้องหยุดทำ หรือเลิกโพสต์อีกต่อไป แต่จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสองมือของพ่อแม่ ทุกครั้งที่จะทำอะไร ควรคิดถึงลูกไว้เสมอ และหลังจากนี้ต่อให้พ่อแม่สร้างเพจเพื่อความทรงจำขึ้นมาให้ลูก หรือจะปั้นลูกหรืออย่างไร เมื่อเด็กรู้สึกว่าเขามีตัวตน เป็นที่รัก และสำคัญต่อพ่อแม่ เขาก็จะให้ความรักและสร้างความมั่นคงทางจิตใจของตัวเองได้ในวันที่เขาเติบโตขึ้น มีความสุขเป็นโดยที่ไม่ต้องให้ความสำคัญต่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นโลกคู่ขนานกับชีวิตจริงอีกต่อไป 

 

*อ้างอิงข้อมูลจาก เอกสารเผยแพร่ การคาดการประชากรของประเทศไทย พ.ศ 2543 – 2568 dmsic.moph.go.th 


ที่มา: