วันนี้ใครๆ ก็บอกว่าเชียงใหม่คือเมืองแห่งศิลปิน ในฐานะคนที่อยู่เชียงใหม่มานานกว่า 20 ปี เราก็ว่าใช่! ทั้งศิลปินหญิงและชาย คนที่คุณเดินสวนบนถนนนิมมานเหมินท์ กาดหลวง หรือแม้แต่ลู่วิ่งในสนามกีฬา ก็อาจเป็นศิลปินคนหนึ่งที่เพิ่งวางมือจากงานศิลปะแล้วไปหากาแฟดื่มชิลๆ หรือไปหาแรงบันดาลใจท่ามกลางความวุ่นวายของตลาด หรือพักสมองเรียกเหงื่อด้วยการวิ่งก็เป็นได้
ตัวอย่างเล็กๆ ของสี่ศิลปินผู้หญิงที่นำเสนอนี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวน้อยนิดของคนทำงานศิลปะทั้งหมดในเชียงใหม่ แต่ละคนเลือกหยิบเรื่องราวใกล้ตัวมานำเสนอในมุมมอง เทคนิค และความสนใจที่แตกต่างกันไป เป็นการแสวงหาและสื่อสารในแบบที่ตนต้องการ และเป็นน้ำเสียงของศิลปินที่ไม่ได้จำกัดผลงานไว้แค่ในเฟรม หากแต่ให้ผู้ดูสามารถจับต้อง หยิบใช้ และสวมใส่มันได้อย่างไม่เคอะเขิน
…
‘Look’ & Learn from Ting Chu
ถิง ชู เป็นศิลปินสาวลูกครึ่งไทย-ไต้หวัน เพิ่งมีผลงานหนังสือภาพรวมเล่ม มอง หรือ Look ออกมาไม่นานนัก ความโดดเด่นของผลงานไม่ได้อยู่แค่เพียงลายเส้นอันแสนจะมีชีวิตชีวา สีสันละมุน แต่ยังแฝงความคิดและมุมมองที่สะท้อนตัวตนของเธอ และไม่นานมานี้ ถิง ชู และเพื่อนร่วมแสดงผลงานปั้นดินที่แกลเลอรีเล็กๆ แห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ข่าวว่าผลงานเธอถูกจับจองหมดในเวลาไม่นาน นี่คือรางวัลตอบแทนที่มาถึงวันนี้ด้วยการฝึกฝนและเรียนรู้ด้วยตนเอง
Chapter One
ถิง ชู หลงใหลในการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ขณะเดียวกันการวาดรูปก็เป็นเรื่องท้าทาย ระหว่างเธอและครอบครัวมาตลอด
“ชอบการ์ตูน ชอบวาดรูป ชอบตลอดเวลา… แต่แม่กับพ่อไม่เห็นด้วยเลย พอเรียนจบก็อยากพิสูจน์ว่าเราทำได้ อยากท้าทาย อยากกบฏ พอเขาเห็นว่าเราอยู่ได้ เขาก็เริ่มวางใจ จนเมื่อประมาณ 7-8 ปีก่อน เริ่มรู้สึกชัดว่าการทำงานศิลปะเป็นอาชีพได้ก็ตอนที่เพื่อนๆ ชวนไปวาดภาพเหมือน แล้วได้นำงานตัวเองไปแสดง หลังจากนั้นก็เริ่มวาดรูปประกอบอย่างจริงจัง ผนวกกับเป็นช่วงที่ทำงานกับ อาจารย์คามิน เลิศชัยประเสริฐ เราได้เจอศิลปิน ได้เข้าใจโลกส่วนหนึ่งของคนที่ทำงานศิลปะ เราจึงค่อยๆ สั่งสมความเข้าใจมาทีละนิดตั้งแต่วันที่เริ่มต้น”
ในฐานะนักวาดภาพ ถิง ชู ค่อยๆ สร้างงาน และเริ่มสะสมชื่อเสียง เธอบอกว่า ‘จุดเริ่มต้น’ มีความหมายกับอาชีพศิลปินของเธอมาก
“สิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับศิลปินในตอนแรกคือ เราต้องมีแพลตฟอร์มที่จะให้เราเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่”
Practice Makes Perfect
เธอเรียนจบด้านสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ด้วยความหลงใหลศิลปะ จึงฝึกฝนด้วยตนเองอย่างเอาจริงเอาจังในระดับที่เรียกว่าใกล้ๆ ‘ความบ้าคลั่ง’
“งานวาดคือความคลั่งไคล้ อย่างเราชอบ นอร์แมน ร็อกเวล เพราะอนาโตมีเขาแม่นมาก แล้วก็มีอารมณ์ขัน เราลอกแบบเขา เลียนแบบเขา วาดจนเรารู้สึกว่าโลกจะแตกแล้ว วาดขาก็วาดขาไป 3-4 วัน แล้วเราจะเอางานชิ้นแรกกับชิ้นสุดท้ายมาเทียบกัน วาดจนเรารู้สึกว่ามีพัฒนาการ จนเรารู้สึกอิ่มเอม เราฝึกจนรู้ถึงข้อจำกัดของตัวเอง คิดว่าเป็นช่วงที่ฝึกฝนตัวเอง ทำให้เรามีคลังของสิ่งที่เรามีอยู่ทุกวันนี้”
อย่างที่บอกไว้ว่า นอกจาก ถิง ชู จะเป็นศิลปินวาดภาพแล้ว เธอยังขึ้นชื่อว่าเป็นนักวาดภาพประกอบ เป็นคุณครูสอนศิลปะ และบทบาทที่เธอไม่เคยคิดว่าจะมาถึงคือ ช่างปั้นเซรามิก ที่เกิดขึ้นเพราะการฝึกฝนเช่นเดียวกัน
เธอเปรียบการวาดภาพคือครอบครัวที่ผูกพัน ขณะที่งานปั้นคือเพื่อนเกลอที่สนุกสนาน
“งานวาดพาโลกข้างในของเราที่มันน่ารัก มันดีจังเลย เราอยากแชร์ให้คนเห็น เราจะใช้การวาดนำพามันออกมา ส่วนงานปั้นเป็นโลกที่มีมิติ ที่ไม่ใช่แค่โลกบนกระดาษ เราก็หลงใหลการปั้นมาก เป็นเหมือนเพื่อนใหม่ที่เราสนิทกัน การปั้นมหัศจรรย์มาก ขณะที่การวาดเราก็รู้สึกผูกพันมาตั้งแต่เด็กเหมือนเป็นครอบครัวของเรา”
Do What You Love, Love What You Do
“สำหรับเราแล้ว ‘พลัง’ สำคัญมาก จะทำงาน จะปั้นอะไรก็ตาม ไม่ได้สำคัญว่าราคาเท่าไหร่ คนซื้อคือใคร หรือจะปั้นให้ใคร แต่สำคัญว่าด้วยตัวของงานจะพูดอะไร เพราะเชื่อว่าคนที่ดูงานชิ้นนี้จะไม่ใช่แค่เราหรือคนที่รับไป แต่จะเป็นอีกหลายๆ คน และถ้ามันพูดอะไรกับเขาได้คือจบแล้วสำหรับเรา
“คิดว่าอาชีพการทำงานศิลปะคือผลพลอยได้สำหรับเรา… เราอยากสื่อสารอะไรต่างหากที่สำคัญ”
ติดตามผลงานหรือขอเป็นลูกศิษย์ ‘ถิง ชู’ ได้ที่เฟซบุ๊ก : slow hands studio และ IG : @turquoiseting
…
Dark Fantasy of ‘Kasploy’
“กว่าจะมาถึงวันนี้ต้องอดทนค่ะ” พลอย กาสม เอ่ยขึ้น หลังจากเล่าให้ฟังว่าเธอออกแบบสร้างแบรนด์ Kasploy ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหลังจากนั้น สิบกว่าปีที่ผ่านมายังคงทำงานเพนติ้งและภาพพิมพ์อย่างเข้มข้นมาโดยตลอด จนเริ่มมีคนสะสมผลงานของเธอ
“วันไหนไม่วาดรูปก็สเกตซ์งานค่ะ รูปสเกตซ์ส่วนใหญ่จะอยู่ในผลิตภัณฑ์พวกกระเป๋าต่างๆ ชอบงานเพนติ้งเพราะทำให้ได้ใส่รายละเอียดและแสดงความรู้สึกต่างๆ ลงไปในภาพอย่างที่เราต้องการจริงๆ แต่ขณะเดียวกันงานโปรดักต์สำหรับพลอยแล้วก็จะสนุกเพราะเป็นงานสเกตซ์ เหมือนเราได้ทดลองคิดโทนสี ทดลองคอมโพส ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานเพนติ้งได้ง่ายขึ้น”
พลอยเป็นสาวหน้าหวาน ซึ่งผลงานเพนติ้งของเธออาจดูไม่กลมกลืนกับใบหน้านัก เธอชื่นชอบงานของ มาร์ก ชากาล ที่ให้ความรู้สึกอิสระ ล่องลอย และรื่นรมย์ ความรู้สึกอิสระที่ชอบนั้นสะท้อนออกมาในงานเพนติ้งของเธอ แต่แฝงไว้ด้วยความลึกลับน่าค้นหา มืดดำในบางหน จนเกิดเป็นงานสไตล์ Dark Fantasy โดยผสมผสานเรื่องราวรอบๆ ตัวไว้ด้วยกัน อย่างแมวสี่ตัวที่เลี้ยงอยู่ หรือเสือและม้า ปีเกิดของเธอและคนรัก รวมถึงต้นไม้ดอกไม้ในบ้าน และภาพหญิงสาวที่เธอหมายถึงตัวเธอเอง
“พลอยเป็นคนมีบุคลิกแข็งนิดหนึ่ง เลยชอบวาดผู้หญิงที่คล้ายหุ่นยนต์ และเป็นตัวแทนของคนสมัยใหม่ที่ทำงานหนักเหมือนหุ่นยนต์ด้วยค่ะ ภาพผู้หญิงในงานพลอยจึงมักมีแขนขาต่อกันเป็นส่วนๆ แต่ต้นไม้กับสัตว์จะเต็มไปด้วยดวงตา
“สำหรับพลอยแล้วเวลาวาดดวงตา มันเหมือนเราได้จับความรู้สึกต่างๆ รอบๆ ตัวของเรา ได้แสดงถึงความสมบูรณ์ที่เกิดขึ้น บางทีภาพที่วาดก็ไม่มีหัวบ้าง แขนขาดบ้าง เราอยากสะท้อนความคิดลึกๆ ของเราที่ว่า แต่ละอย่างมันเป็นอิสระต่อกัน บางครั้งมันก็ล่องลาย บางทีทุกอย่างหายไป แต่เดี๋ยวก็จะมาปรากฏอีก มันเหมือนชีวิตค่ะ ที่มีทั้งความสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์”
ถามเธอถึงการหาแรงบันดาลใจหรือจินตนาการของสายดาร์กที่ซ่อนความโรแมนติกนั้นเกิดมาจากอะไรบ้าง พลอยตอบว่า
“เวลาหาจินตนาการ พลอยก็หาจากต้นไม้นี่แหละค่ะ มองฟอร์มต้นไม้ รูปทรงที่เราปะทะ ดูแล้วก็คิดต่อว่ามันเหมือนสิ่งมีชีวิตอะไร ก็จะเปลี่ยนฟอร์มให้มัน เปลี่ยนเรื่องราวไปสู่จินตนาการของเรา
“ตอนที่ทำงานใหม่ๆ สิบกว่าปีที่แล้ว เรื่องเล่าของเราอาจจะยังไม่มากเท่าทุกวันนี้ เพราะประสบการณ์เรายังมีน้อย งานส่วนใหญ่ก็จะไม่ซับซ้อน เล่าเป็นส่วนๆ ไป เป็นการหาคาแร็กเตอร์และการถ่ายทอดด้วย แต่มาถึงวันนี้พอเราเห็นอะไรที่กระทบใจ การนึกคิดของเราก็จะไปไกลมากขึ้น ผูกเรื่องราวกับสิ่งที่เราพบเจอได้มากขึ้น ดึงความทรงจำมาทำงานได้มากขึ้น งานก็จะมีความเข้มข้นและมีเรื่องราวมากขึ้น
“สำหรับพลอยแล้ว การทำงานศิลปะคือการทำสิ่งที่เรามีความสุข ไม่ได้คิดวางแผนชัดเจนว่าจะต้องไปอย่างไร คิดเพียงแต่ว่าให้งานมันพาไป ทุกวันนี้ได้เพื่อนใหม่ มีคนสะสมงาน ได้รู้จักศิลปินอื่นๆ มากขึ้นก็จากงานของเรา ปีที่แล้วได้ไปแสดงกับเพื่อนๆ ที่ฮ่องกงนั่นก็เพราะงานพาเราไป ถ้าถามว่าอยากได้อะไร ก็หวังว่าจะได้แสดงงานเดี่ยวต่อไปเรื่อยๆ”
“เป็นคนชอบอะไรที่ยากๆ ค่ะ อย่างเลือกเรียนภาพพิมพ์เพราะมันมีกระบวนการมาก พองานออกมา มักจะตื่นเต้น และมีความสุขที่จะได้เห็น ทุกวันนี้พลอยทำงานตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงค่ำ ถึงจะทำงานหนักแต่ก็เพลินค่ะ“
เธอเล่าพร้อมกับยิ้มอย่างมีความสุข
ติดตามผลงานของ พลอย กาสม ได้ที่เฟซบุ๊ก : Kasploy หรือที่ Gallery Seescape และ Jojo Kobe เชียงใหม่
…
Air Art, the Art You Can wear It
‘แอ้’ – จินตนา มหานิล ไม่เคยเรียนปักผ้ามาก่อน แต่ด้วยเสน่ห์ในงานภาพเขียนของศิลปินระดับโลกอย่าง อีกอน ชีเลอ ที่เธอหลงใหล ทำให้จู่ๆ เธอนึกสนุกลุกขึ้นมาปักเสื้อยืดเป็นลายภาพเขียนของเขา ปักทั้งๆ ที่ไม่รู้วิธี ปักทั้งๆ ที่ไม่มีสะดึง
“เราเขียนลอกลายบนเสื้อแล้วลุยเลยค่ะตอนนั้น ปักอยู่สามวัน”
จากเสื้อตัวแรก เธอเริ่มมองเห็นแนวทางการทำงานปักผ้าด้วยรูปภาพอื่นๆ จากผลงานของศิลปินระดับโลกที่เธอชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็น ปีกัสโซ, มีโร, โมเนต์, ฟรีดา, ฟานก็อกฮ์, ชากาล และจากเริ่มปักผ้าให้ตัวเองใส่ แอ้วางแผนปักเพื่อขายให้กับคนที่ชื่นชอบงานศิลปะเช่นเดียวกับเธอ และเริ่มชักชวนเพื่อนบ้านใกล้เคียงในหมู่บ้าน แถบสันป่าตองมาปักงานให้ โดยเธอเลือกที่จะเป็นคนวางแบบ วาดหรือสกรีนลงไปบนเสื้อ บนผืนผ้า ก่อนนำไปให้เพื่อนบ้าน
“เอาเส้นด้ายสีต่างๆ ไปวางให้เขาพร้อมเสื้อที่เราวาดไว้แล้ว และรูปตัวอย่างงาน แล้วบอกเขาว่าเห็นสีอะไรก็ปักไปเลย ปล่อยให้เขาทำอย่างที่เขาเห็น ไม่ได้ไปจำกัดความคิดเขา”
“ที่ปล่อยงานปักให้คนอื่นทำเพราะเราไม่สามารถคุมให้ได้อย่างใจเราทั้งหมด แต่เราทำงานศิลปะเชิงพาณิชย์อย่างนี้ คิดว่าหาคนมาช่วยน่าจะทำได้เร็วมากขึ้น และอีกอย่างคือ งานแบบนี้ถ้าเราจะคุมก็ทำได้แค่บางส่วนเท่านั้น ซึ่งสำหรับความคิดตัวเองแล้วอย่างนี้ดีมากๆ ค่ะ เพราะด้วยความที่เราเรียนศิลปะมา เรามีความรู้ที่บางครั้งก็จำกัดเราเกินไป เราคุมมันเกินไป ทำงานออกมาเป๊ะเกินไป เราไม่ชอบ แต่ก็ปล่อยไม่เป็น แต่พอเราชวนชาวบ้านมาทำ ชวนเด็กมาปัก เรากลับได้งานที่สนุก เป็นงานสร้างสรรค์ในแบบที่เราเองก็ยังทำไม่ได้เลย”
แอ้จึงมองว่าชีวิตกับศิลปะนั้นไม่ต่างกัน บางครั้งเราอยากควบคุมชีวิต แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น การเปิดกว้างรับความเปลี่ยนแปลงน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด
“จริงๆ แล้วทำงานอย่างนี้มันสนุกกว่าลงมือทำเองด้วยนะ บางเรื่องเป็นเรื่องของอารมณ์ ไม่ได้ว่าสวยเป๊ะเหมือนแบบ งานผ้าปักของเราก็อย่างนั้นค่ะ ไม่ได้เหมือนภาพต้นแบบทุกอย่างแต่สวยตรงอารมณ์ ตรงเส้น เท็กซ์เจอร์ที่ปักและสีสันที่ใส่ลงไปในงาน”
นอกจากงานผ้าปักแล้ว แอ้ยังทำงานภาพพิมพ์โมโนพรินต์มาอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องของผู้คน สิ่งที่สนใจรอบตัว สัตว์ และงานแนว semi abstract ซึ่งแนวทางการทำงานส่วนตัวนี้ ยังคงใช้แนวคิดเรื่องการควบคุมและปล่อยให้งานเดินไปด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน
“งานโมโนพรินต์ที่ทำการทดลองเทคนิคการไหลของน้ำ ซึ่งบางส่วนก็คุมได้ บางส่วนก็คุมไม่ได้ ส่วนที่เราควบคุมได้ก็ควบคุมไป แต่ส่วนไหนไม่ได้ก็ต้องปล่อยไป ภาพที่ออกมาบางครั้งเบลอๆ แต่เห็นเป็นภาพอยู่นะ เพียงแค่ไม่ชัดเจน ก็เนอะ มันไม่ได้มีอะไรชัดเจนไปทั้งหมดนะชีวิต”
แอ้เล่าว่า การทำงานผ้าปักและงานโมโนพรินต์ที่ทำอยู่ช่วยขยายขอบเขตการเรียนรู้ทางศิลปะของเธอ เพราะแม้จะเรียนจบมาจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยตรง แต่ความรู้ทางศิลปะก็ไม่เคยสิ้นสุด มีอะไรใหม่ๆ ให้ได้เรียนรู้ และเรียนได้แม้จากคนที่ไม่ได้จบมาทางนี้โดยตรง
“เป็นคนชอบงานที่มีสีสันและมีเท็กซ์เจอร์ มีรายละเอียด งานผ้าปักตอบโจทย์ตรงนี้ของเราได้ดี ปีนี้ตั้งใจจะนำงานอาร์ตของตัวเองมาเป็นงานปักแล้วใส่เฟรม น่าจะสนุกดี คิดแล้วก็อยากเห็นงานออกมา
“ทำงานศิลปะเชิงพาณิชย์มาโดยตลอด เริ่มต้นด้วยการเล่นกับเท็กซ์เจอร์ของบวบ นำมาสร้างเป็นรูปร่างต่างๆ ต่อมาก็ทำงานผ้าปัก คิดว่าทิศทางการทำงานเราชัดเจนขึ้น
“เราเดินเข้าหาศิลปะมากขึ้นในทุกอย่างที่เราทำ”
…
Welcome to ‘Momo Garden’
“วันหนึ่งตื่นมาพบว่าฉันมีปีก บิน บิน บิน บินไปสู่ท้องฟ้า
โอ้! ธรรมชาติสวยงามมาก อ้า! โลกนี้สวยจังเลย
แล้วนั่นอะไรกัน ที่นั่น ที่นี่มีสงคราม ปีกฉันถูกทำให้ฉีกขาด
ฉันตกลงมาจากฟ้าอย่างรวดเร็วและเจ็บปวด
จับปีกขึ้นใหม่ ประคองมันหน่อย ฉันพยายามกระพือปีกเพื่อบินขึ้นอีกครั้ง ฉันจะบินให้ได้
แล้วฉันก็ได้ยินเสียงร้องขึ้นว่า อย่ามีสงครามอีกเลย ห้ามมีสงครามนะ
ใช่แล้ว! แม้โลกนี้มีสงคราม แต่อย่าลืมนะว่าพวกเราหยุดมันได้
เราต้องช่วยกันคิดออกมาดังๆ ว่า เราจะไม่ยอมให้สงครามเกิดขึ้นอีก…”
เสียงอ่านบทกวีภาษาญี่ปุ่นชื่อว่า สันติภาพ ดังขึ้นคืนหนึ่งริมแม่น้ำปิงเมืองเชียงใหม่ ในงานแสดงเดี่ยวของศิลปินชาวญี่ปุ่น โมโมโกะ แก้วดี โทดะ เธอเขียนขึ้นมาเพื่อประกอบการแสดงภาพที่สื่อสารเรื่องราวของสันติภาพในใจของเธอ แม้จะอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนมามีครอบครัวที่เชียงใหม่อย่างทุกวันนี้ แต่โมโมโกะยังคงติดตามเรื่องราวต่างๆ ของญี่ปุ่น รวมถึงเรื่องรอบตัวอย่างใกล้ชิด และด้วยความห่วงใย
งานศิลปะของโมโมโกะดูอ่อนโยน ให้สีที่อบอุ่น เป็นมิตร บอกเล่าเรื่องราวที่เธอสนใจ ทุกปีเธอจัดแสดงงานที่โตเกียวคู่กับ ‘ลูกกา’ – บุญเกิด แก้วดี สามีศิลปินชาวไทย ในราวเดือนเมษายน และแสดงเดี่ยวที่ The Meeting Room ในราวเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม เธอเล่าว่า ปีที่ผ่านมาเป็นปีเกิดของเธอ คือปีไก่ และเป็นปีที่เธอให้ความสนใจกับข่าวความขัดแย้งของญี่ปุ่นและเกาหลีเหนือ เธอจึงกังวลเรื่องของสงครามมาก จึงอยากสื่อสารเรื่องราวของสันติภาพผ่านงานภาพวาดสีน้ำ สีอะคริลิก และภาพพิมพ์
Bird of Peace
“อยากแสดงให้เห็นว่าเราต้องการความสงบ ปีที่แล้ววาดนกเยอะเลย เพราะนกก็คือสัญลักษณ์ของสันติภาพ งานปีที่ผ่านมาคอนเซ็ปต์ค่อนข้างชัดเจนมาก โมโมเขียนบทกวีเองด้วย และขอให้เพื่อนญี่ปุ่นอีกคนมา performance ประกอบบทกวี ลูกชายช่วยแปล และลูกสาวก็แสดงบัลเลต์เพลง Swan Lake ด้วย
“โมโมตั้งใจสื่อสารเรื่องนี้เพราะว่าญี่ปุ่นประเทศเดียวที่โดนบอมบ์ทั้งฮิโรชิมา นางาซากิ ก็เลยคิดว่าต่อไปนี้ ห้ามละนะ ห้ามมีเด็ดขาดนะสงคราม No War! เราทุกคนควรมีอิสรภาพค่ะ คนที่ญี่ปุ่นก็คิดกันอย่างนี้”
Telling the Tales
หลายปีก่อนที่มาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ สาวญี่ปุ่นคนนี้เข้าไปเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งร่วมกับเด็ก ป.3 เธอเล่าว่าขออนุญาตครูเข้าไปนั่งฟังภาษาไทยเพื่อให้คุ้นเคย แต่หลายครั้งที่ครูสอนวิชาเลขแล้วเธอฟังไม่รู้เรื่อง เธอจึงนั่งวาดภาพเล่น และภาพเหล่านั้นมักเป็นรูปแมว
“ตอนนั้นจำไม่ได้จริงๆ ทำไมถึงวาดรูปคนที่มีหัวเป็นแมว แมวนั่งเรียนหนังสือ แมวเขียนกระดาน คือเรียนไม่รู้เรื่องก็วาดรูปเล่นดีกว่า ทีนี้เด็กที่นั่งใกล้ๆ ก็บอกว่า เฮ้ย ผู้ใหญ่คนนี้วาดรูปเล่น เด็กก็มามุงกันใหญ่เลยตอนพักกินข้าว ทีนี้ก็ต้องวาดรูปแจก (หัวเราะ) จากนั้นก็วาดแมวมาตลอดเลย สงสัยเพราะวาดง่ายมั้ง ถ้าวาดหมาจะยากเพราะหมามีหลายพันธุ์ (หัวเราะ)
“โมโมเรียนจบศิลปะจาก Aichi Prefecture Art University ค่ะ แต่เพราะชอบเชียงใหม่เลยหาทางมาอยู่”
จากนั้นเธอก็ตกหลุมรักกับชายหนุ่มไทย จนกระทั่งแต่งงานมีครอบครัวและใช้ชีวิตอยู่เชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่ โมโมโกะเป็นคนสนุกสนาน ร่าเริงและสนใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมมาก เธอมักเก็บความทรงจำเหล่านั้นมาเป็นภาพวาด เช่น ภาพวาดแม่ปิ้งข้าวเกรียบว่าว ตำส้มตำ หรือกินหมาก ภาพวาดทุกภาพเป็นอากัปกิริยาของคนที่มีหัวเป็นแมว ไม่ว่าจะเป็นแมวย่า แมวแม่ แมวพ่อ แมวลูกสาว แมวลูกชาย
ถามเธอว่าทำไมต้องวาดเป็นแมว เธอตอบได้น่ารักมากว่า
“ถ้าเขียนคนจริงๆ จะเรียกยังไงน้า… คืออาจจะชัดเจนเกินไป ก็รู้สึกเกรงใจน่ะค่ะ เหมือนกำลังขายครอบครัวเราไง เพราะหลายๆ เรื่องก็เป็นโลกส่วนตัวนะ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นสัตว์ เป็นแมว หรือช้าง ภาพที่วาดออกมาจะเป็นเหมือนนิทานขึ้นมาสักหน่อย ดูก็ง่าย สนุกด้วย บางทีเอาเรื่องลูกตอนเด็กมาเล่า เป็นเหมือนการ์ตูนช่องก็สนุกไปอีกอย่าง”
Gift from Thailand
โมโมโกะเล่าด้วยความเสียงสนุกถึงความสนใจในวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะเมื่อไปบ้านแม่สามีที่หล่มสัก เธอตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นภาพการใช้ชีวิตอันแตกต่าง ความสนใจเหล่านั้นเป็นที่มาของหนังสือเล่มหนึ่งที่เธอวาด เขียน และจัดทำขึ้นเป็นรูปเล่มวางขายที่ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ลวดลายบนผ้าถุงผืนโปรดของแม่มาออกแบบเป็นปกหนังสือ
“ตอนไปหล่มสักครั้งแรกๆ ตื่นเต้นมาก น้ำก๊อกก็ไม่มี ใช้น้ำบ่อปั๊มเอา ที่นั่นมีเตาแก๊สแต่แม่ชอบใช้เตาถ่าน และก็ชอบเลี้ยงแมวด้วย แม่จะตื่นมาตั้งแต่ตีสี่มานึ่งข้าวเหนียวที่แช่ไว้ตอนกลางคืน สับไม้เป็นฟืนแล้วค่อยหุง โอ๊ย เห็นแล้วตื่นเต้น
“ครั้งหนึ่งแม่เคี้ยวหมากแล้วบ้วนออกมา มันเป็นสีแดงๆ โมโมตกใจมากนึกว่าเลือด ร้องเสียงดังเลย กลัวแม่เป็นอะไรไป ใครๆ ก็ขำใหญ่
“คืออยู่ญี่ปุ่นไม่เคยเจอแบบนี้ เรารู้สึกน่าสนใจไปทุกอย่าง ก็เลยวาดออกมาแล้วตั้งชื่อหนังสือว่า ของขวัญจากประเทศไทย เพื่อนญี่ปุ่นก็สนใจมากค่ะ”
ทุกวันนี้โมโมโกะยังวาดภาพอย่างต่อเนื่องทุกวัน และภาพเหล่านั้นยังมาอยู่บนผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ สมุดบันทึก ปฏิทิน เสื้อยืด หรือเซรามิกที่เธอปั้นเอง และภาพวาดออริจินอล
ติดตามผลงานของ โมโมโกะ แก้วดี โทดะ ได้ที่ IG : momoko_kaewdee_toda_
เรื่อง: สกุณี ณัฐพูลวัฒน์, กรองทอง สุดประเสริฐ
ภาพ: กรินทร์ มงคลพันธ์