มิตรภาพ

The Coffee Diaries: 6 | เมื่อดอกกาแฟ (และมิตรภาพ) เบ่งบาน

ปกติเรามักได้ยลโฉมดอกกาแฟบานสะพรั่งเพียงปีละครั้ง อย่างที่โบเกเตมักเริ่มบานกันช่วงพฤษภาคม แต่พักหลังมานี้สภาวะอากาศโลกแปรปรวน พืชพันธุ์ต่างๆ พากันปรับตัว ไม่เช่นนั้นก็จะอาจจะไม่สามารถส่งต่อพันธุกรรมโดยการสร้างลูกหลาน

     อย่างต้นกาแฟทั้งหลายพบว่าระยะหลายปีมานี้ (จากคำบอกเล่าของคนท้องถิ่น) พากันออกดอกติดผลผิดฤดู ต้นปีปลายปีก็ไม่เว้น เกษตรกรผู้ปลูกทั้งหลายก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย เพราะต้องคำนวณระยะเวลาความถี่ห่างของการใส่ปุ๋ย รวมทั้งวิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งในอดีตเคยทำแค่เพียงครั้งเดียวต่อปีและเป็นแบบนั้นมาแต่นมนาน ก็ต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตมากที่สุดโดยไม่ต้องเพิ่มค่าต้นทุนการผลิตมากจนเกินไป

 

มิตรภาพ

 

     ทั้งนี้ก็ยังดีที่ยังมีช่วงเวลา ‘ปกติ’ หลงเหลือให้ได้ใจชื้นกันอยู่ ต้นกาแฟส่วนใหญ่ยังคงนัดแนะกันว่าจะบานพร้อมกัน โดยพฤติกรรมของพวกมันก็คือหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวจบลงจะพากันสร้างตุ่มดอกเล็กๆ เต็มกิ่งก้าน อากาศแห้งและลมแรงทำให้พวกมันต้องสลัดใบทิ้งไปบ้างเพื่อจะได้ไม่สูญเสียน้ำมากจนเกินไป ความเครียดแบบนี้นี่เองที่กระตุ้นให้ต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะได้ไม่ตาย ทั้งยังกระตุ้นให้สืบเผ่าพันธุ์อีกด้วย เรื่องนี้เก็บมาคิดได้บทเรียนสอนใจอย่างหนึ่ง คือเวลาที่มีเหตุการณ์ไม่ค่อยพึงประสงค์หรือประสบปัญหา ถ้ามองว่ามันเป็น ‘โอกาส’ จะเติบโตและก้าวต่อไปข้างหน้าเหมือนต้นกาแฟได้รับการกระตุ้นเพื่อความอยู่รอดด้วยสภาพอากาศนั่นเอง

     ถึงเวลา ทั่วทั้งดงดอยขาวโพลนไปด้วยดอกสีขาวคล้ายมะลิ หอมละมุนจาง ชวนหลงใหลยิ่ง แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ภายในสองสามวันดอกก็เหี่ยวคาต้น เกสรได้รับการผสม เป็นสิ่งที่เจ้าของสวนล้วนยินดีเพราะมีความหวังว่าจะได้รับผลผลิตสูงในฤดูกาลถัดไป

 

มิตรภาพ

 

     ในเวลาไล่เลี่ยกันมิตรภาพระหว่างผมกับเพื่อนร่วมงานก็เบ่งบานด้วยเช่นกัน แม้งานหลักจะอยู่ในห้องแล็บ ซึ่งพนักงานและคนงานอื่นๆ ก็ทำงานกันภายในโรงงาน ไหนจะคนงานดูแลกาแฟในสวนในไร่ทั้งหลายอีก ช่วงเดือนแรกจากที่แค่ทักทายกันก็เริ่มมีโอกาสได้พูดคุย (แบบรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง) มากขึ้น แน่นอน การสื่อสารต้องใช้ความเข้าใจในภาษาเป็นสำคัญ แต่ภาษากายรวมทั้งการยิ้มแย้มแจ่มใสก็ช่วยทำลายกำแพงการสื่อสารได้มากทีเดียว

     การถามไถ่สารทุกข์สุขดิบถามถึงครอบครัว ขณะเดียวกันก็เล่าเรื่องราวของตัวเองให้พวกเขาฟังแสดงถึงความจริงใจที่จะเป็นเพื่อนร่วมงานและเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ พักเที่ยงหรือเลิกงานตอนเย็นก็หาเวลาทำความรู้จักเพื่อนใหม่ทั้งหลาย พยายามจำชื่อแต่ละคนให้ได้ ไฮเม โฮเซ ไฮโร เอลีเซโอ เอบังเฮลิสโต มาลากียา เอนริเก โปรโฟริโอ โรโดลโฟ มาร์เซียโล และอื่นๆ อีกหลายคน จำยากแต่พยายาม

 

มิตรภาพ

 

     ว่างจากงานช่วงเสาร์บ่ายบางครั้งก็เจียดเวลาไปเล่นกับเด็กๆ ซึ่งเป็นลูกๆ ของคนงานทั้งหลาย (บ้านพักคนงานอยู่ในไร่ ไม่ไกลจากโรงงานเท่าไหร่) แรกๆ พวกแม่ๆ ป้าๆ ทั้งหลายมองกันงงๆ ว่าอีตาคนไทยนี่มาทำอะไร หลังๆ เริ่มชินกับภาพผมพาเด็กๆ ซ้อนท้ายจักรยานปั่นเล่นแถวนั้น ให้นั่งกันคนละรอบสองรอบ ไม่ก็พิมพ์ภาพเอาไปให้ระบายสี สอนเล่นหมากเก็บบ้าง สนุกดีครับ หรือเมื่อเส้นผมเริ่มยาวก็ใช้บริการช่างตัวอ้วนประจำไร่กาแฟตัดให้ด้วยสนนราคาถูกกว่าตัดในร้าน บางครั้งมีการแข่งขันกีฬาฟุตบอลก็ไปร่วมเชียร์พร้อมอาสาเป็นช่างภาพให้ เมื่ออยู่นานขึ้นจนเข้าสู่เดือนที่สี่ก็สนิทกันชนิดสามารถคุยตลกโปกฮาเล่นมุกอะไรกันได้แล้ว (ทั้งที่ภาษาสเปนผมก็ยังไม่กระดิกถึงไหน)

 

มิตรภาพ

 

     คนงานทั้งหมดเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม อาศัยอยู่กันนมนานก่อนคนยุโรปจะมายึดครอง พวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘นอเบ’ มีภาษาและวัฒนธรรมแตกต่าง พวกผู้หญิงแม้จะไม่ได้ทอผ้าอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ยังคงพยายามรักษาอัตลักษณ์ด้านเครื่องแต่งกายโดยการปักลายลงบนผ้า สีพื้นของเนื้อผ้านั้นเลือกตามแต่ความชอบ

     แรกๆ ที่มาอยู่ยังไม่รู้จักความเป็นชนเผ่าของปานามา ภาพในหัวที่วาดไว้ค่อนข้างออกไปทางมองพวกเขาด้อยหรือต่ำกว่าสภาพจริงที่ได้เรียนรู้เมื่ออยู่นานขึ้น สาเหตุที่มองผิดเพี้ยนอาจเพราะการเสพสารจากสื่อซึ่งมีส่วนทำให้คนนอเบดู ‘บ้านป่า’ อยู่ระดับหนึ่ง มีการพูดถึงเขตอนุรักษ์ที่ทางการสงวนไว้ให้ชนพื้นเมือง (ลักษณะคล้ายนโยบายสหรัฐฯ หรือออสเตรเลียที่ทำต่อคนอินเดียนแดง) คนงานระดับใช้แรงงานก็คือชนเผ่า ประกอบกับในเมืองโบเกเตเองก็มีโซนบาร์ที่คนพื้นเมืองมักใช้เวลาช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ไปกินดื่ม แน่นอน ก็เมามายเละเทะกันประมาณหนึ่ง ผู้หญิงบางส่วนก็ไปร้องรำทำเพลงกับเขาด้วย เรื่องเมาแล้วต่อยตีก็ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดในสายตาของคนทั่วไป เย็นๆ ค่ำตำรวจต้องตรวจตราบริเวณนั้นเข้มงวดกว่าปกติ นั่นแหละ โดยประการทั้งปวงจึงทำให้ลงความเห็นเชิงลบไปเรียบร้อย

     แต่เมื่อค่อยๆ ได้รู้จัก ก็ต้องปรับทัศนคติกันใหม่ ล้างอคติกันอีกรอบ เพราะไม่ใช่ชนเผ่านอเบทั้งหมดหรือส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเช่นนั้น พวกเขาก็เป็นเช่นปุถุชนทั่วไป มีรักโลภโกรธหลงกิเลส ผสมกับฐานะทางสังคมต่ำกว่าจึงถูก ‘มอง’ ว่าเถื่อน นี่กลายเป็นสิ่งที่ผมต้องกลับมาเตือนตนว่าอย่าเที่ยวเหมารวมด่วนสรุปสิ่งที่ยังไม่ได้สัมผัสอย่างถ่องแท้ เพราะนั่นจะกลายเป็นดัชนีบ่งชี้ว่าผมเองนะแหละที่ ‘ตื้นเขิน’

     อันที่จริง ชนเผ่าพื้นเมืองปานามาบางส่วนก็ผสมกลมกลืนกับคนทั่วไป มีอาชีพการงานที่แม้ไม่ได้เชิดหน้าชูตาแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกรรมกรเพียงอย่างเดียว และคนที่เป็นชนชั้นล่างก็หาใช่คนด้อยคุณภาพแต่อย่างใดไม่ มีอะไรต่อมิอะไรที่ดีควรค่าแก่การเรียนรู้จากพวกเขาไม่ยิ่งหย่อนกว่าการรับความรู้วิชาจากปราชญ์ผู้เปรื่องด้วยปัญญา

 

มิตรภาพ

 

     มิตรภาพไม่ได้เบ่งบานและเหี่ยวแห้งไปเหมือนดอกกาแฟตราบใดที่เรารักและรักษามันไว้ ความรู้วิชากาแฟสำคัญ รายได้เพื่อจะได้ยังชีพก็สำคัญ แต่สิ่งที่ทำให้งานและการใช้ชีวิตมีความหมายมากกว่าอาจคือการได้เอื้อเฟื้อแบ่งปันแสดงน้ำใจไมตรีต่อกันระหว่างคนในที่ทำงาน

 


<<ตอนที่แล้ว          ตอนถัดไป>>