อยู่ที่เรียนรู้

The Coffee Diaries: 7 | อยู่ที่เรียนรู้

ถ้าเราดุ่มๆ หรือพุ่งไปข้างหน้า ใช้ชีวิตและทำงานไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้จัดสรรเวลาในการย้อนกลับมาทบทวนสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจยากที่จะสังเกตเห็นพัฒนาการของตัวเอง อันที่จริง การเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นนี่เองที่เป็นกำลังใจมหาศาลให้มุมานะพยายามต่อไป ในขณะเดียวกัน การได้ทบทวนตัวเองก็มักจะทำให้เห็นจุดอ่อนที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลง อันจะส่งผลทำให้เรา ก้าวหน้า’ อย่างแท้จริง

 

     อาจจะเพราะอายุเริ่มมากขึ้นกระมัง จึงสังเกตสังกาสิ่งรอบตัวมากขึ้น และบ่อยครั้งสิ่งละอันพันละน้อยนี่เองที่สอนบทเรียนสำคัญแก่ชีวิต สมัยที่ยังหนุ่มอยู่นั้นมีแต่มุทะลุ ประกอบกับไลฟ์สไตล์เอื้อให้ได้เดินทางตลอดเวลา สิ่งเร้ามากมายคอยกระตุ้น มีกิจกรรมหลากหลายให้ทำ สถานที่มากมายให้เห็น จึงไม่ค่อยนิ่ง ไม่เห็นว่าการทบทวนไตร่ตรองชีวิตเป็นสิ่งที่จำเป็น ต่อเมื่อมาเริ่มอยู่เป็นหลักแหล่ง กลับมาทำงานประจำอีกครั้ง จึงมีเวลา (หรืออย่างน้อยก็จัดเวลา) เพื่อการนี้

 

อยู่ที่เรียนรู้

 

     ปกติผมทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ วันเสาร์อีกครึ่งวัน ปั่นจักรยานจากห้องเช่าไปยังโรงงานแทบทุกวัน ห่อข้าวกลางวันไปกินด้วย จึงทำให้ต้องตื่นนอนแต่เช้าเพื่อเตรียมตัว ไหนจะต้องเผื่อเวลาสำหรับเดินทาง การปั่นจักรยานนั้นช้า แต่ก็เป็นวิธีที่ดี เพราะนอกจากได้ออกกำลังกายแล้วยังได้ทำสมาธิ (แบบไม่ได้หลับตา) บนหลังอานไปในตัวด้วย

     เมื่อถึงที่ทำงานก็ทำกิจภาระต่างๆ ได้อย่างค่อนข้างมีสติ ผมสังเกตว่าตัวเองทำงานอย่างประสิทธิภาพเมื่อสติสมประดีอยู่ (มักไม่ค่อยดราม่าเวลาเจอปัญหาในที่ทำงานเท่าไหร่) จึงเร่งเครื่องลุยงานได้เต็มที่ เรียกว่าชีวิตค่อนข้างแอ็กทีฟและโพรดักทีฟ แต่ก็เหนื่อยเป็นธรรมดาแหละ ดังนั้น เมื่อได้เวลาว่าง จึงใช้สุดสัปดาห์ไปกับการพักผ่อน นอนตื่นสาย ซักผ้า ดูแลต้นกล้าพืชผักที่ปลูก เห็นพวกมันผลิใบแตกยอดก็อดอมยิ้มไม่ได้ ใครเห็นผมคุยกับต้นไม้ดอกไม้คงอดกังขาว่าไอ้นี่บ้าหรือเปล่า ก็ไม่เป็นไร บ้าก็บ้า ผมก็มองว่าตัวเองไม่ได้เต็มเต็งอยู่แล้ว

     นอกจากนั้น ยังทำอาหารไทยอร่อยๆ กิน เด็ดเอาใบผักชีโหระพาที่ปลูกมาใช้เป็นส่วนประกอบเมนู เอาเต็นท์ออกมากางนอน อ่านหนังสือ จิบเครื่องดื่มเบาๆ ยืดเส้นยืดสายดัดตัว (อารมณ์โยคะแต่อาจไม่ถูกต้องตามหลัก) ไปโบสถ์ฟังเทศน์ เหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมทำเพลิน และหนึ่งในกิจกรรมที่ทำสม่ำเสมอคือการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์แล้วจดลงไปในสมุดบันทึก

 

อยู่ที่เรียนรู้

 

     สี่ห้าปีมานี้ผมเริ่ม อิน และพาตัวเองเข้าสู่สายมินิมอล ปีที่แล้วจัดการโละข้าวของเครื่องใช้ของสะสมทั้งหลายไปเกือบหมด แล้วก็พบว่าชีวิตโปร่งโล่งขึ้นมาก

     การเดินทางไกลโดยจักรยานเป็นการตอกย้ำแนวคิดนี้ ว่าถ้าแบกเยอะก็เหนื่อยมาก แบกน้อยก็เคลื่อนที่ได้เร็วกว่า การต้องโยกย้ายที่อยู่บ่อยทำให้ตระหนักว่าหากสะสมมากเกินจำเป็น ประเภทเห็นอะไรดีอะไรสวยก็อยากได้ ท้ายสุดเวลาต้องย้ายก็เหนื่อยต้องมาจัดการกับข้าวของพวกนั้นอีก สิ่งของต่างๆ ที่หาซื้อมาเพียงเพราะความอยากได้นั้นมักกลายเป็น ภาระ เปล่าๆ

 

 

     มินิมอลนั้นไม่ได้จบเพียงแค่การจัดการกับวัตถุสิ่งของที่ไม่จำเป็นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจัดระเบียบพื้นที่ข้างในด้วย หลักการและเหตุผลก็อย่างเดียวกันเลย ขยะที่รกๆ อยู่ในใจรังแต่จะถ่วงชีวิต แบกไว้ก็หนักชวนเหน็ดเหนื่อย ไม่ว่าจะทั้งคำสรรเสริญหรือด่าทอ การยึดติดในชื่อเสียงบารมี การเสพสิ่งซึ่งไม่เป็นคุณทั้งหลาย ซ้ำบางอย่างนำเข้ามาก็เป็นโทษเสียอีก การยึดมั่นถือมั่นคิดว่าตนเองเป็น somebody อย่างโน้นอย่างนี้

     ผมเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงว่า ขยะรกๆ ในใจนั้นนอกจากจะทำให้ชีวิตไม่สงบสุขแล้ว ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างผมกับคนรอบข้างด้วย เพราะไม่เฉพาะดราม่ากับตัวเองเท่านั้น ยังพาลไปดราม่ากับใครต่อใครด้วย การจะกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปทำได้ยากกว่า แต่บทเรียนจากการรู้จักปล่อยวางได้นั้นนับว่าคุ้มค่ามากทีเดียว เพราะชีวิตดีได้ด้วยการไม่ต้องมีอะไรมากไงครับ

 

อยู่ที่เรียนรู้

 

     นี่ก็มาสอดคล้องกับแนวคิด less is more ซึ่งตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับความสุดโต่งของปรัชญาสมัยใหม่ว่าด้วยการยึดครองเป็นเจ้าข้าวเจ้าของทุกสิ่งบนโลกใบนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ คนในสังคมถูกล้างสมองด้วยลัทธิดังกล่าว เมื่อไม่ได้รู้เท่าทันนอกจากความสุขไม่ได้เพิ่มขึ้นตามคำชวนเชื่อของทุนนิยม บริโภคนิยม วัตถุนิยมแล้ว พบว่าคนในยุคนี้ยังป่วยไข้ภายในกันมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

     ยุคนี้เราถูกสอนกันว่าต้องมี ต้องได้ ต้องยิ่งใหญ่ แต่คำถามที่เราทุกคนน่าจะย้อนกลับมาถามตัวเราเองว่า “เราเป็นสิ่งเล็กน้อย ทว่ายังคงงดงาม (หรืองดงามกว่า) ได้ไหม?”

 


<<ตอนที่แล้ว         ตอนถัดไป>>