การมุมานะโดยมีครอบครัวและคนรอบข้าง (เปรียบเสมือนลมใต้ปีก) คอยสนับสนุนเพื่อทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จนับว่าสำคัญ การ ‘ทำ’ กาแฟก็เช่นกัน กลุ่มคนผู้จุนเจือช่วยเหลือด้านต่างๆ ก็คือ ‘มิตรสหาย’ มีทั้งเพื่อนที่เป็นลูกค้าอุดหนุน กับเพื่อนที่ยินดีให้ไปร่วมเรียนรู้กับเขา
ในส่วนของ ‘ความรู้’ นั้น กาแฟมีรายละเอียดมากกว่าที่คิด อันที่จริงในไทยก็มีสถาบันหลายแห่งสอนเฉพาะด้าน เป็นศาสตร์จริงจังมาก หลักสูตรสากลค่อนข้างครอบคลุม ตั้งแต่การแปรรูปกาแฟ การชงกาแฟ การตรวจสอบคุณภาพ การคั่ว และอีกมากมายหลายคอร์ส ในแต่ละหัวข้อก็มียิบย่อยเพิ่มอีก
เรียนกันเสร็จก็สอบ จากนั้นจึงได้ประกาศนียบัตรเป็นเครื่องมือการันตีว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน ค่าเรียนค่อนข้างแพง จะเทกคอร์สแบบขำๆ คงไม่เหมาะ หลักสูตรเหล่านี้ออกแบบมาสำหรับคนที่ต้องการยึดกาแฟเป็นอาชีพ
ส่วนตัวเห็นข้อดีของการลงเรียนเพราะเป็นทางลัด เนื้อหาวิชาผ่านการศึกษามาแล้วอย่างดี รวบรวมเป็นองค์ความรู้ สอนโดยครูซึ่งมากประสบการณ์ (และต้องได้รับการรับรองจากสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ) แต่ผมก็ยังคงมองว่าการเขียนหลักสูตรเองนั้นมีความยืดหยุ่นมากกว่า สามารถกำหนดและเรียงลำดับความสำคัญของหัวข้อที่ต้องการศึกษาได้เอง
แน่นอน การเรียนเองแบบนี้ย่อมใช้เวลามากกว่าเพราะต้องสืบเสาะค้นคว้าและลงมือปฏิบัติเองแทบทุกอย่าง หลายครั้งต้องลองผิดลองถูก แต่คุ้มค่าในแง่ที่เมื่อเข้าใจหัวข้อนั้นๆ แล้วก็จะจดจำได้ยาวนาน (ความรู้แน่น) แถมยังได้เก็บข้อมูลปลีกย่อยที่ไม่มีอยู่ในคอร์สปกติอีกด้วย
ก็ต้องอาศัยคนในแวดวงกาแฟในการได้มาซึ่งความรู้ตามที่ตั้งใจไว้ ตอนเริ่มต้นเมื่อราว 4 ปีก่อนนั้นเป็นน้องใหม่ ไม่ได้รู้จักมักจี่ใคร อาศัยลูกบ้าก็ทำไป ติดต่อเพื่อนของเพื่อนที่เขาทำกาแฟ เขาตอบรับก็ขึ้นดอยไปอยู่ช่วยงาน เรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ได้ทั้งวิชาและเพื่อนเพิ่มด้วย
อย่างการแปรรูปกาแฟนั้น ติดต่อแสนชัย จำไม่ได้แล้วว่ารู้จักผ่านทางใคร เขาเป็นคนหนุ่มชาวอาข่ารุ่นใหม่ (ได้ภรรยาเป็นปกาเกอะญอ) ทำกาแฟอยู่แถวดอยปางขอนและที่อำเภอกัลยา ร่วมกับชาวบ้านบางครอบครัว เจ้าตัวสู้ชีวิตตั้งแต่เด็ก ขยันเรียนและทำมาหากิน เมื่อสนใจกาแฟจึงลุยเต็มที่ชนิดที่เดินเข้าร้านกาแฟแทบทุกร้านในเชียงใหม่เพื่อนำเสนอผลผลิต ขึ้นลงดอยเป็นว่าเล่น ปัจจุบันนี้เขาวางตำแหน่งในวงการไว้ที่คนแปรรูปกาแฟ รับซื้อด้วย ล่าสุดลงมือปลูกเป็นเกษตรกรเต็มตัวแล้ว
อีกครอบครัวที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ครู’ คือ คาเลป จอร์แดน และคุณสา คนในวงการกาแฟไทยน่าจะรู้จักพวกเขาดี พื้นเพคาเลปเป็นลูกมิชชันนารี ทำงานกับชนเผ่าที่น่าน เขาเกิดและเติบโตในไทย เห็นหน้าตาฝรั่งแบบนี้พูดภาษาไทยชัดแจ๋ว คำเมืองก็ ‘แหลวแหล่ด’ (แปลว่าคล่องปร๋อ)
เมื่อร่ำเรียนจบก็กลับมาสานต่องานรับใช้พระเจ้า ในขณะเดียวกันก็เริ่มธุรกิจกาแฟซึ่งนอกจากสร้างรายได้แล้วยังสามารถใช้เป็นสะพานเชื่อมกับชาวบ้านอีกด้วย เนื่องจากทำทุกอย่างเอง องค์ความรู้แทบทุกด้านเกี่ยวกับกาแฟจึงแน่นมาก ตั้งแต่การปลูก ผ่านกระบวนการต่างๆ ไปจนถึงการคั่วและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Gem Forest ซึ่งก็คือกาแฟจากดงดอยมณีพฤกษ์นั่นเอง ทำครบวงจรเสร็จสรรพในตัว แม้กระทั่งเครื่องคั่วก็ประดิษฐ์เองโดยอาศัยพื้นฐานความรู้ทางด้านวิศวกรรมมาต่อยอด ผมใช้เวลาว่างหลายครั้งไปคลุกและขลุก เป็นลูกมือ เป็นอาสาสมัคร และค่อยๆ ซึมซับความรู้ความเข้าใจไปในตัวด้วย เรื่องการแปรรูป การชิมรสชาติ พื้นฐานเบื้องต้นเรื่องสายพันธุ์ รวมทั้งการคั่วกาแฟก็ได้จากที่นี่
ยังมีคนทำกาแฟอื่นๆ ที่รู้จักและเริ่มได้สร้างสัมพันธ์ฉันมิตรผ่านหลายช่องทางหลากโอกาส ซึ่งเป็นสิ่งดีไม่น้อย ในส่วนของลูกค้าก็นับว่าเป็นเพื่อนด้วยเช่นกัน ผมมองว่าเขาให้ ‘โอกาส’ เพราะเมื่อย้อนกลับมาทบทวน ช่วงแรกดริปกาแฟก็ไม่เป็น (มือไม่นิ่ง) คนเขาก็ยังมาอุดหนุน เมล็ดคั่วแพ็กใส่ห่อก็ช่วยซื้อ ขายกาแฟก็แสนจะอินดี้ ประเภทเปิดบ้างปิดบ้าง แถมยังจอดขายไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง บางทีหายไปเลยเป็นเดือนสองเดือน พอกลับมาขายอีกก็พบว่ากลุ่มลูกค้าเดิมหลายคนยังอยู่ ถือว่าเป็นลูกค้าที่มีความอดทนสูงครับ ลูกค้าขาจรก็มีบ้างเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวและคนมาเที่ยวกันได้ตลอดทั้งปีอยู่แล้ว
ไม่รู้เหมือนกันว่าเจ้ากาแฟจะพาไปถึงไหน รู้แค่ว่ายังคงอยากทำมัน และจะทำเล็กๆ ต่อไป ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนมา ณ ที่นี้ด้วยครับ…