ภารกิจแรกเมื่อไปถึงกรุงปานามาซิตี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศปานามา คือตามหาร้านกาแฟที่มีเกอิชา ไม่ใช่เกอิชาสาวญี่ปุ่นในชุดกิโมโน แต่เป็นสายพันธุ์กาแฟซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความหอมหวานอมเปรี้ยว เวลาจิบคล้ายมีใครนำดอกไม้ทั้งทุ่งมาโปรยใส่ ตามด้วยผลไม้เมืองร้อนอีกกระบุงใหญ่ละลายอยู่ในปาก ใช่ กาแฟก็คือกาแฟ แต่ ‘ความซับซ้อน’ ของกลิ่นและรสชาตินี่แหละที่เป็นแรงดึงดูดมหาศาล
ถ้าเปรียบกับนามงาม เธอครองตำแหน่งนางงามกาแฟจักรวาลต่อเนื่องมาสักยี่สิบปีเห็นจะได้ บรรดาบาริสตาที่เข้าร่วมการแข่งขันชงกาแฟระดับนานาชาติมักใช้เกอิชาเป็นตัวเรียกคะแนนจากคณะกรรมการตัดสิน ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จกันแทบทั้งนั้น
ถ้าจะให้ถูกต้องน่าจะใช้คำว่า ‘เกชา’ มากกว่า เพราะต้นกำเนิดของเกชานั้นมาจากเอธิโอเปีย หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่าเกชา ซึ่งอยู่บนเขาสูงราวสองพันเมตรจากระดับน้ำทะเล พิกัดอยู่ใกล้ชายแดนประเทศซูดานใต้ ป่าบริเวณนั้นเต็มไปด้วยต้นกาแฟแทรกแซมเป็นไม้ยืนต้นท้องถิ่น ต่อมาได้รับการนำออกจากพื้นที่ ไปปลูกตามประเทศต่างๆ จนกระทั่งไปถึงประเทศปานามา คนที่นั่นก็ปลูกกันไปตามปกติ แต่เผอิญว่าไร่กาแฟเอสเมอรัลดา ของครอบครัวปีเตอร์สัน สังเกตเห็นลักษณะซึ่งแตกต่างทั้งทางรูปพรรณสัณฐานและรสชาติของกาแฟสายพันธุ์ จึงทำการแปรรูปแยก เมื่อนำเข้าสู่เวทีประกวดระดับชาติในรายการ Best of Panama ก็สร้างความตื่นเต้นแปลกใจเป็นอย่างมาก คะแนนท่วมท้นขาดลอย และจากปีนั้นจนถึงปัจจุบันนี้กาแฟสายพันธุ์เกชาก็ครองตำแหน่งชนะเลิศมาโดยตลอด ที่ปานามาเขาออกเสียงเพี้ยน อาจจะโดยจงใจ เรียกเกชาเสียใหม่ว่า ‘เกอิชา’
เมื่อชื่อเสียงของเกอิชาขจรกระจายสู่วงกว้าง ทำให้กลายเป็นที่หมายปองของคอกาแฟทั่วโลก ทว่าปริมาณที่ผลิตได้ไม่มาก จึงทำให้ราคาสูงลิ่ว เป็นตาสีตาสาหาเช้ากินค่ำนี่ท่าจะหมดสิทธิ์ได้ลิ้มชิมรส เพราะหนึ่งเสิร์ฟต้องควักเงินจ่ายไม่ต่ำกว่าสามสี่ร้อยบาท ยิ่งตัวท็อปชนะรายการประกวดนั้นอาจขายกันเสิร์ฟละสองพันห้าร้อยบาทเลยทีเดียว อย่างกาแฟชนะเลิศ Best of Panama ประจำปี 2018 นั้นเมื่อเปิดประมูลเมล็ดดิบออนไลน์ก็ขายได้มากสุดในประวัติการณ์ คือปอนด์ละแปดร้อยสามดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบแล้วก็กิโลละเป็นแสน กาแฟอะไรแพงยิ่งกว่าทองคำ!
ราคาขายสูงลิบลิ่วน่ากลายเป็นแรงจูงใจหลัก ชาวกาแฟในประเทศอื่นๆ พากันขวนขวายสรรหาเกชามาปลูกกันแพร่หลาย แม้กระทั่งบนดอยในไทยก็เริ่มปลูกด้วยเช่นกัน แหล่งแรกสุดนั้นเริ่มโดยไร่กาแฟ Gem Forest Coffee ณ หมู่บ้านมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน สร้างชื่อเสียงให้แก่น่านในฐานะแหล่งปลูกกาแฟสำคัญของไทยไปโดยปริยาย
สาวงามย่อมเป็นที่หมายปองของทุกคน แต่ปลูกเกชาแล้วดีกว่าจริงไหม นี่ยังเป็นข้อกังขา มีการถกเถียงกันพอสมควรโดยเฉพาะอย่างที่ปานามาซึ่งเป็นผู้กระพือกระแสให้เกชาโด่งดังทั่วโลกนั้นพยายามสร้างมาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้น โดยชาวกาแฟที่นั่นพากันบอกว่าเกชาซึ่งปลูกที่ความสูงต่ำกว่าพันห้าร้อยเมตรจากระดับน้ำทะเลนั้นไม่นับว่าผ่านมาตรฐาน เป็นเพียงเกชาระดับรอง ลูกเล่นทางการตลาดรุก ปีนี้ปานามาประกาศแบรนด์ ‘ปานามาเกอิชา’ ตอกย้ำความเป็นต้นตำรับ
แน่นอน ประเทศอื่นที่ปลูกเกชาก็ต้องสรรหาจุดขายให้ตัวเองด้วย ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้นิสัยใจคอและความต้องการของกาแฟสายพันธุ์นี้ควบคู่กัน เพราะอันที่จริงไม่ใช่พื้นที่ที่ไหนก็ได้สามารถปลูกกาแฟสายพันธ์นี้ แม้จะรสชาติดีกลิ่นหอมซับซ้อน แต่มันเป็นสายพันธุ์ที่ค่อนข้างอ่อนแอ ผู้ปลูกต้องประคบประหงมมากกว่ากาแฟสายพันธุ์อื่น รากก็ไม่แข็งแรงเท่าใดนัก หมายถึงระบบรากไม่เอื้อให้ชอนไชหาแร่ธาตุในดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อระหว่างกิ่งก็ห่างทำให้ติดผลน้อยกว่าสายพันธุ์ทั่วไป ถ้าปลูกสายพันธุ์ข้อถี่อย่างคาทูรร์รา คาติมอร์ หรือคาทุย จะติดผลมากได้ลูกดกก็ซึ่งทำให้ได้ผลผลิตมากกว่าราวสองถึงสามเท่า แถมยังทนโรคมากกว่า ไม่ต้องดูแลเหนื่อยยากมากเท่า
ขณะนั่งจิบกาแฟดริปเกอิชาซึ่งบาริสตาสาวเพิ่งชงเสร็จแล้วเสิร์ฟให้ถึงโต๊ะ ผมนึกถึงการเดินทางไกลของเมล็ดกาแฟจากถิ่นกำเนิดในแอฟริกาจนมาลงรากสร้างต้นออกผลยังแดนไกลในอเมริกากลาง ก็ย้อนนึกถึงการตัดสินใจออกเดินทางของตัวเองโดยมีเจ้ากาแฟเป็นแรงจูงใจหลัก ผมกำลังเริ่มสนใจจะทำไร่กาแฟบนดงดอยสักแห่งที่ไทย
ผมควรปลูกสายพันธุ์เกชาหรือเปล่านะ?