กาแฟยังเป็นของฝากของที่ระลึกหลักอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน ตามชั้นในร้านค้าและซูเปอร์มาร์เกตมีกาแฟผลิตจากกาลาปากอสคั่วทั้งชนิดเมล็ดและแบบบดสำเร็จวางขายไม่ต่ำกว่า 6-7 ยี่ห้อ ส่วนใหญ่คั่วระดับกลางถึงกลางค่อนเข้ม และเนื่องจากกระแสกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้น เอกวาดอร์ รวมทั้ง ณ เกาะห่างไกลเช่นนี้ก็ขานรับกระแสนี้ด้วยเช่นกัน
ร้านกาแฟเน้นคุณภาพมีอยู่ราว 4-5 แห่ง เช่น 1835 Coffee Lab ใกล้กันอีกร้านชื่อ OMG มุมถนนไม่ไกลกันนักมีคาเฟ่ของครอบครัววียาซิส เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟต่อยอดขึ้นไปโดยแปรรูป คั่วเอง กระทั่งเปิดร้าน Villa Luna ขายกาแฟจากไร่ตัวเอง
ร้านน้องใหม่มาแรงคือ 1835 Coffee Lab บาริสตาหนุ่มเล่าให้ฟังเกี่ยวกับความจริงจังในการพัฒนาคุณภาพกาแฟกาลาปากอส บวกกับการฝึกฝนทักษะในการชงกาแฟ โดยมีเป้าหมายว่าจะลงประกวดประชันในรายการบาริสตาแห่งชาติในปีต่อไป ว่าต้องการนำเมล็ดจากเกาะไปนำเสนอในการแข่งขันเพราะรสชาติมีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากแหล่งอื่นนั่นเอง ทางร้านเองได้เริ่มปลูกกาแฟเอง พื้นที่ไม่กว้างนักและจะได้ผลผลิตแรกในอีกสองปี
ส่วนร้าน OMG ซึ่งคุณปาอูล (Paul) เป็นเจ้าของและคร่ำหวอดอยู่ในวงการท่องเที่ยวมานานในฐานะมัคคุเทศก์ เขาและภรรยาตัดสินใจละเมืองหลวงแล้วมาเริ่มต้นใหม่ ณ ซานตาครูซ เพราะสภาพแวดล้อมปลอดภัยสูงสำหรับลูกๆ แม้จะมีความท้าทายหลายอย่าง แต่ก็รู้สึกว่าดีกว่าโดยประการทั้งปวง
เขาเปิดร้านกาแฟและค่อยๆ พัฒนาคุณภาพ สร้างความสัมพันธ์กับผู้ปลูก รับซื้อกาแฟโดยสร้างแรงจูงใจว่าถ้าระดับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมสูง เช่น นำพืชดั้งเดิมปลูกแซมลงไป ควบคุมปริมาณของพืชที่นำเข้ามา หรือใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เขาก็ให้ราคากาแฟนั้นในราคาสูงขึ้นด้วย กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวของเกาะที่ขายได้ราคาดีกว่ามาตรฐานแฟร์เทรด แน่นอน ร้านนี้ใช้เฉพาะกาแฟของกาลาปากอสเท่านั้น มีเครื่องคั่วประจำร้าน คั่วกลางชนิดชงดริปก็ได้ หรือนำไปสกัดเป็นช็อตเอสเปรสโซก็ได้เช่นกัน เขาบอกว่า “กาแฟกาลาปากอสมีระดับ acidity ต่ำ ไม่ค่อยเปรี้ยว แต่เป็นรสฉ่ำที่ไม่รู้ว่าคือผลไม้ชนิดใดกันแน่ มีกลิ่นและรสช็อกโกแลตกับคาราเมลสูง เวลาชงแล้วเติมนมลงไปได้รสชาติกลมกล่อมอร่อยมาก”
เขาเป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่เริ่มนำกระแสกาแฟพิเศษเข้ามาสู่เกาะซานตาครูซ เป็นตัวตั้งตัวตีจัดเทศกาลกาแฟเกาะกาลาปากอสขึ้น มีความหวัง (ไม่เฟื่อง) ว่ากาแฟจากหมู่เกาะนี้จะกลายเป็น ‘สิ่งมหัศจรรย์’ ในหมู่คนที่หลงใหลสารอันมีกาเฟอีนเป็นส่วนประกอบหลัก เทียบชั้นได้ระดับบลูเมาเทนส์ของเกาะจาไมกา และโคนาแห่งเกาะฮาวาย เพราะไม่เฉพาะร้านกาแฟทั้งหลายเท่านั้นที่พยายาม แต่ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องล้วนใส่ใจคุณภาพด้วยกันทั้งระบบ ปัจจุบัน กาแฟจากกาลาปากอสได้รับการรับรองเอกลักษณ์ประจำถิ่น ว่าถ้ามาจากที่นี่แล้วต้องมีกลิ่นและรสชาติแบบนี้เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันกาแฟสวมจากแหล่งอื่นนั่นเอง
จุดเด่นมากอีกอย่างของกาแฟแห่งกาลาปากอสก็คือ ‘เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ สูง โดยเฉพาะกาแฟที่มาจากไร่ลาวาจาวา (Lava Java Coffee) ซึ่งเป็นเจ้าเดียวที่มีใบรับรองอย่างเป็นทางการจาก USDA-NOP ว่าเป็น ‘กาแฟอินทรีย์’ และใบรับรองจากองค์กรชื่อ Smithsonian Migratory Birds Center ว่าเป็นกาแฟที่เป็นมิตรต่อนก ซึ่งถือเป็นเครื่องการันตีชั้นเยี่ยมว่าไร่แห่งนี้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือเจ้าของไร่ทำงานเป็นนักอนุรักษ์ คุณสกอต เฮนเดอร์สัน (Scott Henderson) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเดินทางมายังเกาะ ทำงานให้องค์กรอิสระ ได้พบและในที่สุดแต่งงานกับคุณมาเรีย ซึ่งเป็นชาวเอกวาดอร์และคร่ำหวอดอยู่ในวงการเดียวกันมานานกว่า 25 ปี
จากการพูดคุยกับคุณมาเรีย เธอเล่าให้ฟังว่าจุดประสงค์หลักไม่ใช่การทำไร่กาแฟ แต่เป็นงานอนุรักษ์ต่างหาก ขณะเดียวกันก็ต้องการเป็น ‘ต้นแบบ’ พิสูจน์ให้ได้ด้วยว่าสามารถขายผลผลิตในราคาที่ดีด้วย เมื่อถามถึงวิธีการทำงานด้านนี้ให้เกิดผล เธอยืนยันจากประสบการณ์ตลอดหลายปีมานี้ว่าการทำงานโดยใช้ชีวิตเป็นแบบอย่างนั้นส่งผลมากกว่าในระยะยาวแน่นอน
การจะทำอะไรให้สำเร็จย่อมดำเนินการได้หลายวิธี ครอบครัวนี้อาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ คนรอบข้างเริ่มเห็นแบบอย่างอันดี ความจริงแล้ว ด้วยฐานะนักอนุรักษ์ซึ่งมากประสบการณ์ ทั้งยังได้รับการยอมรับในสังคมกาลาปากอสอยู่แล้ว หากจะร่วมมือกับองค์กรที่สังกัดอยู่เพื่อผลักดันระเบียบข้อบังคับต่อเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟคงไม่ยากจนเกินไปนัก ซึ่งคนอาจจำใจทำตามโดยไม่ได้ยินยอมพร้อมใจหรือเข้าใจเหตุผลที่แท้จริง ดังนั้น การลงมือทำจนกระทั่งกาลเวลาช่วยพิสูจน์เช่นนี้ แม้ไม่ได้ไปป่าวประกาศหรือผลักดันประกาศกฎระเบียบ ชาวบ้านก็ค่อยๆ สังเกตเห็นเอง ว่าวิธีการไหนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวได้มากเพียงพอด้วย