เพิ่งจะได้กลับมาเร่ขายกาแฟอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานนับปี เพราะมัวแต่เอาเวลาไปออกเดินทางตามรอยกาแฟในทวีปอเมริกาใต้และอเมริกากลาง ขณะเดียวกันก็พยายามหาทักษะและประสบการณ์ด้านนี้เพิ่มเติมด้วย
จริงอยู่ที่ว่าการหารายได้จากการค้าขายกาแฟอยู่ในระดับดีทีเดียว เพราะสามารถสร้างรายได้ นำมาจุนเจือเลี้ยงดูตัวเอง สะสมเป็นทุนรอนเพื่อใช้สำหรับการเดินทางท่องโลก หรือนำไปทำประโยชน์ด้านการสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อมที่กำลัง ‘อิน’ และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก
อย่างไรก็ตาม ผมยังคงเห็นว่าการยอมให้เวลาตัวเองเพื่อสั่งสมองค์ความรู้ทั้งด้านศาสตร์และศิลป์ของโลกกาแฟ และบ่มเพาะจน ‘แน่น’ มากพอนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งกว่า เพราะจะส่งผลดีในระยะยาว แต่ถ้าใช้เวลานานเกินไปก็คงจะไม่ได้ทำมาหากินให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียที แต่ผมก็เชื่อว่าทุกอย่างมีจังหวะของมัน และความรู้สึกของเราจะคอยบอกเองว่าเราพร้อมแล้วหรือยังที่จะลงมือทำอย่างจริงจัง นำสิ่งที่สั่งสมไว้ทั้งหลายมาประกอบเป็น ‘อาชีพ’ เพื่อสร้างรายได้หล่อเลี้ยงตัวเองเสียที
ไหนๆ ก็ยังคงยึดมั่นว่าจะใช้ชีวิตแบบพ่อค้าเร่ขายกาแฟริมถนน ผมจึงใช้โอกาสนี้ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของหน้าร้านเสียเลย ซึ่งเมื่อห้าปีก่อนตอนที่เริ่มต้นโปรเจ็กต์กาแฟ รถพ่วงขายกาแฟของผมประจำการริมทางย่านชานเมืองเก่าในเชียงใหม่ ผมออกแบบและจ้างทำรถพ่วงเล็กสำหรับต่อท้ายจักรยานปั่นลากไป แต่มันแบกน้ำหนักค่อนข้างมาก ต้องใช้กำลังขาหนักพอสมควร และการลากรถพ่วงนั้นเทอะทะและหนักเกินจำเป็น จึงตัดสินใจดัดแปลงใหม่ให้เล็กลงกว่าเดิม ย่อส่วนลงภายใต้แนวคิดว่า ‘ทุกอย่างต้องเสร็จสรรพบนจักรยานคันเดียว’
การตัดสินใจแบบนี้อาจทำให้คนอื่นๆ สงสัยว่านี่คือตรรกะประเภทไหนกัน เพราะตามปกติแล้ว ยิ่งเราทำมาหากินนานวันเข้าเรายิ่งต้องโต และยิ่งต้องขยับขยาย เพิ่มสาขาต่อไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ผมเลือกทำนั้นดันกลับตาลปัตร กลายเป็นว่ายิ่งทำนานขึ้นกลับยิ่งเล็กลง แต่สำหรับผมเชื่อว่ายิ่งเราทำให้เล็กลงได้มากเท่าไหร่ จะยิ่งเพิ่มความสวยงามมากขึ้นเท่านั้น
เพราะวิถี ‘มินิมอล’ อาจมีความหมายถึงการหดตัวเองลงเรื่อยๆ ค่อยๆ เปลี่ยนจากสถานะ somebody เป็น nobody ในที่สุด กลายเป็นคนที่โลกไม่จำเป็นต้องจำ แน่นอน คำว่ามินิมอลนั้นสอดคล้องและเกี่ยวข้องกับคำว่า ‘Small is Beautiful’ หมายความว่า หากสามารถปล่อยวางอะไรต่อมิอะไรได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรู้สึกโปร่งเบามากขึ้นเท่านั้น การเป็นแค่คนตัวเล็กๆ นั้นทำให้รู้สึกสบายและคล่องตัวมากกว่า ขณะที่การได้ครอบครองสิ่งของใหญ่โตนั้นแท้จริงแล้วกลับเป็นพันธนาการคอยผูกมัดเราไว้ เพราะเมื่อต้องแบกภาระมากกว่า อิสรภาพก็ย่อมน้อยลง ผมเชื่อเช่นนี้
กว่าความตั้งใจจะเกิดผล ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากรุ่นพี่ในก๊วนที่ปั่นจักรยานอยู่ด้วยกัน พวกเราใช้ไม้กระดานและลังเก่าประกอบเป็นถาดไว้ยึดกับตระแกรงด้านหลังจักรยาน ช่วยกันนำเหล็กเก่ามาดัดและเชื่อมเพื่อทำขาตั้งให้มั่นคง สำหรับใช้วางอุปกรณ์บดและชงกาแฟโดยไม่โยกคลอน จากนั้นก็หาซื้อตระกร้าหวายเล็กๆ สำหรับใช้เป็นตะแกรงวางของด้านหน้า หาสีน้ำมันและพู่กันมาเขียนโลโก้ ‘Nomad Coffee’ (Nomad หมายถึง ชนเผ่าเร่ร่อน) จากนั้นนำกระเป๋าข้างมาเสียบท้ายจักรยานอีกสองใบ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธีการเตรียมจักรยานเพื่อทดลองนำออกไปใช้งานจริงแล้ว
สำหรับสถานที่ตั้งร้านกาแฟดริปเฉพาะกิจนี้ ผมติดต่อขอเช่าพื้นที่หน้าร้านหนังสือสุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ โดยในเบื้องต้นขอไว้เพียงสองวันเพื่อทดสอบดูก่อนว่าร้านที่ดัดแปลงให้เล็กลงนั้นใช้งานได้จริงหรือว่ายังต้องปรับเปลี่ยนอะไรอีกบ้าง
ปรากฏว่าการเดินทางในระยะทางราวสิบห้ากิโลเมตรจากบ้านไปยังจุดขายกาแฟนั้นง่ายดี ค่อยๆ ปั่นจักรยานพร้อมกับอุปกรณ์ทำมาหากินต่างๆ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษเท่านั้น เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่ต้องปั่นจักรยานพร้อมรถพ่วงแล้วง่ายกว่ากันเยอะมาก เวลาที่จอดและเอาอุปกรณ์ออกจากกระเป๋ามาจัดวางบนกระบะไม้ท้ายจักรยานก็รู้สึกว่าพื้นที่เล็กๆ นั้นเพียงพอแล้วสำหรับการดริปกาแฟ ส่วนตระกร้าหวายด้านหน้าก็เอาไว้วางห่อเมล็ดกาแฟคั่ว เผื่อว่าลูกค้าต้องการซื้อติดมือไปบด ชง และจิบเองที่บ้าน ซึ่งข้อดีของพื้นที่หน้าร้านหนังสือสุริวงศ์คือมีม้ายาวและโต๊ะอยู่แล้ว จึงไม่ต้องหอบเก้าอี้มาให้ลูกค้านั่งแต่อย่างใด
สองวันที่ผมกลับมาทดสอบขายกาแฟริมทาง มีเพื่อนฝูงแวะมาเยี่ยมและอุดหนุน ถือโอกาสพูดคุยสัพเพเหระ อัพเดตเรื่องราวในชีวิตกันไป มีลูกค้าขาจรที่เดินผ่านมาก็แวะสั่งกาแฟไปนั่งจิบกันบ้าง ยอดขายก็ไม่ได้หวือหวาเปรี้ยงปร้างแต่อย่างใด ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติ และผมก็รู้ว่าหากอยากจะได้ลูกค้าประจำ ผมเองนั่นแหละที่ต้องมาตั้งขายอย่างสม่ำเสมอ พอผ่านไปได้สักระยะหนึ่งคนจึงจะเริ่มจำได้ว่าทุกวันจะมีรถจักรยานกาแฟดริปคันหนึ่งประจำการอยู่ตรงนี้