ผลกาแฟสุก

The Coffee Diaries: 29 | ความสุขของผลกาแฟสุก (บนรางตาก)

ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ ‘พลังบวก’ (หรือลบ) จากการทำงานและปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างจะส่งผลต่อปริมาณความสุข (หรือทุกข์) ต่อทั้งตัวเราเองและผู้อื่นที่เราเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น ยิ่งเราสามารถใส่พลังงานดีๆ ลงไปในเนื้องานได้มากเท่าไหร่ ก็เท่ากับว่าเราได้ทำการส่งต่อสิ่งดีๆ ซึ่งจะทำให้มวลความสุขหนักขึ้น นอกจากนั้นโลกยังจะน่าอยู่มากขึ้นด้วย 

        ผมเชื่อในพลังแห่งการถ่ายเทพลังงานจากตนเองสู่ผู้อื่น ขณะเดียวกัน พลังงานจากคนที่รายล้อมตัวผมอยู่ก็ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผมมากเช่นกัน––บางครั้งผมต้องจำใจอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่ขัดแย้งหรือทุ่มเถียงกันตลอดเวลา––ผมย่อมจิตตก แต่เมื่อพาตัวเองไปอยู่ร่วมกับกลุ่มคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใจ จิตใจของผมก็จะแช่มชื่นมากขึ้น 

        ด้วยตระหนักเช่นนี้ ผมจึงพยายามทำหน้าที่ให้เหมาะสมกับสถานภาพและบทบาทของตนเองมากที่สุด เพราะต้องการที่จะ ‘ส่งต่อ’ พลังเชิงบวกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

 

ผลกาแฟสุก

 

         ความคิดเช่นนี้เชื่อมโยงมาสู่การทำกาแฟของผมที่ขึ้นสู่ปีที่ 5 แล้ว ผมยังคงพยายามดำเนินทุกขั้นตอนอย่างพิถีพิถันที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับผมแล้ว ความหลงใหลในสิ่งที่ทำมีอิทธิพลมากกว่าเม็ดเงิน และการได้ทำในสิ่งที่รักมี ‘ความหมาย’ มากกว่าการทำมาค้าขาย 

        ผมเคยได้ยินคนโน้นคนนี้พูดว่าเฉพาะพวกรวยล้นฟ้าเท่านั้นแหละที่พูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ‘เงินไม่ใช่คำตอบของชีวิต’ ส่วนพวกคนหาเช้ากินค่ำยังต้องกระเสือกกระสน จะมาเอะอะสรุปว่าเงินคือสิ่งมีค่าน้อยแบบเดียวกับที่พวกเศรษฐีระดับร้อยล้านพันล้านคิดกันไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น คนหาเช้ากินค่ำก็ย่อมให้คุณค่าแก่เงินทองและวัตถุมากกว่าเศรษฐี อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ผมค่อนข้างเห็นต่าง เพราะผมเชื่อว่าการมีน้อยกว่าไม่ได้หมายถึงการขาดตกบกพร่อง––มีน้อยก็สามารถแบ่งปันความสุขได้มาก––อาจเท่ากับหรือมากกว่าคนที่มีสมบัติพัสถานมากมายด้วยซ้ำ 

 

ผลกาแฟสุก

 

        ฤดูเก็บเกี่ยวและแปรรูปกาแฟมาถึงอีกครั้งหนึ่ง มีกิจกรรมสนุกๆ ให้ทำเยอะแยะไปหมด ด้วยความที่ยังไม่ได้มีไร่กาแฟเป็นของตัวเอง ดังนั้น หนึ่งในความตื่นเต้นคือการได้ขึ้นไปตามดงดอยที่เป็นแหล่งเพาะปลูก ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟทางภาคเหนือ โดยเมื่อหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมา ผมติดต่อกับเกษตรกรบางรายซึ่งเคยรู้จักกันมาก่อนแล้ว โดยแจ้งความต้องการถึงชนิดของกาแฟที่เราอยากได้ และตั้งใจว่าเมื่อเวลาเอื้ออำนวย เราจะขึ้นไปเก็บกาแฟร่วมกับพวกเขาด้วยตัวเอง จากนั้นค่อยนำมาแปรรูปตามที่เราต้องการ 

        ผมได้ติดต่อแหล่งเพาะปลูกกาแฟไว้สามแหล่ง ได้แก่ ไร่ของคุณป้าสุรีที่บ้านขุนลาว อ.เวียงป่าเป้า ซึ่งพิกัดอยู่ตรงรอยต่อระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย พื้นที่บริเวณนั้นยังมีป่าเขาลำเนาไพรที่อุดมสมบูรณ์ และพวกเรารู้จักมักจี่กันดีอยู่แล้ว เพราะเมื่อปีที่แล้วผมเคยรับซื้อกาแฟล็อตเล็กๆ จากคุณป้า และพบว่าข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งคือชาวบ้านที่นั่นมีความรู้เรื่องการทำกาแฟที่ค่อนข้างดีอยู่แล้ว จึงไม่รู้สึกกังวลว่าเขาจะผลิตกาแฟที่มีปัญหามาให้ สำหรับที่นี่ ผมได้แจ้งความจำนงไปว่าต้องการกาแฟแปรรูปแบบฮันนีเท่านั้น (ฮันนีคือการโม่ผิวผลกาแฟออกแล้วตากทั้งเมือก) ซึ่งผมไม่ได้ต้องการในเชิงปริมาณ แต่สนใจ ‘คุณภาพ’ มากกว่า 

        หากฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตและแปรรูปในปีนี้มาถึง ปรากฏผลลัพธ์เป็นกาแฟดิบ (หรือเรียกว่าสารกาแฟ) จากไร่กาแฟของป้าสุรีสักหนึ่งร้อยกิโลกรัมก็พอใจแล้ว เพราะถือเป็นปริมาณที่สมน้ำสมเนื้อกับการนำไปคั่วขายและส่งต่อให้ผู้บริโภค โดยไม่ต้องคอยกังวลว่าสินค้าจะค้างสต็อก––ดีกว่าการผลิตหรือรับซื้อมากเกินความจำเป็น จนกลายเป็นการสร้างความเครียดให้กับตัวเอง 

 

ผลกาแฟสุก

 

        แหล่งเพาะปลูกอีกหนึ่งแห่งคือ ไร่กาแฟของคุณลุงเพชรที่หมู่บ้านหลายอาย อ.แม่สาย ซึ่งไร่กาแฟแห่งนี้เป็นแหล่งที่รู้จักกันมานานแล้วเช่นกัน เนื่องจากราวสองปีก่อนผมได้เดินทางขึ้นไปเก็บและรับซื้อผลกาแฟสุกจากไร่แห่งนี้ ความพิเศษของที่นี่คือความสูงของตำแหน่งที่ตั้งของไร่ ที่อยู่สูงประมาณเกือบ 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล เพาะปลูกกาแฟอาราบิกาหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งความหลากหลายนี้กลายมาเป็นจุดเด่นที่ทำให้เกิดคาแรกเตอร์เฉพาะตัวซึ่งโดดเด่นกว่าอาราบิกาสายพันธุ์เดี่ยวทั่วไป สำหรับไร่กาแฟของลุงเพชรนี้ ผมตั้งใจว่าจะเก็บผลสุกให้ได้สักหนึ่งพันกิโลกรัม โดยนำมาแปรรูปด้วยวิธีตากทั้งผล––ไม่ต้องโม่ผิวด้านนอกออก––ภาษากาแฟเรียกว่ากระบวนการผลิตแบบแห้ง (Dry Process)––ถ้าทำได้ดีก็จะส่งผลต่อกลิ่นและรสชาติของกาแฟ 

 

ผลกาแฟสุก

 

        แหล่งเพาะปลูกสุดท้ายสำหรับฤดูกาลแปรรูปนี้คือแปลงปลูกกาแฟของบ้านเล็กในป่าใหญ่ ณ ฟ้าห่มปก ที่อยู่ใน อ.แม่อาย ไร่กาแฟแห่งนี้ถือเป็นแหล่งใหม่สำหรับผม ซึ่งผมได้ติดต่อที่นี่ผ่านเพื่อนที่ทำร้านกาแฟชื่อ ‘ฮ้านปันนา’ ใน อ.ฝาง โดยความโดดเด่นอยู่ที่ความสูงของพื้นที่เช่นกัน ซึ่งที่นี่เพาะปลูกกันที่ระดับความสูงเฉลี่ยประมาณ 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อพัฒนาการของเจ้าเมล็ดกาแฟ 

        ผลกาแฟที่ปลูกในพื้นที่ที่อยู่ต่ำจะสุกช้ากว่าผลกาแฟที่ปลูกบนพื้นที่สูง แถมพื้นที่ยิ่งสูงยิ่งส่งผลให้เมล็ดกาแฟมีความหนาแน่นมากกว่า มีสารอาหารเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า และรสชาติดีกว่า   

        ที่จริงแล้วไม่ใช่เฉพาะคนทำกาแฟตัวเล็กๆ อย่างผมเท่านั้นที่ ‘ตื่นเต้น’ เมื่อฤดูเก็บเกี่ยวมาถึง คนทำกาแฟคนอื่นๆ ก็มีจำนวนไม่น้อยเลยที่กระตือรือร้นเช่นเดียวกัน และเพราะความใส่ใจอย่างมากของผู้ผลิต อันเป็นสัญญาณที่ดีที่วงการกาแฟไทยจะผลิตสินค้าคุณภาพดีเพื่อป้อนสู่ตลาด ทำให้ผู้บริโภคได้จิบกาแฟที่อร่อยในราคาที่ยุติธรรม

 


<<ตอนที่แล้ว          ตอนถัดไป>>